CIMjournal

สื่อสารอย่างไรเข้าถึงเข้าใจพ่อแม่


นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญรศ. นพ. ชิษณุ พันธุ์เจริญ
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เข้าถึง

กุมารแพทย์ควรให้ความสำคัญในการสร้างสัมพันธภาพ (relationship) ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยหรือญาติ ควรทราบความต้องการ (need) และความกังวลใจ (concern) ของเขา และสนองความต้องการและช่วยลดความกังวลใจให้กับเขา

กรณีสนองความต้องการให้ผู้ป่วยและญาติไม่ได้ ควรรับรู้ถึงความรู้สึกของเขาก่อนให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง

“คุณแม่คงรู้สึกตกใจที่รู้ว่าลูกป่วยเป็นไข้เลือดออก และอยากให้เขาอยู่โรงพยาบาลจะได้อยู่ใกล้ ๆ หมอ (รับรู้ความรู้สึกและความต้องการ) แต่ (เงียบสักพัก) อาการของน้องตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง คุณแม่สามารถดูแลน้องที่บ้านได้ หมอจะนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ จนกว่าน้องจะหายดี ระหว่างติดตามอาการของน้องถ้าหมอเห็นสมควรให้น้องนอนโรงพยาบาล จะแจ้งให้ทราบครับ (ให้ข้อมูล)”

และพึงหลีกเลี่ยงการเพิ่มความกังวลใจให้กับผู้ป่วยและญาติโดยไม่จำเป็น

“น้องต้องงดออกกำลังกายหนัก คงต้องเลิกเป็นนักกีฬาไปเลย ไม่งั้นอาการของโรคอาจกำเริบอีก”

แต่ควรสื่อสารด้วยข้อมูลที่แสดงความเข้าใจถึงความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ป่วยโดยเฉพาะวัยรุ่น

“หมอรู้ว่าน้องเป็นนักกีฬาของโรงเรียน และมีความใฝ่ฝันที่จะยึดเป็นอาชีพในอนาคต แต่ (เงียบสักพัก) โรคที่น้องเป็นจำเป็นต้องงดออกกำลังกายหนักไปสักระยะหนึ่ง และหวังว่าอีกไม่นานน้องอาจจะกลับมาเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม”


เข้าใจ

กุมารแพทย์ควรทำความเข้าใจกับปัญหาและความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ โดยผ่านการรับฟังอย่างใส่ใจ (active listening) รวมทั้งให้ความใส่ใจในอารมณ์และความรู้สึกของเขาด้วย

เมื่อมีความเข้าใจตรงกันของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจนแล้ว ควรสรุปปัญหาและความกังวลใจของผู้ป่วยและญาติอีกครั้ง

จากนั้นกระตุ้นให้ผู้ป่วยและญาติคิดแก้ไขปัญหา (stimulate problem solving) ด้วยตนเองก่อน

“ปัญหาของน้องขณะนี้คือ การกินยาที่ไม่ค่อยสม่ำเสมอ ไม่ตรงเวลา และมีบางครั้งที่ลืมกิน เรื่องการกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญมาก เราคงต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ (สรุปเรื่องราว) ไม่ทราบว่าน้องและคุณพ่อคุณแม่มีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร (กระตุ้นให้คิดเพื่อแก้ไขปัญหา)”

การให้ข้อมูล (give information) ยังไม่ควรทำ หากยังไม่ได้รับฟังผู้ป่วยและญาติให้นานเพียงพอ ข้อมูลควรมีลักษณะสั้นกระชับ (concise) และมีความชัดเจน (clear) อาจมีประโยคหรือข้อความสำคัญ (key sentences) ซึ่งสามารถพูดซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง (repetition)

“หมอขอเน้นอีกครั้งนึงว่าการกินยาทุกวันอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญในการรักษาโรคนี้ แม้จะกินยาไม่ตรงเวลาไปบ้าง แต่ก็ไม่ควรลืมกินไปเลย กินช้าหน่อยยังดีกว่าไม่กินเลยครับ”


พ่อแม่

กุมารแพทย์ควรเข้าใจในธรรมชาติของพ่อแม่ที่รักลูก เป็นห่วงลูก และมีความหวังดีกับลูก โดยเฉพาะในยามเจ็บป่วย กรณีลูกป่วยเป็นโรคเฉียบพลัน เช่น ไข้เลือดออก พ่อแม่มักมีความคาดหวังว่าลูกจะหายจากการเจ็บป่วยโดยเร็ว ไม่เกิดความพิการ และที่สำคัญต้องไม่เสียชีวิต พ่อแม่มักจะมีอารมณ์เศร้า กังวลใจ และรู้สึกเครียด

กรณีลูกป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือต้องการการรักษาหรือติดตามเป็นระยะเวลานาน พ่อแม่มักมีความเครียดสะสมเรื้อรังและมีอารมณ์เศร้าโดยเฉพาะเมื่ออาการของโรคกำเริบขึ้นหรือลูกมีอาการทรุดลง และมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคหรือจากการรักษากุมารแพทย์ควรทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประคับประคองด้านจิตใจของพ่อแม่ (psychological support) ควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา แต่แฝงไปด้วยความเป็นห่วงเป็นใย


เด็ก

เด็กเล็ก มักมีอาการงอแงและหงุดหงิดโดยเฉพาะเมื่อต้องนอนโรงพยาบาล ต้องมีหัตถการที่ทำให้เด็กต้องเจ็บตัว แม้อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในความรู้สึกของทีมรักษาพยาบาล เช่น การเจาะเลือด การให้น้ำเกลือ หรือแม้แต่การงดอาหารชั่วคราว โรงพยาบาลควรอนุญาตให้พ่อแม่อยู่เฝ้าน้องหรือเยี่ยมน้องได้เป็นเวลานาน ๆ เพื่อลดความตึงเครียดต่าง ๆ ลง

“ขณะนี้น้องมีอาการหอบมาก หมอจำเป็นต้องให้น้องงดอาหารและน้ำดื่มไว้ก่อน เพื่อป้องกันการสำลัก (ให้ข้อมูล ) ซึ่งอาจทำให้น้องหิวและรู้สึกหงุดหงิด (สะท้อนความรู้สึก) เมื่อน้องมีอาการดีขึ้น หมอจะรีบพิจารณาให้ดื่มน้ำได้ ตามมาด้วยการดื่มนมและกินอาหารตามปกติ ขอเวลาหมอสักวันสองวันนะครับ (ให้ข้อมูล)”

เด็กโตและวัยรุ่น มีความกังวลใจเมื่อตนเองเจ็บป่วยโดยเฉพาะเมื่อป่วยเป็นโรคที่มีความรุนแรงถึงขั้น ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ระหว่างนอนโรงพยาบาลวัยรุ่นอาจขาดพื้นที่ส่วนตัวและขาดอิสระ อาจมีปฏิกิริยาต่อต้านกับการรักษาพยาบาลของเรา

“หมอรู้ว่าหนูอยากกลับบ้านแล้ว อยากกลับไปเรียนหนังสือ อยากไปเจอเพื่อน ๆ (รับรู้สิ่งที่ต้องการ) แต่ (เงียบสักพัก) หมอจำเป็นต้องให้ยาฉีดทางเส้นเลือดอีกสองวัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นยากินได้ จากนั้นหมอน่าจะสามารถอนุญาตให้น้องกลับบ้านได้ (ให้ข้อมูล) อดทนรออีกนิดนะครับ (รับรู้ความรู้สึก) จะได้หายขาด”


สรุป

กุมารแพทย์ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยและญาติ สนองความต้องการและช่วยลดความกังวลใจ ควรรับฟังผู้ป่วยอย่างตั้งใจ สรุปปัญหาและความรู้สึกของผู้ป่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยและญาติได้มีโอกาสคิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ควรให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น มีลักษณะกระชับและเข้าใจง่าย และเป็นข้อมูลที่ผู้ป่วยและญาติอยากรู้ โดยสามารถสื่อข้อความหรือประโยคสำคัญซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง

 

เอกสารอ้างอิง
  1. ชิษณุ พันธุ์เจริญ. Communication Skills การสื่อสารทางการแพทย์แบบมืออาชีพ. กรุงเทพฯ: แอคทีฟพริ้นท์, 2567.
  2. ชิษณุ พันธุ์เจริญ การสื่อสารด้านโรคติดเชื้อและวัคซีน. กรุงเทพฯ: แอคทีฟพริ้นท์, 2559.

 

ขอขอบคุณ : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก