รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เห็นชอบ 3 อนุบัญญัติ ระบุให้เจ้าของ ผู้ควบคุมยานพาหนะ ผู้เดินทาง และผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อสำคัญ คือ โควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย และวัณโรค
6 มิถุนายน พ.ศ. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมเห็นชอบร่างอนุบัญญัติ 3 ฉบับ เพื่อกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะ ผู้เดินทาง หรือผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริงในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
ที่ประชุมยังรับทราบสถานการณ์โรคติดต่อสำคัญ คือ (1) โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด 19 มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก โรคไข้หวัดใหญ่ พบมากในกลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน ส่วนใหญ่ระบาดในเรือนจำ โรงเรียน และสถานปฏิบัติธรรม (2) โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัดและโรคไอกรน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ระบาดในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
(3) โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วยสะสม 29,9554 ราย เสียชีวิต 36 ราย (1 มกราคม – 29 พฤษภาคม 2567) ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน 5 – 14 ปี โรคไข้มาลาเรีย พบผู้ป่วยสะสม 4,498 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา ยกระดับมาตรการควบคุมโรค เน้นพลังชุมชน และกิจกรรมสำคัญ คือ การกำจัดพาหะ การวินิจฉัยและรักษา และการควบคุมโรคอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
(4) วัณโรค พบเสียชีวิต 13,700 ราย ผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษา 72,274 ราย อัตราความสำเร็จการรักษา 85% จึงกำหนดมาตรการสำคัญ คือ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง วินิจฉัยให้พบโดยเร็วด้วยวิธีมาตรฐาน ติดตามผู้ป่วยวัณโรคจนการรักษาสำเร็จมากกว่า 90% และให้ยารักษาวัณโรค เพื่อยุติวัณโรคและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/216190/