ผศ.พญ. ดร. สุจิตรา ชัยสวนียากรณ์
สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19
MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) และ Long COVID หรือ Post Acute Sequelae (PAS) of SARS-CoV-2 infection เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ป่วยเด็กภายหลังจากการติดเชื้อ COVID-19
MIS-C เป็นกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อ COVID-19 ในผู้ป่วยเด็ก โดยอุบัติการณ์การเกิด MIS-C ทั่วโลกและในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 25 และ 15 รายต่อ 100,000 ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ตามลำดับ ในปี 2020 CDC และ WHO ได้ออกคำแนะนำ ในการวินิจฉัยภาวะ MIS-C และในปี 2023 CSTE (Council of State and Territorial Epidemiologist)/CDC ได้ปรับคำนิยามในการวินิจฉัย MIS-C ใหม่ เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยง่ายขึ้นและลดความผิดพลาด เนื่องจากภาวะ MIS-C มีความคล้ายคลึงกับภาวะ severe COVID-19 KD (Kawasaki disease) และ TSS (Toxic Shock Syndrome) ที่เกิดจากการติดเชื้อ Staphylococcus aureus โดยไม่ได้จำกัดระยะเวลาการมีไข้ใช้ C-reactive protein ≥ 3 mg/dL ในการบ่งถึงภาวะการอักเสบ ปรับส่วนที่มีอวัยวะเกี่ยวข้องให้รวมภาวะ shock และตัดระบบการหายใจ ระบบประสาท และส่วนไตออก และกำหนดระยะเวลาที่ตรวจ พบว่ามีการติดเชื้อ COVID-19 ก่อนการวินิจฉัย MIS-C ที่ 60 วัน ถึงแม้จะมีการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้นเกี่ยวกับ MIS-C แต่กลไกการเกิดภาวะนี้ที่แท้จริงก็ยังไม่รู้ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจาก delayed hyperinflammatory response ที่นำไปสู่การเกิด immune cell activation and dysregulation และ cytokine storm ที่ทำให้มีการหลั่งของ IL-1, IL-6, TNF-alpha เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการทำงานของเนื้อเยื่อบุหลอดเลือดผิดปกติ และทำให้อวัยวะหลายระบบถูกทำลายเสียหาย โดยปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิด MIS-C มีทั้งปัจจัยจากผู้ป่วยและจากเชื้อ SARSCoV-2 ซึ่งมีข้อมูลว่าผู้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ไม่ว่าจะมีอาการหรือมีอาการรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็สามารถเกิดภาวะ MIS-C ได้ เพศชาย อายุ 5 – 11 ปี เชื้อชาติ African American โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ภูมิแพ้ภาวะอ้วน nephrotic syndrome มีอาการมากว่า 2 อาการในช่วงที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 จะเสี่ยงต่อการเกิด MIS-C ในขณะที่ประวัติการได้รับวัคซีน COVID-19 และการติดเชื้อในช่วง Omicron variant มีโอกาสเกิด MIS-C น้อยกว่า สำหรับแนวทางการรักษาภาวะ MIS-C จากข้อมูลการศึกษาวิจัยแนะนำผู้ป่วยเด็กที่ต้องนอนโรงพยาบาล แนะนำการให้ IVIG plus glucocorticoids เป็น first-tier therapy สามารถใช้ IVIG monotherapy หากมีข้อห้ามในการใช้ glucocorticoids ถ้าผู้ป่วยไม่ได้มีภาวะ shock และไม่ได้มีอวัยวะเสียหายรุนแรง ส่วน glucocorticoid monotherapy แนะนำเฉพาะกรณีมีข้อห้ามการใช้ IVIG หรือไม่มี IVIG หรือกรณี mild MIS-C สำหรับ refractory MIS-C แนะนำ high-dose Anakinra high-dose glucocorticoids หรือ infliximab การให้ aspirin กรณี coronary artery involvement การให้ thrombotic prophylaxis กรณีมี hypercoagulable state
Long COVID เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อ COVID-19 ในผู้ป่วยเด็กโดยอุบัติการณ์การเกิด long COVID ทั่วโลกและในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 10 – 20% และ 13% ตามลำดับอย่างไรก็ตามเนื่องจากการวินิจฉัยภาวะ long COVID มีการใช้คำนิยามที่ไม่เหมือนกันและการติดตามในระยะเวลาที่ไม่เหมือนกัน ทำให้การประมาณอุบัติการณ์การเกิด long COVID ที่แท้จริงยังลำบาก แต่จากข้อมูลการศึกษาที่มีมากขึ้น WHO ได้ปรับปรุงนิยามการวินิจฉัยในปี 2023 สำหรับเด็กและวัยรุ่น คือเป็นภาวะที่เกิดในผู้ป่วยที่มีประวัติการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่มีอาการอย่างน้อย 2 เดือน โดยเริ่มแรกเกิดภายใน 3 เดือนหลังการติดเชื้อ โดยอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่หรือเป็นอาการที่ต่อเนื่องจากอาการเจ็บป่วยในช่วงแรก โดยมีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ อาการกลับเป็นซ้ำ โดยอาการมีผลต่อการดำเนินชีวิต สำหรับ CDC 2024 ได้กำหนดระยะเวลาของอาการที่คงอยู่ที่เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ถึงแม้จะมีการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะ long COVID แต่กลไกการเกิดภาวะนี้ที่แท้จริงก็ยังไม่รู้ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากการที่มีเชื้อไวรัสลงเหลือ ทำให้มีการกระตุ้นให้เกิด chronic inflammation การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติและไม่สมดุล ทั้งส่วนของลำไส้ ระบบเมตะบอลิซึม และเยื่อบุหลอดเลือด โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ long COVID คือ เด็กอายุมากกว่า 10 ปี มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะอ้วน ภาวะหอบ เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ในช่วงที่เป็น COVID-19 ผู้ป่วยที่เคยต้องได้รับการรักษา COVID-19 ในโรงพยาบาลผู้ป่วยที่เคยเป็น MIS-C เป็นต้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการติดเชื้อในช่วง Omicron variants และได้รับ COVID-19 vaccine มีความเสี่ยงน้อยลงในการเกิด long COVID โดยอาการที่พบหลงเหลือในผู้ป่วย COVID-19 ที่พบได้บ่อย ๆ คือ อาการทั่ว ๆ ไป เช่น อ่อนเพลีย อาการระบบประสาท เช่น การไม่รับรู้กลิ่น สมองเบลอ อาการทางระบบหายใจ เช่น ไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม อาการทางระบบหัวใจ เช่น แน่นหน้าอก ใจสั่น อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว รวมถึงการมีผื่น ปวดตา และปวดเมื่อย เป็นต้น ในปัจจุบัน ยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะสามารถวินิจฉัยภาวะ long COVID อีกทั้งคำนิยามในการวินิจฉัย long COVID ก็ยังไม่มีคำนิยามที่เป็นสากลชัดเจน แต่มีคำแนะนำในการวินิจฉัย long COVID ที่ต้องวินิจฉัยแยกโรคอื่นไปก่อน รวมถึงการประเมินอวัยวะที่มีความผิดปกติ สำหรับการรักษา ก็ยังไม่มีวิธิการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่มีการรักษาตามอาการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถมีอาการที่หายสนิทได้ แต่ในบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปี
- Rhedin S, Lundholm C, Horne A, Smew AI, Osvald EC, Haddadi A, et al. Risk factors for multisystem inflammatory syndrome in children – A population-based cohort study of over 2 million children. Lancet Reg Health Eur. 2022;19:100443.
- Wongwathanavikrom NB, Tovichien P, Udomittipong K, Palamit A, Tiamduangtawan P, Mahoran K, et al. Incidence and risk factors for long COVID in children with COVID-19 pneumonia. Pediatr Pulmonol. 2024.
- Narknok N, Sakboonyarat B. Incidence and risk factors of multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) among pediatric patients receiving care in a tertiary hospital in central Thailand. Journal of Southeast Asian Medical Research. 2023
- Wacks M, Wortley E, Gregorowski A, Segal TY, Whittaker E. Fifteen-minute consultation: Managing post-COVID-19 syndrome (long COVID) in children and young people. Arch Dis Child Educ Pract Ed. 2024;109(1):29-34. Epub 2023/04/21.
- Sansone F, Pellegrino GM, Caronni A, Bonazza F, Vegni E, Lue A, et al. Long COVID in Children: A Multidisciplinary Review. Diagnostics (Basel). 2023;13(12).
- Morello R, Martino L, Buonsenso D. Diagnosis and management of post-COVID (Long COVID) in children: a moving target. Curr Opin Pediatr. 2023;35(2):184-92.
- La Torre F, Taddio A, Conti C, Cattalini M. Multi-Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) in 2023: Is It Time to Forget about It? Children (Basel). 2023;10(6).