“ก่อนหน้าเลือกทำงานที่อยู่ใน comfort zone มาตลอด แต่พอได้ปรับ mindset ก็เริ่มพยายาม challenge ตัวเองด้วยงานใหม่ ๆ ทำให้ได้เรียนรู้ และแข็งแกร่งมากขึ้น”
รศ.ดร. พญ. ทวิติยา สุจริตรักษ์
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก
เรียนจบมัธยมที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ โดยสอบเทียบตั้งแต่ชั้น ม.5 และสามารถสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้สำเร็จ การเลือกเข้าเรียนต่อในคณะแพทย์นั้น เพราะได้แรงบันดาลใจจากครอบครัว คุณพ่อเป็นสูติแพทย์และอาจารย์แพทย์ พี่ชายก็กำลังเป็นนักศึกษาแพทย์ในขณะนั้น และญาติพี่น้องหลายคนก็เป็นแพทย์ ตั้งแต่คุณตาเรื่อยมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ทำให้ตนเองซึมซับบรรยากาศของวิชาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก ทำให้ตนเองมีความเชื่อมั่นว่าอาชีพแพทย์น่าจะเป็นอาชีพที่เหมาะกับตนเอง
เมื่อได้เข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มช. ก็รู้สึกประทับใจ ด้วยการมีระบบการเรียนการสอนที่ดี และการมีผู้ป่วยจำนวนมากและหลากหลาย ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งโรคทั่วไปและโรคที่ซับซ้อน ได้ฝึกปฏิบัติการรักษาและทำหัตถการต่าง ๆ อย่างครบถ้วน พอขึ้นชั้นปีที่ 6 ในฐานะ extern ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยจริงที่มารักษาในโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และรพ.ศูนย์ต่าง ๆ ตามต่างจังหวัด ช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะต้องรับผิดชอบเวรค่อนข้างหนัก ดูแลผู้ป่วยที่บางครั้งมีอาการรุนแรง และต้องทำหัตถการมากมาย จึงทำให้เริ่มทบทวนว่าตนเองเหมาะกับสาขาแพทย์เฉพาะทางด้านใด
“ตอนนั้นคุณพ่อเป็นสูติแพทย์
และอาจารย์แพทย์
พี่ชายก็กำลังเป็นนักศึกษาแพทย์และญาติพี่น้องหลายคน
ก็เป็นแพทย์
ตั้งแต่คุณตาเรื่อยมา
จนถึงรุ่นปัจจุบันทำให้ตนเองซึมซับบรรยากาศ
ของวิชาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก”
หลังจากที่ได้คิดทบทวนและปรึกษาครอบครัว ในที่สุดตัวเองก็ตัดสินใจเรียนทางด้านกุมารเวชศาสตร์ ที่ มช. เพราะตอนอยู่กุมารฯ รู้สึกมีความสุขเมื่อได้ดูแลเด็ก และโรคในผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่มีโรคเรื้อรังซับซ้อนเหมือนผู้ใหญ่ จึงตัดสินใจเป็นแพทย์ใช้ทุน 1 ปีแล้วฝึกอบรมเฉพาะทางด้านกุมารฯ ต่ออีก 3 ปี และในช่วงปีที่ 2 ของการฝึกอบรมกุมารเวชศาสตร์ ได้มีโอกาสเวียนไปเรียนตามสาขาเฉพาะทางต่าง ๆ ของแผนกกุมารฯ ก็เริ่มถามตนเองว่าสาขาเฉพาะทางด้านใดที่ตนเองมีความชอบและสนใจ ด้วยลักษณะนิสัยของส่วนตัวที่ชอบอัพเดตความรู้ใหม่ ๆ เสมอ จึงคิดว่าสาขาโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาขาที่ความรู้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เชื้อโรคมีวิวัฒนาการตลอดเวลา ยาต้านจุลชีพมีการพัฒนาชนิดใหม่ ๆ อยู่เสมอ จึงรู้สึกว่าตรงกับความชอบและความสนใจของตนเองมากที่สุด และโชคดีที่อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อในขณะนั้น ได้ทาบทามให้เรียนต่อและเป็นอาจารย์แพทย์ ตนเองก็เลยสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด และเมื่อจบการฝึกอบรมก็เป็นอาจารย์ในสาขาวิชาโรคติดเชื้อตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน
ความประทับใจในสาขาวิชาโรคติดเชื้อ เริ่มขึ้นในช่วงระหว่างที่เป็นนักศึกษาแพทย์ ปี 4 ตอนขึ้นฝึกปฏิบัติงานที่วอร์ดกุมารฯ จำได้เลยว่าวอร์ดของผู้ป่วยโรคติดเชื้อมีขนาดใหญ่มาก และผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาและป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสที่มีความรุนแรง ซึ่งในยุคนั้นยาต้านไวรัสเอชไอวียังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเท่ากับยาที่ใช้ในยุคปัจจุบัน และหญิงตั้งครรภ์บางรายยังไม่สามารถเข้าถึงการวินิจฉัย การรักษา และการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ เนื่องจากปัญหาการตีตราในสังคมเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งเป็นกระแสสังคมที่รุนแรง ทำให้เด็กที่คลอดออกมาติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกเกิด คุณแม่บางรายไม่ทราบเลยว่าลูกของตนเองติดเชื้อเอชไอวีจนกระทั่งลูกป่วยหนักด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส แล้วจึงพามารักษาที่ รพ. ถึงได้ทราบว่าลูกติดเชื้อเอชไอวี ทำให้ในช่วงที่ฝึกปฏิบัติงานขณะเป็นนักศึกษาแพทย์จนกระทั่งเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ภาควิชากุมารฯ ตนเองจะได้ดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก โดยส่วนตัวรู้สึกเศร้าใจที่เด็กเหล่านี้เกิดมาก็ติดเชื้อเอชไอวีเลย เด็กบางรายน่าสงสารมากกว่านั้นคือ พ่อกับแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ จึงถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องแทน ดังนั้นตอนที่ได้เข้ามาเรียนต่อเฉพาะทางด้านสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ก็คิดไว้ว่าด้านที่อยากทำเป็นหลัก คือ ด้านโรคติดเชื้อเอชไอวีในเด็ก และหลังจากเป็นอาจารย์ได้เกือบ ๆ 1 ปี ก็มีโอกาสไปศึกษาต่อที่สถาบันในต่างประเทศ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาได้แนะนำว่าควรไปเรียนทางด้านระบาดวิทยา เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ทางด้านนี้มาประยุกต์ใช้กับความรู้ทางด้านโรคติดเชื้อ และต่อยอดองค์ความรู้และการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้พัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จึงได้ตัดสินใจสมัครไปเรียนต่อทางด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อ ซึ่งก็เน้นเรื่องโรคติดเชื้อเอชไอวีเป็นหลัก และได้รับพระราชทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกแพทยศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2554 เพื่อไปศึกษาต่อที่ Johns Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของตนเองและครอบครัว และเมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ได้นำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ และทำงานวิจัยด้านโรคติดเชื้อในเด็กอย่างต่อเนื่อง
“ในส่วนของ
work life balance นั้น
ยอมรับว่ายังทำได้ไม่ดีนักเวลาส่วนใหญ่ก็ทุ่มเท
ไปกับการทำงาน
ก็ต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้เราสามารถทำงาน
ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบริหารสมดุลด้านอื่น ๆ
ของชีวิตให้ดีขึ้น”
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
การเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดีต้องรับผิดชอบ 3 บทบาทหลัก ได้แก่ แพทย์ ผู้ดูแลรักษาคนไข้ ครูแพทย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ และนักวิจัย ผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเมื่อตนเองกลับจากต่างประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำทั้งสามด้านให้ดีที่สุด
ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการแพทย์ ตนเองมีความสนใจในด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเอชไอวีมาโดยตลอด ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้ดูแลรักษาเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาตั้งแต่แรกเกิด ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นและก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งควรได้รับการดูแลทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาวะทางจิตด้วย ซึ่งนับเป็นโชคดีที่แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีของประเทศได้พัฒนาไปอย่างมาก ทำให้ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว และเข้าถึงการรักษาได้ฟรี อย่างไรก็ตามเมื่อเรารักษาทางกายของคนไข้เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ดีขึ้นแล้ว สิ่งที่เรามักมองข้ามไป คือ การดูแลสุขภาวะทางจิตใจ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรับประทานยาต้านไวรัสตลอดชีวิต (ตั้งแต่แรกเกิด) บางคนกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นต้น ดังนั้นเป้าหมายหลักที่ตนเองตั้งใจไว้ตอนนี้ คือ การพัฒนาระบบการดูแลรักษาเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาให้เป็นแบบบูรณาการ ที่มีความครอบคลุมทั้งการดูแลสุขภาพกาย จิตใจ สังคม ตลอดจนคุณภาพชีวิต รวมถึงให้ความสำคัญกับครอบครัวของเด็กเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพเทียบเท่ากับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ และแม้ว่าปัจจุบันไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก แต่ปัจจุบันเรากำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม ตับอักเสบบีและซี จากการมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือใช้เข็มฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องมีแนวทางป้องกันที่เข้าถึงกลุ่มเสี่ยง เช่น การให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การเข้าถึงยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่มีความเสี่ยง รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจเช็กหาโรคทางเพศสัมพันธ์ (เมื่อมีความเสี่ยง) เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
ในฐานะครูแพทย์ ตนเองมุ่งหวังที่จะพัฒนาระบบการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านในสถาบันของตนให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงเรียนแพทย์ชั้นนำทั้งในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ เพื่อผลิตแพทย์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถและศักยภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะในระดับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งปัจจุบันยังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อในเด็กในหลายพื้นที่
สำหรับในฐานะนักวิจัย หลังจากกลับจากเรียนต่อที่อเมริกา ตนเองได้พัฒนาทักษะด้านการทำวิจัยเป็นอย่างมาก เพราะได้มีโอกาสเรียนและได้รับประสบการณ์การทำงานวิจัยด้วย ตนเองจึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานวิจัยด้านโรคติดเชื้อที่มีความสำคัญต่อสาธารณสุขของเด็กไทย โดยได้ก่อตั้งหน่วยวิจัยภายใต้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกำลังขยายศักยภาพไปสู่การเป็นศูนย์วิจัยด้านโรคติดเชื้อในเด็ก เพื่อรองรับการศึกษาวิจัยเชิงลึกอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยเด็กและระบบสาธารณสุขของประเทศไทยโดยรวม
ในส่วนของ work life balance ที่ในปัจจุบันแพทย์รุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้น โดยส่วนตัวยอมรับว่ายังทำได้ไม่ดีนัก เพราะชีวิตส่วนใหญ่ก็ทุ่มเทไปกับการทำงาน เวลาที่มีให้กับตนเองน้อยกว่าสายงานอาชีพอื่น แต่กำลังพยายามปรับเพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารสมดุลด้านอื่น ๆ ของชีวิตให้ดีขึ้น
“การพัฒนางานด้านวิจัย
ระหว่างทางก็มีอุปสรรคเข้ามา
ให้เราแก้ไขตลอด
ก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่น
ตั้งใจและความสม่ำเสมอ
ค่อย ๆ ทำไป ในที่สุด
ก็จะไปถึงผลลัพธ์ที่เราตั้งใจไว้”
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของตนเองนั้นประกอบด้วย ปัจจัยแรกคือ ความมุ่งมั่นและตั้งใจ ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันให้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ปัจจัยที่สอง คือ ความสม่ำเสมอและอดทน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ เนื่องจากงานบางประเภทต้องอาศัยเวลาและไม่สามารถเห็นผลสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบการดูแลรักษาเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาให้เป็นแบบบูรณาการนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ทางด้านโรคติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมไปถึงแพทย์ต่างสาขา พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน หรือการพัฒนางานวิจัยด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ระหว่างทางก็มีอุปสรรคเข้ามาให้เราแก้ไขตลอด ก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจและความสม่ำเสมอ ค่อย ๆ ทำไป ในที่สุดก็จะไปถึงผลลัพธ์ที่เราตั้งใจไว้ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ความรักและมีความสุขกับงานที่ทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้การทำงานนั้นเป็นเรื่องสนุก แม้ว่าบางครั้งอาจต้องพบเจอความเหน็ดเหนื่อย ปัญหา อุปสรรค และความท้าทายในระหว่างทาง เช่น ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ทีมแพทย์โรคติดเชื้อถือเป็นด่านหน้าของการดูแลผู้ป่วยและเป็นกำลังหลักของโรงพยาบาลในการวางระบบป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ ฯลฯ ซึ่งเป็นงานที่เหนื่อยและหนักมากในช่วงเวลานั้น แต่หากมี passion และรักในงานที่ทำ ก็จะทำให้สามารถก้าวผ่านไปทุกอย่างไปได้อย่างมีความสุข และพร้อมเผชิญทุกอุปสรรคด้วยพลังบวกเสมอ
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
ส่วนตัวอยากขอแชร์ในเรื่องที่คิดว่าแพทย์บางคนอาจได้ประโยชน์คือ เนื่องจากลักษณะนิสัยของตนเองที่เป็น perfectionist จะมีความกังวลต่อความล้มเหลวและความผิดพลาดมาก ทำให้การทำงานทุกอย่างในอดีตจะเลือกทำงานอยู่แต่ในกรอบที่ตนเองคิดว่าเป็น comfort zone มาโดยตลอด และพยายามหลีกเลี่ยงงานที่มีความเสี่ยงหรือมีโอกาสเจออุปสรรค แต่เมื่อได้ปรับ mindset ของตัวเอง มองว่าอุปสรรคที่ได้เจอนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก บวกกับด้วยอายุและประสบการณ์จากการทำงานที่เพิ่มขึ้น จึงได้เริ่มพยายาม challenge ตัวเองด้วยงานใหม่ ๆ และปรับมุมมองให้เห็นว่าอุปสรรคที่ได้เจอนั้น เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้และแข็งแกร่งมากขึ้น
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
บุคคลแรกคือ พระราชบิดา พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของแพทย์ไทย ด้วยหลักคิดที่ว่า “จงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน” ดังนั้นแม้แพทย์จะมีภาระงานที่หนักมากกว่าวิชาชีพอื่น แต่หากตระหนักว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสังคม ก็จะเกิดความสุขและแรงบันดาลใจในการทำงาน และทำให้มีความสุขในงานที่ทำ
บุคคลที่สองคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของความเสียสละ เนื่องจากตนเองเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล ตอนที่รับพระราชทุนฯ นั้น ตนเองได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รวมถึงได้ฟังคำแนะนำจากรุ่นพี่นักเรียนทุนฯ ทำให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจว่า ถ้าเรียนจบกลับมาก็อยากจะตอบแทนประเทศไทยด้วยความรู้ความสามารถที่มีเท่าที่จะสามารถทำได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงอุทิศและเสียสละเวลาส่วนพระองค์ในการดูแลประชาชน ตนเองก็จะยึดพระองค์เป็นแบบอย่างในอาชีพความเป็นแพทย์
บุคคลที่สามคือ คุณพ่อ-คุณแม่ ท่านถือเป็นต้นแบบของความขยันหมั่นเพียรและความเสียสละ คุณพ่อเป็นคนทุ่มเทในการทำงานและเสียสละเวลาส่วนตัว เพราะคุณพ่อเป็นสูตินรีแพทย์ บางเวลาก็จะถูกเรียกตัวไปทำคลอดในเวลากลางคืน ทำให้เวลาที่จะมีให้กับครอบครัวก็อาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่คุณพ่อก็พยายามแบ่งเวลามาดูแลลูก ๆ ร่วมกับคุณแม่ ซึ่งก็ลาออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นแม่บ้าน จะได้มีเวลามาดูแลลูก ๆ อย่างเต็มที่
“เทคโนโลยี AI กำลัง
เข้ามามีบทบาทสำคัญ
ในทุกสาขาของการแพทย์ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องปรับตัว…
ใช้ AI อย่างเหมาะสม
โดยไม่ละเลยทักษะและศิลปะ
ของความเป็นแพทย์”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
ในปัจจุบัน วงการแพทย์ไทยเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน โดยที่เห็นภาพได้ชัดเจนมี 3 ประเด็นหลัก คือ เรื่อง Digital Health และเทคโนโลยี AI ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกสาขาของการแพทย์ ทำให้แพทย์จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีประโยชน์ในการช่วยให้การดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ต้องใช้ AI อย่างเหมาะสม โดยไม่ละเลยทักษะและศิลปะของความเป็นแพทย์
ประเด็นที่สองคือ การเกิดขึ้นของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งอาจมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 10 ปี เช่น การระบาดของโรคซาร์ส (ปี 2002 – 2003) โรคไข้หวัดหมู (Swine Flu, ปี 2009 – 2010) และโรคโควิด 19 (ปี 2019 – 2022) ดังนั้น การแพทย์ไทยต้องพัฒนาไปในทิศทางที่มุ่งเน้นด้าน “การเตรียมความพร้อม” และ “การป้องกัน” สำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ไว้ล่วงหน้า แทนที่จะรอให้เกิดการระบาดแล้วค่อยดำเนินการ เพราะอาจล่าช่าเกินไปในการควบคุมโรค
ประเด็นสุดท้ายคือ การหลั่งไหลของข้อมูลทางการแพทย์ที่ท่วมท้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิดพลาด ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมา เพื่อให้สามารถแยกระหว่างข้อมูลที่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ กับข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิด
ถ้าให้เลือกปรับปรุงการแพทย์ไทย อยากปรับปรุงเรื่องใด เพราะอะไร
ประการแรกคือ อยากพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้เน้นความสำคัญของ “การป้องกันโรค” มากกว่า “การรักษา” แม้ว่าปัจจุบันระบบสาธารณสุขไทยจะก้าวหน้าไปมาก แต่ยังคงเน้นด้าน “การรักษา”มากกว่า “การป้องกันโรค” ทั้งที่การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่ามากกว่า ซึ่งแนวคิดนี้ไม่เพียงจำกัดเฉพาะโรคติดเชื้อเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ด้วย อีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย เพื่อให้แพทย์และนักวิจัยมีโอกาสสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยควรมีการลงทุนในงานวิจัยตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้สามารถพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์โรคและวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องมีแหล่งทุนวิจัยสนับสนุนที่เพียงพอและแนวทางที่ชัดเจนในการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเป็นองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มีความทัดเทียมกับนานาชาติ และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม
ข้อเสนอแนะสำหรับแพทย์รุ่นใหม่
ข้อเสนอแนะสำหรับแพทย์รุ่นใหม่ ประการแรก คือ การรักในอาชีพแพทย์และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ แม้ในปัจจุบันจะมีสิ่งล่อตาล่อใจมากมาย แต่หากเราเคารพในอาชีพและรักษาจรรยาบรรณแพทย์ เราก็จะสามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสมกับบทบาทของเรา ประการที่สอง แพทย์ในยุคดิจิทัลต้องมีความสามารถในการคัดกรองข้อมูลทางการแพทย์ โดยเลือกใช้เฉพาะข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ เพราะหากนำข้อมูลที่ผิดพลาดมาใช้ อาจส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ป่วยโดยไม่ได้ตั้งใจ ประการที่สาม คือ การให้ความสำคัญกับ work-life balance โดยเฉพาะสุขภาพของตนเอง นอกเหนือจากการทำงาน ควรจัดสรรเวลาสำหรับการพักผ่อน ออกกำลังกาย และดูแลโภชนาการ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
สำหรับแพทย์รุ่นใหม่ในสาขาโรคติดเชื้อ ประการแรก ต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงของโรคติดเชื้อเกิดขึ้นตลอดเวลา แพทย์ในสาขานี้จึงต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และปรับมุมมองจากการรักษาเพียงอย่างเดียวไปสู่การให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคตั้งแต่ต้น ประการที่สอง คือ การสร้างสรรค์งานวิจัยในรูปแบบ Routine to Research (R2R) ซึ่งเป็นการนำประเด็นปัญหาที่พบจากการดูแลรักษาผู้ป่วยในชีวิตประจำวันมาพัฒนาต่อยอดเป็นงานวิจัย เมื่อได้รับองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากงานวิจัยเหล่านี้ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบและแนวทางการดูแลผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น เมื่อเรามีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยและทำงานวิจัยมากขึ้น ก็จะทำให้สามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขและการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไปได้เป็นอย่างดี