“การเป็นคนเปิดใจยอมรับอะไรใหม่ ๆ แบบน้ำไม่เต็มแก้ว
ทำให้การไปอยู่ตรงไหน ก็จะมองเห็นและรับแต่สิ่งดีดีเข้ามา”
ผศ. นพ. ปุณณฤกษ์ ทองเจริญ
นายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
ผมเรียนมัธยมที่โรงเรียนสาธิตจุฬา ฯ สมัยผมอาจเป็นค่านิยม ผู้ชายที่เรียนดีก็มักจะไปเรียนแพทย์ วิศวะ ผู้หญิงก็ไปเรียนอักษร เรียนนิเทศศาสตร์ ผมไม่ใช่สายเด็กเรียนซะทีเดียว ผมจะเป็นสายกิจกรรมเล่นกีฬา เล่นฟุตบอล แต่ก็มีแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเลือกเรียนแพทย์ คือ คุณพ่อ ท่านเป็นหมอสายวิชาการ ท่านจะสอนว่าการเป็นแพทย์เป็นอาชีพที่ช่วยเหลือคนได้เยอะ ถ้าเรามีศักยภาพที่ช่วยเหลือคนได้ ไม่ว่าจะไปทำอาชีพไหนก็ช่วยเหลือคนได้ ผมจึงตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์ 3 อันดับแรกจากทั้งหมด 6 อันดับ และสอบเข้าแพทย์ได้ที่จุฬาฯ
ตอนเริ่มเรียนหมอปีแรก ๆ ผมยังไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร พอขึ้นชั้นคลินิกได้มีโอกาสดูคนไข้ในแต่ละแผนก ผมชอบเกือบทุกแผนก ไปแผนกไหนก็ชอบ มีน้อยมากที่ผมจะไม่ชอบ ทำให้เกือบทุกแผนกเป็นทางเลือกในการเรียนต่อ จริงอยู่คุณพ่อเป็นหมออาจมีอิทธิพลกับผมอยู่บ้าง แต่พอมาปีสุดท้ายผมได้ทำหัตถการ เห็นการผ่าตัด แล้วคนไข้หายป่วยทันที เปรียบเทียบกับการรักษาแบบใช้ยา ซึ่งเห็นผลช้ากว่า ผมจึงคิดแล้วว่าอนาคตจะเลือกเรียนทางศัลยศาสตร์ ตอนเรียนมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมอาจจะต่างจากเพื่อนบ้าง คือ ผมชอบอยู่กับคนไข้ อยู่กับวอร์ด ผมจะไม่อ่านหนังสืออยู่ในห้อง ผมจะเน้นดูคนไข้ ผมเชื่อว่าประสบการณ์จากการดูคนไข้เป็นความรู้ที่ได้มากกว่าในตำรา ผมจึงหาโอกาสไปอ่านที่วอร์ด พอเวลามีเคสฉุกเฉินก็ขอตามไปดูคนไข้ด้วย บางทีก็ไปอยู่ห้องฉุกเฉินบ้าง ไปอยู่แผนกสูติฯ บ้าง ตอนเรียนผมพยายามใช้เวลาในคลินิกให้มากที่สุด เพราะผมคิดว่าการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงมันได้มากกว่าตำรา เพราะตำรานั้นถึงเราจะจบไปแล้ว เรายังเอาตำราไปด้วยได้ เปิดอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ประสบการณ์ในการดูแลคนไข้ ถ้าเราไม่ได้เห็นคนไข้แบบนี้ เราอาจจะไม่ได้เห็นอีก
พอถึงตอนใช้ทุนผมจึงเลือกที่ที่เปิดโอกาสให้ผมได้เป็นศัลยแพทย์ สมัยก่อนแพทย์ใช้ทุนปีแรกส่วนใหญ่จะไปโรงพยาบาลอำเภอหรือไม่ก็ไปกระทรวงฯ ผมรู้สึกว่าไปโรงพยาบาลอำเภอจะได้ใช้สิ่งที่เรียนมาน้อย ผมจึงสนใจเลือกไปโรงพยาบาลจังหวัด เพราะจะได้อยู่หลายแผนก ได้ดูเคสคนไข้เกือบทุกแบบ รวมไปถึงคนไข้หนัก ได้ใช้สิ่งที่เราเรียนมาคุ้มค่า และใจผมตอนนั้นผมอยากเป็นอาจารย์แพทย์ด้วย การไปอยู่โรงพยาบาลจังหวัดจึงน่าจะตอบโจทย์กว่า ผมจึงสมัครใช้ทุนที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เป็นจังหวะพอดีที่โรงพยาบาลขาดหมอที่แผนกศัลย์ฯกับแผนกสูติฯ ผมจึงได้เข้าไปช่วยงานใน 2 แผนกนี้เป็นหลัก ได้ผ่าตัดอยู่หลายเคส เช่น ผ่าตัดคนไข้เป็นนิ่ว ผ่าตัดช่องท้อง ผ่าตัดตับ ตรงนี้ผมโชคดีมาก ๆ ที่มีรุ่นพี่ให้โอกาส ให้ได้ประสบการณ์ในการผ่าตัดคนไข้โรคต่าง ๆ รู้สึกว่าตรงกับสิ่งที่อยากจะทำ และได้มีโอกาสติดตามคนไข้หนัก ๆ ในหลายเคส รวมถึงคนไข้ผ่าตัดหัวใจและทรวงอก ซึ่งผมเห็นว่าเป็นคนไข้ที่หนักจริง เพราะแพทย์ต้องติดตามดูแลทุกระบบของคนไข้อย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจมีปัญหาตามมาในระหว่างการรักษา เช่น ไตวาย อัมพาต ตับทำงานไม่ดี ถึงตอนนั้นผมมั่นใจแล้วว่าอยากเป็นหมอศัลย์ทรวงอก หรือ CVT ก็สมัครมาเรียนที่ศิริราช ระหว่างเรียนก็เรียนหนักมาก โดยการเข้ามาเรียน CVT เราจะมาเอาจากตำราเป็นหลักไม่ได้ เราต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากอาจารย์ ก็มีอาจารย์หลายท่านให้ข้อคิดสอนอะไรดีดีเยอะ ท่านจะสอนอยู่เสมอว่า เวลาเราไปเรียนที่ไหนก็ให้ทำตัวเหมือนคนที่นั้น แล้วเราจะได้รู้จริงในสาขานั้น ๆ เพราะเวลาสอบเราก็ต้องใช้ความรู้จากสาขาอื่นด้วย คำสอนนี้ผมก็ใช้มาตลอด จะทำให้เราเก่งและมีประสบการณ์
“ถ้าเราสอนให้หมอผ่าตัด
ได้เพิ่มสัก 10 ราย
คนไข้จะได้รับการรักษา
อีกเป็นพันราย หมื่นราย
เป็นอีกสิ่งที่ผมภูมิใจมากเช่นกัน”
สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เรื่องแรก คือ ความภูมิใจที่ได้เป็นอาจารย์ที่ศิริราช เพราะเป็นหนึ่งในโรงเรียนแพทย์อันดับต้น ๆ ของบ้านเรา เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ผลิตลูกศิษย์แพทย์ออกมาแล้วมากมาย เป็นที่เปิดโอกาสให้เราทำประโยชน์ต่าง ๆ ได้อีกมาก ผมถือว่าเป็นเกียรติอย่างมาก ที่ได้เป็นอาจารย์ที่ศิริราช
เรื่องที่สอง คือ ความภูมิใจในการพัฒนาการทำงานของตนเอง จากการเป็นศัลยแพทย์คนหนึ่ง ได้มีโอกาสทำงานในฐานะแพทย์ และได้มีโอกาสฝึกฝนตัวเองจนได้เป็นอาจารย์แพทย์ ทุกวันนี้มีลูกศิษย์มาขอคำปรึกษาและขอคำแนะนำในการรักษาผู้ป่วย ในการผ่าตัด และปัจจุบันได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในการช่วยเหลืองานสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกฯ เป็นอีกสิ่งที่ผมภูมิใจมาก
เรื่องที่สาม คือ ความภูมิใจจากการได้เห็นลูกศิษย์แพทย์ประสบความสำเร็จ และทำได้ดีกว่าเรา ถ้าเราพัฒนาเขาให้เป็นแบบนั้นได้ เราจะภูมิใจมาก เพราะจะช่วยเป็นพลังเป็นไฟให้เราทำงานแพทย์ต่อไป อย่างเราผ่าตัดคนไข้ร้อยราย พันราย เราช่วยคนไข้ได้เท่านั้น แต่ถ้าเราสอนให้หมอผ่าตัดได้เพิ่มสัก 10 ราย คนไข้จะได้รับการรักษาอีกเป็นพันราย หมื่นราย เป็นอีกสิ่งที่ผมภูมิใจมากเช่นกัน
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว
หากให้วิเคราะห์ตัวเอง ปัจจัยแรกน่าจะมาจาก คือ การเป็นคนเปิดใจยอมรับอะไรใหม่ ๆ ได้ง่าย เป็นคนแบบน้ำไม่เต็มแก้ว มันทำให้การไปอยู่ตรงไหนก็จะมองเห็นและรับแต่สิ่งดีดีเข้ามา ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญและเป็นประโยชน์มาก อย่างในด้านการแพทย์ ถ้าผมได้อยู่กับอาจารย์ท่านไหน ผมจะเรียนรู้จากอาจารย์ให้ได้มากที่สุด บางคนอาจจะมองเห็นแต่คนที่เด่นดังมีชื่อเสียงเป็นหลัก แต่ผมมองว่าอาจารย์ทุกท่านมีแต่สิ่งที่ดีดี ถ้าเราเปิดใจเราจะเห็นสิ่งดีมากมาย
ถ้าในสายงานที่ผมไม่รู้ เช่น งานบริหารคน บริหารโครงการ ต้องยอมรับว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้มีความรู้เรื่องแบบนี้มาโดยตรง ผมก็จะหาเวลา หาโอกาสศึกษา ทั้งจากการอ่าน การถามผู้รู้และอื่น ๆ เพื่อให้มีศักยภาพพอที่จะทำงานนั้นได้ อย่างผมก็ต้องไปศึกษาว่าบริหารคน บริหารโครงการมีหลักการแบบไหนบ้าง เรียกว่าไปศึกษาเรียนรู้คล้าย ๆ กับการฝึกผ่าตัด จะผ่าตัดอะไรก็ต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อม
ปัจจัยที่สอง เป็นสิ่งที่ผมถูกซึมซับมาจากคุณพ่อ คือ การเป็นคนมีหลักการ ทำสิ่งที่ถูกต้องก่อน สิ่งที่ถูกใจเอาไว้ทีหลัง ทำอะไรที่มีหลักการ ทำอะไรเป็นระบบก่อน เรื่องของคนเอาไว้ทีหลัง ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนหรืออะไรจะเปลี่ยนสิ่งที่เราว่ามันจะถูก เช่น บางครั้งผมอยู่ในที่ที่มีนักเรียนแพทย์อยู่ด้วย แล้วเห็นอะไรที่มันไม่ถูกหลายคนก็เลือกที่จะไม่พูด เลือกความถูกใจมากกว่า แต่ผมพูดเพราะผมคิดว่านักเรียนแพทย์ควรจะได้สิ่งที่ถูกต้อง ผมก็จะพูดออกไป ผมไม่ได้เอาตัวเองเป็นหลัก ผมยึดถือหลักการและความถูกต้อง ถึงเราทำสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ไม่มีใครว่าเราได้ เพราะเราทำสิ่งที่ถูกต้อง เรามีหลักการ
ปัจจัยที่สาม เป็นเรื่องที่ผมได้มาจากครอบครัว ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ คือ การให้ความสำคัญกับคนที่อยู่รอบตัวเรา ในวงการแพทย์เราต้องทำงานกับคนในหลายระดับ ผู้อำนวยการ คณบดี อาจารย์แพทย์ บุคลากรอื่น ๆ หมอหลาย ๆ คนค่อนข้างแคบ แทบไม่รู้จักคนรอบข้างเลยแม้กระทั่งชื่อ รู้จักแต่หัวหน้า รู้จักแต่คนไข้ ในมุมของแพทย์การใช้ชีวิตเราต้องให้ความสำคัญ ให้เกียรติคนในทุกระดับ ผมเป็นคนติดดิน ในมุมหนึ่งผมสามารถพูดคุยกับคนงานเสร็จแล้ว ผมสามารถไปคุยกับผู้อำนวยการต่อได้เลย การให้ความสำคัญกับคนที่อยู่รอบตัว จะทำให้เราเข้าใจจิตใจคนอื่น มุมมองการใช้ชีวิตและการทำงานของเราจะเปลี่ยนไป
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคและเอาชนะได้อย่างไร
ผมขอยกตัวอย่างอุปสรรคที่เจอสักหนึ่งเรื่อง ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสทำโปรเจกต์ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record, EMR) ใช้กับระบบผู้ป่วยในที่ รพ. ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะกระทบกับผู้ปฏิบัติหน้าที่จำนวนมาก ทำให้มีแรงต้านเยอะ เพราะบางคนก็ไม่อยากใช้ระบบนี้ ประกอบกับผมเป็นหมอ ไม่มีประสบการณ์บริหารด้านไอทีมาก่อน เรื่องนี้จึงเป็นอุปสรรคสำหรับผม
สิ่งที่ผมทำเริ่มจาก การทำความเข้าใจในรายละเอียดของระบบ EMR ให้ได้มากที่สุด ทั้งหลักการเทคนิค ประโยชน์ที่ได้รับ พร้อม ๆ ไปกับศึกษาหาความรู้ในเรื่องการบริหารโครงการ เพื่อลดข้อจำกัดจากการที่ผมเป็นหมอแล้วมาทำโปรเจกต์ไอที ส่วนการจัดการกับแรงต้านนั้น เรื่องแรกผมยึดหลักการความถูกต้องมากกว่าถูกใจ ผมก็หาวิธีในการสื่อสารไปในองค์กรว่าการใช้ระบบ EMR เป็นแนวทางของโรงพยาบาล ถ้าทำสำเร็จแล้วการให้บริการผู้ป่วยและการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาลจะดีขึ้นอย่างไร และมีสิ่งที่ต้องการให้ทุกคนปรับตัวให้เข้ากับระบบคืออะไร โดยถ้ายังมีคนไม่ถูกใจหรือต่อต้านมาก ๆ ผมจะใช้หลักในเรื่องการเปิดใจยอมรับอะไรใหม่ ๆ และการให้ความสำคัญกับคนทุกคน โดยผมจะขอเข้าไปคุย เข้าไปฟังเหตุฟังผลจากเขาด้วย เพราะคนในวงการแพทย์ที่ทุ่มเททำงาน มีความเสียสละ เขาจะไม่มาค้านเพราะความไม่ถูกใจ เขาจะมีเหตุผลของเขา ถ้าเหตุผลของเขาดีเราก็ต้องรับมาปรับปรุง แต่ถ้าเขายังไม่เข้าใจก็เป็นโอกาสที่เราจะอธิบาย ถ้าเราเปลี่ยนคนที่ต้านมาคิดแบบเดียวกับเรา และช่วยสื่อสารทำความเข้าใจ ก็จะทำให้ดีขึ้น
หลายคนอาจมองว่าศัลยแพทย์มักจะมีอีโก้มาก แต่ผมคิดว่าผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมคิดว่าอีโก้ในตัวผมมีน้อย ผมให้ความสำคัญกับการทำงานในหลากหลายรูปแบบให้สำเร็จมากกว่า
“ถ้าเราทำเรื่องของ
Work life balance ให้ดีขึ้น
ก็คงมีเวลาไปทำด้านอื่น ๆ
ของชีวิตให้สมดุล
เป็นอีกเรื่องที่แพทย์สาขานี้
ควรสนใจ”
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ผมมองอดีตว่าเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคต เราแก้ไขอดีตไม่ได้อยู่แล้ว ผมมองไปข้างหน้าเป็นหลัก อย่างในบทบาทของศัลยแพทย์ เวลาเจอเคสคนไข้มะเร็ง ผมจะพูดกับคนไข้และญาติเสมอว่า การตัดสินใจจะผ่าตัด ให้คีโม หรือฉายแสง ไม่มีทางไหนผิดถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอให้เราตัดสินใจร่วมกัน แล้วเดินหน้าไปด้วยกัน ถ้าผลไม่ดี ไม่อยากให้คิดว่าน่าจะไปอีกทางจะดีกว่า เพราะไม่มีใครรู้ว่าไปทางอื่นจะแย่หรือจะดีกว่านี้ไหม ผมจึงไม่คิดย้อนกลับไป แต่ผมจะศึกษากรณีที่ผลการรักษาไม่ดี ว่าเพราะอะไร เพื่อทำให้การตัดสินใจครั้งต่อไปดีขึ้น
อีกเรื่องที่ผมกำลังทำอยู่ คือ การปรับสมดุลในชีวิต หรือ work life balance ของตนเอง เพราะด้วยลักษณะงานของศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ที่เป็นหนึ่งในสาขาแพทย์ที่ต้องให้เวลากับการงานมาก เพราะต้องอยู่กับระบบของร่างกายที่สำคัญทั้งหัวใจ ปอด หลอดอาหาร เสี่ยงกับการเสียชีวิตของคนไข้ ทำให้บางทีชีวิตอีกด้านเราขาดหายไป คิดว่าถ้าเราทำระบบให้ดีขึ้นมาได้ ก็คงมีเวลาไปทำด้านอื่น ๆ ของชีวิตให้สมดุลกัน เรื่องนี้น่าจะเป็นอีกเรื่องที่แพทย์สาขานี้ ควรให้ความสนใจ
“คุณพ่อมาถึงจุดนี้ได้ ก็เพราะ
คุณแม่สนับสนุน ทำให้ผม
ได้เรียนรู้ว่าเราอาจเป็นส่วนเล็ก ๆ
ที่อยู่ข้างหลัง แต่ทำให้
คนข้างหน้าหรืองานเดินต่อไป
จนถึงจุดหมายได้”
ใครคือบุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรก คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผมมีโอกาสได้ไปถวายงานพระองค์ท่าน ได้รู้จักพระองค์ท่าน ทำให้ผมได้แง่คิด ได้แรงบันดาลใจหลาย ๆ อย่าง เช่นการวางตัวในฐานะพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พระองค์ท่านวางตัวได้ดีมากแม้จะมีอุปสรรคก็ตาม ผมน้อมนำและนำมาปรับใช้กับตนเอง
ท่านที่สอง ผมยกให้คุณพ่อ ท่านอาจารย์ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ คุณพ่อเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในหลาย ๆ ด้าน ทั้งงานอาจารย์ งานวิชาการ งานวิจัย งานบริหาร รวมถึงการใช้ชีวิตทั่ว ๆ ไป ในสายตาผมคุณพ่อจะอยู่ในอันดับต้น ๆ ของทุกด้าน โดยเฉพาะการยึดความถูกต้อง การกล้าแสดงออกเพื่อความถูกต้องนั้น
ท่านที่สามเป็นคุณแม่ โดยคุณแม่เป็นตัวอย่างในความคู่กันกับคุณพ่อ คุณแม่ไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านใดเลย แต่ที่คุณพ่อมาถึงจุดนี้ได้ ก็เพราะมีคุณแม่เป็นผู้สนับสนุน ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนนำหน้าในเรื่องนั้น ๆ เราอาจเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่อยู่ข้างหลัง แต่ทำให้งานเดินต่อไปจนถึงจุดหมายได้ ในชีวิตจริงบางครั้งเราก็ต้องเป็นผู้ตาม ต้องเป็นปิดทองหลังพระ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในบทบาทมากกว่าหนึ่งบทบาท
มองการแพทย์ของเมืองไทยเป็นอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
การแพทย์ในอนาคต จะขยายไปทั้งทางกว้างและลงลึกไปมากขึ้น ด้วยพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี จะทำให้แต่ละสาขาของแพทย์เฉพาะทาง มีการดูแลรักษาที่ลงลึกไปเรื่อย ๆ บางสาขาปัจจุบันก็ลงลึกไปถึงระดับโมเลกุลหรือระดับยีนแล้ว ในส่วนของแพทย์ CVT ก็เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามาจะทำให้การผ่าตัดถูกพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยเบื้องต้นจะเป็นแบบที่เรียกว่า minimal invasive surgery ซึ่งแผลผ่าตัดจะเล็ก มีความแม่นยำสูง และนอกจากการดูแลรักษาของแพทย์แล้ว การให้บริการทางสุขภาพในด้านต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยี เช่นเดียวกัน เช่น การแพทย์และบริการแบบทางไกล มีการนัดจองคิว ตรวจวินิจฉัย หรือรักษาแบบทางไกล รวมถึงกระบวนการสอนหรือการทำวิจัยต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
แพทย์จะประสบความสำเร็จในอนาคต ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
อย่างแรก เราต้องกำหนดบทบาทและทิศทางของตนเองให้ชัดเจน อยากเป็นอาจารย์แพทย์ อยากเป็นแพทย์เฉพาะทาง ตั้งเป้าหมาย แล้วทำตรงนั้นให้ดีที่สุด ทำให้ถูกหลักการ ทำให้ถูกต้อง เพราะมีหมอหลายคนยังไม่ชัดเจนซึ่งมันจะเสียเวลาชีวิตไปทำสิ่งที่ไม่ตรง
อย่างที่สองคือ ไม่ว่าจะกำหนดบทบาทตนเองอย่างไร ทุกคนต้องคงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแพทย์ และควรมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม ในวิชาชีพแพทย์มีโอกาสทำเพื่อสังคมได้ง่าย ได้มาก เราอาจผ่าตัดรักษาคนไข้ได้มาก แต่นั้นยังไม่ใช่บทบาททางสังคมตรง ๆ เป็นบทบาททางอ้อม เราต้องแบ่งเวลาเพื่อไปทำอะไรให้สังคมด้วย ก็อยากให้แพทย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนของวิชาชีพ เป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัย เป็นหมอเสริมสวย จะภาครัฐบาลหรือภาคเอกชน ขอให้คงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแพทย์และมีบทบาทช่วยเหลือทางสังคม เพราะจะทำให้เราคงสถานภาพความเป็นแพทย์ไว้ได้
สำหรับประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยก็คือ แพทย์ต้อง balance การนำเทคโนโลยีที่มีราคาแพงมาใช้ โดยแพทย์ต้องอยู่ในบทบาทที่จะปรับเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะกับบริบทของคนไทย เพราะเราไม่จำเป็นต้องเอาของต่างประเทศมาทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้เครื่องมือที่ต่างประเทศผลิตเท่านั้น
ข้อคิดฝากถึงแพทย์ที่สนใจเรียนศัลยศาสตร์ และศัลยแพทย์รุ่นใหม่
ต้องเข้าใจว่าศัลยแพทย์จะมีภาระงานที่หนัก มีความกดดันสูง ต้องเป็นคนที่สู้งาน มีเวลาเต็มที่ และสามารถรองรับความกดดันในด้านต่าง ๆ ได้ดี อย่างศัลยแพทย์ CVT ต้องดูแลคนไข้ทั้งขณะผ่าตัดบางรายเป็นหลาย ๆ ชั่วโมง และหลังผ่าตัดเสร็จก็ต้องติดตามดูอาการคนไข้อยู่ตลอดเวลา เป็นสัปดาห์เป็นเดือน ต้องเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉินเช่นเดียวกัน
ต้องมีความสามารถในการทำงานเป็นทีม งานผ่าตัดเป็นงานที่เราไม่สามารถทำได้คนเดียว ต้องมีทีมงานหลายคนคอยช่วย ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลส่งเครื่องมือ หมอวิสัญญี เจ้าหน้าที่ดูแลคนไข้ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ทำให้ศัลยแพทย์ต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ในทีมให้มาก และต้องพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินขณะผ่าตัด จากความผิดพลาดของทีมงานในแต่ละจุดได้ เรียกว่าเป็นศิลปะในการทำงานร่วมกับคนอื่น ที่ศัลยแพทย์ต้องเรียนรู้ โดยแพทย์ต้องให้ความสำคัญกับ Non-technical skills ให้มาก อย่าไปจมกับเรื่องของ Technical skills อย่างเดียว สิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดและทำให้คนไข้ปลอดภัยคือเรื่อง Non-technical skills ด้วย
สุดท้าย ศัลยแพทย์เป็นหนึ่งในสาขาแพทย์ที่ต้องใช้เวลาทุ่มเทในการทำงานสูง ทำให้ต้องคิดให้มาก เพราะว่าหมอที่ทุ่มเท ผ่าตัดเยอะ ๆ แต่ว่าสุดท้ายก็สุขภาพไม่ดี ไม่สามารถอยู่ผ่าตัดหรือทำประโยชน์ให้คนอื่นได้นาน เพราะว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุลระหว่างงานกับเรื่องอื่น ๆ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องหันกลับมามองถึงเรื่องของ work life balance หาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานไปพร้อมกันด้วย