พ.อ. ศ. นพ. บัญชา สถิระพจน์
แผนกโรคไต กองอายุรกรรม
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ความดันโลหิตสูงพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไต เมื่อระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจะเกิดพยาธิสภาพไต โดยเฉพาะหลอดเลือดไตเกิด arteriolosclerosis และ vascular hyalinosis ร่วมกับพบ tubulointerstitial fibrosis, glomerular sclerosis และ focal segmental glomerulosclerosis ได้ แล้วทำให้การทำงานของไตลดลงตาม การตรวจแอลบูมินในปัสสาวะเป็นหลักฐานสำคัญของการเกิดพยาธิสภาพของหลอดเลือดไตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ระดับความดันโลหิตสูงที่รุนแรงจะทำให้การทำงานของไตลดลง โดยเห็นว่ากลุ่ม benign hypertensive nephrosclerosis จะมีการทำงานของไตลดลงอย่างช้า ๆ ตามการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิต ตรงกันข้ามกับโรคความดันโลหิตสูงกลุ่ม malignant hypertensive nephrosclerosis ที่มีการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิตอย่างรวดเร็วจะมีการทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกันดังสรุปในรูปที่ 11
ระดับความดันโลหิตเป้าหมายในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
จากการศึกษาแบบ meta-analysis และ systematic reviews พบว่า เมื่อลดความดันโลหิตตัวบนประมาณ 5 มม.ปรอท จะลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจประมาณร้อยละ 102 และอ้างอิงจากมีการศึกษา SPRINT พบว่า การควบคุมความดันโลหิตอย่างเข้มงวดคือ ความดันโลหิตตัวบนน้อยกว่า 120 มม.ปรอท เทียบกับ 140 มม.ปรอท สามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้3 และเมื่อวิเคราะห์กลุ่มย่อยของการศึกษา SPRINT เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่เป็นโรคไตเรื้อรัง พบว่าการลดความดันโลหิตอย่างเข้มงวดให้ระดับความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 120 มม.ปรอท สามารถลดอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เช่นกัน4 แต่อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น ความดันโลหิตต่ำ การเกิดภาวะหมดสติชั่วคราว การเกิดความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย และการเกิดไตวายเฉียบพลันเพิ่มมากขึ้น
จากการศึกษา AASK Collaborative Research Group ถึงผลของการควบคุมความดันโลหิตอย่างเข้มงวดคือ ความดันโลหิตตัวบนน้อยกว่า 130 มม.ปรอท เทียบกับ 140 มม.ปรอท สามารถลดอัตราการเกิดไตเรื้อรังระยะสุดท้ายในกลุ่มที่มีโรคไตเรื้อรังที่มีโปรตีนในปัสสาวะ5 และจากการศึกษาแบบ meta-analyses และ systematic reviews พบว่าการควบคุมความดันโลหิตอย่างเข้มงวดสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ในผู้ป่วยที่มีแอลบูมินในปัสสาวะ6, 7
ดังนั้นตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฎิบัติทั่วไป พ.ศ. 2567 ของสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกลุ่มที่มีแอลบูมินในปัสสาวะ หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคทางหัวใจและหลอดเลือด ตั้งเป้าหมายของการลดความดันโลหิตจากการวัดในสถานพยาบาลระหว่าง 120-130/70-79 มม.ปรอท ดังสรุปในรูปที่ 2
หลักการเลือกใช้ยาควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
อ้างอิงตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2567 ของสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย แนะนำเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตสูงชนิดแรกเป็น angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEIs) หรือ angiotensin receptor blockers (ARBs) ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีแอลบูมินในปัสสาวะมากกว่า 30 มก./วัน เนื่องจากยาสามารถลดความดันภายในโกลเมอรูลัสจากการขยาย efferent arteriole มากกว่า afferent arteriole และสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้8 สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีแอลบูมินในปัสสาวะน้อยกว่า 30 มก./วัน สามารถเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตกลุ่มใดก็ได้ใน 5 กลุ่มหลัก คือ ACEIs, ARBs, beta-blockers, calcium-channel blockers (CCBs), และ thiazide/thiazide-like diuretics เนื่องจากการเลือกใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งจาก 5 กลุ่มนี้ จะให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตและลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ใกล้เคียงกัน
หลักการใช้ ACEIs หรือ ARBs ในผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรังควรปรับขนาดยาขึ้นจนถึงขนาดสูงสุด หรือขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยจะสามารถรับได้ หลังจากเริ่มให้ยาหรือปรับขนาดยาขึ้นควรมีการติดตามระดับของครีแอทินินในเลือดภายใน 4 สัปดาห์ หากระดับครีแอทินินในเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 จากระดับก่อนให้ยา ACEIs หรือ ARBs ควรหยุดยา และหาสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของระดับครีแอทินินในเลือด ได้แก่ ภาวะขาดสารน้ำต่าง ๆ ยาที่ใช้ร่วม เช่น nonsteroidal anti-inflammatory drugs และภาวะหลอดเลือดแดงของไตตีบสองข้าง9 หากระดับครีแอทินินในเลือดเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 30 จากระดับก่อนให้ยาสามารถปรับขนาดยาต่อไปได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องลดขนาดยาหรือหยุดยา ACEIs หรือ ARBs ได้แก่ ผู้ที่มีอาการจากความดันโลหิตต่ำ มีภาวะโพแทสเซียมสูงที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ หรือมีอาการจากภาวะยูรีเมียในผู้โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 โดยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะโพแทสเซียมสูงจากการใช้ยาอาจเพิ่มยาจับโพแทสเซียมผ่านทางเดินอาหารเพื่อลดระดับโพแทสเซียมในเลือดให้น้อยกว่า 5.5 มิลลิโมล/ลิตร เพื่อสามารถใช้ยา ACEIs หรือ ARBs ต่อไปได้ในขนาดที่เหมาะสม
ปัจจุบันแนะนำให้ใช้ยาลดความดันโลหิตสองชนิดรวมอยู่ในเม็ดเดียวกันในลักษณะของ single-pill combination เนื่องจากการลดจำนวนเม็ดยาที่ผู้ป่วยต้องรับประทานในแต่ละวัน ช่วยทำให้ผู้ป่วยรับประทานยาได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มโอกาสของการควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น10 จากการศึกษา START ได้แสดงว่าการใช้ยาลดความดันโลหิตแบบรวมเม็ด สามารถลดอัตราการเสียชีวิต และลดโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดได้ดีกว่าการใช้ยาชนิดเดียวกันแต่เป็นแบบแยกเม็ด11 จึงแนะนำให้ใช้ยาลดความดันโลหิตสองชนิดรวมอยู่ในเม็ดเดียวกันในการรักษาความดันโลหิตทุกขั้นตอนหากสามารถทำได้
โดยทั่วไปการลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังให้ได้เป้าหมายส่วนใหญ่จะต้องใช้ยาลดความดันโลหิตมากกว่า 1 ชนิด การพิจารณาใช้ยาลดความดันโลหิตร่วมกันส่วนใหญ่แนะนำกลุ่ม ACEIs หรือ ARBs ร่วมกับ CCBs หรือ thiazide/thiazide-like diuretics โดยการเลือกใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรเลือกใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide/thiazide-like diuretics ในผู้ป่วยไตเรื้อรังที่มีการทำงานของไตมากกว่าหรือเท่ากับ 30 มล./นาที/1.73 ตารางเมตร ส่วนยาขับปัสสาวะ loop diuretics เลือกใช้ในผู้ป่วยไตเรื้อรังที่มีการทำงานของไตน้อยกว่า 30 มล./นาที/1.73 ตารางเมตร และที่สำคัญไม่ควรใช้ยา ACEIs ร่วมกับ ARBs เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะโพแทสเซียมสูงและเสี่ยงต่อไตวายเฉียบพลัน12
สรุป
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีหลายปัจจัยทำให้เกิดความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เป้าหมายการควบคุมระดับความดันโลหิตเน้นแบบเข้มงวดมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเลือกยาลดความดันโลหิตหลักคือ ACEIs หรือ ARBs โดยเฉพาะผู้ป่วยไตเรื้อรังที่มีแอลบูมินในปัสสาวะ และพิจารณาให้ CCBs หรือ diuretics ร่วมเมื่อควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ตามเป้าหมาย และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอในผู้ป่วยทุกราย เพื่อปรับความดันโลหิตสูงตามเป้าหมายในผู้ป่วยแต่ละราย และติดตามผลข้างเคียงของการรักษา
เอกสารอ้างอิง
- Griffin KA. Hypertensive Kidney Injury and the Progression of Chronic Kidney Disease. Hypertension 2017;70:687-94.
- Blood Pressure Lowering Treatment Trialists C. Pharmacological blood pressure lowering for primary and secondary prevention of cardiovascular disease across different levels of blood pressure: an individual participant-level data meta-analysis. Lancet 2021;397:1625-36.
- Group SR, Wright JT, Jr., Williamson JD, et al. A Randomized Trial of Intensive versus Standard Blood-Pressure Control. N Engl J Med 2015;373:2103-16.
- Cheung AK, Rahman M, Reboussin DM, et al. Effects of Intensive BP Control in CKD. J Am Soc Nephrol 2017;28:2812-23.
- Appel LJ, Wright JT, Jr., Greene T, et al. Intensive blood-pressure control in hypertensive chronic kidney disease. N Engl J Med 2010;363:918-29.
- Upadhyay A, Earley A, Haynes SM, Uhlig K. Systematic review: blood pressure target in chronic kidney disease and proteinuria as an effect modifier. Ann Intern Med 2011;154:541-8.
- Jafar TH, Stark PC, Schmid CH, et al. Progression of chronic kidney disease: the role of blood pressure control, proteinuria, and angiotensin-converting enzyme inhibition: a patient-level meta-analysis. Ann Intern Med 2003;139:244-52.
- Hostetter TH. Prevention of end-stage renal disease due to type 2 diabetes. N Engl J Med 2001;345:910-2.
- Kidney Disease: Improving Global Outcomes Blood Pressure Work G. KDIGO 2021 Clinical Practice Guideline for the Management of Blood Pressure in Chronic Kidney Disease. Kidney Int 2021;99:S1-S87.
- Williams B, Mancia G, Spiering W, et al. 2018 ESC/ESH Guidelines for the management of arterial hypertension: The Task Force for the management of arterial hypertension of the European Society of Cardiology and the European Society of Hypertension: The Task Force for the management of arterial hypertension of the European Society of Cardiology and the European Society of Hypertension. J Hypertens 2018;36:1953-2041.
- Schmieder RE, Wassmann S, Predel HG, et al. Improved Persistence to Medication, Decreased Cardiovascular Events and Reduced All-Cause Mortality in Hypertensive Patients With Use of Single-Pill Combinations: Results From the START-Study. Hypertension 2023;80:1127-35.
- Investigators O, Yusuf S, Teo KK, et al. Telmisartan, ramipril, or both in patients at high risk for vascular events. N Engl J Med 2008;358:1547-59.