การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ของโลกโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ อุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมสุขภาพที่มีบทความกล่าวไว้ด้วย อุตสาหกรรมยาเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรู้และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัว
อุตสาหกรรมยามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง รวมถึงการหมดลงของหลายๆสิทธิบัตรยา ที่เห็นได้ชัด อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) บล็อกเชน (Blockchain) และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยุค 4.0 อื่น ๆ อีกทั้งมีการลงทุนเพิ่มขึ้น การเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยี และสิทธิบัตรสำคัญหลายฉบับหมดอายุ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เพิ่มขึ้นและหลาย ๆ สิ่งกำลังกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยา แพลตฟอร์ม StartUs Insights Discovery ซึ่งนำเสนอรายละเอียดและภาพรวมของเทคโนโลยีเกิดใหม่ในสาขาเฉพาะทางอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงลึก การใช้ข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ กำลังเป็นที่นิยม และระบุธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังขยายส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา
- การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) และการให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ด้วยตัวเอง (Machine learning) เพื่อเร่งกระบวนการค้นคว้าและพัฒนายาให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการใช้ AI ช่วยลดความยุ่งยากในการทำวิจัยทางคลินิก ช่วยลดต้นทุนการวิจัย ช่วยในการออกแบบการตลาดหลังยาเปิดตัว ช่วยในการระบุตัวผู้ป่วยที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัพใหม่ๆใช้ AI ในการศึกษาหลักฐานเชิงประจักษ์ (Real-world evidence, RWE) โดยการบันทึกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic health records, EHR) และมีบางสตาร์ทอัพใช้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ หรือ Machine learning ในกระบวนการค้นพบและพัฒนายา เป็นต้น
.
- การวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data & Analytics) เทคโนโลยีนี้จะทำให้ผู้ผลิตได้รับข้อมูลที่เจาะลึกภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในแต่ละขั้นตอนของการผลิตยา ตั้งแต่การค้นหาตัวยาสำคัญ การศึกษาวิจัยในกลุ่มเป้าหมาย และการผลิตยาอีกหลายขั้นตอน สำหรับการวิเคราะห์จะทำให้ได้ข้อมูลทั้งในอดีตและในปัจจุบัน เพื่อใช้ในการการคาดการณ์ การวินิจฉัย การสั่งจ่ายยา เป็นต้น
.
- การปรับกระบวนการผลิตยาให้มีความยืดหยุ่น (Flexible production) จากการเปลี่ยนแปลงความต้องการยา และแนวโน้มที่จะมีการผลิตยาในปริมาณไม่มาก เช่น การผลิตยาเฉพาะสำหรับผู้ป่วย (Precision medicine) การผลิตยาชีวเภสัชภัณฑ์ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิต โดยเน้นการใช้ระบบปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor systems) และกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง (Continuous manufacturing process) ที่ใช้พลังงานต่ำ ได้ผลผลิตสูงและลดปริมาณของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้บริษัทยาต่าง ๆ ต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดรับกับแนวโน้มดังกล่าว
.
- การใช้เทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) เป็นแนวคิดในการรักษาผู้ป่วยเฉพาะรายซึ่งอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลและการศึกษาผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งอายุ เพศ โรคร่วมและปัจจัยทางคลินิกอื่น ๆ แล้วนำมาสร้างแบบจำลองที่ช่วยในการคำนวณยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
.
- การผลิตแบบเติมเนื้อ (Additive manufacturing, AM) หรือการผลิตแบบ 3D Printing แนวโน้มในการผลิตยาแบบ Precision medicine ทำให้บริษัทยาต้องคิดวิธีการผลิตใหม่ โดยเทคโนโลยี 3D Printing จะทำให้สามารถผลิตเนื้อเยื่อหรือเซลล์มนุษย์สำหรับใช้ในการพัฒนายา การทำวิศวกรรมอวัยวะ (Organ engineering) การซ่อมแซมฟื้นฟูเซลล์ เนื้อเยื่อที่เสื่อม (Regenerative medicine) เป็นต้น ปัจจุบันมีธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อทำการวิจัยทางคลินิคในการผลิตยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย รวมทั้งมีการสร้างเนื้อเยื่อจำลองรูปแบบต่าง ๆ ด้วย
.
- การใช้บล็อกเชน (Blockchain) ด้วยจุดเด่นในการจัดการข้อมูลที่มีความถูกต้อง ความโปร่งใส มีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว บล็อกเชนจึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยา เช่น การช่วยสร้างระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของยา การติดตามและรักษาความปลอดภัยของระบบธุรกรรมทางยา การจัดการกับปัญหายาปลอมหรือยาที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
.
- การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเพิ่มมากขึ้น (Extended reality) ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริงมีมากขึ้น ทั้งเทคโนโลยี VR, AR, MR, CR, SR และ XR ทำให้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมยา โดยสามารถช่วยได้ตั้งแต่การจำลองอะตอม โมเลกุล เนื้อเยื่อการวิจัย การพัฒนา การผลิตยาและสารชีวเคมี จนถึงขั้นการบรรจุภัณฑ์ ส่งผลให้ทุกขั้นตอนมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
.
- การประยุกต์ใช้ข้อมูลและหลักฐานจริง (Real-world data, Real-world evidence) จากการใช้อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things, IoT) ทำให้เพิ่มโอกาสในการรวบรวมข้อมูลจริงของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสภาวะสุขภาพ การรักษา ผลการรักษา รายงานสุขภาพต่างๆ โดยหากมีการรวบรวมข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการขับเคลื่อนหลายๆด้านของอุตสาหกรรมยา ล่าสุดมีธุรกิจสตาร์ตอัพที่อเมริกาเสนอการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยทั้งที่เป็น Clinical และ Non-clinical โดยมีการจัดอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ เป็นต้น
.
- การรักษาด้วยระบบดิจิทัล (Digital therapeutics) เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นทำให้วิธีการบำบัดรักษาเปลี่ยนไป มีการใช้โปรแกรม (software) เพื่อการป้องกัน การจัดการ การรักษาโรค การปรับสภาวะจิตใจและพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น ที่อเมริกามีการนำระบบเสมือนจริง มาช่วยในการกระตุ้นเพื่อการฟื้นฟูการทำงานของสมอง ในการควบคุมระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หรือที่เยอรมันมีการทดลองใช้โปรแกรมในโทรศัพท์มือถือ เพื่อชะลอปัญหาสายตาสั้นในเด็กและวัยรุ่น
.
- การรักษาแบบขจัดโรค (Curative therapies) เช่นเดียวกันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้การรักษาในหลาย ๆ โรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรังเปลี่ยนไป จากรักษาแบบบริหารจัดการให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตไปพร้อมกับโรคได้ มาเป็นการกำจัดพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรค โดยผู้ป่วยไม่ต้องทนอยู่กับโรคอีกต่อไป เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพจากอังกฤษเสนอ Cell therapy เพื่อขจัดโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน โรคตาและทางเดินหายใจ ส่วนสตาร์ทอัพที่อเมริกาเสนอ Gene therapy เพื่อรักษาโรคระบบประสาทส่วนกลาง โรค LSD เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.startus-insights.com
ภาพประกอบจาก Europeanpharmaceuticalreview.com