“ผมชอบคำพูดของท่านเนลสัน แมนเดลาที่ว่า “ I never lose. I either win or learn. ชีวิตผมไม่เคยพ่ายแพ้ เพราะชีวิตมีแต่ชัยชนะ หรือไม่ก็บทเรียนที่ต้องเรียนรู้”
พ.อ. นพ. คงกระพัน ศรีสุวรรณ
กุมารแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคไตในเด็ก
ผมเรียนมัธยมที่โรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ และสอบเทียบ ม.6 โดยใช้วุฒิฯ กศน. สมัยเรียนผมชอบวิชาฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ ตอนนั้นกระแสการเรียนวิศวะฯ เป็นที่นิยมมาก บังเอิญตอนไปสมัครสอบที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมเจอเต็นท์ประชาสัมพันธ์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (วพม.) ผมไปยืนอ่านข้อมูลแล้วรู้สึกสนใจ พื้นฐานครอบครัวผมเป็นข้าราชการ คุณพ่อเป็นตำรวจ คุณแม่เป็นครู เดิมผมอยากเรียนเตรียมทหารแต่ติดที่สายตาสั้น จึงได้ลองปรึกษาคุณแม่ ท่านเองก็สนับสนุนเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสดี ที่ได้เป็นทั้งนายแพทย์และนายทหารในคราวเดียวกัน โดยก่อนหน้านั้นคุณยายผมป่วย ได้เห็นคุณหมอตอนมารักษาคุณยาย เกิดความประทับใจในการเป็นหมอที่ได้ช่วยเหลือผู้คน ผมจึงเลือกสอบเข้ามาเป็นนักเรียนแพทย์ทหาร ผมเข้าเรียน วพม. ปี 2536 ณ ขณะนั้น วพม. จะรับเฉพาะผู้ชายและจะได้รับการบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตร ดังนั้นนอกจากการเรียนแพทย์เหมือนคณะแพทยศาสตร์ทั่วไป เราก็ได้ใช้ชีวิตเหมือนกับนักเรียนทหาร อยู่ในกรอบของระเบียบวินัย โดยหลังเรียนเตรียมแพทย์ที่ ม.เกษตรศาสตร์ในปีแรกจะย้ายมาเรียนต่อที่ วพม.
โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าการเป็นนักเรียนแพทย์ทหารได้ช่วยหล่อหลอมบุคลิกภาพให้เราเป็นสุภาพบุรุษ มีความเสียสละ และมีความจงรักภักดีต่อชาติและสถาบัน มีส่วนช่วยเสริมให้เราเป็นแพทย์ที่ดี ส่วนความสนใจเลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางนั้น ช่วงเป็นนักเรียนแพทย์อาจารย์ที่ปรึกษาผมเป็นอาจารย์ออร์โธฯ และ รพ.พระมงกุฎเกล้าก็มีชื่อเสียงทางด้านนี้ ผมจึงสนใจเรียนสาขาออร์โธฯ หลังเรียนจบ ผมรับราชการที่ กองพยาบาล ศูนย์สงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ การเจ็บป่วยของกำลังพลส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาด้านกล้ามเนื้อ ข้อและกระดูก จึงคิดว่าการเป็นศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์น่าจะเหมาะกับการเป็นแพทย์ทหาร แต่ช่วงที่จะเลือกเรียนเฉพาะทาง ผมจำเป็นต้องหาต้นสังกัดก่อนสมัครเรียน โรงพยาบาลที่ผมเคยเพิ่มพูนทักษะไม่มีตำแหน่งให้ พอดีมีโอกาสได้พบเจออาจารย์กุมารแพทย์หลายท่านที่ผมคุ้นเคย ก็ได้ชักชวนให้มาเรียนเด็ก ประกอบกับช่วงเป็นนักเรียนแพทย์ ผมรู้สึกว่ามีความสุขช่วงที่เรียนและปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม ครั้งหนึ่งตอนเป็น extern ผมปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน ผมมีโอกาสตรวจคนไข้เด็กที่มีอาการท้องเสีย ปรากฏว่าคุณแม่มีความประทับใจ และได้เขียนชมเชยการปฏิบัติงานของผมในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำให้อาจารย์เชื่อว่าผมน่าจะเป็นหมอเด็กที่ดีได้ และการดูแลบุตรหลานกำลังพลก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ทหารเช่นกัน ซึ่งอาจารย์หลายๆท่านก็ช่วยสนับสนุนและผลักดัน รู้ตัวอีกทีผมก็มาเป็นแพทย์ประจำบ้านกุมารฯแล้ว ช่วงแรกของการฝึกอบรมผมยังต้องปรับความรู้สึกของตัวเองอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นผมก็มีความสุขกับการฝึกอบรม ผมคิดว่าคุณค่าและความภูมิใจของการเป็นกุมารแพทย์คือ การที่เราได้ดูแลบุคคลผู้เป็นที่รักยิ่งของครอบครัว ผมรู้สึกแบบเพราะผมเองก็มีลูก ลูกคือแก้วตาดวงใจและเป็นศูนย์กลางของครอบครัว
“ผมชื่นชมและให้ความนับถือ
อาจารย์ อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์
ปัจจุบันท่านเป็นรองผู้อำนวยการ
รพ.พระมงกุฎเกล้า…..
ท่านเป็นต้นแบบที่ผมอยาก
เดินตามรอย และเชื่อมั่นว่า
ถ้าได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน
จะสามารถช่วยกันพัฒนางานด้าน
โรคไตเด็กของหน่วยและประเทศได้”
สำหรับการเรียนเฉพาะทางต่อยอดนั้น แต่เดิมผมเองไม่เคยคิด ช่วงเป็นแพทย์ประจำบ้านพอจะมีอาจารย์มาชวนอยู่บ้าง แต่ก็รู้ตัวเองว่าไม่ถนัดในหลายสาขา เช่น ทารกแรกเกิด จิตวิทยา หรือพัฒนาการ แต่ที่เลือกเรียนต่อสาขากุมารเวชศาสตร์โรคไต เหตุผลหลักคือ ผมชื่นชมและให้ความนับถือ อาจารย์ อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ (คลิกอ่านเพิ่มเติม)ปัจจุบันท่านเป็นรองผู้อำนวยการ รพ.พระมงกุฎเกล้า ตอนผมเป็นแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์เป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโรคไต ท่านเป็นต้นแบบที่ผมอยากเดินตามรอย และเชื่อมั่นว่าถ้าได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน จะสามารถช่วยกันพัฒนางานด้านโรคไตเด็กของหน่วยและประเทศได้ อีกเหตุผลคือ ผมได้เห็นความทุกข์ทรมานของเด็กโรคไตและครอบครัว ผมได้เห็นความทุ่มเทมุ่งมั่นของอาจารย์ ยุพาพิน จุลโมกข์ และ อาจารย์ ประไพพิมพ์ ธีรคุปต์ อาจารย์กุมารแพทย์โรคไต ในการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กโรคไต โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรัง อาจารย์ทำให้รพ.พระมงกุฎเกล้า เป็นรพ.แห่งแรกของประเทศไทยที่มีหน่วยไตเทียมเด็ก และเป็นรพ.แห่งแรกของประเทศไทยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไตในเด็กจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต อาจารย์ทั้งสามท่านจึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผม ในการตัดสินใจเป็นกุมารแพทย์โรคไต
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
ผมคิดว่าเป้าหมายในการเป็นแพทย์นั้น ผมพอใจและภูมิใจมากแล้ว จากการเป็นกุมารแพทย์มา 20 ปี ผมเต็มที่กับการดูแลเด็ก โดยเฉพาะเด็กโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย จนถึง ณ ขณะนี้ รพ.พระมงกุฎเกล้า ปลูกถ่ายไตให้เด็กมากกว่า 100 รายแล้ว ผมมีความสุขกับการเป็นครูแพทย์ ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่แพทย์รุ่นหลัง ผมเคยได้รับรางวัลด้านความเป็นครูหลายครั้ง ทั้งจากโรงพยาบาล กรมแพทย์ทหารบก และล่าสุดสมาคมศิษย์เก่ากุมาร รพ.พระมงกุฎเกล้า
“ผมอยากเห็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ
ของ รพ.พระมงกุฎเกล้า
พัฒนาและสามารถ
ให้การรักษาปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ
และพัฒนาไปสู่ศูนย์ความเป็นเลิศ
อย่างแท้จริง”
สำหรับอีกเป้าหมายคือ การเป็นหัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะของ รพ.พระมงกุฎเกล้า ผมคิดว่าผมยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ ผมอยากเห็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะของ รพ.พระมงกุฎเกล้าพัฒนาและสามารถให้การรักษาปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ และพัฒนาไปสู่ศูนย์ความเป็นเลิศอย่างแท้จริง งานปลูกถ่ายอวัยวะเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย ค่าตอบแทนไม่สูง มักต้องทำงานนอกเวลางานราชการ เป็นงานที่ต้องทุ่มเทและเสียสละอย่างมาก และมีค่าตอบแทนน้อย ในอนาคตอันใกล้ในฐานะหัวหน้าหน่วยโรคไตเด็ก ผมก็คงต้องส่งต่อหน่วยไตเด็กให้กับอาจารย์แพทย์รุ่นน้องในหน่วย ได้ช่วยพัฒนาให้หน่วยโรคไตเด็ก เติบโตและก้าวหน้าเป็นศูนย์ความเป็นเลิศในการดูแลเด็กโรคไตเรื้อรังของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
ปัจจัยแรก คือ การมีความเชื่อว่าเราจะทำได้สำเร็จ motto ของหน่วยโรคไตเด็กเราคือ “We Believe” การดูแลเด็กโรคไตเรื้อรังมีอุปสรรคมากมาย ถ้าเราคิดว่าเราทำไม่ได้ เราก็จะทำไม่ได้ตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นเราต้องมีความเชื่อว่าเราจะช่วยเด็กและครอบครัวได้ เป็นการเติมกำลังใจให้กับตัวเอง เป็นความเชื่อที่ไม่มีวันหมด
ปัจจัยที่สอง คือ การมีทัศนคติที่ดี ผู้ป่วยโรคไตค่อนข้างวิกฤต แม้ รพ.พระมงกุฎเกล้า จะเป็น รพ.กองทัพบก แต่คนไข้ของผมส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและมีเศรษฐานะระดับล่าง เราจึงไม่ได้ดูแลรักษาแต่โรคทางกายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลด้านจิตใจ และสังคมให้เด็ก ๆ ด้วย จึงเป็นที่มาของการตั้งกองทุนเพื่อเด็กโรคไต ในมูลนิธิกุมารฯ เพื่อที่เราจะได้มีช่องทางในการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวมากขึ้น เราจะผ่านเรื่องหนัก ๆ แบบนี้มาได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิต โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่มองบวก ไม่กลัวความล้มเหลว ผมชอบคำพูดของท่านเนลสัน แมนเดลาที่พูดว่า “I never lose. I either win or learn.” ชีวิตผมไม่เคยพ่ายแพ้ เพราะชีวิตผมมีแต่ชัยชนะหรือไม่ก็มีแต่บทเรียนที่ผมต้องเรียนรู้”
“ถ้าเราคิดว่าเราทำไม่ได้
เราก็จะทำไม่ได้ตั้งแต่แรก
เพราะฉะนั้นเราต้องมีความเชื่อว่า
เราจะช่วยเด็กและครอบครัวได้
เป็นการเติมกำลังใจให้กับตัวเอง”
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ คือ เราต้องมีความอดทนและใจเย็นให้มากพอ ตอนที่ผมเป็นหมอไตใหม่ ๆ เวลารักษาคนไข้ ก็อยากจะเห็นอาการคนไข้ดีขึ้นอย่าง บางครั้งเราอาจจะไปจับจ้องกับค่าผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ บางอย่าง เช่น ค่าการทำงานของไต ผลปัสสาวะ ซึ่งทำให้ใจร้อนและหักโหมในการใช้ยากดภูมิตามมาตรฐานของแนวทางรักษา แต่หลายครั้งก็นำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ ยกตัวอย่าง การดูแลผู้ป่วยไตอักเสบลูปัส ในบางจังหวะของการรักษาถ้าจะต้องรอก็คือ ต้องรอ ผมก็จะบอกลูกศิษย์ว่า สุดท้ายถ้าเราพยายามเต็มที่ แต่ถ้าไตไม่ฟื้นต้องฟอกเลือด เราก็ยังสามารถฟอกเลือดและก็ปลูกถ่ายไตได้ แต่ถ้าเราเร่งรักษาเพื่อหวังเอาชนะอาการอักเสบของไต ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อขึ้นมาเขาอาจจะเสียชีวิตก่อน ประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้สอนผมให้รู้จักอดทน ใจเย็นพอต่อปัญหา ไม่ยอมแพ้ไปก่อน หลักการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรกเลยคือ คุณแม่ คุณแม่เป็นต้นแบบของผมในการบริหารงาน ท่านเป็นคุณครู ผมนำคำสอนของคุณแม่มาประยุกต์ใช้ ทั้งการทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชา การเสนอข้อคิดเห็น การปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา ผมนำสิ่งที่คุณแม่สอนมาใช้ในการบริหารงาน และบริหารคน
ท่านที่สองคือ ศาสตราจารย์คลินิก พล.ต. หญิง พญ. ประไพพิมพ์ ธีรคุปต์ (คลิกอ่านเพิ่มเติม) ท่านเป็นต้นแบบของการรักษาคนไข้ ท่านมีความละเอียด รอบคอบ ทุ่มเทเอาใจใส่ในการดูแลรักษาคนไข้ และยึดถือผลประโยชน์ของคนไข้และครอบครัวเป็นหลัก
ท่านที่สามคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พ.อ. หญิง พญ. ศรีลักขณ์ สิมะเสถียร ท่านเป็นต้นแบบของความเป็นครูแพทย์ ท่านมีพรหมวิหาร 4 มีความเมตตากรุณา มีความปรารถนาดีและรักลูกศิษย์อย่างเท่าเทียม โดยไม่หวังสิ่งใดจากศิษย์เป็นการตอบแทน ท่านเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง
“ใน VUCA World
โลกกำลังเผชิญปัญหา
ความมั่นคงในรูปแบบใหม่…..
แพทย์รุ่นใหม่จึงต้องมี
ทักษะชีวิตในหลาย ๆ ด้าน
ทั้งการปรับตัว ความยืดหยุ่น
การเรียนรู้ตลอดชีวิต
ต่อไปทักษะเหล่านี้
จะมีความสำคัญมาก”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
เรื่องแรก ผมมองว่าวงการแพทย์ของเราอยู่ในยุคที่ท้าทาย เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนไป ความคาดหวังของคนไข้เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ของแพทย์กับคนไข้ก็เปลี่ยนไปมากเช่นกัน ถือเป็นจุดที่ท้าทายในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ เป็นสิ่งที่แพทย์ยุคปัจจุบันต้องทำความเข้าใจและปรับตัว
เรื่องต่อมาคือ การรักษาสมดุลของระบบสาธารณสุข ใน VUCA World โลกกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคอุบัติใหม่ อัตราการเกิดที่ลดลงแต่ชีวิตคนยืนยาวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความคาดหวังที่สูงขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงเร็วรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ แต่งบประมาณภาครัฐยังมีจำกัด แพทย์รุ่นใหม่จึงต้องมีทักษะชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการปรับตัว ความยืดหยุ่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต ต่อไปทักษะเหล่านี้จะมีความสำคัญมาก
ถ้าให้เลือกปรับปรุง 2 ข้อ เพื่อที่จะทำให้การแพทย์ไทยในอนาคตดีมากขึ้นไปกว่าเดิม อยากปรับปรุงเรื่องใด เพราะอะไร
ส่วนตัวเรื่องแรกที่อยากปรับปรุง คือ ให้แพทย์ออกจากระบบน้อยลง เราต้องพยายามแก้ไขสาเหตุหลักที่แท้จริงให้ได้ ผมคิดว่างบประมาณทางด้านสาธารณสุข ต้องแบ่งส่วนหนึ่งมาเพื่อการดึงให้บุคลากรทางการแพทย์อยู่ในระบบ ผมคิดว่าแพทย์หลายท่านได้ค่าตอบแทนที่ไม่สมดุลกับภาระงาน ความแตกต่างที่ต่างกันมากระหว่างภาครัฐและเอกชน อีกทั้ง work life balance ยังทำได้ไม่ดีด้วยข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน ในปัญหาที่เราแก้ไขเองไม่ได้และต้องรอให้ผู้อื่นแก้ เราอาจต้องพยายามช่วยเหลือตัวเอง ทั้งการหาแรงบันดาลใจ ใจเย็นและมองให้ดี เราอาจหา passion ได้จากสิ่งที่เราทำ รวมถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
สำหรับตัวผมเอง ที่ผ่านมา passion ในการใช้ชีวิตของผมคือ การได้ช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีต้นทุนมาก รู้สึกว่าการได้ดูแลเด็ก ๆ โรคไตเรื้อรังจนได้รับการปลูกถ่ายไต สามารถกลับไปเรียนจบและสามารถประกอบอาชีพดูแลตัวเองได้ สิ่งนี้เป็นรางวัลชีวิตให้กับผม ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า ผมรักในการดูคนไข้ ผมรักในการสอนหนังสือ หลายคนมองว่าวิชาโรคไตเป็นศาสตร์ลึกลับที่เข้าใจยาก การทำให้ลูกศิษย์หรือแพทย์รุ่นน้องมีความเข้าใจในศาสตร์ของโรคไตและสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลคนไข้ได้ทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวยึดเหนี่ยวให้ผมอยู่ในระบบของราชการ
เรื่องที่สอง มนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด องค์กรควรจะมีศักยภาพในการคัดสรรและรักษาคนที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาให้องค์กรเจริญเติบโตต่อไป รพ.พระมงกุฎเกล้า สังกัดกองทัพบก ความท้าทายของกองทัพก็คือ นโยบายการลดกำลังพล เราต้องแสวงหาวิธีที่จะปรับลดในจุดที่สอดคล้องกับความจำเป็น และนำเทคโนโลยีที่เข้ามาใช้ในการดูแลผู้ป่วย
“ผมเชื่อมั่นว่าแพทย์รุ่นใหม่
จะทำได้ดีโดยผ่านการเปิดใจ
ที่จะเรียนรู้อย่างเข้าใจ
และคอยฝึกฝนพัฒนา
ทักษะการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ”
ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
คำว่าประสบความสำเร็จนั้น ทุกคนล้วนมีนิยามที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญคือความสำเร็จนั้นต้องเกิดจากความดี ไม่เบียดเบียนใคร ทุกอย่างถ้าเราทำด้วยความรัก ทำด้วยหัวใจ ทำอย่างต่อเนื่อง ย่อมจะนำไปสู่ความสำเร็จ แม้บางครั้งอาจจะใช้เวลาบ้างก็ขอให้มีความอดทน สำหรับกุมารแพทย์รุ่นใหม่ ด้วยประชากรเด็กที่เกิดน้อยลงก็เป็นจุดที่ดีที่เราจะมีเวลาในการดูคนไข้ได้ครบทุกมิติแบบองค์รวม โดยเฉาะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การดูแลเด็กไม่ได้มีเพียงเฉพาะเด็กอย่างเดียว แต่หมอเด็กต้องมีทักษะในการดูแลพ่อแม่ของเด็กด้วย
สิ่งที่ผมเป็นห่วงสำหรับแพทย์รุ่นใหม่คือ การสื่อสาร ซึ่งจะเห็นได้จากเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างแพทย์กับคนไข้หรือญาติ ทั้งภาษาพูดและภาษากายที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาดีและความเมตตากรุณายังเป็นทักษะที่สำคัญในการสื่อสารกับคนไข้ แม้เทคโนโลยีของโลกหรือทางการแพทย์จะเปลี่ยนไป แม้ความแตกต่างของ generation gap จะเป็นเรื่องท้าทาย แต่ผมเชื่อมั่นว่าแพทย์รุ่นใหม่จะทำได้ดีโดยผ่านการเปิดใจที่จะเรียนรู้อย่างเข้าใจ และคอยฝึกฝนพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ
- Let’s get updated อาจารย์ พญ. ศศิธร คุณูปการ
- Expert interview อาจารย์ พญ. อรุณ วงษ์จิราษฎร์
- Expert interview อาจารย์ นพ. เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์
- Expert interview อาจารย์ นพ. ชลธิป พงศ์สกุล