CIMjournal

อาจารย์ พญ. นภอร ภาวิจิตร สาขากุมารแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร


“การเป็นคนใส่ใจในการทำงาน สนใจในรายละเอียด อาจจะเป็นลักษณะของหมอเด็ก เพราะถ้าเกิดผิดพลาด อาจจะเกิดผลเสียกับเด็กอย่างมาก

พ.อ.หญิง รศ. พญ. นภอร ภาวิจิตร
หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
นายกสมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขากุมารแพทย์

จบมัธยมต้นจาก รร.อัญสัมชัญคอนแวนต์ แล้วมาต่อมัธยมปลายที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา เป็นคนชอบวิชาวิทยาศาสตร์กับชีววิทยา และชอบการได้คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา ซึ่งตอนนั้นเท่าที่เห็นก็จะมีให้เลือกหลัก ๆ คือ แพทย์กับวิศวะ จริง ๆ ก็ยังไม่เข้าใจว่าแพทย์ต้องเป็นอย่างไร แต่ด้วยวิชาที่เราชอบ การเรียนแพทย์น่าจะเหมาะกว่าและถือเป็นความท้าทาย ก็สอบติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำได้ชีวิตการเรียนตอนขึ้นชั้นคลินิกจะหนักมาก ต้องอยู่เวร ต้องปรับตัว เรียกได้ว่ามันเปลี่ยนชีวิตไปเลย  แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ ด้วยความที่ชอบด้านวิชาการ และการเรียนการสอน จึงเลือกใช้ทุนในภาควิชาพรีคลินิก (Pre-clinic) ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และต่อมาได้มีโอกาสเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง

 

เริ่มต้นเลย ตัวเองชอบทางด้านอายุรกรรม จะเป็นอายุรกรรมผู้ใหญ่หรือเด็กก็ได้ทั้งหมด ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะเลือกเรียนอะไรดี ในที่สุดตัดสินใจเลือกเรียนเป็นกุมารแพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า  สาเหตุที่เลือกเพราะตัวเองเป็นคนชอบเด็ก ชอบพูดคุยกับเด็ก มีความสุขที่ได้เห็นเด็กเขาเติบโตและมีสุขภาพที่ดี หลังจากเรียนจบได้รับโอกาสบรรจุเป็นอาจารย์กุมารแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งในเวลานั้นขาดอาจารย์สาขาระบบทางเดินอาหารในเด็ก ไม่มีอาจารย์อยู่ในหน่วยเลย แพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ก็ไม่มีอาจารย์สอนระบบนี้ ผู้บริหารในขณะนั้นบอกว่า ถ้าตัวเองเข้ามาช่วยตรงนี้จะช่วยผู้ป่วยเด็กและการเรียนการสอนได้อีกเยอะ ซึ่งตอนนั้นตนเองก็คิดว่าเรียนได้ เลยตัดสินใจไปเรียน Fellow Ped GI ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ฯ อีก 1 ปี หลังจากนั้นก็ได้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศไปเรียนต่อเป็น Clinical fellow ของ Pediatric Gastroenterology ที่ The Royal Children’s Hospital เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจในช่วงที่ผ่านมา

เรื่องแรก การได้เป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โดยได้มีโอกาสช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์  ได้มีโอกาสช่วยพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนกุมารเวชศาสตร์ เป็นแบบบูรณาการและเป็นไปตามเกณฑ์ของ WFME (World Federation for Medical Education) มีการให้นักเรียนแพทย์ได้เป็นเจ้าของกิจกรรมการเรียนของตัวเอง ได้ลงมือปฎิบัติด้วยตัวเอง และถูกประเมินทักษะต่าง ๆ ในสถานที่ทำงานและสถานการณ์จริง ในส่วนของแพทย์ประจำบ้าน ก็ได้ช่วยปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของ WFME เช่นเดียวกัน ซึ่งการผ่านเกณฑ์ WFME ก็เพื่อให้หลักสูตรเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก

เรื่องที่สอง การได้เป็นนายกสมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย ก็มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับอาจารย์แพทย์ทุกสถาบัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ผลักดันแนวทางเวชปฏิบัติต่าง ๆ ของโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อให้กุมารแพทย์ทั่วไปและแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ได้ศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วย มีการสนับสนุนงานวิจัยแบบสหสถาบัน การจัดประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมฯเพื่อนำเสนอข้อมูลใหม่ ๆ ที่ทันสมัย การจัดกิจกรรมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารสัญจรในภูมิภาคต่าง ๆของประเทศ และได้มีการพัฒนาเว็บไซต์ จัดทำบทความให้ความรู้สู่ประชาชน สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ www.pthaigastro.org จริง ๆ ตัวเองก็ได้ทำงานให้สมาคม ฯ มาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งการเป็นเหรัญญิก  เป็นเลขาธิการ และตอนนี้เป็นนายกสมาคมฯ ถือเป็นอีกเรื่องที่ตัวเองภูมิใจ

เรื่องที่สาม การได้เป็นอาจารย์แพทย์ สอนนักเรียนแพทย์ ทุกวันนี้ก็มีลูกศิษย์ที่จบไปแล้ว โทรมาปรึกษาขอความเห็นในเรื่องต่าง ๆ เป็นความผูกพันระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ก็เป็นความภูมิใจในเรื่องของการเป็นครู

เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่อยู่ในใจลึก ๆ เป็นความภูมิใจที่ได้ดูแลลูกชายจนประสบความสำเร็จได้เป็นคุณหมอเหมือนกัน ด้วยความที่ตนเองเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากสามีเสียชีวิตตั้งแต่ลูกชายยังเล็กมาก เลยต้องเป็นทั้งครูแพทย์ ดูแลลูกศิษย์ และเป็นคุณแม่ ดูแลลูกไปพร้อม ๆ กัน จนเขาได้เป็นแพทย์ในทุกวันนี้


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา

ถ้าให้มองตัวเอง เรื่องแรกคิดว่า การเป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร ทั้งเรื่องการเรียนและการทำงาน โดยเราทำอะไรก็จะยึดเป้าหมายและพยายามทำให้สำเร็จ อย่างปัจจุบันการทำงานให้ภาควิชา ฯ การทำงานในฐานะนายกสมาคม ฯ ก็ต้องมีเป้าหมายในแต่ละบทบาทหน้าที่ 

เรื่องที่สอง คิดว่าตนเองเป็นคนยึดหลักการ ยึดระเบียบปฏิบัติขององค์กร ด้วยความที่อยู่ในสถาบันทหารทำให้มีความจำเป็นต้องยึดถือระเบียบปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการทำงาน

เรื่องที่สาม การเป็นคนเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องเข้าใจว่าการเป็นแพทย์รวมถึงการบริหารองค์กร เราไม่สามารถทำงานคนเดียวโดยไม่รับฟังผู้อื่นได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ขัดกับหลักการที่เหมาะสม  คิดว่าตัวเองมีในจุดนี้ทำให้หากเจอปัญหาแล้ว ถ้าต้องขอความช่วยเหลือ มักจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

เรื่องที่สี่ การเป็นคนใส่ใจในการทำงาน เวลาทำงานจะมีความละเอียด อาจจะเพราะเป็นหมอเด็ก เนื่องจากว่าการเป็นหมอเด็กจะผิดพลาดไม่ได้ ทั้งการรักษา การให้ยา เพราะถ้าเกิดผิดพลาด จะเกิดผลเสียต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ธรรมชาติของหมอเด็กโดยส่วนใหญ่ จึงใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก


กว่าจะถึงวันนี้ เจออุปสรรคอะไรมาบ้าง และเอาชนะอย่างไร

ต้องบอกตรง ๆ การทำงานต้องเจออุปสรรคอยู่แล้ว ตัวเองไม่ได้ทำงานเอกชนนอกเวลา ทำเฉพาะงานในส่วนของการเป็นอาจารย์แพทย์ งานภาควิชาฯ และงานสมาคมฯ ที่ผ่านมาถ้ามีปัญหาตัวเองจะได้รับการสนับสนุนทั้งจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน พี่ ๆ น้อง ๆ และผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี ทำให้ผ่านอุปสรรคไปได้ แต่ที่พอจะเรียกว่าเป็นปัญหาอยู่  ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสื่อสาร อาจมีความไม่เข้าใจกัน สื่อสารความหมายผิดพลาดระหว่างบุคคล  มีความขัดแย้งกันในการทำงานได้ ตัวเองเป็นคนรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่แล้ว ถ้าเป็นงานใหญ่ก็จะประชุมรวมกันทั้งหมด อธิบายให้เข้าใจตรงกันแล้วสอบถามใครมีข้อสงสัยอย่างไร ส่วนถ้าเป็นเรื่องเล็ก ๆ เราก็อาจเรียกมาพูดคุยปรับความเข้าใจกันเป็นเรื่อง ๆ ไป ความขัดแย้งก็จะบรรเทา


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

ท่านแรกเป็น ศ.เกียรติคุณ พ.อ.หญิง พญ. ศรีลักขณ์ สิมะเสถียร อาจารย์เป็นต้นแบบของความเมตตา เห็นอกเห็นใจ ดูแลผู้ป่วยดีมาก ท่านจะมาแต่เช้า มาดูคนไข้อยู่ตลอด รู้สึกประทับใจอาจารย์มาก และอาจารย์มีความเป็นกันเองต่อผู้ใต้บังคับบัญชา อาจารย์ดูแลลูกน้องเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าไม่เคยลืมวันเกิดของอาจารย์กุมารฯที่ รพ.พระมงกุฎเกล้าคนไหนเลย อาจารย์น่ารักมาก ๆ

ท่านที่สอง ศ.เกียรติคุณ พล.ท.หญิง พญ. ทิพย์ ศรีไพศาล อาจารย์เป็นต้นแบบของความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงานมาก ท่านเป็นผู้บุกเบิกสร้างอาคารพัชรกิติยาภา สำหรับผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะ ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านกุมารเวชศาสตร์ ของรพ.พระมงกุฎเกล้ามาอย่างต่อเนื่อง

ท่านที่สาม ศ. นพ. ยง ภู่วรวรรณ ท่านเป็นต้นแบบของการทำวิจัย ได้ร่วมงานกับท่านตอนเป็นแพทย์ใช้ทุนที่จุฬาฯ งานวิจัยชิ้นแรกในชีวิตก็ได้ทำร่วมกับท่าน  ท่านคอยสอน คอยแนะนำ ท่านเป็นครูสอนงานวิจัยคนแรก ชื่นชมท่านในฐานะนักวิจัยมาก

นอกจากนี้อาจารย์อาวุโสของสมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับทุกท่านก็เป็นต้นแบบที่ดีในการทำงานและดูแลผู้ป่วยเด็กในโรคระบบนี้


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ถ้าให้ยึดหลักก็จะเป็น “อิทธิบาท 4” ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา  เริ่มด้วยการมีความชอบในสิ่งที่จะทำ พอกำหนดเป็นเป้าหมายได้ ก็มีความพยายาม มีความต่อเนื่องในการทำ และเป็นการทำด้วยความตั้งใจ  คิดใคร่ครวญ ให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี 

ส่วนในงานที่ยังทำได้ไม่ดี ก็จะขอความคิดเห็น ขอความร่วมมือ เปิดทัศนคติ โลกทัศน์ของตนเอง ยอมรับในข้อจำกัดของตนเอง เพราะเกือบทุกเรื่องจะสำเร็จได้ต้องมีการทำงานเป็นทีม


มองวงการแพทย์ในปัจจุบัน และในอนาคต เป็นอย่างไร

ส่วนตัวมองเป็นความท้าทาย ภาพกว้าง ๆ ก็จะเป็นเรื่องของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนทุกวัย ทั้งวัยเด็ก วัยกลางคนและวัยสูงอายุ ต่อมาก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ที่จะทำให้การวินิจฉัยและการรักษาโรคต่าง ๆ ในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้รวมถึงระบบการจัดเก็บ ระบบฐานข้อมูล ประวัติคนไข้ การส่งต่อ และในด้านอื่น ๆ ด้วย และเรื่องของสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยน ทำให้มีโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้น ในขณะที่โรคบางโรคอาจพบน้อยลง ทั้งหมดส่งผลต่อการทำงานของแพทย์ในหลาย ๆ สาขา

สำหรับในบ้านเรา การเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพจะดีขึ้น แต่หลาย ๆ เรื่องก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ ทั้งการกระจายตัวของแพทย์ การเข้าถึงยา การวินิจฉัยและการรักษาบางโรค


แพทย์รุ่นใหม่ควรจะปรับตัวอย่างไร ในการรองรับการเปลี่ยนแปลง

อยากให้น้อง ๆ แพทย์รุ่นใหม่ ยึดคำสอนของพระราชบิดาในการประกอบอาชีพแพทย์ ที่ว่า “ ยึดประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของคนไข้เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภและเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง” และในปัจจุบันมีแนวทางเวชปฏิบัติออกมามาก ก็อยากให้แพทย์รุ่นใหม่ ได้ปฏิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติของโรคนั้น ๆ ทั้งนี้การยึดการปฏิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติ จะทำให้มั่นใจขึ้นว่า การดูแลผู้ป่วยนั้นถูกต้องและเป็นที่ยอมรับในกระบวนการดูแลรักษา และถ้ามีเวลาก็ควรติดตามงานวิจัยใหม่ ๆ ที่ออกมา อย่างน้อยก็ในสาขาของตัวเอง เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

สำหรับกุมารแพทย์ ในยุคปัจจุบันพบว่าเด็กเกิดใหม่น้อยลง แต่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กุมารแพทย์ต้องมีการปรับตัวโดยนอกจากจะดูแลรักษาโรคในเด็กแล้ว อาจต้องดูถึงสุขภาพเด็กในด้านต่าง ๆ แบบเป็นองค์รวมด้วย เช่น พัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ น้ำหนักตัว ความสูงที่เหมาะสมรวมทั้งการป้องกันโรคต่าง ๆ เป็นต้น 

สำหรับแพทย์ทางเดินอาหาร ก็คงมีคำแนะนำที่คล้าย ๆ กัน คือ อยากให้แพทย์รุ่นใหม่ ดูแลคนไข้แบบเป็นองค์รวม โดยดูทั้งกายและจิตใจ โดยโรคหนึ่งโรคอาจเกี่ยวข้องกับหลายระบบในร่างกาย ผู้ป่วยที่มาหาเราอาจจะมีปัญหาในร่างกายอย่างอื่นร่วมด้วย

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก