การศึกษา พบว่า ชาวเอเชียที่มีเชื้อชาติแตกต่างกันนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แตกต่างกัน ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายของการป้องกันและรักษาเบาหวาน ได้ตรงตามปัจจัยของแต่ละบุคคลมากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับความแตกต่างของความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียยังมีไม่มากนัก การศึกษานี้จึงต้องการเปรียบเทียบความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น ชาวจีนเป็นตัวแทนของเอเชียตะวันออก อินเดียจากเอเชียใต้ และมาเลย์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงตรวจสอบปัจจัยทางชีวภาพที่อาจส่งผลต่อความแตกต่างนี้
Jowy Yi Hoong Seah และคณะ จากประเทศสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมข้อมูลทางสังคมและสุขภาพ ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยชาวจีน มาเลย์ และอินเดีย รวมจำนวน 7,427 ราย โดยติดตามเป็นระยะเวลาเฉลี่ย 7.2 ปี ผลพบว่า ชาวมาเลย์และอินเดียมีแนวโน้มมีเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 2 เท่าของชาวจีน โดยปัจจัยหลักระหว่างชาวมาเลย์กับชาวจีน คือ ดัชนีมวลกายที่มากกว่าของชาวมาเลย์เมื่อเทียบกับชาวจีนนั้น อธิบายความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานที่มากกว่า โดยบทบาทของดัชนีมวลกายที่มีผลต่อการเป็นเบาหวานที่มากกว่าชาวจีนของชาวมาเลย์กับชาวอินเดียคิดเป็น 78.8 กับ 47.9% ตามลำดับ ซึ่งชาวอินเดียนั้นมีทั้งดัชนีมวลกาย รอบเอว ภาวะการอักเสบ และการดื้อต่ออินซูลินที่มากกว่าชาวจีน อีกทั้งยังมีการทำงานของ beta cell น้อยกว่าชาวจีน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ชาวอินเดียพบเบาหวานมากกว่าชาวจีน โดยการดื้อต่ออินซูลิน ระดับ CRP และรอบเอวอธิบายการเป็นเบาหวานของชาวอินเดียเมื่อเทียบกับชาวจีน เป็น 23.8%, 13.1% และ 10.4% ตามลำดับ และถึงแม้ว่าชาวจีนจะเป็นเบาหวานน้อยที่สุดในบรรดา 3 ชาติพันธุ์นี้ แต่พบว่า ชาวจีนกลับมีระดับ adiponectin ต่ำที่สุด
แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียมีลักษณะทางชีวภาพที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยต่อการเกิดโรคเบาหวานที่แตกต่างกัน การศึกษานี้ยิ่งชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายการรักษาเบาหวาน อาจจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย
- https://specialty.mims.com/topic/targeted-approaches-for-t2d-prevention–treatment-needed
- https://drc.bmj.com/content/11/4/e003385