กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด 6 มาตรการดูแลด้านสาธารณสุขรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดที่มีค่าฝุ่นพุ่งทะยาน สำรวจกลุ่มเปราะบาง ดูแลประชาชนเชิงรุก เปิดคลินิกมลพิษ/คลินิกมลพิษออนไลน์ จัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาลทุกระดับ ถ่ายทอดความรู้การทำมุ้งสู้ฝุ่น ประสาน อปท. สนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่นแก่ผู้ป่วยยากไร้
8 เมษายน พ.ศ. 2567 สธ. โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงการณ์มาตรการดูแลด้านสาธารณสุขสำหรับกรณีฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดที่ค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบม. ประกอบด้วย (1) ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามสถานการณ์รายวัน สื่อสารถึงประชาชน และให้ความช่วยเหลือในพื้นที่
(2) สำรวจกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบสูง คือ เด็ก (0 – 5 ปี) หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพื่อติดตามเฝ้าระวัง และให้คำแนะนำ (3) เปิดคลินิกมลพิษ/คลินิกมลพิษออนไลน์ และจัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาลทุกระดับ ขณะนี้เชียงใหม่มีห้องปลอดฝุ่นรวม 1,466 ห้อง และยังมีห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 416 แห่ง
(4) จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุก และให้ทุกอำเภอสำรองเวชภัณฑ์ยา/ หน้ากากป้องกันฝุ่น (5) ถ่ายทอดความรู้การจัดทำ ‘มุ้งสู้ฝุ่น’ ช่วยเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน และประสานงาน อปท. ในการสนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่นให้กับผู้ป่วยยากไร้ในทุกพื้นที่ (6) สธ. ร่วมกับราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพเวชกรรม กำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกก่อนโรคลุกลาม
แหล่งที่มา: https://www.hfocus.org/content/2024/04/30207