CIMjournal

อาจารย์ นพ. โอฬาร พรหมาลิขิต สาขาโรคติดเชื้อในเด็ก


ถ้าเราไม่มีโอกาสต่อให้ตัวเรามีความสามารถก็ไม่มีทางสำเร็จ บางคนเก่งมาก แต่ไม่มีผู้ใหญ่หยิบยื่นโอกาสให้ไปทำ ความเก่งมันก็เก็บอยู่ข้างใน

รศ. นพ. โอฬาร พรหมาลิขิต
รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กรรมการและรองประธานอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรมและสอบ
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก

ผมเรียนจบมัธยมจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ด้วยความที่ผมชอบวิชาชีววิทยาและพื้นฐานนิสัยของผมเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคน และชอบสอนหนังสือ ชอบการเป็นครู ประกอบกับทางบ้านเป็นครอบครัวใหญ่มีเชื้อสายชาวจีน ทำธุรกิจ ไม่เคยมีใครรับราชการ ก็อยากให้ลูกรับราชการ ผมเลยตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์ และได้เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น สมัยเรียนด้วยความที่อยู่ต่างจังหวัด ความใกล้ชิดระหว่างนักเรียนแพทย์กับอาจารย์แพทย์จะใกล้ชิดกันมาก เวลามีปัญหาหรือจะปรึกษาอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้เลย ผมได้เห็นแบบอย่างที่ดีของอาจารย์แพทย์หลายท่าน ตัวอย่างเช่น ตอนที่ผมวนไปเรียนที่ภาควิชากุมารฯ ช่วงที่ดูคนไข้กับอาจารย์ ต้องบอกว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเด็กนั้นยากจน เวลามาหาหมอแต่ละครั้งก็ต้องเหมารถมา ต้องมาอยู่มากินที่โรงพยาบาล พอถึงเวลาจะกลับบ้านก็ไม่มีเงิน ผมเห็นอาจารย์นอกจากจะรักษาคนไข้แล้วยังให้เงินส่วนตัวช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นค่าเดินทางกลับบ้าน ถ้าจำไม่ผิดวันนั้นอาจารย์แพทย์ท่านให้เงินส่วนตัวไป 4,000 บาท สมัยนั้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วเงินจำนวนนี้ถือว่าเยอะมาก หรือระหว่างที่ดูคนไข้ไปเรื่อย ๆ กับอาจารย์มีอยู่เตียงหนึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว จะต้องให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น ให้เกล็ดเลือด พอโทรไปขอเลือดที่คลังเลือด คลังเลือดบอกว่าขาดเลือดกรุ๊ปนี้ อาจารย์ก็ชวนนักเรียนแพทย์ไปบริจาคเลือดที่คลังเลือดเลย ตรงนี้เป็นความประทับใจที่เราได้เห็นว่า นอกจากอาจารย์จะรักษาคนไข้แล้ว ยังช่วยเหลือผู้ป่วยในเรื่องอื่น ๆ อีกด้วย

พอเรียนจบ 6 ปี สมัยนั้นโรงเรียนแพทย์ที่ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และ ม.สงขลา เป็น 3 ที่ที่รับฝึกแพทย์ประจำบ้านหลักสูตร 42 เดือนได้เลยโดยไม่ต้องออกไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลจังหวัด ทาง ม.ขอนแก่น รับแพทย์ประจำบ้านหลักสูตร 42 เดือนสาขากุมารเวชศาสตร์ 4 ตำแหน่ง ผมก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปเรียนในหลักสูตรนี้ คือ ใช้ทุนไปด้วยเรียนไปด้วยในสาขากุมารเวชศาสตร์ โดยปีแรกเป็น intern ต้องผ่านทุกแผนก ส่วนอีก 3 ปีก็เรียนเฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์

สำหรับเหตุผลที่เลือกเรียนสาขากุมารเวชศาสตร์นั้นจริง ๆ ผมเรียนได้ทุกแผนก แต่ที่ผมชอบที่สุดก็คือ อายุรศาสตร์กับกุมารเวชศาสตร์ ผมมองว่าจริง ๆ แล้ว 2 ภาคนี้คือ ภาควิชาเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันที่อายุของคนไข้ โดยแบ่งเป็นหมอผู้ใหญ่กับหมอเด็ก แต่ด้วยความที่ 1) ผมเห็น role model และก็ประทับใจอาจารย์แพทย์ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยเด็ก และ 2) ผมเห็นว่ากุมารแพทย์มีความเครียดน้อยกว่าอายุรแพทย์ สุดท้ายเลยตัดสินใจเลือกเรียนกุมารเวชศาสตร์ ซึ่งตอนเรียนผมชอบมาก โดยเฉพาะสังคมของกุมารแพทย์ที่เราอยู่กันแบบพี่น้องเป็นครอบครัว อาจารย์ก็เหมือนคุณพ่อคุณแม่คอยดูแลเรา ระหว่างเรียนมีความสนใจทางด้านทารกแรกเกิด และเวชบำบัดวิกฤติ จึงเกิดความรู้สึกอยากเป็นอาจารย์แพทย์ทางด้านนี้เลย

ตอนเรียนจบไม่มีตำแหน่งอาจารย์แพทย์ที่ ม.ขอนแก่น ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ต้องการอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ผมจึงมีโอกาสได้โอนย้ายตำแหน่งข้าราชการมาอยู่ที่ มศว  แต่สาขาที่ผมสนใจจะเรียนนั้นมีคนไปเรียนแล้ว หัวหน้าภาควิชาตอนนั้นคือท่าน รศ.พญ.เกศรา อัศดามงคล ท่านก็ชวนให้ไปเรียนสาขาโรคติดเชื้อ จึงได้ไปเรียนโรคติดเชื้อ ที่จุฬาฯ ก็เป็นโอกาสที่แทบจะเรียกว่าโชคชะตาฟ้ากำหนด เป็นจังหวะของชีวิตเลยก็ว่าได้ ที่ได้มาเรียนโรคติดเชื้อทั้ง ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน แต่การเรียนโรคติดเชื้อก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง ผมคิดว่าเป็นศาสตร์ที่น่าเรียนมาก อาจารย์ที่จุฬาฯ ก็ดูแลอย่างดี หลังจากเรียนจบที่จุฬาฯ แล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ มศว

 

“คณะแพทยศาสตร์
ม.เกษตรศาสตร์ (มก.)
เป็นโรงเรียนแพทย์ใหม่
ที่มีอัตลักษณ์คือ การนำจุดแข็ง
ของความเป็นเกษตรศาสตร์
ที่สั่งสมมากว่า 80 ปี เข้ามา
ประยุกต์ใช้กับศาสตร์
ทางการแพทย์เรียกว่า
“เวชศาสตร์การเกษตรและ
ชีวนวัตกรรม (Agro-medicine
& Bio-innovation)”


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

เป้าหมายในปัจจุบันคือ 1) การพัฒนาหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว  เพราะตอนที่คณะแพทย์ มศว ย้ายไปอยู่องครักษ์ ตอนนั้นโรงพยาบาลยังไม่มีอะไรเลย ผมเป็นผู้บุกเบิกคนแรกของหน่วยโรคติดเชื้อในเด็ก เริ่มแรกก็สร้างระบบที่มันจำเป็นต้องใช้ในการทำงานก่อน หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับระบบมาเรื่อย ๆ สร้างบุคลากรและทรัพยากรในองค์กร ตรวจรักษาคนไข้ รับปรึกษาปัญหาผู้ป่วยทั้งในและนอกแผนก ออกตรวจคลินิกพิเศษ ประสานกับห้องปฏิบัติการส่งตรวจวินิจฉัย ดูเรื่องยาและวัคซีน หลังจากนั้นผมได้มีโอกาสไปเป็นผู้ช่วยเลขาธิการของสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นท่านศาสตราจารย์ กิตติคุณ พญ.อุษา ทิสยากร เป็นนายกฯ ทำให้ได้เรียนรู้งานอื่น ๆ นอกเหนือไปจากความเป็นแพทย์ ได้พบปะผู้คนแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ หลังจากนั้นพอท่านอาจารย์หมดวาระของสมาคมฯ ผมก็ได้มีโอกาสมาช่วยงานที่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  

2) การทำงานด้านวิจัย ด้วยความที่ผมอยู่ มศว มาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน และผมมีโอกาสได้ทำงานเป็นผู้บริหารควบคู่มาตลอด ทำให้การทำวิจัยทำได้ไม่เต็มที่ แต่ก็มีท่าน ศาสตราจารย์ กิตติคุณ พญ. อุษา ทิสยากร ที่คอยกระตุ้นให้ผมทำงานวิจัย จนได้ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ หลังจากนั้นผมได้ลาออกจาก มศว ย้ายมาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ คิดว่าถ้าทุกอย่างลงตัว ผมก็จะได้มีโอกาสทำงานวิจัยเพิ่มต่อไป

3) งานด้านบริหาร ผมอยู่ที่ มศว เป็นผู้ช่วยคณบดีตั้งแต่ปี 2548 เป็นรองคณบดี ผู้ช่วยอธิการบดี และในปี 2559 ผมได้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนิสิต พอครบวาระก็เลยขอท่านอธิการบดีกลับมาอยู่สอนหนังสือที่คณะฯ และในปี 2565 ก็ได้ลาออกจาก มศว หลังจากนั้นจึงถูกทาบทามจากคณะแพทยศาสตร์ มก. ให้มาเป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต จึงได้ตอบตกลงเพราะเห็นว่าเป็นโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ เนื่องจากผมมีประสบการณ์ดูแลนิสิตมายาวนาน จึงถือเป็นโอกาสได้มาสร้างระบบให้กับที่นี่

โดยคณะแพทยศาสตร์ มก. เป็นคณะแพทย์ลำดับที่ 27 ของประเทศไทย  เป็นโรงเรียนแพทย์ใหม่ที่มีอัตลักษณ์คือ มีการนำจุดแข็งของความเป็นเกษตรศาสตร์ที่สั่งสมมากว่า 80 ปี เข้ามาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ทางการแพทย์เรียกว่า “เวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม (Agro-medicine & Bio-innovation)”  เราจะใช้สิ่งที่เกษตรมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหาร สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ พืชและสัตว์ มาปรับใช้กับงานทางด้านการแพทย์  


ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร

เป้าหมายที่จะสำเร็จได้ประกอบด้วยหลายปัจจัย แตกต่างกันไป  แต่สำหรับผมมองว่า

ปัจจัยแรกคือ การได้รับโอกาส ถ้าเราไม่มีโอกาสต่อให้ตัวเรามีความสามารถก็ไม่มีทางสำเร็จ บางคนเก่งมากแต่ไม่มีผู้ใหญ่หยิบยื่นโอกาสให้ไปทำ ความเก่งมันก็เก็บอยู่ข้างใน ศักยภาพที่มีก็ไม่ได้แสดงออกมา เหมือนนักเรียนบางคนถ้าเขาไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ก็ไม่มีใครได้เห็นความคิดดี ๆ ของนักเรียนท่านนั้น ผมจึงมองว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ โอกาสและการส่งเสริมของผู้ใหญ่

 

“การเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่มีใครรู้หมด
อย่างผมไปเป็นรองอธิการบดี

ซึ่งผมไม่เคยเป็นมาก่อน
ผมก็ทำงานไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย
โดยเรียนรู้ฝึกฝนจากการเป็น

ผู้ช่วยอธิการบดีก่อน”


ปัจจัยที่สองคือ ต้องมีความรัก ความมุ่งมั่นตั้งใจในงานที่ทำ ผมคิดว่าที่ผ่านมามีน้อยมากที่งานที่ทำจะไม่สำเร็จ แต่ทุกงานย่อมต้องมีปัญหาและอุปสรรค ซึ่งต้องการการแก้ไขและการพัฒนาต่อไป เริ่มต้นเราต้องไม่ปฏิเสธงาน หากมีโอกาสเข้ามา ต้องรีบฉวยโอกาสนั้นไว้

 ปัจจัยที่สามคือ การเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่มีใครรู้ทั้งหมด อย่างผมไปเป็นรองอธิการบดีซึ่งผมไม่เคยเป็นมาก่อน ผมก็ทำงานไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย โดยเรียนรู้ฝึกฝนจากการเป็นผู้ช่วยอธิการบดีก่อน ในขณะที่บางคนเมื่อประสบปัญหาก็จะหยุดทำสิ่งเหล่านี้ หรือลาออกไปเลย บางคนก็ไม่คิดที่อยากจะทำตั้งแต่แรก ปิดกั้นตัวเองไม่ทำงานบริหารเมื่อโอกาสมาถึง เป็นต้น

 

“อย่าไปย่อท้อ การโดน reject
เป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะ
ปฏิเสธงานวิจัยเรา

ก็ไม่เป็นไรเมื่อแก้ไข
แล้วก็หาที่ส่งใหม่
จนกว่าจะมีคนรับตีพิมพ์
งานวิจัยของเรา”


มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

งานทุกงานย่อมมีอุปสรรคอยู่แล้ว ผมคิดว่า มันมีทั้งสำเร็จแบบดีเลยกับสำเร็จแบบต้องแก้ไขหรือไม่สำเร็จเลย โดยสาเหตุจะอยู่ที่ปัจจัย  2 อย่างคือ ปัจจัยที่ควบคุมได้กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ผมคิดว่าปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ หากทำเต็มที่อย่างดีที่สุดแล้วคงต้องยอมรับ เช่น ผมดำเนินโครงการใหญ่จัดกิจกรรมแต่วันนั้นฝนตก พายุเข้า แบบนี้เราควบคุมมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าควบคุมไม่ได้ ก็ต้องทำใจยอมรับ ครั้งหน้าก็ต้องทบทวนใหม่ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมหรือไม่ เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ควบคุมได้ เราต้องเอากลับมาทบทวนแล้วก็แก้ไข หรือบางอย่างไม่รู้ก็สอบถามผู้รู้ เรียนรู้เพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น ผมต้องจัดโครงการปฐมนิเทศนิสิตชั้นปีที่ 1 ทั้งหมดที่มีผู้เข้าร่วมงานเกือบหมี่นคน หรือจัดงาน open house ที่มีคนมาร่วมงานเป็นแสน ปีแรกที่จัดงานก็ประสบความสำเร็จดี แต่สำเร็จแบบมีข้อตำหนิมากมาย พอปีถัดมาเมื่อถึงเวลาจัดโครงการนี้อีกเราก็จะประชุมทีมงานเลยว่า ปีที่แล้วที่มีอะไรผิดพลาดที่ต้องได้รับการแก้ไข หรือบางเรื่องที่มันยังไม่ดีถ้าปรับรูปแบบแล้วมันจะดีขึ้น ก็มาทบทวนแล้วก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นในทุก ๆ ปี 

สำหรับงานส่วนตัวที่ทำไม่สำเร็จก็เช่น เราทำงานวิจัยแล้วยังเขียน manuscript ได้ไม่ดี ส่งไปตีพิมพ์ก็โดนปฏิเสธ เราก็ต้องเอามาปรับปรุงตามที่ผู้เชี่ยวชาญเขาเขียน comment มา แก้ไขไป อย่าไปย่อท้อ การโดน reject เป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะปฏิเสธงานวิจัยเรา ก็ไม่เป็นไรเมื่อแก้ไขแล้วก็หาที่ส่งใหม่จนกว่าจะมีคนรับตีพิมพ์งานวิจัยของเรา เพราะฉะนั้น อย่าย่อท้อ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นแล้วผมคิดว่าทุกอย่างย่อมมีทางออก

 

“บุคคลต้นแบบ…คณาจารย์ทุกท่าน
ที่เคยสอนผมมา ตั้งแต่
ชั้นอนุบาลจนถึงเรียนจบผู้เชี่ยวชาญ
ทุกท่านล้วนเป็นต้นแบบ
ให้ผมในหลาย ๆ ด้าน
ที่แตกต่างกันไป”


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรกเลยคือ คุณพ่อคุณแม่ เป็นต้นแบบของการดำเนินชีวิต โดยท่านให้อิสระทางความคิดทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องการทำงาน จะเรียนที่ไหน จะทำงานอะไร อยากจะเป็นอะไร เพียงแต่ขอให้บอกเท่านั้นเอง ท่านจะคอยส่งเสริมสนับสนุน ไม่เคยบังคับเลยว่าลูกต้องทำแบบนี้เรียนจบแล้วต้องไปทำงานเอกชนหาเงินให้ได้เยอะ ๆ คุณพ่อคุณแม่จะคอยรับฟังและคอยส่งเสริม ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ของนิสิตทุก ๆ คน ถามลูกว่าอยากจะเป็นอะไร อยากจะเป็นหมอหรือเปล่า ผมเสียดายนิสิตบางคนที่มีศักยภาพด้านอื่น แต่พอมาเรียนแพทย์ที่เขาไม่ชอบ กลายเป็นคนซึมเศร้าไปเลย ตอนที่ผมเป็นรองคณบดีและรองอธิการบดี จากการสังเกตพบว่ามีโรคซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษามากขึ้นทุกคณะ สาเหตุขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สังคมมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว มีการแข่งขันสูง มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ มีภาวะเครียด และปัญหาครอบครัว ทุกวิชาชีพถ้าเราตั้งใจเรียน ตั้งใจทำให้ดี ทุกอาชีพดีหมด เพราะอาชีพที่เขาเลือกทำมันจะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต คุณพ่อคุณแม่ของผมไม่เคยกดดันผมเลยในทุกเรื่องที่กล่าวมา

คนที่สองคือ คุณป้า ซึ่งเป็นพี่สาวของคุณพ่อ ตอนนี้ท่านอายุ 86 ปีแล้ว เรียนจบชั้นประถม 4 แต่มีวิสัยทัศน์ในด้านการศึกษาไกลมาก ครอบครัวผมอยู่ จ.สุพรรณบุรี โรงเรียนในต่างจังหวัดก็คงจะสู้ในกรุงเทพฯไม่ได้ ท่านก็จะหาครูมาช่วยสอนพิเศษที่บ้าน พอจบชั้นประถม 6 ก็ให้มาเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะได้ทัดเทียมกับคนอื่น ต้องยอมรับว่าท่านเห็นความสำคัญของการศึกษา ท่านส่งเสริมลูกหลานทุกคนให้ได้เรียนสูง ๆ

คนที่สามคือ คณาจารย์ทุกท่านที่เคยสอนผมมา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงเรียนจบผู้เชี่ยวชาญ ทุกท่านล้วนเป็นต้นแบบให้ผมในหลาย ๆ ด้านที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นครูท่านนี้เป็นต้นแบบในเรื่องความเมตตา ครูท่านนี้เป็นต้นแบบในด้านวิชาการ ครูท่านนี้เป็นต้นแบบในด้านการให้โอกาสเด็ก อาจารย์ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มข. ท่านก็เป็นแบบอย่างให้กับผมได้ทุกท่านเลย อาจารย์สาขาโรคติดเชื้อไม่ว่าจะเป็น ศ.พญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ ศ.นพ.ภพ โกศลารักษ์ ศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ศ.พญ. ศศิธร ลิขิตนุกูล ล้วนเป็นต้นแบบที่ดีให้กับผม พอได้มาทำงานในสมาคมวิชาชีพฯ ท่านนายกสมาคมฯ และอดีตนายกสมาคมฯ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ทุกท่านเหล่านี้ล้วนเป็นต้นแบบให้กับผมในการทำงานเช่นกัน ยังมีอาจารย์อีก 2 ท่านที่เป็นต้นแบบของความเป็นครูและเปรียบเสมือนคุณพ่อคุณแม่ของผมเลยท่านแรกคือ ศ.กิตติคุณ นพ.จุล และ ศ.กิตติคุณ พญ.อุษา ทิสยากร ท่านทั้ง 2 ให้ความเมตตาลูกศิษย์ทุกคน ที่สำคัญที่เป็นต้นแบบ และอยากให้อาจารย์ทุกท่านให้สิ่งนี้กับลูกศิษย์ก็คือ การหยิบยื่นโอกาส ท่านทั้ง 2 ได้ให้โอกาสในหลาย ๆ ครั้งกับลูกศิษย์ทุกคนและส่งเสริมลูกศิษย์อย่างเต็มที่


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร

โดยรวม ๆ การแพทย์ไทยพัฒนาดีขึ้นกว่าในอดีต แต่มีเรื่องที่ต้องแก้ไขและแพทย์รุ่นใหม่ต้องเผชิญ เริ่มจาก

เรื่องแรกคือ การผลิตแพทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งมีทั้งเรื่องของจำนวนและความสมดุลระหว่างแพทย์ทั่วไปและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะหลาย ๆ เรื่องที่ต้องทำงานร่วมกัน กับเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ที่ผลิตออกไป โดยแพทย์ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งการกระจายตัวยังไม่สอดคล้องกับความต้องการ และอีกเรื่องคือการที่แพทย์ลาออกจากระบบ ทั้งในระหว่างใช้ทุน ปีที่ 1 – 3 จำนวนแพทย์ลาออกระหว่างใช้ทุนปัจจุบันยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่สองที่สำคัญมากคือ เรื่องการฟ้องร้องแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องหาสาเหตุและวิธีแก้ให้ดีขึ้น

เรื่องที่สาม ความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงวัย ต้องมีการแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระ ให้เขาสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ ถึงเกษียณไปแล้วก็ต้องมีรายได้เลี้ยงดูตนเอง รวมถึงปัญหาเรื่องสุขภาพ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแพทย์รุ่นใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ คลิกอ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่สี่ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม สังคม เทคโนโลยี เช่น ภาวะโลกร้อน เรื่องของ PM 2.5 โรคอุบัติใหม่ การก้าวกระโดดของการใช้เทคโนโลยี ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อ การเรียนการสอนของแพทย์ โรคภัยไข้เจ็บ การรักษา รวมถึงการดูแลผู้ป่วยภายหลังการรักษา คลิกอ่านเพิ่มเติม


ถ้าให้เลือกปรับปรุงเพื่อให้การแพทย์ไทยในอนาคตดีขึ้น อยากปรับปรุงเรื่องอะไร

อยากฝากเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ เนื่องจากปัญหานี้เกิดจากพหุปัจจัย แก้ที่จุดเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องแก้ที่โครงสร้างเชิงระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ สวัสดิการค่าตอบแทน ภาระหน้าที่ของแพทย์ ถ้าสามารถแก้ไขได้ก็จะทำได้ให้การทำงานและการใช้ชีวิตของแพทย์ดีขึ้น จึงอยากให้ทำเรื่องนี้เป็นหลัก


ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร

สิ่งที่อยากจะฝากแพทย์รุ่นใหม่ก็คือ แพทย์รุ่นใหม่ต้องรู้จักตัวเองก่อน ว่ารักในงานด้านไหนและก็ตั้งใจมุ่งมั่นทำให้เต็มที่ ทุกสาขามันดีหมด ถ้าเราทำมันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์สาขาไหนก็ไม่ยากจน และสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

ส่วนตัวผมมองว่าแพทย์รุ่นใหม่ ๆ มีแนวโน้มเก่งกว่าแพทย์รุ่นก่อน เพราะว่าแพทย์รุ่นใหม่มีโอกาสใช้เทคโนโลยี เข้าถึงข้อมูลหรือแม้กระทั่งทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการทำงานและการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตามขอฝากให้แพทย์รุ่นใหม่ 1) หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง คลิกอ่านเพิ่มเติม  2) มีการสื่อสารที่ดี ต้องสื่อสารให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเข้าใจ 3) พัฒนาตัวเองให้สามารถทำงานข้ามศาสตร์ ทำงานเป็นทีมได้ดี สุดท้ายไม่ว่าแพทย์จะไปอยู่ตรงไหน การมีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่จำเป็น เมื่อมีทุกข้อรวมกันจะทำให้คุณภาพของแพทย์และความเป็นอยู่ในอนาคตดีขึ้น

สำหรับกุมารแพทย์ ปัญหาเรื่องเด็กเกิดน้อยลง ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของกุมารแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาระดับประเทศที่รัฐบาลต้องแก้ไข ทำอย่างไรให้โครงสร้างประชากรมีความสมดุลกัน ส่วนที่เกี่ยวกับกุมารแพทย์คงต้องมีการปรับเช่นกัน ส่วนตัวมองว่า ในอนาคตกุมารแพทย์กับสูติแพทย์อาจจะต้องทำงานไปด้วยกัน ต้องให้การดูแลมารดาและทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนโตถึงวัยผู้ใหญ่ อาจมีการขยายอายุของผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นในความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ซึ่งทิศทางตรงนี้เป็นเรื่องของอนาคตยังไม่มีความชัดเจน แต่ควรทำให้เป็นรูปธรรม

 

แนะนำอ่านเพิ่มเติม
  1. Let’s get updated อาจารย์ นพ. รุจิภาส สิริจตุภัทร
  2. อาจารย์ นพ. ภิรุญ มุตสิกพันธุ์
  3. อาจารย์ นพ. อมร ลีลารัศมี
  4. อาจารย์ นพ. นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล

 

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก