“ข้อดีของการที่จำนวนเด็กลดลงคือ กุมารแพทย์จะมีเวลาดูแลทางด้าน health supervision มากขึ้น”
ศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
อุปนายกนายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย คนที่ 2
จากสถานการณ์ที่จำนวนเด็กเกิดน้อยลง ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในฐานะอาจารย์ทางด้านกุมารแพทย์ มองเรื่องนี้อย่างไร
อีกไม่กี่ปีข้างหน้าพวกเราจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มีอายุเกิน 60 ปี และคนที่อายุมาก ๆ หรือผู้สูงอายุก็จะไม่เสียชีวิตและจะมีอายุยืนขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งที่ตามมาก็คือ ในสังคมจะมีผู้สูงอายุและเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องอาศัยการดูแลหรือต้องพึ่งพาคนที่มีอายุน้อยกว่า ต้องพึ่งพาแพทย์และโรงพยาบาลมากขึ้น
ในขณะที่คนอายุน้อยที่สามารถให้พึ่งพาได้กลับมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จากการที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยลง สาเหตุมาจากคู่รักหรือสามีภรรยารุ่นใหม่ ๆ บางส่วนไม่คิดที่จะมีลูก อาจเนื่องมาจากการอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ทำให้มีเวลาไม่พอที่จะเลี้ยงดูบุตร อีกทั้งการเลี้ยงดูบุตรมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่เด็กทุกคนจะได้รับการดูแลที่มีคุณภาพมากขึ้น มีต้นทุนในการเลี้ยงดูที่มากขึ้น สำหรับอาชีพกุมารแพทย์ในอนาคต ที่หลายคนอาจคิดว่ามีแนวโน้มที่จะตกงาน เนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง แต่อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะจะมีการทดแทนด้วยการดูแลเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพราะการเป็นกุมารแพทย์จะไม่เหมือนหมอสาขาวิชาอื่น ๆ โดยเราอาศัยการดูแลเด็กแบบองค์รวม เพื่อให้เด็กเหล่านั้นสามารถเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่แค่แข็งแรงเฉพาะสุขภาพกายเท่านั้น แต่ต้องแข็งแรงทั้งสุขภาพใจและทัศนคติด้วย รวมทั้งมีทักษะชีวิต เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันในโลกที่มีการแข่งขันและมีการปรับตัวสูง
สำหรับอาจารย์เอง อีกไม่นานก็ต้องแก่มาก ๆ แล้วและจะกลายเป็นผู้สูงวัยคนหนึ่ง แน่นอนว่าเราต้องอยากอยู่ในสังคมที่ต้องเอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สวัสดิการ การดูแลผู้สูงวัย ดังนั้น ผู้ที่สร้างสังคมที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยในขณะนั้นก็คือเด็ก ๆ ในตอนนี้ ดังนั้น หน้าที่ของเราคือ การทำให้เด็กในตอนนี้ สามารถสร้างสังคมที่เอื้อต่อผู้สูงวัยให้มีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีคุณภาพในอนาคต สำหรับในฐานะกุมารแพทย์ เรามีส่วนทำให้เด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และทำให้สังคมมีคุณภาพ เพื่อให้พวกเขามีความรับผิดชอบต่อสังคมในวันข้างหน้า
“หน้าที่ของกุมารแพทย์
จะเป็นการดูแลเด็กแบบองค์รวม
ทั้งให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ
การดูแล การให้คำแนะนำพ่อแม่
เพื่อให้เด็กเติบโต อย่างมีคุณภาพ
และชี้นำสังคมในเรื่องเด็ก”
เวลาเด็กป่วยมาหาหมอเพื่อทำการรักษากุมารแพทย์ต้องดูแล แนะนำรักษาเป็นองค์รวม เช่น เขาอาจจะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาเจ็บป่วย ไข้ แต่หากแพทย์สังเกต เห็นอะไรที่ควรได้รับคำแนะนำ ควรให้แนะนำกับผู้ปกครองได้ในทันที ที่พบบ่อย ๆ คือเห็นเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรต้องชี้แนะให้ผู้ปกครองแก้ไข หรือสังเกตว่าเด็กมีภาวะอ้วน ควรแนะนำให้ พ่อแม่ทราบผลเสีย เช่นความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และหยุดหายใจเวลานอน อีกทั้งสมาธิสั้น ส่งผลให้ไอคิวลดลง กุมารแพทย์ต้องให้คำแนะนำพ่อแม่ถึงวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การเจริญเติบโตเหมาะสม ที่จริงสิ่งนี้คือ child health supervision ซึ่งกุมารแพทย์ทำเป็นประจำ ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ
ข้อดีของการที่จำนวนเด็กลดลงคือ กุมารแพทย์จะมีเวลาดูแลทางด้าน health supervision มากขึ้น ให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ในการดูแลเด็กได้มากขึ้น ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ทำให้หลาย ๆ โรคอย่างเช่นโรคหัด โรคคอตีบ และโรคบาดทะยัก แทบไม่พบแล้ว เพราะเราสนับสนุนให้ผู้ปกครองนำเด็กมาฉีดวัคซีน
ในทางกลับกันเด็กรุ่นใหม่จะต้องเผชิญกับโรคที่เกิดขึ้นจากสภาวะและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ อย่างพวกโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ และโรคระบบทางเดินหายใจที่พบมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร และโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ อย่างโรคไข้เลือดออกและโรคที่เกิดขึ้นจากน้ำไม่สะอาด ทำให้เราพบโรคใหม่ ๆ มากขึ้น โดยโรคที่กล่าวมานั้นเราจำเป็นต้องดูแลสภาวะและสิ่งแวดล้อมของเราให้ดี เพราะถ้าหากสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มลพิษลดลง กำจัดแมลงและพาหะนำโรคได้ดีขึ้น ก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคระบาดขึ้นมา อย่างช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่คนเจอกันน้อยลง ทำให้ขยะลดลง จึงช่วยลดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย จนทำให้อัตราการเป็นโรคไข้เลือดออกลดลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
อีกปัญหาหนึ่งในสังคมปัจจุบันคือ โรคจากสังคมและพฤติกรรม เช่นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอชไอวี เอดส์ เราต้องหาทางป้องกันไม่ให้เด็กๆของเราเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้ กุมารแพทย์ต้องมีทักษะในการดูแลรักษาวัยรุ่น และชี้นำให้สังคมและผู้ปกครองให้ดูแลวัยรุ่นอย่างเหมาะสม
จากสถานการณ์โควิด 19 และโรคระบาดที่จะมีขึ้นในอนาคต อาจารย์มีความคิดว่าแพทย์ควรมีการปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์อย่างไร
สำหรับสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ในปัจจุบันอย่างโรคโควิด 19 นั้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยก่อนหน้านี้โลกของเราก็เผชิญกับโลกอุบัติใหม่หลายโรค อาทิ โรคซาร์ส โรคเมอร์ส รวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ซึ่งตอนนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว โดยโลกของเราก็จะมีโรคอุบัติใหม่ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะไวรัสและแบคทีเรียมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเดี๋ยวนี้ก็มีการดื้อยาเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความใกล้ชิดระหว่างคนและสัตว์สามารถทำให้เชื้อไวรัสผสมข้ามสายพันธุ์ และการเดินทางที่สะดวก สามารถทำให้การแพร่ระบาดเป็นโรคอุบัติใหม่ไปทั่วโลกโดยใช้เวลาไม่นาน
เมื่อโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องรีบจัดการทันที การจัดการได้เร็วช้าแค่ไหน ส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้ข้อมูล อย่างในอดีตมีเชื้อไวรัสตัวหนึ่ง West Nile ที่แพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา และทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการของโรคสมองอักเสบ โดยแพทย์ที่นั่นสังเกตได้ว่ามีผู้ที่มีอาการของโรคสมองอักเสบมากกว่าปกติ จึงมีการรายงานต่อเพื่อนร่วมอาชีพ ทำให้มีการเข้าไปสืบสวนและจัดการอย่างรวดเร็ว หรืออย่างตอนที่มีโรคมือ เท้า ปากในเด็กแบบระบาด ซึ่งโดยปกติแล้วโรคนี้จะสามารถหายเองได้ แต่ครั้งหนึ่งโรคนี้เคยเกิดขึ้นที่ประเทศไต้หวัน มาเลเซีย ปรากฏว่าเด็กที่เป็นมีอาการชักและเสียชีวิตทำให้แพทย์ในภูมิภาคนี้รู้จักโรค มือ เท้า ปากแบบรุนแรง และสื่อสารอย่างรวดเร็ว เพื่อตั้งรับได้และให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม
“แพทย์จำเป็นต้องมีการสื่อสาร
ระหว่างกันมากขึ้น
ควรมีการสร้างเครือข่ายแจ้งเตือน
และเชื่อมถึงกัน ในเรื่องสำคัญ
เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ
โดยเฉพาะที่พบแบบผิดสังเกต”
ส่วนตัวจึงคิดว่า แพทย์จำเป็นต้องมีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น โดยควรมีการสร้างเครือข่ายที่มีการแจ้งเตือนและเชื่อมถึงกันในเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และเมื่อเจอโรคแปลก ๆ ใหม่ ๆ หรือพบมากผิดปกติ ก็สามารถแจ้งเตือนผ่านเครือข่ายเพื่อให้แพทย์ทั้งหมดได้รับรู้ เพราะหากเรามีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหา หาหนทางในการรับมือ และควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรณีของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่แพทย์ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบเป็นอย่างมากในการที่จะสื่อสารออกไป เพื่อจะเป็นข้อมูลที่ไปยังประชาชนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ให้ประชาชนสามารถรับมือได้อย่างถูกวิธี ช่วยให้การควบคุมโรคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครือข่ายสื่อสารในโลกปัจจุบันนี้ ไม่ได้เป็นแค่ระดับประเทศ แต่เป็นระดับสากลหรือนานาชาติเราเลย เทคโนโลยีในปัจจุบัน ต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
บทบาทของสมาคมแพทย์ฯ และภาครัฐ ในการรับมือกับโควิด 19 และโรคอุบัติใหม่ ควรเป็นอย่างไร
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ มีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารระหว่างแพทย์ด้วยกันค่อนข้างดี แต่การสื่อสารออกไปยังประชาชน มักเป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข แต่การสื่อสารไปยังประชาชนต้องถูกต้อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีสมาคมวิชาชีพเป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ
กรณีการระบาดโควิด 19 ทางสมาคมโรคติดเชื้อฯ ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อออกแนวทางในการปฏิบัติให้แพทย์ได้ใช้ตรงกัน และเป็นการให้ข้อมูลไปยังประชาชนได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่ผ่านมา การสื่อสารข้อมูลของภาครัฐไปยังประชาชนอาจไม่ดีมากนัก ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่เชื่อใจในข้อมูลของภาครัฐ มีข่าวปลอมซึ่งมีจุดประสงค์ไม่ดีออกมาเรื่อยๆทำให้สับสน สถาบันการแพทย์หลักต่าง ๆ ต้องออกมาช่วยกันสื่อสาร เพื่อลดความสับสนและความเข้าใจผิดของประชาชน
สมาคมแพทย์มีบทบาทเป็นอย่างมากที่จะต้องโต้ตอบข่าวปลอมด้วยการให้ข้อมูลชุดที่ถูกต้องออกมามาก ๆ ทันท่วงที และชี้นำให้ประชาชนตระหนักรู้ว่า จำเป็นต้องกรองข้อมูลที่ได้รับ ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่ม และเชื่อแต่ข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ
“บทเรียนที่ผ่านมา
ทำให้เห็นว่าเราควรมี
ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน
เข้ามาแปลงข้อมูลยาก ๆ
ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ
ที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจได้
และโต้ตอบข่าวปลอมได้ทันเวลา”
ในเรื่องของข่าวปลอมนั้น ในช่วงที่ระบาดมีข้อมูลที่บิดเบือน ออกมาจากหลายกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มที่แอนตี้วัคซีน กลุ่มการเมือง กลุ่มการค้าที่ออกมาให้ข้อมูลที่ต้องการประโยชน์บางอย่าง ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดเหยื่อหรือคนที่เชื่อตามด้วยเพราะมีความสงสัยในใจอยู่ พอได้รับข้อมูลสนับสนุนความเชื่อยิ่งทำให้คิดว่าข้อมูลนั้นจริง จึงมีการส่งต่อความเชื่อดังกล่าวที่ผิดดังกล่าวไปยังผู้ใกล้ชิดจนแพร่กระจายไปทั่ว เพราะทุกคนอยากให้คนอื่นเชื่อเหมือนตนเอง ในกรณีของโรคอุบัติใหม่และวัคซีน ข่าวปลอมเช่นไวรัสไม่มีจริง ทำให้ไม่ระวังตัว หรือวัคซีนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ทำให้อายุสั้นลง ฯลฯ เหล่านี้ทำให้คนเชื่อโดยปักใจ สร้างกระแส และเกิดความหวาดกลัว ไม่ต้องการฉีดวัคซีน ซึ่งมีคนที่หลงเชื่อจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
เราจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และความรวดเร็วในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชนก่อนที่ข้อมูลบิดเบือนจะไปถึง โดยต้องเป็นเนื้อหาที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงประชาชนหมู่มากได้ เราควรมีนักสื่อสารมวลชนหรือมืออาชีพเข้ามาในการแปลงข้อมูลยาก ๆ ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าใจได้ นอกจากนี้ ต้องเกิดความร่วมมือระหว่างกันในหลาย ๆ ภาคส่วน เพื่อให้ข้อมูลที่ตรงกันไม่สับสน
“ย้อนกลับมาที่แพทย์เอง
ต้องไม่พูดหรือเขียน
ในสิ่งที่ตนไม่รู้จริง”
ข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หากมาจากแพทย์จะทำให้ได้รับความเชื่อถือและเกิดความเสียหายกับสังคมอย่างมาก ในสถานการณ์ที่สังคมกำลังมีความตระหนกและต้องการการชี้นำ ผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลต้องมีประสบการณ์ พูดหรือเขียนในสิ่งที่เป็นความจริง ความถูกต้อง และเป็นประโยชน์เท่านั้น ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน แม้จะน่าตื่นเต้น หวือหวา หากไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเว้นแต่จะทำให้ผู้พูดได้รับการกล่าวขวัญ ไม่ควรนำเสนอสู่สังคม แพทย์ต้องไม่พูดหรือเขียนในสิ่งที่ตนไม่รู้จริง เพราะอาจปลุกกระแสความเชื่อซึ่งแก้ไขยากหากความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากมีแพทย์ให้ข้อมูลแก่ประชาชนแบบผิด ๆ อาจต้องมีมาตรการจัดการ เพื่อไม่ให้เผยแพร่ต่อ ซึ่งเรายังจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ดี ผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ภาคส่วนที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ ควรประสานงานเพื่อเสนอข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน
โควิด 19 และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ข้อมูลมีไม่มากและมีความไม่แน่นอนสูง จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
การทำการศึกษาวิจัย ค้นคว้า มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับโรคอุบัติใหม่ เพราะข้อมูลยังมีจำกัดและข้อมูลของต่างประเทศก็อาจไม่สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ ประเทศไทยเราจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนางานทางด้านการวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และลงทุนในการพัฒนาบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิจัยทางการแพทย์ เนื่องจากบุคลากรในสาขานี้มีจำกัดมาก และยังต้องมีงบประมาณลงทุนส่วนสนับสนุนการวิจัย เช่น การพัฒนาห้องแล็บเพื่อตรวจไวรัสหรือการตรวจการตอบสนองภูมิคุ้มกัน ทั้งหมดก็เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ขับเคลื่อนนโยบาย
ยกตัวอย่างกรณีของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ที่เริ่มพัฒนาในประเทศไทยและได้เห็นผลดีเยี่ยม จึงนำมาใช้เป็นนโยบายของประเทศ และ WHO ได้นำผลการศึกษาไปเป็นคำแนะนำให้ประเทศอื่น ๆ ด้วย ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์มีความสำคัญทั้งต่อประเทศไทยเองและต่างประเทศ รัฐบาลจจำเป็นต้องให้การสนับสนุนงบประมาณในด้านนี้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
อาจารย์มองว่าแพทย์รุ่นใหม่ มีทัศนคติที่เหมือนหรือต่างจากแพทย์รุ่นก่อนหน้าอย่างไร ข้อคิดที่ฝากถึงแพทย์รุ่นใหม่
แพทย์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากแพทย์ในอดีต โลกทีมีการแข่งขัน ไลฟ์สไตล์หรือวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ทัศนคติของแพทย์ก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและสังคม เช่น ปัจจุบันมีการใช้โซเชียล มีเดียทำให้เกือบทุกคนสามารถสื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิดเห็นได้ง่าย แนวคิดเรื่อง work life balance เป็นอีกเรื่องที่แพทย์รุ่นใหม่ให้ความสำคัญ แพทย์รุ่นใหม่กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ มีความฉลาดในการดำเนินชีวิต ต้องการใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมาก มีความสุขกายสบายใจและสะดวกขึ้น แต่ที่จริงแล้วแพทย์รุ่นใหม่ต้องฝึกการสร้างความสุขจากการทำงานเพื่อให้ภาระที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นแพทย์ประสบความสำเร็จอย่างมีความสุข ทั้งนี้แพทย์รุ่นใหม่อาจต้องรับบทบาทหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่แพทย์ทุกยุคต้องมีคือ ความเสียสละและทัศนคติที่จะนำพาสังคมทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกัน งานบางอย่างแม้ไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เราไม่สามารถนิ่งดูดายได้ โดยนอกเหนือจากการทำงานช่วยชีวิตผู้คนแล้ว แพทย์ควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างของพลเมืองที่ดีของสังคมด้วย
สำหรับเรื่องที่จะฝากถึงแพทย์รุ่นใหม่ ส่วนตัวก็ยอมรับว่าการประกอบวิชาชีพในปัจจุบันยากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องร้องแพทย์ ในสมัยก่อนจะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ทำให้แพทย์ทุกคนต้องใส่ใจในการตรวจรักษาโดยไม่ต้องระแวง แต่ปัจจุบัน เราต้องระมัดระวังในการสื่อสารกับผู้ป่วยให้มีความเข้าใจในแต่ละขั้นตอนมากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของการใช้โซเชียล มีเดีย ก็ขอให้ใช้อย่างมีสติ คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อ่านข้อมูล ไม่อย่างงั้นแล้วอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ การสื่อสารไม่ว่าจะด้วยการพูดหรือการเขียนเป็นสิ่งที่สะท้อน ทัศนคติและความเป็นตัวเรา ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง กับการพูดดี เขียนดี และพูดหรือเขียนให้คนอื่นมีความสุข และยังต้องทำดีอย่างต่อเนื่อง สร้างความเมตตาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แล้วความสุขก็จะย้อนกลับมาหาเราเอง การพูดที่ดีจะเป็นเรื่องที่อาจทำได้ยากกว่าการเขียนที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่ออกไปเร็วและควบคุมได้ยาก
“การใช้โซเชียล มีเดีย
ขอฝากให้ระวังความถูกต้อง
เหมาะสม มีประโยชน์
และคำนึงความรู้สึกของผู้อ่าน
มีเมตตา ไม่ทำให้ผู้อื่นเจ็บใจ
ไม่โอ้อวด และสร้างกัลยาณมิตร
ให้เกิดขึ้นเสมอ แล้วผลดีและ
ความสุขสบายใจ
จะเกิดขึ้นกับเราเอง”
มุมมองต่อการใช้โซเชียล มีเดีย ที่อยากฝากถึงแพทย์
อยากให้แพทย์มีความหนักแน่นในเรื่องของสังคมโซเชียล มีเดียโดยอย่าเชื่อง่าย อย่าแชร์ง่ายและหาความจริง รวมถึงมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะคนที่เป็นแพทย์จะสามารถอ่านและหาความรู้ได้มากกว่าคนทั่วไป หากยังมีความเข้าใจที่ไม่มากพอแต่กลับไปส่งต่อความรู้แบบผิด ๆ แล้วมีคนที่เชื่อตามจะเกิดผลเสียมาก
“อย่าลืมตระหนักถึงการพูด การคิด การเขียน หรือการโพสต์ลงโซเชียล มีเดีย ให้นึกถึงคนที่จะรับข้อมูลข่าวสารนั้นต่อไปด้วย”