รศ. พญ. วิลาวัณย์ ถิรภัทรพงศ์
หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจและปอด
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
โรคหัวใจและโรคปอด
ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคหัวใจและโรคปอดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจเนื่องจากการที่โรคหัวใจและโรคปอดมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างร่วมกัน อาทิ อายุที่เพิ่มขึ้น การสูบบุหรี่ โรคประจำตัวบางอย่าง อาทิ ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวนหนึ่งมีโรคหัวใจร่วมด้วย ในขณะที่ผู้ป่วยหลายคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีโรคปอดและทางเดินหายใจร่วม โดยพบว่าร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคหัวใจที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจมีอาการของโรคปอด อาการที่พบ ได้แก่ หายใจเหนื่อยหอบขณะพักหรือขณะออกกำลังกาย ไอ เสมหะมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคเรื้อรัง มีสภาวะถดถอย สภาพทางกายแย่ลง ทำให้กระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตในสังคม บางรายไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ ส่งผลต่อสภาพจิตใจ และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ลดลง
การฟื้นฟูสมรรถภาพ
การฟื้นฟูสมรรถภาพเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการหลากหลาย โดยผสมผสานการออกกำลังกาย การให้ความรู้ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาการของโรค เพิ่มความสามารถในการออกกำลังกาย ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ตามศักยภาพ เพิ่มความมั่นใจในการดูแลตัวเองหรือในการประกอบกิจวัตรประจำวัน เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นต้น
กลยุทธการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
- การออกกำลังกาย (exercise training)
- การบริหารกล้ามเนื้อหายใจ (respiratory muscle training) รวมถึงการฝึกหายใจ (breathing training)
- เทคนิคการระบายเสมหะ (secretion clearance techniques)
- การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและสังคม (psychosocial counselling)
- การให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง (education for self-care)
การออกกำลังกาย
เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของการฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสภาวะถดถอย เพิ่มความสามารถในการออกกำลังกาย โดยทั่วไปการออกกำลังกายชนิดแอโรบิก การออกกำลังกายชนิดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เป็นการออกกำลังกายที่แนะนำในผู้ป่วย
การบริหารกล้ามเนื้อหายใจ การฝึกหายใจ
การบริหารกล้ามเนื้อหายใจสามารถทำได้โดยการฝึกหายใจ และการฝึกด้วยอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจ โดยทั่วไปแนะนำให้บริหารกล้ามเนื้อหายใจเข้าร่วมกับการออกกำลังกายชนิดแอโรบิก เนื่องจากช่วยลดอาการเหนื่อยหอบและเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกาย
การระบายเสมหะออกจากหลอดลม
มีเป้าหมายเพื่อช่วยระบายเสมหะที่คั่งค้าง ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดดีขึ้น ลดอาการหายใจลำบาก และลดโอกาสเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้การจัดท่าเพื่อระบายเสมหะ (postural drainage) การเคาะปอด การสั่นปอด (chest percussion and vibration) และการไอ (cough) เป็นวิธีการระบายเสมหะแบบดั้งเดิมที่ใช้ในการระบายเสมหะ นอกจากนั้นยังมีเทคนิคที่ผสมผสานระหว่างการควบคุมการหายใจและการหายใจออกอย่างแรง ได้แก่ forced expiratory technique และ active cycle of breathing technique รวมถึงปัจจุบันมีการนำอุปกรณ์มาใช้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยขับเสมหะง่ายขึ้น อุปกรณ์เหล่านี้ เช่น อุปกรณ์เพิ่มแรงดันบวกขณะหายใจออก และเครื่องสั่นผนังทรวงอก เป็นต้น
การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและสังคม
เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีความกลัวร่วมด้วย ดังนั้นการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและสังคม การรักษาด้วยการรวมกลุ่ม (group therapy) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อช่วยลดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวที่ดูแลผู้ป่วย
การให้คำแนะนำผู้ป่วยและครอบครัว
การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ความรู้เกี่ยวกับโรคและการดำเนินของโรคเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรได้รับควบคู่ไปด้วย รวมทั้งการให้คำแนะนำเรื่องการหยุดบุหรี่ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้อาการของโรคเลวลง การฉีดวัคซีน การรับประทานอาหารที่เหมาะสม เป็นต้น
ทีมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด
ทีมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด ประกอบด้วยบุคคลากรทางการแพทย์หลาย ๆ สาขา อาทิ แพทย์ (doctor) พยาบาล (nurse) นักกายภาพบำบัด (physical therapist) นักบำบัดทางเดินหายใจ (respiratory therapist) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย (exercise specialist) หรือนักสรีรวิทยาการออกกำลังกาย (exercise physiologist) เภสัชกร (pharmacist) นักจิตวิทยา (psychologist) นักโภชนาการ (nutritionist) หรือนักกำหนดอาหาร (dietitian)
สรุป
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอาจมีโรคปอดและทางเดินหายใจร่วมด้วย อาการที่พบได้แก่ หายใจเหนื่อยหอบ ไอ เสมหะมาก มีอาการเรื้อรัง สภาวะถดถอย สภาพทางกายแย่ลง ส่งผลต่อสภาพจิตใจ และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ลดลง การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและหัวใจต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม การสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ป่วย ครอบครัวและทีมผู้รักษา โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ และให้อยู่ในสังคมได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามศักยภาพที่ควรจะเป็น