“การแพทย์ไทยมีจุดแข็งที่การเข้าถึงการรักษาที่เปิดกว้าง แต่อาจจะทำให้ประชาชนไม่พยายามป้องกันหรือดูแลรักษาตนเอง มองว่าอนาคตควรจะมีมาตรการที่ทำให้ประชาชนใส่ใจและดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น”
รศ. พญ. แพรว โคตรุฉิน
กรรมการกลาง สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (อายุรศาสตร์โรคหัวใจ)
จบมัธยมที่โรงเรียนสาธิตฯ ม.ขอนแก่น ตอนแรกอยากเรียนทั้งหมอและสถาปนิก เพราะชอบศิลปะด้วย ต่อมาได้ไปดูงานที่โรงพยาบาลทำให้รู้สึกว่าอาชีพหมอมันใช่เลย เราอยากเป็นแบบนี้แหละ อยากช่วยผู้ป่วยให้หาย ประกอบกับครอบครัวเป็นครูทั้งตระกูล อยากจะมีสักคนที่เป็นหมอ สุดท้ายตนเองก็มาคิดว่า ถ้าเรียนสถาปนิกเราจะไปเป็นหมอไม่ได้ แต่ถ้าเราเป็นหมอ เราจะยังวาดรูปออกแบบได้ และเคยเห็นหนังสือที่อาจารย์หมอวาดรูปกระดูกสวย ๆ ในห้องสมุดโรงเรียน จึงตัดสินใจสอบโควตาเข้าเรียนแพทย์ที่ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น
“ตอนเป็นหมอจบใหม่ไฟแรง
เราไม่เห็นด้วยกับ
ความเชื่อบางอย่างที่ผิด
เมื่อพูดไปเขาก็ไม่ค่อยจะฟังเรา
ภายหลังเราเรียนรู้และเปิดใจ
ให้เวลากับการรับฟังความเชื่อของเขา
เขาจึงเปิดใจกับเรา เราก็ค่อย ๆ
ใส่ความถูกต้องเข้าไป
ให้เขายอมรับ …ความผูกพัน
ระหว่างหมอกับคนไข้
เป็นความประทับใจ
ในการรักษาคนท้องถิ่นอีสาน”
ระหว่างเรียนมีเรื่องประทับใจ 2 เรื่อง เรื่องแรกช่วงที่เรียนอยู่ปี 2 คุณปู่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แอดมิทอยู่ที่แผนกอายุรกรรม มีรุ่นพี่เป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน ได้เข้ามาช่วยดูแล อธิบายให้คุณปู่ฟังด้วยท่าทางใจดีว่า ทางเลือกในการรักษาจะเป็นแบบไหนได้บ้าง มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ทำให้รู้สึกว่ารุ่นพี่คนนี้ดีจังเลย อีกหน่อยเราอยากเป็นแบบนี้ และรู้สึกว่าหมออายุรกรรมนี้เก่งดี รอบรู้ จึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เราตั้งใจเรียนและจบแพทย์ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เรื่องที่สองคือ การเรียนรู้ในการสื่อสารกับคนท้องถิ่นอีสาน โดยเขาจะมีความเชื่อเดิม ๆ หลายอย่าง ตอนเป็นหมอจบใหม่ไฟแรง เราก็จะไม่เห็นด้วยเพราะมันเป็นความเชื่อผิด ๆ เมื่อพูดไปเขาก็ไม่ค่อยจะฟังเรา ภายหลังเราเรียนรู้และเปิดใจ ให้เวลากับการรับฟังความเชื่อของเขา เขาจึงเปิดใจกับเรา เราก็ค่อย ๆ ใส่ความถูกต้องเข้าไป และถ้าเราสามารถรักษาเขาให้หายได้ ก็จะเอาผักผลไม้มาให้ เพราะคนท้องถิ่นส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้จากคนท้องถิ่นอีสาน เป็นความประทับใจของตนเองในช่วงที่เรียนแพทย์ ม.ขอนแก่น
หลังจากเรียนจบจึงสมัครตำแหน่งแพทย์ใช้ทุนเป็น intern 1 ปี แล้วเข้าเรียนต่อเฉพาะทาง ตอนนั้นชอบ 2 สาขาคือ ศัลยกรรมกับอายุรกรรม แต่ว่าตัวเองเป็นไมเกรน (classical migraine) กลัวผ่าตัดจะมีปัญหาเกิด aura ทำให้มองไม่ชัดชั่วคราวได้ เลยตัดสินใจเรียนแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรม พอเรียนจบก็เริ่มคิดว่า ชีวิตน่าจะเหมาะกับการเป็นอาจารย์แพทย์ เพราะชอบสอนและชอบทำวิจัย พอดีช่วงนั้นทางคณะแพทย์ฯ เพิ่งจะเปิดสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน อาจารย์ต้องการแพทย์รุ่นบุกเบิก จึงถามว่าสนใจทางด้านนี้ไหม ซึ่งตนเองเป็นคนไม่กลัวเลือด ไม่กลัวเรื่องฉุกเฉิน ตอนเด็กดูหนังเรื่อง ER ประทับใจห้องฉุกเฉินที่อเมริกาดูน่าตื่นเต้น เลยคิดว่าถ้าเราไปอยู่ฉุกเฉินก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าไม่ชอบก็ค่อยเปลี่ยนไปเรียนต่ออย่างอื่นได้ ก็เลยตัดสินใจไปอยู่แผนกฉุกเฉิน ซึ่งพบว่าชอบมาก ก็อยู่มาตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้
ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คนไข้ที่แผนกฉุกเฉินเป็นคนไข้โรคหัวใจ เช่น หัวใจวาย หัวใจขาดเลือดค่อนข้างมาก ต่อมาจึงขอลาไปเรียนด้านโรคหัวใจ ที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ปี เรียนจบกลับมาได้รักษาคนไข้โรคหัวใจฉุกเฉินอย่างเต็มที่ แต่พอผ่านไป 2 – 3 ปี รู้สึกว่าการรักษาในภาวะฉุกเฉินแบบนี้มันเป็นการรักษาปลายทางมากกว่าต้นทาง เพราะว่าคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคสมองขาดเลือด เป็นความดันโลหิตสูงเยอะมาก บางรายไม่เคยรักษา บางรายก็รักษาไม่ต่อเนื่อง แล้วสุดท้ายก็มาเฉียดตายที่ฉุกเฉิน เลยรู้สึกว่านอกจากการช่วยชีวิตแล้วอยากจะป้องกันที่ต้นทางด้วย มีโอกาสจึงขอคำปรึกษาอาจารย์ นพ. พีระ บูรณะกิจเจริญ ว่าอยากเรียนเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง อาจารย์ให้คำแนะนำและได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่น 2 ปี เรียนจบกลับมาก็มีความคิดอยากจะเปิดคลินิกเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงขออนุญาต ผอ.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เปิดคลินิกความดันโลหิตสูงวิกฤต โดยที่เราจะติดตามคนไข้กลุ่มความดันโลหิตสูงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันได้ทำการรักษาและป้องกันตั้งแต่ต้นทางอย่างที่เราอยากทำมาตลอด ควบคู่ไปกับการเป็นหมอฉุกเฉินรักษาปลายทาง
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
ขอเริ่มที่การเป็นแพทย์ก่อน เป้าหมายในปัจจุบันคือ การทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับสังคม ตนเองทั้งเรียนและทำงานรวมเวลากว่า 17 ปีแล้ว ทั้งหมดที่ทำอยากให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ตอนช่วงอายุ 35 รู้สึกว่าเรียนมาเยอะแล้วอยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ให้ได้มาก ๆ แต่พอเราอายุมากขึ้น ความคิดมีปรับเปลี่ยนบ้าง ในแง่การทำประโยชน์ให้คนหมู่มาก เราศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ และทำงานร่วมกับสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยในการให้ความรู้ ในส่วนของการรักษาผู้ป่วย เราจะทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ในแต่ละวันถ้าเราเซฟชีวิตคนไข้ไว้ได้ วันละ 1 คน เราก็เป็นประโยชน์แล้ว แต่ถ้าทำได้มากกว่านั้นก็ถือเป็นแรงบวกให้มีพลังใจมากขึ้น
เป้าหมายที่สองคือ การพัฒนานักศึกษาแพทย์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์แพทย์และเป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ตอนแรกไม่แน่ใจว่าจะรับตำแหน่งนี้ดีไหม เพราะตนเองไม่ใช่สายบริหารเลย แต่พอรับตำแหน่งนี้แล้วเป้าหมายที่อยากทำก็คือ การพัฒนานักศึกษาแพทย์ซึ่งในชั้นปีหนึ่ง ๆ มีประมาณ 300 คน ถ้ามีนักศึกษาที่เรา input ให้สิ่งดี ๆ กับเขา และเขากลายเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคตเพิ่มอีกสัก 10 – 20 คน ก็ถือว่าทำหน้าที่สำเร็จแล้ว จึงถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้ช่วยพัฒนานักศึกษาแพทย์ไทย
เป้าหมายที่สามคือ การเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ และเป็นภรรยาที่ดีของสามี เพราะบางครั้งถ้าเราทำงานมากจนเกินไป เราจะลืมอีกส่วนหนึ่งของชีวิต นั่นคือเรื่องของครอบครัวกับตัวเอง ก็เลยคิดว่าครอบครัวต้องเป็นอีกเป้าหมายในชีวิต การจะเดินไปข้างหน้าได้ เราต้องมองถึงคนข้างหลังที่สนับสนุนเราด้วย
“ยอมรับว่าตนเองผ่านเรื่อง
ที่ต้องผิดหวังมาเยอะ
แต่ผิดหวังแล้วเราสู้ต่อ เราไม่หยุด
ยอมใช้เวลากับมันเพิ่ม ตรงนี้มีส่วน
สร้างให้เราเป็นคนที่เข้มแข็ง”
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
จริง ๆ แล้วการที่เป้าหมายจะสำเร็จได้ต้อง ประกอบด้วยหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอก แต่จะขอเล่าเฉพาะในส่วนที่เป็นปัจจัยภายใน เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยตนเอง ปัจจัยแรก ที่มีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จคือ ความเป็นนักสู้แต่มีความยืดหยุ่น ยอมรับว่ากว่าจะมีเรื่องที่สำเร็จตนเองก็ผ่านเรื่องที่ต้องผิดหวังมาเยอะ แต่ผิดหวังแล้วเราสู้ต่อ เราไม่หยุด ยอมใช้เวลากับมันเพิ่มเพื่อแก้ไขและพัฒนา ตรงนี้มีส่วนสร้างให้เราเป็นคนที่เข้มแข็ง ในท้ายที่สุดบางเรื่องก็สำเร็จ และบางเรื่องก็ไม่สำเร็จ กับบางเรื่องพยายามแค่ไหนก็ไม่สำเร็จ เราต้องเรียนรู้และเข้าใจว่าแม้จะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่เราก็ได้พัฒนาตนเองไปแล้วและดีขึ้นจากจุดเดิม และนั่นคือความสำเร็จเช่นกัน
ปัจจัยที่สอง การทำงานเป็นทีม เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราจะไปถึงเป้าหมายใหญ่ ๆ ได้ มันจะต้องสำเร็จไปด้วยกัน เช่น การรักษาโรคความดันโลหิตสูง ถ้าเราอยากจะทำให้สำเร็จ เฉพาะแค่งานของแพทย์อย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ เราจะต้องให้ความรู้กับพยาบาล เครือข่ายของเรา เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาและก็สร้างมันไปด้วยกัน และคนอื่นในทีมก็ต้องเติบโตด้วย พยาบาลก็ต้องเติบโตและก้าวหน้าในสายงาน เขาจึงจะมีกำลังใจในการทำงาน เหมือนคำพูดที่พูดว่า ถ้าคุณอยากไปให้เร็วจงไปคนเดียว แต่ถ้าคุณอยากไปให้ไกลจงไปด้วยกัน
ปัจจัยที่สาม การเรียนรู้ ตนเองเป็นคนชอบเรียนรู้ คิดเสมอว่าเราเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ถ้าเราพร้อมจะเปิดรับเราจะได้ความคิดดี ๆ จากคนอื่น เอาไปประยุกต์ต่อยอดกับงานได้ และการเรียนรู้ตลอดเวลาก็ทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ด้วย
“ถ้าเราใส่ความพยายามไปเต็มที่
โอกาสสำเร็จมันมี แต่ไม่ใช่ว่า
ต้องสำเร็จทุกครั้ง ถ้าไม่สำเร็จ
เราก็ต้องค่อย ๆ เดินต่อไป
เมื่อถึงจุดที่เหมาะสม
มันจะสำเร็จเอง”
บางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จ เกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
ขอยกตัวอย่างที่อาจเป็นประโยชน์กับแพทย์ท่านอื่น ๆ บ้าง ตนเองเคยสมัครทุนอานันทมหิดล โดยเขาจะคัดเลือก 1 คนในประเทศได้ไปเรียนต่อ ตนเองอยากเรียนต่อในสาขาความดันโลหิตสูง จึงเขียนรวบรวมผลงานที่เคยทำ เขียนแผนงานในอนาคต เขียนทุกอย่างที่ทำได้ ทั้งโครงการ ผลงานที่ผ่านมา งานวิจัยต่าง ๆ เรียกว่าสู้เต็มที่และก็ได้ไปสัมภาษณ์ ผลลัพธ์คือเราไม่ได้ ตอนนั้นรู้สึกเสียใจมาก เพราะตั้งใจทำไปเต็มที่ ภายหลังก็มาคิดได้ว่า ทุกเรื่องที่จะสำเร็จได้นั้น จริงอยู่ว่าต้องเกิดจากความพยายาม ถ้าเราใส่ความพยายามไปเต็มที่ โอกาสสำเร็จมันมี แต่ไม่ใช่ว่าพยายามทุกครั้งต้องสำเร็จทุกครั้ง ถ้าเวลามันไม่ใช่ มันก็ยังไม่ใช่ เราก็ต้องค่อย ๆ เดินต่อไป เมื่อถึงจุดที่เหมาะสม มันจะสำเร็จเอง
อีกเรื่องที่ตนเองได้เรียนรู้คือ สติเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการกับอุปสรรค จากการที่เราอยากทำประโยชน์ให้ส่วนรวมให้ได้มาก ๆ หลาย ๆ ครั้งที่เรื่องที่ทำเจออุปสรรค จนรู้สึกว่าทำไมมันมากมายขนาดนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อ ก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งชวนไปปฏิบัติธรรมวิปัสสนา พอกลับมารู้สึกได้ว่ามีความอดทนต่ออุปสรรคมากขึ้น ซึ่ง ณ ตอนนั้นก็ยังไม่ทราบตนเองเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นได้ เวลาเจออุปสรรคก็คิดได้ว่าไม่เป็นไร ค่อยมาคิดหาทางแก้ มีสติมากขึ้น พอไปครั้งที่ 2 กลับมาอันนี้รู้สึกชัดเจนมาก ว่าเราตามสติทัน รู้ว่าเวลามีอุปสรรคอารมณ์ของเราจะเป็นแบบไหน เรารู้ว่าจะรู้สึกอย่างไร ทำให้รับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น พอไปครั้งที่ 3 กลับมารู้สึกได้เลยว่าอยากเป็นคนที่คนอื่นอยู่ด้วยแล้วมีความสุข
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรกเลยคือ ศ.พญ. เพลินจันทร์ เชษฐ์โชติศักดิ์ ท่านคือคนที่พาตนเองไปปฏิบัติธรรม ท่านเป็นต้นแบบในด้านการดำเนินชีวิต ท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้เห็นการทำงานของอาจารย์ ท่านเก่งในเรื่องวิชาการ งานวิจัยของท่านอยู่ในระดับโลก แต่ท่านมีชีวิตที่เรียบง่าย ได้เห็นวิถีชีวิตที่งดงาม ท่านจะสอนให้พัฒนาทั้งวิชาการและทางด้านจิตใจ สอนให้มองโลกโดยใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต
ท่านที่สองคือ ศ.นพ. อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงฯ ท่านเป็นต้นแบบในด้านการคิด อาจารย์จะเห็นภาพกว้างในทุก ๆ เรื่องได้ดีมาก เหมือนท่านเห็นจิ๊กซอว์สำคัญที่มันต่อเต็มผืนแล้ว และหยิบจิ๊กซอว์นั้นขึ้นมาเพื่อให้เราได้มองและคิด และอาจารย์จะกระตุ้นให้คิดด้วยว่ามันพัฒนาไปได้อีกไหม อาจารย์ให้ความสำคัญกับประโยชน์โดยรวม ดีใจมากที่ได้ทำงานกับอาจารย์
ท่านที่สามคือ คุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อเป็นต้นแบบของความกล้า กล้าที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะสำเร็จ ได้นิสัยนี้มาจากคุณพ่อตั้งแต่เด็ก ๆ อย่าเพิ่งพูดว่าทำไม่ได้ ลองทำดูก่อนเราถึงจะได้รู้ การที่ได้นิสัยนี้มาจากคุณพ่อทำให้ได้รู้ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ทำมันสำเร็จได้จริง ส่วนคุณแม่จะเป็นต้นแบบของความเรียบง่าย ท่านจะสอนอยู่เสมอว่าไม่ให้คิดถึงประโยชน์ส่วนตัว ใช้ชีวิตให้พอเพียงก็พอแล้ว
“ในอนาคตตัวเลขที่จะบอกว่า
ใครมีความดันโลหิตสูง
และต้องเริ่มรักษานั้น
อาจไม่ใช่ตัวเลขเดียวกัน
และก็จะมีตัวเลขส่วนตัว
อย่างอื่นอีกด้วย
บุคลากรทางการแพทย์ต้องมี
Digital literacy
เราต้องก้าวผ่านและใช้
เทคโนโลยีให้ได้”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
มี 3 เรื่องหลักในมุมมองส่วนตัว เรื่องแรก การแพทย์ไทยที่ผ่านมามีจุดแข็งอยู่ที่การเข้าถึงการรักษาที่เปิดกว้าง สิทธิในการเข้าถึงการรักษามีมาก หมายถึงประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ของรัฐได้ง่าย เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ แต่ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน คือเมื่อเข้าถึงการรักษาได้ง่าย ประชาชนก็อาจไม่พยายามป้องกันหรือดูแลรักษาตนเอง ไม่เหมือนชาวต่างชาติพอเป็นหวัดจะไปหาใครไม่ได้ การนัดหมอก็อีก 3 สัปดาห์ ซึ่งก็คงหายหวัดไปแล้ว ดังนั้นเขาจะต้องเรียนรู้ทำอย่างไรไม่ให้เป็นหวัด หรือถ้ามีอาการจะต้องรู้ว่าทานยาสามัญประจำบ้านอะไร ให้หายหวัดด้วยตนเอง สิ่งนี้จะไม่ค่อยเห็นในวงการแพทย์บ้านเรา ส่วนตัวจึงมองว่าอนาคตอาจจะมีมาตรการที่ทำให้ประชาชนใส่ใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น เพิ่มเติมจากการรักษาที่ดีอยู่แล้ว
เรื่องที่สอง การเข้ามาของดิจิทัลเทคโนโลยี จะมีผลกระทบในเกือบทุกเรื่อง ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องเรียนรู้ และต้องปรับตัว โดยถ้าแพทย์รู้ขอบเขตและข้อจำกัดของมัน และรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาให้มากขึ้น แต่ถ้ามากเกินไป แพทย์จะเป็นเพียงผู้ใช้เครื่องมือดิจิตัล ทักษะผู้ประกอบโรคศิลปะก็จะหายไป
เรื่องที่สาม การแพทย์ในอนาคตจะเป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้น ในลักษณะที่เรียกว่า Precision medicine มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนายาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนทั้งด้านพันธุกรรม ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือการตอบสนองต่อยา โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษา
อย่างโรคความดันโลหิตสูงในอนาคตคิดว่า เมื่อสามารถวัดความดันได้ที่ข้อมือหรือติดเครื่องมือที่สามารถรู้ความดันของตัวเอง ตัวเลขที่จะบอกว่าใครมีความดันโลหิตสูงนั้น อาจไม่ใช่ตัวเลขเดียวกัน ในอนาคตอาจจะมีตัวเลขส่วนตัว ว่าความดันโลหิตของแต่ละคนสูงเท่าไร ถึงจะเริ่มรับการรักษา และในอนาคตต่อไปก็จะมีเลขส่วนตัวอย่างอื่นอีกด้วย บุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบันจะต้องมีความรู้ ต้องมี Digital literacy คือเราต้องก้าวผ่านและใช้เทคโนโลยีให้ได้ เพราะในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะมาแน่ ๆ
ถ้าให้เลือกปรับปรุงการแพทย์ไทย อยากปรับปรุงเรื่องใด เพราะอะไร
เรื่องแรก ปรับปรุงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อยากให้เพิ่มการดูแลตัวเองเข้าไปด้วย เด็กปัจจุบันนี้ถ้าว่ากันเรื่องของตำรา บางเรื่องเรียนเหมือนหมอเลย การเรียนลึกขนาดนั้นมันไม่ได้จำเป็นมาก การศึกษาขั้นพื้นฐานควรให้รู้กว้าง และเอามาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้ เช่น ถ้าคุณเจ็บคอคุณจะดูแลตัวเองอย่างไร เจ็บคอแบบไหนต้องกินยาฆ่าเชื้อ เจ็บคอแบบไหนไม่ต้องกิน เอาง่าย ๆ แบบนี้เป็นพื้นฐานไปก่อน คำว่า พื้นฐาน ต้องทำให้ประชาชนช่วยเหลือและดูแลตนเองแบบพื้นฐานได้ ลดภาระทางการแพทย์ไปด้วย อย่างเรื่องการป้องกัน ทำอย่างไรเราถึงจะไม่เป็นโรคเบาหวาน ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ถ้าศึกษาตั้งแต่เด็ก ๆ มันจะปลูกฝังในใจตนเองไปด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เรื่องที่สอง ปรับปรุงความเท่าเทียมของโรงพยาบาล อยากให้โรงพยาบาลในทุกอำเภอ มีความเท่าเทียมกันโดยเฉพาะในการให้การดูแลรักษาผู้ป่วย โดยมีเครื่องมือ มียาพื้นฐาน มีแพทย์พอ ๆ กัน แม้ว่าอาจจะมีความเหลื่อมล้ำบ้างเล็กน้อย จากข้อจำกัดเฉพาะพื้นที่
เรื่องที่สาม ปรับปรุงค่าตอบแทนวิชาชีพ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแพทย์ ปัจจุบันการทำงานเป็นทีมนั้นสำคัญมาก เราจะเห็นว่าเพื่อนร่วมวิชาชีพบางสาขาค่าตอบแทนน้อย เช่น พยาบาล เงินเดือนก็ไม่ได้มากอยู่แล้ว เงินเข้าเวรก็น้อย บางคนก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล บางคนต้องอุ้มลูกมาอยู่เวรด้วย อยากให้ลองเปรียบเทียบในเอเชีย หรือประเทศที่มี GDP พอ ๆ กับบ้านเรา อาชีพตรงนี้เขาได้เงินเดือนเท่าไหร่ ถึงจะใช้ชีวิตอยู่ได้ อยากให้ปรับปรุงค่าตอบแทนให้อยู่ระดับที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้
ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่ว ๆ ไป ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต แพทย์รุ่นใหม่อย่าละทิ้งความเป็นมนุษย์ (Humanity) และความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) เพราะการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล อาจทำให้การทำงานและบทบาทของแพทย์ลดลง เพราะปัจจุบันโดยเฉพาะ AI ทำงานแทนแพทย์ได้ในหลายเรื่อง และตอนนี้ AI ทำข้อสอบได้มากกว่าแพทย์ไปแล้ว สิ่งที่ยังคงต่างกันได้คือ ความเป็นมนุษย์และความเข้าใจความรู้สึกของคนไข้ แพทย์ต้องทำให้คนไข้ที่มาพบ มีความสุข รู้สึกอบอุ่นใจ สบายใจ ซึ่งเรื่องพวกนี้ปัจจุบัน Digital ยังทำไม่ได้
สำหรับอายุรแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ถ้าอยากประสบความสำเร็จได้ เราต้องมีการเรียนรู้แบบ continuous learning มีการศึกษางานวิจัยสม่ำเสมอและมีการคิดในแบบ practical thinking โดยเราต้องรู้ให้ได้ว่า ข้อมูลที่เรารับมามีความน่าเชื่อถือเพียงใด สามารถนำไปปรับใช้ในการรักษาคนไข้ได้ไหม และเลือกวิธีดีที่สุดในการรักษาคนไข้ในแต่ละราย ถึงจะเป็นอายุรแพทย์ที่เป็นเลิศ
สำหรับแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน จะต้องมีสติให้มาก เราต้องอยู่กับความเป็นความตายตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราครองสติไม่อยู่ เราจะหลุดจนควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ อย่างไรก็ตามความรู้ต้องมาก่อน ต้องตักตวงความรู้ให้มากที่สุดและบวกสติเข้าไป ถึงจะทำให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดี เราต้องท่องไว้ว่า สมองมีเวลา 4 นาที ถ้าใน 4 นาทีออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงสมอง คนไข้ก็ตาย ดังนั้นในช่วงเสี้ยววินาทีของการรักษา ทั้งสติและความรู้ที่มีบวกกับประสบการณ์ทำงาน จะทำให้เราเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่เก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ และถ้ามีโอกาสก็ไปปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกสติตนเอง