รศ. นพ. ภาคภูมิ พุ่มพวง
สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสแบบรุกรานพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาว ชนิดนิวโทรฟิลล์ต่ำ (neutropenia) อย่างไรก็ดีในปัจจุบันพบการติดเชื้อในผู้ป่วยภาวะอื่น (non-neutropenia) มากขึ้น ทั้งนี้หนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยสำคัญก็คือ ผู้ป่วยที่รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยการศึกษาขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยที่เป็น invasive aspergillosis จำนวน 6,424 รายในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2551 พบว่า ร้อยละ 6.4 เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต1
ระบาดวิทยาและปัจจัยเสี่ยง
การศึกษาแบบพหุสถาบันในประเทศอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2560 รายงานอุบัติการณ์ของการติดเชื้อราสายแบบรุกราน (invasive mold infection) ในหอผู้ป่วยวิกฤตอยู่ที่จำนวน 9.5 ครั้งต่อการรับไว้ในหอผู้ป่วยวิกฤต 1,000 ครั้ง โดยพบการติดเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสมากที่สุดถึงร้อยละ 822 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการติดเชื้อนี้ ได้แก่ การได้รับยาต้านจุลชีพที่มีฤทธิ์กว้าง การใช้เครื่องช่วยหายใจ การได้รับการบำบัดทดแทนไต การได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ การก่อสร้างในโรงพยาบาล การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจแบบรุนแรง เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 นอกจากนี้พบว่าภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (sepsis) ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เนื่องจากทำให้เกิดการอักเสบของร่างกายอย่างรุนแรง (hyperinflammation) นำไปสู่ภาวะ immunoparalysis และการทำงานที่บกพร่องของนิวโทรฟิลล์ได้3-5
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 30 – 70) ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแบบดั้งเดิม (classical risk factors) ของการติดเชื้อนี้ ทำให้แพทย์ไม่คิดถึงการติดเชื้อนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการทางคลินิกที่ไม่จำเพาะ เช่น ไข้ ไอ เหนื่อย ไอเป็นเลือด ภาพถ่ายทางรังสีก็มักมีความแตกต่างจากผู้ป่วยที่มีภาวะ neutropenia คือ มักไม่พบ halo sign หรือ macro-nodule ซึ่งเป็นลักษณะที่พบบ่อยในผู้ป่วยติดเชื้อแอสเปอร์จิลลัสที่ปอดแบบที่เป็น angio-invasive แต่มักจะพบลักษณะภาพถ่ายรังสีเป็นแบบ ground-glass opacity, peribronchial consolidation หรือ centrilobular nodule แทนซึ่งเป็นลักษณะการติดเชื้อที่ปอดแบบที่เป็น airway-invasive6 ทั้งนี้แพทย์ควรคิดถึงการติดเชื้อนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการและ/หรืออาการแสดง ร่วมกับภาพถ่ายรังสีเข้าได้กับปอดอักเสบ แต่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านจุลชีพแบบมีฤทธิ์กว้าง
เนื่องจากเกณฑ์การวินิจฉัย EORTC/MSG criteria มีความไวที่ไม่เพียงพอในการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคนี้ โดยมีเกณฑ์ที่ชื่อว่า AspICU (รูปที่ 1) ที่มีความไวอยู่ที่ร้อยละ 92 และคามจำเพาะอยู่ที่ร้อยละ 617 โดยจะเห็นได้ว่าเกณฑ์การวินิจฉัยนั้นจะต้องมี ปัจจัยเสี่ยง อาการ และภาพถ่ายรังสีที่เข้าได้ ร่วมกับมีการเพาะเชื้อขึ้นจากสิ่งส่งตรวจทางเดินหายใจส่วนล่าง อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการไม่เพาะเชื้อ (non-culture based method) มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาเกณฑ์ใหม่ที่ชื่อ FUNDICU (รูปที่ 2) ในปี พ.ศ. 2024 ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้ได้นำเอาการตรวจใหม่ ๆ เช่น galactomannan มาใช้ร่วมด้วย โดยคาดว่าจะทำให้ความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น8 ทั้งนี้การศึกษาพบว่าการตรวจ serum galactomannan โดยใช้จุดตัดที่ 0.5 มีความไวร้อยละ 23 – 68 และความจำเพาะร้อยละ 76 – 91 ในขณะที่การตรวจ BAL galactomannan จะมีความไวสูงกว่า คือ ร้อยละ 73 – 97 และความจำเพาะที่ร้อยละ 93 – 98 (รูปที่ 3)รูปที่ 1 เกณฑ์การวินิจฉัย ICU-IPA ของ AspICU
รูปที่ 2 เกณฑ์การวินิจฉัย ICU-IPA ของ FUNDICU
รูปที่ 3 ความไวและความจำเพาะของ galactomannan ในการวินิจฉัยภาวะ ICU-IPA
การรักษา
การรักษาด้วยยาต้านเชื้อราไม่มีความแตกต่างจากผู้ป่วยกลุ่ม neutropenia คือใช้ voriconazole เป็นยาทางเลือกแรก ระยะเวลานานอย่างน้อย 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีมีข้อควรระวังหลายประการ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมี volume of distribution ที่เปลี่ยนแปลง มีอันตกิริยากับยาหลายชนิด เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน และยังมีการทำงานของไตและตับที่บกพร่อง ทำให้ระดับยาต้านเชื้อราไม่แน่นอน แพทย์จึงควรตรวจติดตามระดับยา (TDM) เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
- Corcione S, et al. Intern Emerg Med 2021;16:1619-27.
- Chakrabarti A, et al. J Crit Care 2019;51:64-70.
- Basetti M. et al. J Antimicrob Chemother 2017;72 Suppl 1: i39-47.
- Hartemink KJ, et al. Intensive Care Med 2003;29:2068-71.
- Paiva J, et al. Curr Opin Infect Dis 2018;31:187-93.
- Park SY, et al. Tranpl Infect Dis 2010;12:309-15
- Blot SI, et al. Am J Respir Crit Care Med 2012;186(1):56-64.
- Bassetti M, et al. Intensive Care Med 2024;50:502-15.
- Arastehfar A, et al. J Fungi (Basel) 2020 Jun 6(2):91.
- Gautier-Veyret E, et al. Fundam Clin Pharmacol 2018;fcp:12422