CIMjournal
Banner CIM Nephro 3

อาจารย์ นพ. ชลธิป พงศ์สกุล สาขาโรคไต


เราทำงานคนเดียวไม่ได้ การที่จะทำโครงการอะไรให้สำเร็จ ต้องพยายามชี้แจงให้เพื่อน ๆ เห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างไร ใครได้บ้าง เมื่อเขาเห็นด้วย ก็จะมาช่วยกันทำงาน

รศ. นพ. ชลธิป พงศ์สกุล
นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคไต

คุณพ่อเป็นอาจารย์อยู่คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผมจึงเรียน รร.สาธิตฯ ที่ขอนแก่น ตั้งแต่ ป.1 – ม.6 ตอนนั้นเด็กเรียนดีหน่อย ก็จะเลือกสอบเรียนต่อหมอ วิศวะ สถาปัตย์ ผมไม่มีญาติเป็นหมอเลย มีน้าและลุงไปทางวิศวะ ตอนแรกคิดจะสอบวิศวะกับสถาปัตย์ แต่ผมว่าผมไม่เก่งคำนวณเท่าไหร่ และมาคิดใหม่ว่าวิชาชีพแพทย์จะได้ช่วยเหลือคน แล้วก็เป็นอาชีพที่ยั่งยืนด้วย สมัยก่อนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างจะขาดแคลนแพทย์ และคณะแพทย์ ม.ขอนแก่นเพิ่งจะเปิดได้ไม่นาน โรงพยาบาลในขอนแก่นก็มีแห่งเดียว ก็เลยมาสอบผ่านเข้ามาเรียนแพทย์ในโควต้าเด็กต่างจังหวัดที่เรียนดี สมัยก่อนอาจารย์และนักศึกษายังมีน้อย ทำให้ได้ใกล้ชิดกับอาจารย์ สนิทกับเพื่อน ๆ ก็สนุกสนานกับการเรียน ได้ดูเคสต่าง ๆ ซึ่งคิดว่าในกรุงเทพฯ อาจจะไม่มีผู้ป่วยแบบนี้ จะเป็นโรคเฉพาะที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างเช่น โรคมะเร็งในท่อน้ำดีจะพบบ่อยมาก โรคทางอายุรกรรมก็มีค่อนข้างมากอย่าง เช่น ไตวาย

หลังจากเรียนจบแพทย์  มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดรวมถึงคณะแพทย์ ม.ขอนแก่น ตอนนั้นยังมีความขาดแคลน  อาจารย์แพทย์มีน้อย ทรัพยากรมีน้อย ก็เลยมีกลุ่มแพทย์พิเศษขึ้นมาเรียกว่า แพทย์ใช้ทุน โดยมีการเรียนการสอนเหมือนแพทย์ประจำบ้าน พร้อมกับใช้ทุนไปเลย ใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี ตอนนั้นผมเลือกอายุรศาสตร์ จริง ๆ แล้วตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ก็สนใจทุกภาควิชาแต่มาประเมินตนเองแล้ว ถ้าเป็นเรื่อง skill ฝีมือก็อาจจะไม่เท่าไหร่ จึงคิดว่าอายุรศาสตร์เหมาะสมที่สุด   

ตอนฝึกอบรมก็ได้ประสบการณ์ค่อนข้างมาก เพราะมีผู้ป่วยที่หลากหลาย  บางเคสไม่เคยเห็นเลย เพื่อน ๆ จากกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน เช่น โรคติดเชื้อบางอย่างที่พบเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรคไหลตายก็มี ตอนนั้นเป็นที่ฮือฮาพอสมควร ผมก็สงสัยว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร มีสมมติฐานต่าง ๆ เราเคยตั้งสมมติฐานว่า เกิดจากอิเล็กโทรไลต์ เกิดจากโปแตสเซียมต่ำไหม แล้วก็สาเหตุอื่นอีกหลาย ๆ อย่าง แต่เราก็ไปพบว่า เกิดจากภาวะหัวใจผิดปกติเอง  แล้วก็มีโรคที่พบบ่อย ๆ คือ โรคติดเชื้อ โรคเมลิออยโดซิส เป็นโรคประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็มาได้หลายรูปแบบมาก ๆ  อาจจะมาคล้ายวัณโรค มาด้วยเป็นไข้เฉียบพลัน มาด้วยฝีในตับ เราก็ได้เห็นเคสและได้ทำการวินิจฉัยเอง บางเคสต้องใช้การเจาะหนอง ย้อมเชื้อ ทำตรวจทางห้องปฏิบัติการเองก็ทำหลายอย่างมาก ทำให้ผมมีประสบการณ์ตรงนี้ค่อนข้างมาก  

ส่วนแรงบันดาลใจในการเรียนต่อทางโรคไต เบื้องต้นคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ป่วยโรคไตวายมากมาก ผมจำได้ว่ามีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) เฉพาะที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตอนนั้นผมเป็นแพทย์ใช้ทุนก็มีการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งผมต้องทำเองทั้งหมด  บางครั้งมีโรคติดเชื้อที่รุนแรง เช่น โรคเล็ปโตสไปโรซิส (leptospirosis) ก็มาด้วยไข้  มาด้วยไตวายก็มาก ส่วนหนึ่งก็รอดชีวิตมาทำให้ผมมีประสบการณ์จากตรงนั้น อีกเรื่องคือ ค่ารักษาพยาบาล ตอนนั้นประกันสังคมยังไม่มี ลูกจ้าง ลูกชาวไร่ชาวนาไม่มีสิทธิในการรักษา ต้องขายไร่ขายนามารักษาเพราะใช้เงินมาก ทำให้คนกลุ่มนี้ลำบากมาก เราก็ช่วยได้เท่าที่พอช่วยได้ เมื่อก่อนทางโรงพยาบาลก็ช่วยเรื่องเงินบ้าง  

มาถึงจุดที่ทำให้ผมสนใจมากที่จะเรียนต่อทางโรคไตก็คือ ตอนนั้นที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เริ่มมีการปลูกถ่ายไต โดยอาจารย์ นพ. ทวี ศิริวงศ์ เป็นคนริเริ่มที่จะทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อาจารย์คิดว่าผู้ป่วยโรคไตถ้าฟอกเลือดล้างไตไปนาน ๆ จะมีสุขภาพชีวิตที่แย่ลง จึงเริ่มมีการปลูกถ่ายไต ก็ได้ร่วมมือกับแผนกศัลยกรรม ท่านอาจารย์ ศ.นพ. ทองอวบ อุตรวิเชียร ก็ได้ทำการปลูกถ่ายไตขึ้น แรก ๆ ก็จะเป็นญาติพี่น้องให้กัน ซึ่งผมตื่นเต้นมากไม่เคยเห็นมาก่อน และผมก็ได้มีโอกาสเฝ้าผู้ป่วยปลูกถ่ายไต เพราะสมัยก่อนไม่มีแพทย์ Fellow เพราะฉะนั้น resident  ก็ต้องไปเฝ้าผู้ป่วยเปลี่ยนไต ก็ต้องไปดูแลผู้ป่วย  ตอนนั้นก็เลยคิดว่าสาขาโรคไตน่าสนใจ เพราะว่าเมื่อเปลี่ยนไตไปแล้วผู้ป่วยก็หายเป็นปกติ เขาไม่ต้องมาฟอกเลือดล้างไต หายขาดเป็นปกติ ผมก็เลยสนใจว่า ไตมันทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพชีวิตที่ดี แข็งแรงทำงานได้ ใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ปกติเลย และโรคไตก็เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย ก็เลยคุยกับอาจารย์ว่าผมอยากมาอยู่หน่วยไต พอจบบอร์ดก็ได้บรรจุเป็นอาจารย์ในภาควิชาอายุรศาสตร์เลย ทำงานแล้วหาประสบการณ์เพิ่มเติมในต่างประเทศ หลังจากนั้นก็มาสอบอนุมัติบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผมก็ได้เป็นหมออายุรแพทย์โรคไต  


สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในการ
ทำงาน

เรื่องแรกเลย การได้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนงาน ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงนโยบายระดับประเทศ ตั้งแต่ก่อนที่จะมาดูเรื่องปลูกถ่ายไต สมัยก่อนล้างไตทางช่องท้อง เป็นสิทธิที่ผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองเริ่มใช้ได้  ถ้าเป็นไตวายก็ใช้บัตรทองล้างไตช่องท้องได้เลยเรียกว่า CAPD First ก็มีความภาคภูมิใจว่า จังหวัดขอนแก่นของเราเป็นที่ที่นำร่องเรื่อง CAPD First เพราะสมัยก่อนเรามีผู้ป่วย CAPD มากกว่าที่อื่นอยู่แล้ว ผู้ป่วยจะมาโรงพยาบาลฟอกเลือดก็มายาก บ้านอยู่ไกล เพราะฉะนั้นการล้างไตทางช่องท้องหรือ CAPD เรามีประสบการณ์เพียงพอที่จะช่วยผลักดันเชิงวิชาการ เชิงนโยบาย ทำให้นโยบาย CAPD First เป็นนโยบายของประเทศ และผมสามารถช่วยผู้ป่วยได้มากกว่าการที่ผมจะไปรักษาผู้ป่วยทีละคน

เรื่องที่สอง การได้ช่วยทำงานให้กับสมาคมโรคไตฯ และสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ สำหรับสมาคมโรคไตฯ ซึ่งเดิมอาจารย์ นพ.ทวี ศิริวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสาขาวิชาโรคไต ท่านก็เป็นสมาชิกของสมาคมฯและเป็นกรรมการอยู่แล้ว  ผมก็เป็นกรรมการย่อยในสมาคมฯ ก็ช่วยทำงานบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขับเคลื่อนเรื่องของโรคหรือนโยบายต่าง ๆ ช่วยไปตรวจหน่วยไตเทียมที่ตั้งใหม่บ้าง แต่พอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีมากขึ้น ผมก็เลยต้องมาโฟกัสเรื่องของการปลูกถ่ายไต เพราะมีผู้ป่วยมากขึ้น ได้มาทำงานกับสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ มาถึงเวลานี้ก็เป็น 10 ปี หลังจากนั้นกรรมการสมาคมฯ ก็เห็นชอบให้ผมเป็นนายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ ก็มีโอกาสขับเคลื่อนงานหลายอย่างมากขึ้น  เพราะมุมมองของผมเป็นมุมมองของแพทย์ต่างจังหวัด  เป็นมุมมองที่เห็นพื้นที่จริงค่อนข้างมาก ผู้ป่วยเดินทางมาลำบากอย่างไร ผู้ป่วยมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร การเข้าถึงการบริการ โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตมันเข้าถึงยากอย่างไร ก็นำมาปรับปรุง

 “ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดล้างไต
เกือบแสนคน

แต่เป็นผู้ป่วยรอไต
เพียง 5,000 คน

ซึ่งสัดส่วน
มันต่างกันเกินไป”

ผมใช้ประสบการณ์ตรงนี้มาขับเคลื่อนเชิงนโยบายในการเข้าถึงการบริการ เรามีผู้ป่วยฟอกเลือดล้างไตเกือบแสนคน เป็นอันดับ 15 ของโลก เพราะ หนึ่ง เรื่องของการป้องกันโรคไตเรื้อรัง ของเรายังสู้ต่างประเทศไม่ได้ โรคไตเรื้อรัง 50% เกิดจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งบ้านเรายังป้องกันผู้ป่วยโรคเหล่านี้ไม่ให้เป็นโรคไตเรื้อรังยังไม่ดีพอ สอง เรามีนโยบายเข้าถึงการบริการสำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาบัตรทอง ประกันสังคม เข้าถึงการฟอกเลือดล้างไตได้หมด ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย  แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่เข้าถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีน้อยมาก  ปีหนึ่งในประเทศไทยอย่างมากก็ทำได้ประมาณ 700 – 800 คน ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรของเราถือว่าน้อยมาก ในยุโรป อเมริกา เขาทำการปลูกถ่ายไตได้มากกว่าเราหลายเท่าตัว แต่เหนือกว่านั้นคือ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นการรอรับไตแบบบริจาค จากผู้ป่วยสมองตาย คือเขาไม่มีญาติที่จะบริจาค  เพราะกฎหมายไทยต้องเป็นญาติพี่น้องเท่านั้นที่จะบริจาคให้ได้ ทำให้ 2 ใน 3 ของการปลูกถ่ายไตจึงมาจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มสมองตายสามารถบริจาคอวัยวะทุกอวัยวะได้ ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดล้างไตเกือบแสนคน แต่เป็นผู้ป่วยรอไตเพียง 5,000 คน ซึ่งสัดส่วนมันต่างกันเกินไป สิ่งที่เราผลักดันคือ ต้องให้มีการเข้าถึงการรอรับอวัยวะ  พอผู้ป่วยเข้าถึงมากขึ้นมันจะเป็นตัวขับเคลื่อนผลักดันให้มีการปลูกถ่ายอวัยวะได้มากขึ้น ถ้าเราขับเคลื่อนผลักดันให้ทุกคนที่เหมาะสมกับการปลูกถ่ายไต เข้าสู่กระบวนการได้นั้นคือโอกาสที่ดีในชีวิตของเขา การปลูกถ่ายไตจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าฟอกเลือดล้างไตมากเลย ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นผู้ดูหลักคือ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะของสภากาชาดไทย

เรื่องที่สามคือ เทคโนโลยีสารสนเทศ ผมสนใจเรื่องไอที พอมาทำงานแล้วรู้สึกว่าบางอย่างมันทำงานซ้ำซ้อนมาก  มีข้อผิดพลาดเพราะต้องเขียนใบสั่งยาด้วยกระดาษหมด เวลาวิเคราะห์ก็ยากมาก พอผมได้มาเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ภารกิจสำคัญที่ผมจะทำคือ ระบบไอที ซึ่งคณะแพทย์เองตั้งโครงการนี้เอาไว้ก่อนที่ผมจะเข้ามาแต่ยังไม่สำเร็จ ผมก็พยายามศึกษาว่าจะใช้ระบบไอทียังไงให้เหมาะสมกับเรากับประเทศไทย โดยเฉพาะกับระบบการแพทย์ที่ซับซ้อน ได้พยายามศึกษาเรื่อง hospital information systems, (HIS) ผมก็เอาสิ่งที่ควรจะทำมาร่างโครงการนี้ขึ้นมา เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่นำระบบนี้มาใช้แบบเต็มรูปแบบได้สำเร็จ โดยระบบ HIS ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด เป็นโปรเจกต์ที่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของทุกคน ทั้งผู้บริหารระดับคณบดี ผู้อำนวยการ ทุกคนร่วมมือร่วมใจ ก็เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจที่่ได้มีส่วนในการพัฒนาระบบไอทีของโรงพยาบาลให้เกิดขึ้น  

และสิ่งที่ภูมิใจอีกสิ่งหนึ่งคือ จังหวัดขอนแก่นเป็นที่แรกในประเทศไทย ที่ใช้ระบบการลงรหัสวินิจฉัยที่เรียกว่า SNOMED CT เป็นการวินิจฉัยด้วยรหัสทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนรองรับโรคต่าง ๆ ได้มาก โรงพยาบาลเราเป็นผู้บุกเบิกที่แรกในประเทศไทยแบบครบวงจร


ปัจจัยในการทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จ

การทำอะไรให้สำเร็จได้ต้องมีปัจจัยทั้งในและนอกตัวเรา ผมจะเน้นเรื่องปัจจัยที่อยู่ในตัวซึ่งทุก ๆ คนสามารถปรับแก้ได้                                                                                   

ปัจจัยแรก ผมเป็นคนกัดไม่ปล่อย ถ้าตั้งใจทำก็จะวางแผน แล้วก็ทำให้สำเร็จ จริงอยู่บางเรื่องอาจจะไม่มีไทม์ไลน์ แต่จะพยายามทำในทุกทางเพื่อที่จะให้งานสำเร็จ ไม่ท้อถอย หยุดหรือเปลี่ยนใจง่าย ๆ

ปัจจัยที่สอง ผมเป็นคนหาความรู้ ผมคิดว่าหลาย ๆ อย่างจะทำแบบใช้แรงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีความรู้ด้วย  เหมือนระบบไอทีที่ผมทำ ไม่ใช่ว่าอยากได้แล้วคิดเอง ผมต้องศึกษาหาความรู้ด้านไอทีพอสมควรไม่ว่าจะเป็นการอ่าน  การเรียนออนไลน์ การปรึกษาพูดคุยกับผู้รู้  รวม ๆ กันจะทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ได้

ปัจจัยที่สาม ผมคิดว่าผมแบ่งเวลาได้ดี ผมไม่ได้เป็นคนบ้างาน กลับบ้านผมก็เล่นกับลูกเป็นชีวิตปกติธรรมดา โดยในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ ผมจะพยายามแบ่งเวลาไว้หลายส่วน เวลาส่วนหนึ่งผมก็ทำงานในหน่วยโรคไต บางส่วนก็ไปทำงานบริหารโรงพยาบาล บางส่วนก็ช่วยงานสมาคมฯ ผมคิดว่าผมมี work life balance นะ อย่างเช่นผมจะไม่เอาเวลาที่บ้านมาทำงาน ยกเว้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอบอีเมลล์แบบนี้พอได้ เมื่อเป็นเวลาของที่บ้านก็ต้องเป็นเวลาของที่บ้าน  ต้องแยกกันอย่างชัดเจน ก็ทำให้เราทำงานและครอบครัวอยู่ได้อย่างมีความสุข

“ผมคิดว่าผมแบ่งเวลาได้ดี
ผมไม่ได้เป็นคนบ้างาน

กลับบ้านผมก็เล่นกับลูก
เป็นชีวิตปกติธรรมดา”

ปัจจัยที่สี่ ผมให้ความสำคัญกับผู้ร่วมงานเพื่อความยั่งยืน เพราะเรารู้ว่าเราทำงานคนเดียวไม่ได้ การที่จะทำโครงการอะไรให้สำเร็จ ต้องพยายามชี้แจงให้เพื่อน ๆ เห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างไร ใครได้บ้าง เมื่อเขาเห็นด้วยก็จะมาช่วยกันทำงาน เพราะบางอย่างในช่วงแรกเขาอาจจะไม่ได้สนใจมาก่อน อย่างเรื่องไอที ไม่มีคนสนใจ ก็พยายามไปคุย ไปชักชวน คือเราต้องไปแสวงหา key man แล้วก็ทำให้คีย์แมนคนนี้เป็น successor เป็นผู้สืบทอดต่อไปเรื่อย ๆ ให้โครงการมีความยั่งยืน ผมคิดว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ การกัดไม่ปล่อยหรือมีความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องพยายามทำให้ระบบที่เรากำลังทำมีความยั่งยืนต่อไปด้วย อาจจะคล้ายกับที่อื่น แต่สิ่งที่เราทำจะประสบความสำเร็จ ถึงแม้ผมจะเกษียณไปแล้วคนอื่นก็ยังอยู่และสิ่งที่ทำจะเป็นแบบยั่งยืน


อุปสรรคและการแก้ไข ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

จริง ๆ แล้วงานประจำทางด้านโรคไตหรือการปลูกถ่ายอวัยวะ  เป็นงานที่ไม่ค่อยมีอุปสรรคอะไร เพราะทุกคนมีความเห็นตรงกันหมดแล้ว แต่งานไอทีเป็นงานที่ท้าทายและมีอุปสรรคสำหรับผม เพราะว่า หนึ่งผมไม่ได้เป็นผู้ชำนาญหรือเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ สอง บุคลากรหลาย ๆ ฝ่าย ยังไม่เข้าใจว่าประโยชน์ของไอทีคืออะไร ทำแล้วจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร อะไรดีขึ้นบ้าง ตรงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญ  สาม องค์กรมีขนาดใหญ่ มีผู้ใช้งานระบบไอทีร่วมหลายพันคน อุปสรรคที่สำคัญคือ ผมไม่สามารถทำความเข้าใจกับทุกคนได้ มีเสียงบ่น มีเสียงด่า เข้ามามาก ๆ  วันแรก ๆ นี้เกือบถอยนะ ผมจำได้ว่าต้องมานั่งคิดว่าจะกลับไปใช้ระบบเดิมดีไหม แต่ถ้าถอยมันไปต่อไม่ได้แน่ ๆ  สุดท้ายก็ตัดสินใจเดินหน้าไม่ถอย โชคดีที่ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจแล้วก็ช่วยเต็มที่ ฝ่ายที่สนับสนุนเราดีมากคือ พยาบาล เพราะให้ความสำคัญกับไอที ถ้าองค์กรเราไม่มีการทำงานร่วมกัน ทุกคนมาช่วยกันหมด ทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคตรงนี้ไปได้ กว่าจะเข้าที่ก็ใช้เวลาเป็นปี แก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ จนเริ่มนิ่ง การทำความเข้าใจทำให้เราก้าวข้ามอุปสรรคไปได้  เราจะไม่ไปค้านหรือตอบโต้เขา เราจะอธิบาย พยายามสื่อสารให้ได้มากที่สุด มีหลายคนบอกว่าผมเป็นคนประนีประนอม รับฟังความคิดเห็น และช่วยหาวิธีแก้ไขเพราะความคาดหวังของแต่ละคนไม่เท่ากัน     

      


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขในบางเรื่อง อยากจะแก้ไขอะไร     

จริง ๆ ผมก็พอใจงานที่ทำมาในระดับหนึ่ง ถ้ามีโอกาสแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็คงจะมี

เรื่องแรก อยากจะแก้ไขเรื่องของไอที โดยจะเตรียมการให้ดีกว่านี้ ให้คนของเรา เข้าใจระบบมากกว่านี้ เพราะระบบมันซับซ้อน เราไม่สามารถทำให้บุคลากรเข้าใจได้หมด ผมคิดว่า ถ้าเราเตรียมการให้ดีขึ้น เราจะทำสำเร็จได้เร็วกว่านี้

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของวิชาชีพ อย่างที่บอกรวม ๆ แล้ว สิ่งที่ทำมาก็ได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่บางอย่างอาจจะทำช้าไป คิดว่าถ้าทำเร็วกว่านี้ ก็จะพัฒนาหน่วยงานให้ดีกว่านี้ได้ เช่น การผ่าตัดปลูกถ่ายไต ถ้าเร่งให้เร็วก็อาจจะมีการพัฒนาที่เร็วกว่านี้หรือพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หรืออย่างระบบการดูแลผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยน เราอาจจะขาดเครื่องมือ เราศึกษาเครื่องมือช้าไป                    


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

ท่านแรก รศ. นพ. พิศาล ไม้เรียง อาจารย์รุ่นแรก ๆ ของภาควิชาอายุรศาสตร์ อาจารย์เป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องของวิชาชีพ จริยธรรม คุณธรรม การใช้ชีวิต ท่านเป็นครูอย่างแท้จริงสอนนักศึกษาแพทย์ทุกระดับ ปฏิบัติต่อผู้ป่วยได้ดีมาก สุภาพ น่ารัก เป็นโมเดลที่ดีให้กับผม

ท่านที่สอง ศ. นพ. ปิยทัศน์ ทัศนาวิวัฒน์ ท่านเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจ ท่านเป็นต้นแบบในเชิงวิชาการ อาจารย์ใช้หลักวิชาการทุกอย่าง มีความเชี่ยวชาญเรื่องสถิติเรื่องของการวิจัยใช้หลักฐานเชิงวิชาการในการสนับสนุนงานวิจัย เป็นผู้นำบุกเบิกในเรื่องของกลุ่มวิจัย เป็นต้นแบบของงานวิชาการและงานวิจัย

ท่านที่สาม รศ. นพ. ทวี ศิริวงศ์ อายุรแพทย์โรคไตคนแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านเป็นหัวหน้าของผมเอง อาจารย์เป็นต้นแบบในเรื่องของความมุ่งมั่น กัดไม่ปล่อยเหมือนกัน CAPD First อาจารย์เป็นผู้บุกเบิกโดยตรง

ท่านที่สี่ ศ.นพ.ทองอวบ อุตรวิเชียร ศัลยแพทย์ผู้บุกเบิกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านเป็นผู้ริเริ่มการผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่นี่ด้วย ท่านเป็นต้นแบบครูแพทย์สอนนักศึกษาทุกระดับ เป็นต้นแบบที่ดี อาจารย์มีแนวคิดที่ว่า แพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มทุกโรค เป็นแนวคิดของคณะแพทย์ในสมัยก่อน ทั้ง 4 ท่านเป็นต้นแบบที่ทำให้ผมใช้ชีวิตและทำทุกอย่างได้อย่างดี  

“อนาคตผมมองว่า
Personalized medicine
น่าจะเป็นจริง
คนเราแต่ละคน

ไม่เหมือนกัน ยีนไม่เหมือนกัน

สิ่งแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน

สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดโรค

ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”


มองวงการแพทย์ของไทยเป็นอย่างไร

ในอนาคตผมมองว่า Personalized medicine น่าจะเป็นจริง คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยีนไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และถึงจะเป็นโรคแล้ว การปรับปรุงบางอย่าง เช่น สภาพแวดล้อมก็อาจทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น ในอนาคต Personalized medicine ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลเรื่อง genetic, genomic, environment, exposure ต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ แพทย์รุ่นใหม่ก็ต้องตามให้ทัน  อีกเรื่องคือ Prevention หรือการป้องกันก็สำคัญมาก เพราะโรคหลาย ๆ โรค มันไม่ได้ลดลงเลย เช่น โรคเบาหวาน ไขมัน ความดัน โรคไต ก็ยังเพิ่มขึ้น การป้องกันในอนาคตต้องมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษา

 อย่างเทคโนโลยีที่มาแรงมาก ทุกคนจะมุ่งเรื่องของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทั้งเครื่องมือต่าง ๆ แต่มี  hi-tech แล้ว ก็ต้องมี hi-touch ด้วย แพทย์ต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วย เพราะบางครั้งเราใช้เทคโนโลยีมาก ๆ โดยเราซักประวัติผู้ป่วยด้วยเวลานิดเดียว แต่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมาก ๆ เริ่มใช้ตรวจทางห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัยอย่างเดียว ไม่ได้สนใจผู้ป่วย บางทีผู้ป่วยมาปัญหาหนึ่ง แต่ตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตรงนี้  hi-tech ก็ต้องมี hi-touch ตามไปด้วย เทคโนโลยีมีความสำคัญจริง แต่ความสำคัญระหว่างเรา ผู้ป่วย บุคลากร ก็ยังมีความสำคัญอยู่ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีเข้ามา


แพทย์รุ่นใหม่ต้องทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ  

ผมว่าแพทย์รุ่นใหม่ มีความเก่งในระดับหนึ่งแล้ว ขอฝากเพิ่มเผื่อเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ เรื่องแรก  เราต้องมีองค์ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ที่ดี ต้องมีเบสิกการจัดการดูแลผู้ป่วยให้ดี เรื่องนี้แพทย์ทุกคนควรมีมาตรฐานเหมือนกัน นอกจากนั้นคือ ต้องมีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ ต้องมีความเข้าใจเรื่องของโรคที่จะรักษา

เรื่องที่สอง เทคโนโลยี ต้องตามให้ทันแต่อย่าไปพึ่งพิงหรือเชื่อมันมาก รู้ให้เท่าทัน อย่าไปยึดติดเทคโนโลยีมากเกินไป เรารู้ว่าเขาทำอะไรได้ เรารู้ข้อจำกัดเขา เรารู้ว่าพวกนี้มาช่วยวินิจฉัยโรค แต่ไม่ได้มาแทนที่หมอนะ การรักษาผู้ป่วยมันเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การประกอบโรคศิลป์มีศิลปะ อย่างน้อยต้องมีการตัดสินใจร่วมกันระหว่างหมอกับผู้ป่วย ให้สิ่งที่ดีสำหรับผู้ป่วย ปัจจุบันมีสื่อต่าง ๆ ที่ทำให้คนเข้าใจผิดเรื่องโรคได้ เราเป็นแพทย์ต้องไม่เป็นเครื่องมือของสิ่งเหล่านี้ ไม่ชักนำไปในทางที่ผิด ยึดหลักจริยธรรม ยึดหลักวิชาการ

 

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก