CIMjournal

อาจารย์ นพ. เพชร รอดอารีย์ สาขาต่อมไร้ท่อ

“อีกหนึ่งความภูมิใจ คือ การได้ประสานงาน ช่วยให้แพทย์หลายสาขาทำงานร่วมกัน เกิดผลงานที่ส่งผลในวงกว้างมากขึ้น”

รศ. นพ. เพชร รอดอารีย์
นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาต่อมไร้ท่อ

จริง ๆ ผมสอบติดสถาปัตย์ตั้งแต่ชั้น ม.ศ. 4 ที่สวนกุหลาบ แต่คุณพ่อโน้มน้าวให้เรียนแพทย์ ประกอบกับช่วงนั้นมีหนังเกี่ยวกับแพทย์สนามคนหนึ่ง ที่เป็นฮีโร่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการช่วยทหารบาดเจ็บ ต้องตัดสินใจทำหลาย ๆ เรื่องในสถานการณ์คับขันและมีข้อจำกัด เพื่อรักษาชีวิตเพื่อนทหารในสนามรบ หนังเรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนอายุรศาสตร์และเรียนด้านต่อมไร้ท่อ ผมมองอายุรศาสตร์เป็นศาสตร์ที่อยู่บนการใช้เหตุและผลสูง ได้คิดอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาสาเหตุ วางแผนการรักษาและติดตามผลอย่างใกล้ชิด ส่วนตัวผมเป็นคนจำไม่แม่น ท่องอะไรไม่ค่อยได้ แต่ใช้วิธีทำความเข้าใจและคิดพิจารณาถึงเหตุและผลของการเกิดโรคและที่มาการรักษา ทำให้ประทับใจสาขาอายุรศาสตร์ ส่วนสาขาต่อมไร้ท่อนั้น ผมมองว่าฮอร์โมนเป็นสิ่งพิเศษของร่างกายมนุษย์ คือ “ด้วยปริมาณที่น้อยนิด แต่ออกฤทธิ์ได้ทั่วทั้งร่างกาย” ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันหมด และที่สำคัญคือ ต้องมีความสมดุล ซึ่งหากเสียความสมดุลนี้ร่างกายก็จะเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา อย่างโรคเบาหวานซึ่งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ ถ้าตัวเองมีส่วนช่วยตรงนี้ได้ ก็จะช่วยเหลือผู้ป่วยและประชาชนได้มาก


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เรื่องแรกคือ การได้เป็นลูกที่ดี เป็นลูกที่พ่อแม่ภูมิใจ โดยท่านจะสอนเสมอว่า “ถ้ารู้อะไร ต้องรู้ให้เป็นครูเขา” ซึ่งก็ทำได้ในระดับหนึ่ง

เรื่องที่สอง การได้เป็นแพทย์และครูแพทย์ อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้ช่วยเหลือคนป่วยที่เป็นทุกข์ทั้งกายและใจ ให้เขาหายป่วยและจิตใจดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญขึ้นไปอีกคือการได้เป็นครูแพทย์  เรื่องนี้ท่านอาจารย์ พญ.พาณี สุทธิพันธ์ อาจารย์เคยบอกกับผมว่า “เป็นแพทย์ช่วยชีวิตคนได้อย่างมากวันละ 50 คน แต่ถ้าเป็นครูแพทย์ ได้มีส่วนสร้างแพทย์ดี ๆ ขึ้น จะสามารถช่วยชีวิตคนได้ทวีคูณ” ผมได้แรงบันดาลใจในการเป็นครูแพทย์ตั้งแต่นั้นมา

เรื่องที่สาม  การได้มีโอกาสทำงานในฝ่ายบริหาร ได้เป็นหัวหน้าภาควิชา เป็นรองคณบดีฝ่ายการศึกษา หน้าที่หลักคือ ส่งเสริมให้อาจารย์ทุกท่านได้ทำหน้าที่และสิ่งที่อยากทำได้อย่างเต็มที่ อาจารย์เก่งกันอยู่แล้ว และทำให้อาจารย์เป็นต้นแบบที่ดีของลูกศิษย์ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะติดตัวไปตลอด

เรื่องที่สี่  การได้มีโอกาสทำงานวิจัย ยกตัวอย่างงานที่ภูมิใจ ตอนกลับมาจากศึกษาต่อทางด้าน Epidemiology ที่อังกฤษ ท่านอาจารย์ นพ. กอบชัย พัววิไล ประธานวิชาการสมาคมต่อมไร้ท่อในสมัยนั้น ท่านเล็งเห็นว่าน่าจะมีการดูภาพรวมของเบาหวานในประเทศไทย และได้มอบหมายให้ผมเป็นประธานโครงการลงทะเบียนเบาหวานโดยความร่วมมือจากอาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์ 11 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละท่านให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ทำให้มีฐานข้อมูลคนไข้กว่า 9 พันคน เป็นข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์และทำให้เห็นทิศทางและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวานในประเทศไทยได้ชัดเจนขึ้น เช่น โรคแทรกซ้อนเบาหวานที่พบมากสุด คือ โรคไตและโรคตา จากความเข้าใจเดิมว่าต้องเป็นโรคหัวใจ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ เกิดการรณรงค์ใช้กล้องตรวจตาอย่างแพร่หลายในการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันเบาหวานขึ้นตา กลายเป็นงานประจำในเวลาต่อมา คือ แม้ไม่มีอาการทางเบาหวาน แต่อย่างน้อยปีละครั้งต้องตรวจตาจากจุดเริ่มต้นตรงนี้ และที่สำคัญ สปสช. ได้นำเอาแนวทางการลงทะเบียนนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการบันทึกข้อมูลการดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั่วประเทศ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นจนปัจจุบัน

เรื่องที่ห้า  การได้ทำงานประสานกับบุคคลและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อขยายผลความรู้แพทย์เฉพาะทาง ออกไปสู่วงที่กว้างขึ้น มีผลกับประชาชนได้มากขึ้น เช่น งานเครือข่ายคนไทยไร้พุง งานในส่วนของสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย เป็นต้น

อย่างงานเครือข่ายคนไทยไร้พุง เราพบว่าปัญหาของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs พื้นฐานของโรคมาจากความอ้วน โดยพบว่าความอ้วนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในเส้นเลือด และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา และข้อมูล 20 ปีย้อนหลัง จำนวนคนไทยที่เป็นโรคในกลุ่ม NCDs เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว และอายุผู้ป่วยก็ขยับลงมาเป็นกลุ่มคนวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น เราก็มีการทำโปรเจกต์ Healthy Organization หรือองค์กรสุขภาพดี เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบันมีองค์กรเข้าร่วมกว่า 300 องค์กร  โดยพบว่า ถ้าจะทำให้พนักงานในองค์กรมีสุขภาพดี ภายในองค์กรควรมี  1) ผู้บริหารมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในเรื่องสุขภาพ 2) มีการทำ workshop เพื่อศึกษาปัญหาด้านสุขภาพในองค์กร  3) การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในองค์กร เป็นองค์กรสุขภาพดี เช่น การเพิ่มสถานที่และอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย การกำหนดเวลาให้ออกกำลังกาย 4) การจัดเมนูอาหารเน้นเพื่อการมีสุขภาพดี อย่างบางสถานที่มีนโยบายผักฟรี พนักงานอยากจะกินเท่าไหร่ก็กินได้ เป็นต้น 5) มีการประชุมที่ดีต่อสุขภาพ (healthy meeting) สุดท้ายก็มีการแข่งขันกันระหว่างพนักงาน หลายองค์กรเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพของพนักงาน และผลิตภาพขององค์กร

สำหรับงานสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทยนั้น เกี่ยวข้องกับการประสานงานแพทย์ในหลายสาขาและวิชาชีพอื่น ๆ ด้วย เพราะสถานการณ์ปัจจุบันแม้ว่าแพทย์มีเครื่องมือในการวินิจฉัยและรักษาที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคเบาหวาน โรคความดัน ไขมัน โรคหัวใจ โรคไต แต่สถิติผู้ป่วยไม่ได้ลดลง จึงต้องมีการร่วมมือกันรณรงค์สร้างสิ่งแวดล้อมในเชิงสังคมและกายภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่ผมชอบก็คือการประสานงาน ช่วยให้แพทย์หลายสาขาทำงานด้วยกันได้ดี ผมรู้สึกว่า ถ้าเรามาทำตรงนี้ช่วยให้ทุกคนทำงานได้กว้างขึ้น ขยายผลได้ดีขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ


ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย สมาคมฯ มีความเป็นมาและวัตถุประสงค์อย่างไร

สำหรับงานสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นสมาพันธ์เครือข่าย NCDs ประเทศไทย และพัฒนาโดยจดทะเบียนเป็นสมาคมฯ ในปี 2564 มี ศ.เกียรติคุณ พญ. วรรณี นิธิยานันท์ เป็นนายกสมาคมฯ ท่านแรก จากนั้นผมก็มาทำหน้าที่ต่อ เป้าหมายคือ การประสานงานขับเคลื่อนสังคม ไปสู่การป้องกันโรค NCDs อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยผลักดันนโยบายสาธารณะในการป้องกันและควบคุมโรค NCDs การสื่อสารสาธารณะ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ในการลดปัจจัยเสี่ยง และป้องกันกลุ่มโรค NCDs สำหรับประชาชน และสุดท้ายการจัดกิจกรรมทางวิชาการสำหรับแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

โดยเรื่องที่สมาคม ฯ ทำจะไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางสังคม หรือ social determinants of health, SDH ที่เป็นตัวกำหนดปัญหา กำหนดสุขภาพของเรา จึงต้องอาศัยความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ให้กลับมาจุดเริ่มต้นในเรื่องของการป้องกันและทำงานร่วมกัน อาจจะต้องคิดถึงภาคส่วนอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในเชิงสังคมและกายภาพ


สมาคมฯ ต้องการจะสื่อสารข้อมูลหรือกิจกรรมต่าง ไปยังกลุ่มเป้าหมายใด

สมาคมฯ มีการสื่อสารไปยัง 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก โดย กลุ่มเป้าหมายที่ 1 เป็นการสื่อสารเชิงนโยบาย โดยเราจะสื่อสารข้อมูลที่เรามี จากการรวบรวมโดยนักวิชาการหรือแพทย์ที่เกี่ยวข้องไปยังกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมไปถึงสสส. หรือแม้กระทั่งรัฐบาลเพื่อให้มีการผลักดันนโยบายไปปฏิบัติ กลุ่มเป้าหมายที่ 2 เป็นการสื่อสารไปยังบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เห็นความสำคัญในเชิงป้องกันของโรคในกลุ่ม NCDs  สมาคม ฯ ยังได้มีการทำคู่มือให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้การทำงานรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชน (public campaign) ในส่วนที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น กลุ่มเป้าหมายที่ 3 เป็นการสื่อสารเพื่อให้ความรู้หรือรณรงค์แนะนำกับประชาชนโดยตรง

ซึ่งทางสมาคมฯ จะให้น้ำหนักเท่ากันหมด แต่จะมีการดูสถานการณ์ว่า ในแต่ละช่วงเวลาเรื่องอะไรควรจะเป็นเรื่องหลัก แล้วก็ทำงานประสานกัน ผมจะแบ่งคณะทำงานในสมาคมเป็น 3 คณะ คณะแรกคือ ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย คณะที่สองเป็นคณะกรรมการวิชาการ และคณะที่สามคือ คณะทำงานสื่อสารสังคม สมาคม ฯ จะระดมสมองว่าจะมุ่งไปเรื่องอะไร เรื่องอะไรคือปัญหาสังคมของประเทศตอนนี้ อย่างปีที่ผ่านมาเราคิดว่าโรคอ้วนคือเรื่องสำคัญ เพราะเป็นบ่อเกิดของทุกโรค เราก็ทำแผน NCDs ชาติ มีอาจารย์ผู้ใหญ่เข้าไปช่วยสนับสนุนให้ข้อมูลในกระทรวง งานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคม ฯ ก็เน้นเรื่องโรคอ้วน มีบุคลากรทางการแพทย์มาฟัง ทำออนไลน์เรื่องปัญหาโรคอ้วน ในส่วนของประชาชนเรามีการประกวดภาพวาดของเด็ก ให้เด็กวาดภาพเรื่องอาหารสุขภาพเป็นอย่างไร เด็กประถมก็ส่งมาประกวดและก็ให้รางวัล เรามีสื่อทั้ง facebook, tiktok และเว็บไซต์ของสมาคม ฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งงานทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากองค์ภาคีเครือข่ายและอาจารย์ที่เป็นตัวแทนเป็นอย่างดี


ในฐานะนายกสมาคมฯ อาจารย์มีเป้าหมายในช่วงที่ทำงานอย่างไร

ผมมองเป็น 2 ระยะ ระยะสั้นกับระยะยาว สำหรับระยะสั้น เนื่องจากเราเป็นสมาคม ฯ ใหม่ เราก็พยายามจับงานที่ดึงศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญและองค์กรสมาชิก โดยไม่ใช้เวลามากเกินไปและไม่ซ้ำซ้อนกับงานที่มีคนอื่นทำอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรม ซึ่งก็จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการทำงาน ให้สมาคมเป็นปึกแผ่นมีผลงานเป็นที่รู้จักและยอมรับ

สำหรับระยะยาว เราจะมาดูผลที่ลงไปสู่ประชาชนหรือคนไข้ว่าปัญหาเรื่องโรคอ้วนหรือ NCDs ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือลดลง เราสามารถสร้างผลงานหรือองค์ความรู้ไปยังประชาชนหรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักรู้ถึงโรค NCDs เพื่อร่วมกันป้องกันอย่างต่อเนื่องได้ผลอย่างไรบ้าง

ในส่วนของประชาชน ความรอบรู้ทางสุขภาพหรือ health literacy ยังเป็นปัญหาอยู่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ การศึกษาปัจจุบันยังไม่ช่วยให้คนไทยมีทักษะการดูแลสุขภาพ ความรู้เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว สภาพแวดล้อมทางสังคมต้องมีส่วนด้วย

ผลงานของสมาคม ฯ ที่ผ่านมาและเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเรื่องของภาษีน้ำตาล สมาคม ฯ มีส่วนร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และอีกหลายองค์กรผลักดันภาษีน้ำตาล เรามีโอกาสเข้าพบ รมว.คลัง หลังจากนั้นก็มีกฎหมายภาษีน้ำตาลออกมา ซึ่งภาษีน้ำตาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมาก ทุกบริษัทต้องปรับสูตรเครื่องดื่มใหม่ ลดความเข้มข้นของน้ำตาลในเครื่องดื่มลง  ขณะที่ในสังคมก็ตอบรับและตระหนักรู้ด้วย ต้องให้เครดิตกรมอนามัยด้วยที่ผลักดันเรื่องนี้ นอกจากนี้ก็มี ภาษีเกลือ เพราะความเค็มเป็นเหตุโดยตรงกับโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และโรคไต ก็กลับมาในกลุ่มโรค NCDs คนไข้บางคนแค่ลดการบริโภคเกลือก็ทำให้ความดันโลหิตลดลง ทางสมาคมโรคไต ฯ กำลังผลักดันเรื่องนี้ และสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทยก็ช่วยสนับสนุนด้วย เป็นเครือข่ายกัน อีกงานก็เป็นเรื่องการจัดประชุมวิชาการ TNCDA Conference ครั้งแรกของสมาคม มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมมากกว่า 300 คน และยังมี online เข้ามาฟังอีกราว 500 คน


ย้อนกลับมาในประเด็นการทำงานของอาจารย์ ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ปัจจัยแรก คือ การคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุและผล เอาเป้าหมายเป็นตัวตั้งว่าจะไปถึงเป้าหมายต้องทำอะไรบ้าง ยังไม่มองถึงอุปสรรค เมื่อลงมือทำตามเป้าหมายแล้ว มาเจออุปสรรคก็จะวิเคราะห์แยกแยะปัญหาสาเหตุของเรื่องต่าง ๆ โดยมองให้รอบด้านเพื่อให้เห็นภาพรวม แล้วจึงตัดสินใจ ทำให้ผมสามารถจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ได้

ปัจจัยที่สอง คือ การรับฟังผู้อื่นด้วยความตั้งใจ ผมไม่เคยมองว่าตัวเองเก่ง รอบรู้หรือเชี่ยวชาญ ผมจะพยายามฟังทุกท่านด้วยใจ การฟังเป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ดีมาก การที่เรารับฟังทุก ๆ ความคิดเห็น ด้วยความตั้งใจจริง ๆ ฟังด้วยความเคารพและให้เกียรติกับทุก ๆ ความคิดเห็น ที่แต่ละท่านกลั่นกรองออกมาจากความคิด จากประสบการณ์ ทุกคนมีวิธีการคิดและมุมมองที่แตกต่างกันซึ่งล้วนดีทั้งนั้น ถ้าเรารับฟังและนำมาผสมผสานกันก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

ปัจจัยที่สาม คือ การทำงานโดยมีความเข้าใจ ไม่เบียดเบียนและคิดถึงผลกระทบต่อผู้อื่นเสมอ  ความสำเร็จในการทำงานล้วนเกิดจากการได้รับความร่วมมือจากผู้อื่น เรื่องใหญ่ ๆ ไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยตัวคนเดียว ผมเข้าใจว่าคนเรามีพื้นฐานที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน เรื่องเดียวกันจะคิดต่างกัน ปัญหาเดียวกันอาจมองกันคนละอย่างได้ มองหาจุดร่วมที่พาทีมงานไปพร้อมกันได้ หรือการ share vision อย่างเช่น การยกระดับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิด 1 ให้ได้มาตรฐานและผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งในประเทศไทยมีข้อจำกัดมากทั้งจำนวนผู้เชี่ยวชาญ ศักยภาพของโรงพยาบาลและงบประมาณของประเทศ หลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันเยอะมาก


กว่าที่จะประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรมาบ้าง และเอาชนะอย่างไร

ผมจะแชร์มุมมองต่อปัญหาของผมแบบรวม ๆ ว่า แน่นอนอุปสรรคหรือปัญหาเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับเรา แต่สำหรับผมปัญหาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางที่ต้องเดินผ่านไป ผมใช้หลัก “อุเบกขา” ในการจัดการกับปัญหาที่เข้ามา อุเบกขา คือ การวางเฉยไม่ทุกข์ร้อนกับสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่ใช่การอยู่เฉยโดยที่ไม่ได้ทำอะไร หากแต่ว่าเป็นการเลือกมองสิ่ง ๆ นั้นโดยใช้สติพินิจพิจารณาหาเหตุผล ที่มาที่ไป เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งนั้น โดยการตัดอารมณ์และความเป็นตัวตนของเราออกไป และเลือกทางที่เหมาะสมเพื่อจะจัดการกับปัญหา  มองอีกด้านคือ ทุกปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สอนให้เราได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ให้แข็งแกร่งขึ้น

สำหรับการใช้สติพินิจพิจารณาหาเหตุผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การที่เรารับฟังทุก ๆ ความคิดเห็นด้วยความเคารพและให้เกียรติ เพราะทุกความคิดเห็นมีประโยชน์อย่างมากในการแก้ปัญหา สุดท้ายต้องไม่มองข้ามการเสพศิลป์ การมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับความงามตามธรรมชาติรอบตัวเรา ซึ่งตรงนี้จะทำให้เรารู้จักใส่ใจกับสิ่งรอบข้าง ทำให้เข้าใจและเห็นภาพรวมของสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น มีสมาธิที่ดีขึ้น เข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น เดินผ่านต้นไม้ ต้นไม้ก็สวยอยู่แล้ว แต่ถ้าเงยหน้ามองขึ้นไป อาจมองเห็นแม่นกกำลังป้อนอาหารให้ลูกนกในรัง ซึ่งเป็นสิ่งสวยงาม งดงามเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้กับบุคลากรรอบตัวเราได้ดี และตัวเราก็สามารถมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ ได้


ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากกลับไปปรับปรุงเรื่องใด

เรื่องที่จะเสียใจมีอยู่กรณีเดียวคือ การที่อยู่เฉย ๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย แต่การที่เราทำอย่างหนึ่งแล้วไม่ได้ทำอะไรอีกอย่างนั้นผมไม่เสียใจ เพราะคนเราไม่สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กันได้ แต่กับช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้วนั้น ถ้าได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แล้วก็ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง ถ้าหากต้องย้อนกลับไปจริง ๆ ผมเลือก Focus ไปที่ว่าเราเริ่มลงมือทำอะไรช้าไปหรือเปล่า ที่ทำให้เราพลาดโอกาสหรือไม่ได้ทำในส่วนนั้น ๆ อย่างไรก็ตามทุกเส้นทางของแต่ละคนความเร็วของการไปถึงจุดหมายไม่เท่ากัน สิ่งสำคัญคือ เราได้ก้าวเดินอยู่ตลอดเวลาหรือไม่…เท่านั้นเอง


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต

ท่านแรก อาจารย์ พญ. พาณี สุทธิพันธ์ ท่านเป็นอาจารย์ผมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเป็นอาจารย์ ท่านเป็นคนตั้งใจทำงานมาก งานคืองาน สอนก็คือสอน ท่านตั้งใจสอนและมีวิธีการสอนที่เป็นเอกลักษณ์ ท่านทำให้เราต้องคิดอยู่เสมอ มันมีคุณค่ามาก อาจารย์สอนให้รู้จักศึกษาด้วยตนเอง โดยเลือกแหล่งความรู้ที่เหมาะสมให้กับตัวเอง ผมจึงเป็นคนเข้มงวดและพยายามให้นักศึกษาได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ

ท่านที่สอง ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ท่านเป็นคนสอนให้ผมรู้จักมองและใส่ใจกับความงามตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคืออาจารย์เป็นผู้บริหารแต่ก็มาสอนแพทย์ประจำบ้าน ทุกเย็นวันศุกร์ท่านให้เวลากับพวกเรามาก การสอนของอาจารย์เหมือนเป็นงานศิลปะ ซึ่งอาจารย์ท่านถ่ายทอดอย่างไม่มีปิดบัง สิ่งที่ผมไม่สามารถทำได้อย่างท่านคือ การจัดสรรเวลาได้อย่างดี ท่านเป็นผู้บริหาร เป็นอธิการบดี แต่สามารถมาสอนได้ นอกจากนั้นท่านยังจัดเวลาเดือนละครั้ง หรือสองเดือนครั้งไปตรวจรักษาชาวบ้านโครงการแพทย์อาสาของในหลวงอย่างสม่ำเสมอ

สุดท้ายขอให้เป็นทีมนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เราจะเห็นว่าเขายิ้มอยู่ตลอดเวลาเมื่อเทียบกับทีมอื่น เวลาลูกเสียพวกเขาจะเข้ามาให้กำลังใจกัน ไม่เข้ามาโทษกัน สุดท้ายพวกเขายิ้มสู้ ที่สำคัญคืออีกไม่กี่วินาทีพวกเขาจะต้องเริ่มเกมส์ใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าเขาติดอยู่กับอารมณ์เขาจะไปต่อไม่ได้ พวกเขาสามารถปรับอารมณ์ได้ทันที ไม่ติดอยู่กับความล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ที่ผ่านมา ลุกขึ้นใหม่ได้ทันที ซึ่งคล้ายกับภาษิตญี่ปุ่น “ล้ม 7 ที ลุก 8 ที” เมื่อล้มแล้วให้ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้เสมอ


คติหรือหลักการในการดำเนินชีวิต

หลักการทางพุทธศาสนามีความสำคัญกับผมมาก ดังคำที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ซึ่งชัดเจนมาก เช่น ในกรณีที่มีคนไข้เบาหวานที่มีมากมายในแต่ละวัน ถ้าหากว่าเราตรวจไปด้วยเจตนาที่ไม่ดีและความรู้สึกไม่ดี ในใจก็มัวคิดอยู่ว่า ทำไมน้ำตาลเยอะจัง ทำไมไม่รู้จักคุมอาหาร ทำไมไม่ออกกำลังกาย คนนี้มาอีกแล้วทำไมคนไข้ไม่หมดสักที สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีแต่ความทุกข์ ในทางกลับกัน ถ้าเราคิดว่าเรากำลังปฏิบัติธรรม รู้สึกดีกับคนไข้รู้สึกว่ากำลังช่วยเหลือเขา มีสมาธิมุ่งมั่นกับคนไข้ หากเราไม่มีสมาธิก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างลุล่วง การรักษาก็เปรียบเสมือนศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องใส่ใจกับรายละเอียดส่วนบุคคลของคนไข้ เพื่อให้การรักษานั้น ๆ มีประสิทธิภาพสูงสุด คนไข้ดีขึ้นทั้งกายและใจ ไม่ใช่ออกจากห้องตรวจของเราแล้วกลับยิ่งทุกข์หนัก เหมือนภาพเขียนที่ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดของฝีแปรง หรือแสงและเงา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการปฏิบัติธรรมในแบบของเรา ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องบริจาคเงินเยอะ ๆ เราสามารถยึดหลักธรรมมาปฏิบัติได้โดยไม่ต้องรอจนแก่เชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จ และมีความสุขได้พร้อม ๆ กัน

 

“ปัญหาเป็นเพียง
ส่วนหนึ่งของเส้นทาง
ที่ต้องเดินผ่านไป
ผมใช้หลัก อุเบกขา”


มองการแพทย์ไทยในอนาคตเป็นอย่างไร

ผมขออนุญาตแชร์ความคิดในสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต คือ ประชาชนต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ หรือมีความสามารถในการดูแลตนเองมากขึ้น ต้องรู้จักสร้างเสริมและป้องกัน รู้ว่าต้องทำอะไรกับตนเองเพื่อไม่ให้เกิดโรค และเมื่อเกิดโรคแล้วต้องรู้จักการดูแลตนเองในเรื่องพื้นฐาน ก็จะดีกับทุกคน ดีกับตัวเขาเอง ดีกับหมอ ดีกับระบบสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการถมเท่าไหร่ไม่เต็มสักที ประเทศชาติและผู้ป่วยต้องหมดงบไปกับการรักษา จะทำเช่นนี้ได้ ประชาชนต้องมีความรู้ ต้องส่งเสริมความรู้ ให้ประชาชนมีบทบาทในเรื่องสุขภาพมากขึ้น

อีกเรื่องคือระบบการแพทย์ของไทย ผมคิดว่าเรื่องของความทันสมัยเชิงวิชาการเป็นไปได้อย่างดี แต่ที่ต้องเน้นคือการสร้างเสริมและป้องกันสุขภาพของประชาชน อยากให้กลับมาเน้นตรงนี้ การทำให้คนมีสุขภาพดีก่อนที่เขาจะป่วยผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ การแพทย์ไทยอาจจะต้องกลับมาเน้นตรงนี้ให้มากขึ้น หมอที่เข้ามาเรียนแพทย์ในปัจจุบันก็เป็นเรื่องรักษาเป็นส่วนใหญ่ มุ่งหวังให้คนหายจากโรค แต่ยังไม่ค่อยเห็นที่จะทำให้คนไม่ป่วย ไม่เป็นโรคและมีสุขภาพที่ดีเรื่องของ Public health doctor แพทย์สาธารณสุข อาจจะต้องมีบทบาทมากขึ้น และจะไปเกี่ยวโยงกับการป้องกันสุขภาพมากกว่าเชิงรักษา ซึ่งการป้องกันดีกว่าการรักษา เป็นที่ทราบกันดีผู้บริหารหรือนักการเมืองรู้สึกว่าการรักษาโรคที่ยาก ๆ ได้เป็นจุดเด่น เป็นตัวชูโรง โรงพยาบาลเก่ง ดูประเทศไทยเก่ง แต่คนที่ไม่ควรป่วยแล้วต้องมาป่วย ตรงนี้เป็นความล้มเหลว productivity ขององค์กรจะลดลง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในทางการแพทย์ของประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ควรจะทำให้เขาแข็งแรงมากกว่า ไม่ใช่มุ่งแต่จะไปหาหมออย่างเดียว ผมคิดว่าการนำงบประมาณไปใช้ในเชิงป้องกันก็ยังไม่ชัดเจน เราต้อง “กันป่วย”


เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การเป็นโรค NCDs ของประเทศไทย เป็นอย่างไร

การติดตามจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs ของจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นโดยตลอด อย่างโรคเบาหวานก็เพิ่มขึ้นมา 1 ล้านคน แล้วถ้าคุมไม่ดีก็จะตามมาด้วยโรคอื่น ๆ อีก เช่น โรคไต โรคตา สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างในแถบยุโรป สแกนดิเนเวีย อัตราของโรค NCDs แทบจะไม่เพิ่มเลย ซึ่งเกิดจากความสามารถ ความรู้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศเขา เรียกว่ามี health literacy ดีมาก มีสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตที่เอื้อให้มีสุขภาพดี อาหารเพื่อสุขภาพมีมากกว่า ต้องเปลี่ยนระดับประเทศว่าทำอย่างไรให้คนไทยกินผักได้ง่าย ผลไม้ราคาไม่แพง หาซื้อสะดวก  ต้องคิดเรื่อง commercial determinants  of health การค้าที่มีผลต่อสุขภาพ การโฆษณาหรือการค้าจะเป็นตัวกำหนดสุขภาพด้วย เป็นต้น


ข้อแนะนำสำหรับแพทย์รุ่นใหม่ ให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับแพทย์รุ่นใหม่นั้นสิ่งที่อยากให้มุ่งเน้นคือ 1) การมีความมุ่งมั่นอย่างมีความสุข โดยต้องไม่ฝืนตนเองจนเกินไป สอดคล้องกับหลักที่ว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ถ้าทำการทำงานได้เหมือนกับการนั่งสมาธิ ทุกอย่างจะผ่อนคลาย ชีวิตจะมีความสงบ ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป  2) การรับฟังคนอื่นด้วยใจ ด้วยความเคารพและให้เกียรติ เพราะทุกความคิดเห็นมีประโยชน์อย่างมากในการแก้ปัญหา 3) การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ติดตามความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของวิชาการอย่างเดียว เราต้องดูสิ่งแวดล้อมด้วย ว่าสังคมเปลี่ยนไปยังไง เราต้องตามความรู้ในเชิงสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย 4) การมีทั้งศาสตร์และศิลป์ หมอควรมีความรู้เรื่องเหล่านี้ มีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย ชีวิตจะได้ครบด้าน ทำอาชีพหมออย่างมีความสุข

สำหรับแพทย์ในสาขาต่อมไร้ท่อ นอกเหนือจากข้อก่อนหน้าแล้ว กลุ่มโรคที่เป็นปัญหาระดับประเทศ เช่น โรคเบาหวาน หากสนใจและพร้อมที่จะทุ่มเทด้านนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ และอีกกลุ่มคือ กลุ่มโรคที่ไม่ได้พบบ่อย ๆ เป็นเรื่องของความผิดปกติของฮอร์โมนต่าง ๆ ซึ่งแพทย์ท่านใดสนใจก็สามารถเลือกว่าจะโฟกัสไปที่จุดไหน ระหว่างเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคหรือจะดูแลภาพกว้างในระดับสาธารณสุขของประเทศ งานในระบบต่อมไร้ท่อมีให้ทำหลายมิติ แต่จุดที่เด่นที่สุดที่ได้กล่าวไปข้างต้นคือ มีเนื้อหาสาระอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและความสมดุล ซึ่งการอยู่กับงานตรงนี้ตลอดเวลาจะเป็นการฝึกตัวเองโดยอัตโนมัติไม่ให้เรามากไปหรือน้อยไป ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จอยู่อย่างมีความสุข

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก