“ทำอย่างไรถึงจะมีความสุขกับงานหนัก ศาสตร์หรือศิลป์?”
ศ. นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย
รองคณบดีคนที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นายกสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 111 ปี 2563
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
เรียนมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทางครอบครัวทำธุรกิจ แต่ผมไม่ค่อยชอบธุรกิจ เมื่อสมัยก่อนใครที่ได้คะแนนดีก็มักจะเลือกเรียนแพทย์ ผมคิดว่าเมื่อเรียนแพทย์จบแล้วจะได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม และคุณแม่ก็สนับสนุน ตอนเอนทรานซ์ติดคณะที่เลือกอันดับแรกคือ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ระหว่างเรียนได้เจอกับเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา และตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา ช่วงนั้นอยู่ ปี 1 มีการประท้วงมากมาย จำได้ว่าต้องเข้าสอบวิชาฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิชาที่ยาก เพื่อนหลายคนบอกให้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยกัน ไม่ต้องเข้าสอบ เราก็ไม่เข้าสอบ รู้สึกว่าคิดผิด เพราะการที่ไม่เข้าสอบทำให้วิชานี้ได้ F ถึงแม้จะซ่อมผ่านก็ทำให้ตัวเองพลาด เกียรตินิยมอันดับ 1 ไป พอจบ 6 ปี ไปเป็นแพทย์ฝึกหัด 1 ปี โดยจับฉลากได้ที่ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโรงพยาบาลที่มีคนไข้จำนวนมาก อยู่เวรกันเหนื่อย ทำงานหนัก แต่ได้ความรู้ประสบการณ์มาก จากนั้นมาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ 1 ปี อยู่แผนกอายุรกรรม โดยพื้นฐานชอบอายุรศาสตร์อยู่แล้ว พอ 1 ปี จะต้องเปลี่ยนโรงพยาบาล แต่เพื่อนที่อยู่โรงพยาบาลชุมชน ไม่อยากเข้าโรงพยาบาลจังหวัด ทำให้ผมต้องอยู่โรงพยาบาลจังหวัด 2 ปี ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสีย คือ ทำให้ขาดประสบการณ์เกี่ยวกับโรงพยาบาลชุมชน ข้อดี คือ ทำให้ได้ทบทวนศึกษาหาความรู้ในเรื่องอายุรศาสตร์ เหตุที่ชอบอายุรศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าท้าทาย เป็นวิชาที่เป็นหัวใจของความเป็นแพทย์ ต้องดูผู้ป่วยตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า สิ่งที่ประทับใจตอนที่อยู่ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ คือ ตัวเราจบแค่แพทยศาสตรบัณฑิต แต่แพทย์อายุรกรรมของที่นั่น เขาปรึกษาให้ไปดูเคสผู้ป่วยยาก ๆ รู้สึกภูมิใจว่า ถึงแม้เราไม่ได้จบแพทย์เฉพาะทางมา แต่ก็พอช่วยเขาได้บ้าง
จากนั้นมาสมัครเป็นพรีเทรนนิ่ง และได้รับเลือกเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ เรียน 3 ปี ที่ศิริราช ซึ่งขณะนั้นมีคนมาสมัครน้อย เพราะเป็นที่ร่ำลือว่างานหนัก พอมาอยู่ก็ได้ทั้งประสบการณ์ ได้ฝึกหัดได้ทำงานหลายอย่าง เมื่อใกล้จะจบปีที่ 3 ได้สมัครไปอยู่ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ตำแหน่งแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เหตุที่สนใจสาขาวิชานี้เพราะเมื่อทำงานอยู่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการให้รักษาการหัวหน้างานเวชกรรมสังคมด้วย ต้องออกคลินิกผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย ดูผู้ป่วยสูงอายุทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม จึงรู้สึกชอบตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งสวนกระแสที่แพทย์อายุรศาสตร์มักจะเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางระบบอวัยวะ หัวหน้าภาควิชาขณะนั้นคือ ศ.เกียรติคุณ นพ. ไพโรจน์ อุ่นสมบัติ ก็รับทันที โดยตอนแรกจะไม่ค่อยมีใครรู้จักวิชานี้ ต้องชื่นชม ม.มหิดล ที่มีวิสัยทัศน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยในอนาคต โดยจัดให้มีตำแหน่งอาจารย์สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงเป็นคณะแพทย์แห่งแรกของไทยที่มีสาขาวิชานี้ เมื่อมาทำงานที่นี่ก็พยายามสอบภาษาอังกฤษให้ผ่านเกณฑ์ภายใน 1 ปี เพื่อเตรียมไปศึกษาต่อต่างประเทศ ขณะนั้นสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (geriatric medicine) มีความชัดเจนมากที่สุด ที่ประเทศสหราชอาณาจักร ผมจึงขอความช่วยเหลือจาก ศ.เกียรติคุณ นพ. สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ซึ่งอาจารย์เป็นศิษย์เก่าจากประเทศอังกฤษ จึงได้ไปอยู่ที่ Department of the Care of the Elderly, Westminster Hospital ที่ลอนดอน กับ Prof. Brian Livesley ในตำแหน่ง senior house officer อยู่ที่นั่น 2 ปี คิดว่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้เป็นผลงานสำคัญ เพราะผมเป็นคนไทยคนแรกที่มาเรียนสาขานี้ จึงไปสอบบอร์ด Membership of the Royal Colleges of Physicians of the United Kingdom (MRCP) ซึ่งไม่มีเกณฑ์สอบผ่านที่ชัดเจน แต่คัดจากกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุด สอบครั้งแรกไม่ผ่าน พอครั้งที่ 2 ตั้งใจมากขึ้นก็สอบผ่าน Prof. Brian Livesley จึงให้ไปอยู่ที่ University of Oxford กับ Professor John Grimley Evans ซึ่งเป็นประธานสาขานี้ในราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน ต่อมาได้ทุนจาก Research for Ageing Trust, Kent อีก 6 เดือน แล้วจึงกลับประเทศไทย มาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ จนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
เรื่องแรก สามารถสอบผ่านได้รับ Membership of the Royal Colleges of Physicians of the United Kingdom (MRCP) แพทย์ไทยที่ไปที่นั่นมีน้อยคนที่จะสอบผ่าน ถ้าสอบผ่านแล้วก็สามารถหางานทำได้ทันที การสอบมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นทฤษฎี เนื่องจากการสอบแต่ละครั้งจะเก็บค่าสอบแพงมาก ผมตั้งใจมาก อ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน 7 เดือนก็สอบผ่าน อีกส่วนเป็นภาคปฏิบัติ ต้องอาศัยประสบการณ์ดูคนไข้ของเขา ซึ่งผมมีประสบการณ์ที่นั่นเพียง 1 ปีเศษ ภาษาอังกฤษก็ยังไม่เก่งมากนัก ต้องตรวจคนไข้วินิจฉัยโรค มีการสอบ short case คือ เอาคนไข้ที่มีรอยโรคให้ดูว่าเห็นอะไร เป็นโรคอะไร เราต้องเร็วและแม่นยำ อย่างคนไข้มีปานแดงที่หน้าพร้อมกับประวัติลมชัก น่าจะเป็นโรคอะไร จำได้ว่าการสอบรายยาว ได้คนไข้เป็น lymphoma ซึ่งแม้จะวินิจฉัยโรคได้ แต่คนไข้มีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ด้วย ผมลืมคลำที่รักแร้ คงจะตื่นเต้น กรรมการให้สอบตกเลย พอครั้งที่ 2 ตั้งใจใหม่ ก็สอบผ่าน รู้สึกดีใจและภูมิใจในชีวิตมาก เนื่องจากอาจารย์ของศิริราชสอนมาดีด้วย พอกลับมาก็ได้รับการยอมรับที่ดี อีก 10 ปีถัดมา ได้รับเชิญให้เป็น Fellowship ของ Royal College of Physicians of London หรือ FRCP (London) เป็นความภูมิใจครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกว่าเรามาถึงจุดหนึ่ง
เรื่องที่สอง ได้เป็นหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม การเป็นหัวหน้าภาควิชา ทำให้ผมมีแรงสนับสนุนที่จะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทั้งด้านการสอน การบริการ และการวิจัยด้านผู้สูงอายุได้มาก
เรื่องที่สาม ได้เป็นรองคณบดีคนที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคณบดี ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา ได้ให้ความกรุณาสนับสนุนผมเพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุอย่างก้าวกระโดด ซึ่งขณะนี้ ผมมีภารกิจสำคัญที่ท่านคณบดีมอบหมายคือ การจัดตั้งศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ถือเป็นแห่งที่สองในอาเซียนรองจากสิงคโปร
เรื่องที่สี่ได้รับตำแหน่งนายกสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย และเป็นประธานของ Asia/Oceania International Association of Gerontology and Geriatrics ไม่คิดว่าจะได้ไปกล่าวเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติที่ไต้หวันเมื่อปลายเดือนตุลาคม มีผู้เข้าร่วมประชุม 3,000 คน ที่รู้สึกภูมิใจ เพราะตัวเราเป็นคนไทย ทุกคนสงสัยว่าทำไมถึงเป็นประเทศไทย ทั้งที่ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ เขาเด่นกว่าเราในด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุอย่างมาก นี่ถือเป็นสิ่งที่เราทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในศักยภาพ ในโอกาสนี้ ยังได้มีส่วนร่วมในการ update guideline เรื่อง Sarcopenia ซึ่งคณะผู้วิจัยร่วมมี Professor จากหลากหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรก คือ ความอดทน ผมพอรู้ภาษาจีนบ้าง เขียน ตัวเยิ่น ซึ่งประกอบด้วย 2 ตัวอักษร อยู่ด้วยกัน คือ ตัวหนึ่ง แปลว่า “มีด” อีกตัวหนึ่ง แปลว่า “หัวใจ” รวมกันแล้วคือคำว่า “อดทน” เปรียบเสมือนการเอามีดมาปักที่หัวใจ ทำให้ต้องรู้จักอดทน ที่จริงผมก็ไม่รู้ว่าผมมีความอดทนมากนัก จนกระทั่ง จำได้ว่าท่านอาจารย์ นพ. ปรีดา มาลาสิทธิ์ ให้ช่วยดูพ่อของท่านอยู่หลายเดือน แล้ววันหนึ่งท่านมาหาแล้วบอกว่า คุณเป็นคนที่อดทนมาก ทนดูคนไข้สูงวัยซึ่งไปอย่างช้า ๆ ไม่เร็วเหมือนคนไข้ทั่วไป ที่รักษา 4 – 5 วัน แล้วกลับบ้าน แต่คนไข้สูงวัยใช้เวลานานต้องใช้ความอดทนสูง ตอนที่กลับมาจากอังกฤษใหม่ ๆ เรื่องงานวิจัยผมเริ่มจากศูนย์ไม่มีอาจารย์ทางสายนี้ให้ผมเดินตามเลย ผมขอทุนวิจัยภาวะโภชนาการผู้สูงอายุ ใน 4 ภาคของประเทศจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศ. นพ. อดุลย์ วิริยเวชกุล รองอธิการบดีของ ม.มหิดล ในขณะนั้นให้การสนับสนุน ซึ่งผมมานึกทบทวนย้อนหลังว่าทำไมผมมีประสบการณ์วิจัยน้อยมาก ทำไมท่านไว้วางใจให้ทุนทำวิจัยเป็นล้านบาท ท่านน่าจะไว้ใจผมในความอดทนนี่เอง ท่านเป็น fellowship FRCP ด้วย ผมพยายามตั้งใจไม่ให้ท่านผิดหวัง ตะลอนทำวิจัยไป 4 ภาคของประเทศแบกเครื่องมือหนัก ๆ ไป เหมือนคนงานไปเก็บข้อมูล อดทนคลำหาทาง ถามผู้รู้ หาคนช่วย ก็มีผลงานวิจัยมากขึ้นเรื่อย ๆ มาโดยลำดับ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลกับผมมาก ๆ คือแรงบันดาลใจจากพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกต่อท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ประโยคนี้ฝังอยู่ในสมองผมนับตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ที่ศิริราช
เคยได้ยินประโยคหนึ่งที่บอกว่า “Behind a success of a man there is a woman” นั่นแหละ คุณแม่ผมเอง ถ้าท่านไม่ผลักดัน ไม่ช่วยเชียร์ ก็อาจจะไม่สำเร็จ คุณแม่จะเป็นคนให้คำแนะนำดี ๆ เมื่อผมมีความเครียดเสมอ และปัจจัยภายนอกอีกปัจจัยหนึ่งคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันแห่งนี้มีทุกอย่างพร้อมหมด ถ้าคน ๆ หนึ่งมาด้วยใจไม่ท้อถอย แม้คุณไม่มีอะไรมาเลย ที่นี่มีหมด มีคนช่วยคุณ มีเงินทุนวิจัยช่วยคุณ มีอะไรต่าง ๆ ที่ช่วยให้คุณเติบโต เหตุนี้ถึงได้เป็นสถาบันที่มีบุคลากรทางด้านสุขภาพที่ไม่เพียงเก่งและดีแต่รักองค์กรด้วย
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
ผมไม่นึกว่าสิ่งนั้นเป็นอุปสรรค คิดว่าอะไรที่เข้ามามันท้าทาย ต้องเอาชนะมันให้ได้ เช่น ตอนนั้น ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นคณบดี ศิริราช ท่านให้ภาควิชาของผมรับผิดชอบโครงการ เรื่อง Health promotion ในชุมชนรอบศิริราช โดยที่ไม่ได้บอกให้ทำอะไร แต่คิดว่าถ้าไปทำอะไรเพิ่มที่ชุมชน ต้องใช้เงินศิริราช ซึ่งรู้สึกไม่อยากทำ เพราะนั่นคือเงินที่คนบริจาคให้ศิริราชเพื่อรักษาคนไข้เป็นความท้าทายที่จะต้องแก้ไข วิธีการเอาชนะอุปสรรค คือ ต้องหาคนช่วย ลองไปขอทุนวิจัยของ ม.มหิดล สรุปว่าได้ ก็ทำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนหลายเขตในฝั่งธนบุรี ได้ทุนวิจัยติดต่อกัน 6 ปี ซึ่งการวิจัยแบบนี้ไม่มีอีกแล้วในประเทศไทย ทำให้มี cohort ของข้อมูลจำนวนมาก โดยไปทำงานวันอาทิตย์ ใช้ทีมงานหลายคน ได้ทุนวิจัยมาเป็นค่าโอทีให้กับน้อง ๆ และก็ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปีพ.ศ. 2556
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ บางเรื่องอยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ถ้าย้อนกลับไปได้ ตอนที่อยู่อังกฤษ อยากจะอยู่ที่ University of Oxford ต่อ ถ้าอยู่ต่ออีกสัก 3 ปี อย่างน้อยจะทำให้ได้เครือข่ายเพิ่มมากขึ้น จะได้รู้จักคนที่นั่นเพื่อต่อยอดให้กับงานของเรา แต่ทุกวันนี้ ผมยังติดต่อกับ Prof. Brian Livesley ผมเคยเชิญท่านมาเป็นวิทยากรที่ประเทศไทย 2 ครั้ง เขาประทับใจว่าเขามีลูกศิษย์จากหลายประเทศ แต่คนไทยจะมีความกตัญญู กตเวที
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน
ท่านแรก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระองค์ท่านเป็นต้นแบบของความอดทน เป็นคนสมถะ ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่อยู่ในใจผมตลอด
ท่านที่สอง ศ.เกียรติคุณ นพ. สมหวัง ด่านชัยวิจิตร อาจารย์เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียนอาจารย์ได้เหรียญทองตลอดหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันให้เรา ตอนที่ไปอยู่ต่างประเทศ ก็นึกถึงอาจารย์ว่าอาจารย์ทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้
ท่านที่สาม ศ. นพ. นิพนธ์ พวงวรินทร์ อาจารย์เป็นต้นแบบของความเป็นครู วันเสาร์ – อาทิตย์ อาจารย์ยอมเสียสละเวลามาสอน ท่านสอนดี ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ ช่วงปิดเทอม นักเรียนแพทย์ส่วนใหญ่จะไปเที่ยว แต่ผมไปนั่งดูอาจารย์ตรวจคนไข้ที่ OPD อาจารย์สอนหลายอย่าง วันเกิดอาจารย์จะบริจาคเงินให้ศิริราชมูลนิธิ ผมเลยทำตามอาจารย์เสมอมา
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ผมยึดหลัก อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เริ่มแรก ฉันทะ คือ ต้องมีใจรักในงานที่ทำ ถ้าไม่มีใจรัก เราก็ไม่ไปต่อ ถ้ามีใจรัก แล้วเรามี วิริยะ คือ อดทนพยายามที่จะทำไป โดยที่ไม่คิดว่าเราจะได้อะไรตอบแทน ถ้าคิดว่าเราจะได้อะไร มันจะคอยถ่วงเรา จิตตะ คือใจจดจ่อ วิมังสา คือทบทวนสิ่งที่ทำแล้วว่าไม่ดีตรงไหนบ้าง
อีกหลักการที่ยึดถือ คือ “Do your Best” ทำให้ดีที่สุดในวันนี้ แล้วอะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด “What ever will be will be” ให้รู้จักปล่อยวาง เพราะทุกคนต้องมีเรื่องกลุ้มใจ เป็นทุกข์ ทำอย่างไรให้มันผ่านไปได้ ถ้าถามว่าตอนถือก้อนอิฐใหญ่ ๆ มือเดียว แล้วหนักไหม และถ้าเอาก้อนอิฐนั้นวางลง เรารู้สึกหนักไหมนั่นแหละ ควรต้องปล่อยวาง ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาพุทธ ต้องปรับที่ตัวเราอย่าไปปรับที่คนอื่น
และหลักการสุดท้าย คือ พระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ซึ่งมีประโยชน์มาก
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
ตอนนี้เราพัฒนาไปตามความก้าวหน้าของโลก โดยเฉพาะเรื่อง Precision medicine หรือ การแพทย์แม่นยา ปัจจุบันคนไข้ 100 คน เป็นความดันโลหิตสูง แพทย์ก็ให้ยาตามที่ Clinical Practice Guideline แนะนำ แต่ในอนาคตไม่ใช่แล้ว คน 100 คน มีความแตกต่างกัน ยีน ดีเอ็นเอ ไม่เหมือนกัน การให้ยาตามจะเป็น individualized มากขึ้น ส่วนแนวโน้มความเฉพาะทางที่แพทย์จะเน้นเฉพาะอวัยวะที่ตนเองถนัด ผมคิดว่าน่าเป็นห่วง เพราะถ้าผู้สูงอายุมีหลายโรคเขาจะต้องเจอแพทย์หลายคน ก็จะมียาจำนวนมาก ตามมาด้วยผลข้างเคียงของยา และทำให้เราไม่ดูคนไข้แบบองค์รวม ซึ่งหัวใจของการรักษาคนไข้ผู้สูงอายุต้องเน้นความเป็นองค์รวม
Social Medicine การแพทย์ด้านสังคม ซึ่งที่ผ่านมานี้แพทย์จะเน้นด้านดูแลสุขภาพอย่างเดียว ไม่ได้เน้นด้านสังคมเลย ถ้าแพทย์เราเน้นด้านสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้และญาติดูเขาทั้งหมดแบบองค์รวม ให้ความต้องการของผู้ป่วยด้านสุขภาพเป็นศูนย์กลาง จะทำให้ลดปัญหาที่เราเจอกันในทุกวันนี้มากทีเดียว
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไป 1. อย่าอยู่กับที่ ต้องอัพเดทความรู้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะการแพทย์ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ปัจจุบันมีหลายสื่อมาก 2. เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เห็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นรอง แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง 3. อย่าใจร้อน ความอดทนสำคัญ ทำในแนวทางของเราที่ถนัดทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ในวันนี้ สักวันหนึ่งสิ่งดี ๆ ก็จะย้อนกลับมา
สำหรับแพทย์ในสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุอย่าอยู่เฉยหรือทำแต่งานบริการด้านเดียว คุณจะเป็นคลื่นลูกแรกของสาขานี้ในประเทศไทย มันไม่ง่ายที่จะต้องไปบุกเบิกงานใหม่ในแต่ละโรงพยาบาล ต้องอาศัยความอดทน กัดไม่ปล่อย และพยายามทำให้ผู้ร่วมงาน เน้นทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน