“เรามีเป้าหมายอยากทำอะไร รู้ให้จริง รู้ให้ลึก รู้อย่างละเอียด”
รศ. นพ. วรพจน์ ตันติศิริวัฒน์
รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อุปนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 75 ปี 2561
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคติดเชื้อ
จบมัธยมจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล แล้วเอนทรานซ์ติดที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเหตุที่เรียนแพทย์ เพราะในครอบครัวผมไม่มีใครเป็นแพทย์เลย ผมเป็นแพทย์คนแรกในตระกูล ซึ่งทางครอบครัวก็สนับสนุน ประกอบกับในขณะนั้นมีปัญหาทางเศรษฐกิจและที่บ้านผมทำธุรกิจ ซึ่งคุณพ่อคงเล็งเห็นถึงปัญหาตรงนั้นคือการทำธุรกิจอาจจะไม่แน่นอน มีสภาวะตลาดมาเกี่ยวข้อง เลยอยากให้ลูกเรียนสาขาวิชาชีพที่เป็นวิชาชีพอิสระ และในส่วนตัวผมก็ชอบทางด้านชีววิทยาและอะไรหลาย ๆ อย่างทางการแพทย์อยู่แล้ว
ตอนเรียนแพทย์ใหม่ ๆ คิดว่าจะเป็นหมอศัลยกรรม แต่ต่อมาความคิดเปลี่ยน ตอนที่เรียนอยู่ทางพรีคลินิก ผมชอบเรียนจุลชีววิทยา โดยเฉพาะ Immunology และเชื้อโรคต่าง ๆ รู้สึกว่าชอบ โชคดีที่ผมรู้ว่าจะเรียนต่อด้านอะไรตั้งแต่ตอนที่เป็นนักเรียนแพทย์ปีที่ 4 แล้ว คือ อายุรศาสตร์ และอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ สาเหตุที่ชอบโรคติดเชื้อ เพราะว่ามันเป็นโรคที่วิกฤตมีผลถึงเสียชีวิตได้ แต่ถ้าเราให้การรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ก็สามารถช่วยเหลือแก้ไขให้เขารอดตายได้เลย นอกจากนั้นผมยังมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นอาจารย์แพทย์ที่มีความสามารถทั้งในด้านการรักษาและในด้านการสอน สำหรับโรคติดเชื้อในยุคนั้นมีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะโรคเอดส์ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา ผมจำได้ว่าได้เรียนเกี่ยวกับโรคนี้ ครั้งแรกกับ ศ. นพ. สุรพล สุวรรณกูล อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ซึ่งท่านเพิ่งกลับมาจากอเมริกามาใหม่ ๆ ท่านสอนพวกเราอย่างน่าสนใจและมีความหวังในทางการรักษาได้ โดยที่ตัวผมเองก็มีความเชื่อเช่นนั้น
พอจบมาผมได้มาใช้ทุนที่วชิรพยาบาลซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ในสาขาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม โดยได้ตกลงกันว่าจะมาใช้ทุนในปีแรกที่วชิรพยาบาลแล้ว ปีที่สองไปเรียนสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิตที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล แล้วกลับมาทำงานต่ออีกหนึ่งปี ก่อนที่วชิรพยาบาลจะส่งไปเทรนทางอายุรศาสตร์และอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อต่อไป แต่พอมาใช้ทุนได้ประมาณ 6 เดือนก็เจอปัญหา เนื่องจากข้อตกลงที่ทำกับวชิรพยาบาลข้างต้นนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนของแพทยสภาโดยตำแหน่งที่ผมได้มาใช้ทุนนี้จะต้องไปเรียนต่อทางเวชศาสตร์ป้องกันคลินิกแขนงระบาดวิทยาที่กระทรวงสาธารณสุข ผมจึงต้องแก้ปัญหาโดยการชดใช้ทุนให้กับรัฐบาล หลังจากนั้นผมได้ย้ายสังกัดมาเป็นอาจารย์ในภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) (ในขณะนั้น ในวชิรพยาบาลมี 2 สังกัด คือ วชิรพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ มศว) ชีวิตก็เริ่มกลับมาเข้าตามแผนเดิม ปีถัดไปผมก็ได้ไปเรียนสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิตตามข้อตกลง หลังจากกลับมาจากเรียนสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ผมก็ได้ทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ. สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มศว) ให้ไปเทรนต่อทางอายุรศาสตร์และอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผมโชคดีที่ได้รับการตอบรับให้เทรนทางอายุรศาสตร์ที่ University of Hawaii โดยความช่วยเหลือของ Dr. SY Tan และ Dr. Edward J Morgan ซึ่งทั้ง 2 ท่านนี้ ก็เป็นอาจารย์ที่ผมเคารพรักอย่างยิ่งที่ University of Hawaii หลังจากนั้น ผมก็ได้รับโอกาสในการเทรนต่อทางอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อที่ Washington University ซึ่งได้มีโอกาสเรียนกับ Dr. William G Powderly, Dr. Carl J Fichtenbaum และ Dr. Pablo Tebas ซึ่งอาจารย์ทั้ง 3 ท่านนี้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาท ความรู้ทางการรักษา การวิจัย ทางด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านโรคเอดส์ให้กับผม หลังจากเทรนจบทั้ง 2 Boards ผมก็กลับมาทำงานที่ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มศว จนถึงปัจจุบัน
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิตในมิติอื่น ๆ
เป้าหมายการรักษา ความตั้งใจของเราคือ รักษาคนไข้ให้ดีที่สุด เมื่อเขาป่วยมา เขามีความทุกข์ เราต้องการให้เขาพ้นทุกข์นี้ ทำให้เขาดีขึ้น โดยหลักการทางวิชาชีพที่เรามีอย่างตรงไปตรงมาอย่างสมเหตุผล สำหรับโรคเอดส์แล้ว ในสมัยที่ผมกลับมาทำงานใหม่ ๆ มีอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้เหมือนอย่างปัจจุบัน มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่เราสามารถประคองผ่านไปได้เนื่องจากเข้าถึงยารักษาได้จากปัจจัยต่าง ๆ กลุ่มนี้ก็ได้รับการดูแลมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทุกวันนี้โรคเอดส์สามารถรักษาได้แม้จะไม่หายขาด แต่ถ้าได้รับยารักษาอย่างต่อเนื่องก็จะมีชีวิตอยู่ในสังคมและทำงานได้อย่างคนปกติ เป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไปได
ขอยกตัวอย่างการรักษาคนไข้ให้ดีที่สุดนะครับ ผมมีคนไข้เอดส์รายหนึ่งที่พบกันตั้งแต่ปี 2000 เขาติดเชื้อ parvovirus B19 ร่วมด้วย จึงมีภาวะโลหิตจางชนิด Pure red cell aplasia (PRCA) ต้องมาให้เลือดที่โรงพยาบาล ทุก 2 สัปดาห์ ผมให้การรักษาโรคเอดส์จนทำให้ไวรัส HIV ตรวจไม่พบในเลือด และภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยยังคงต้องมารับเลือดที่โรงพยาบาล ทุก 2 สัปดาห์อยู่ดี สำหรับการรักษาภาวะ PRCA นั้นจะต้องได้รับ immunoglobulin ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในหลักแสน ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงได้ ผมก็มีแนวคิดนอกกรอบ ซึ่งได้รับคำแนะนำจาก Dr. Pablo Tebas ขณะที่ไปประชุมร่วมกันที่อเมริกา โดยเปลี่ยนการให้เลือดจากการให้ packed red cell เป็นการให้ whole blood แทน โดยหวังว่าการได้รับ whole blood จะได้รับภูมิคุ้มกันของเจ้าของเลือดมาร่วมด้วย แล้วถ้าเจ้าของเลือดมีภูมิคุ้มกันต่อ Parvovirus B19 ภูมิคุ้มกันนี้ก็จะถูกส่งต่อให้ผู้ป่วย ตามหลักการการรักษาด้วย immunoglobulin หลังจากได้รับ whole blood ไปทั้งหมด 6 units สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ผู้ป่วยมีระดับเม็ดเลือดแดงคงที่ไม่ตกลงมาเหมือนอย่างแต่ก่อน มีพารามิเตอร์ของการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ป่วยรายนี้ไม่ต้องมารับเลือดที่โรงพยาบาลทุก 2 สัปดาห์อีกต่อไปและมีชีวิตอยู่อย่างปกติหลังจากนั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันนี้เขาทำงานเป็นกำลังสำคัญของสถาบันที่เขาอยู่
รายที่สอง เป็นหญิงชาวต่างชาติ มีโรคไตเป็นโรคประจำตัว ต้องกิน steroid อยู่ประจำ ทำให้มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ป่วยชอบทำสวนและต้องสัมผัสกับดินอยู่บ่อย ๆ ผู้ป่วยเกิดมีไข้ ปวดหัว และไม่รู้สึกตัว ตรวจพบว่า เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบและมีการติดเชื้ออย่างแพร่กระจายของพยาธิสตรองจิลอยด์ สำหรับการรักษาการติดเชื้ออย่างแพร่กระจายของเชื้อพยาธิสตรองจิลอยด์ในสมัยนั้นมีแต่ยารับประทาน ซึ่งผู้ป่วยก็ได้รับยานั้นไปแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น มียาสำคัญอยู่ตัวหนึ่งคือ Ivermectin ซึ่งเป็นยาฉีดและยังไม่มียาในการรักษาคน เรามียานี้ในทางปศุสัตว์ มีข้อมูลในอเมริกาที่เขานำยานี้ที่ใช้ในทางปศุสัตว์มาให้ในผู้ป่วยหนักแล้วได้ผล ผมจึงได้ขออนุญาตสามีผู้ป่วยเพื่อนำยานี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย สามีผู้ป่วยเขาอนุญาตให้ใช้ยาดังกล่าว หลังจากนำยาดังกล่าวมารักษาผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นโดยลำดับ และสุดท้ายก็กลับมาเป็นปกติ ทุกวันนี้ผู้ป่วยย้ายตามสามีไปอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ 5 ปีก่อนได้กลับมาเที่ยวประเทศไทยและแวะมาเยี่ยมผมด้วย เวลาเราได้พบกับสิ่งแบบนี้ก็จะนำพาแต่ความสุขใจมาสู่เสมอ
ฝากกับแพทย์รุ่นใหม่ว่า การรักษาคนไข้ให้ดีที่สุดตามความสามารถอย่างเต็มที่ด้วยความตั้งใจและเอาใจใส่ คนไข้ของเราเขารับมันได้และสิ่งที่เขาตอบกลับมาก็จะเป็นความเคารพ รัก และความศรัทธาที่เขามีต่อเรา การรักษาอย่างเต็มที่และดีที่สุดจะไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบใด ๆ แต่เป็นสิ่งที่เราและคนไข้ต้องพยายามร่วมกันในสถานการณ์นั้น ๆ
เป้าหมายสำคัญทางด้านการเรียนการสอนก็คือ นักเรียนของเรา เราต้องการให้ความรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ที่ครบถ้วนและทันสมัยให้กับพวกเขา ซึ่งรวมถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ในอดีต โดยอยากกระตุ้นให้พวกเขาหาฝันของพวกเขาให้พบ สำหรับเป้าหมายทางด้านวิจัย เนื่องจากผมชอบการวิจัยทางคลินิก ผมจึงทำวิจัยเรื่องที่เกี่ยวกับคนไข้ของผมเป็นหลัก
ปัจจุบันนี้ผมได้รับตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัย ผมก็วางแผนที่จะผลักดันให้เกิดการวิจัยที่เพิ่มขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ถึงหลักการทำวิจัยอย่างถูกต้องและเหมาะสม พัฒนาเครือข่ายและสร้างรากฐานของการทำวิจัยในคณะแพทยศาสตร์ มศว ให้ดียิ่งขึ้น เชื่อมโยงทั้งคลินิกและพรีคลินิกโดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เสริมซึ่งกันและกัน สร้างแรงบันดาลใจในการทำวิจัยให้กับอาจารย์รุ่นใหม่ สร้างโอกาสทำวิจัยระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มศว และเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ สำหรับผมแล้วก็อยากผลักดันให้เกิดโอกาสเช่นนี้ให้กับรุ่นถัดไปในวันที่เราได้เกษียณอายุงานไปแล้ว
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จเกิดจากอะไร
เป้าหมายที่สำเร็จอย่างแรกเกิดมาจาก ความตั้งใจ คือ ผมพิจารณาตัวเองว่า ผมไม่ใช่คนฉลาดหรือเก่งมาก ผมถือว่าผมเป็นคนมีความขยัน และมีความหมั่นเพียรในการที่จะไปสู่เป้าหมายของผม อย่างที่ผ่านมา การเทรนทั้งด้านอายุรศาสตร์และอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ ผมก็ใช้ความขยันหมั่นเพียรเป็นหลัก ก็ทำให้ประสบผลสำเร็จในการฝึกอบรมในที่สุด
อย่างที่สอง เราต้องรักมันด้วย เรารักอะไรเราจะทำได้ตลอด ผมว่าความรักในสิ่งที่ทำนั้นสำคัญมาก ถ้าความขยันหมั่นเพียรเราเป็นอาหาร ความรักในสิ่งที่ทก็เป็นน้ำจิ้มที่สำคัญที่ต้องคู่กันไป ถึงจะกินอาหารได้อย่างอร่อย
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดขึ้นอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ส่ง manuscript เพื่อการตีพิมพ์แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ในครั้งแรก ผมก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจว่าทำไมถึงไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่อย่าไปเสียกำลังใจแล้วพาลจะเลิกทำ อย่าคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ซึ่งมันไม่ใช่ เพียงแต่มุมมองเราอาจจะไม่ตรงกับมุมมองของเขาเท่านั้นเอง ต้องปรับต่อ ถ้าเข้าใจเหตุผลก็ปรับแก้ไข ก็จะทำให้ได้รับการตีพิมพ์ในที่สุด เป็นต้น
ในอดีตที่ผ่านมา เวลาประสบปัญหา เหนื่อยหรือท้อปรึกษากับใคร
ผมมีหลายคนที่ปรึกษาได้ มีเพื่อนที่ดีหลายคน มีคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นกำลังใจให้ผม มีเจ้านายที่รักผมมากเหมือนน้องชายคนหนึ่ง ทั้ง 3 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ผลักดันและให้กำลังใจผม ข้อดีของการปรึกษาจะทำให้เราเห็นมุมมองที่เราคิดไม่ออก บางทีเป็นเส้นผมบังภูเขา หรือเป็นผงที่เข้าตาเรา เราเขี่ยเองไม่ได้
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรกคือ คุณพ่อและคุณแม่ของผม ท่านเป็นแบบอย่างในความกตัญญู ท่านมีความกตัญญูต่อบุพการีของท่านอย่างมหาศาล ซึ่งผมก็เห็นในชีวิตของผม ผมเชื่อว่าสิ่งนี้น่าจะสำคัญที่สุดในเบื้องต้นที่จะนำมาสู่ความเจริญทั้งหมด
ท่านที่สองคือ รศ. นพ. วันชัย บุพพันเหรัญ อดีตหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อดีตรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มศว ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องของงานหลาย ๆ ด้าน ท่านเป็นคนที่ใจดี ใจเย็น มองทุกอย่างในแง่บวกและพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างอย่างละมุนละม่อม
ท่านที่สามคือ Dr. Edward J Morgan ท่านเป็นอาจารย์ของผมที่ University of Hawaii ท่านเป็นต้นแบบทางด้านความขยัน หมั่นเพียร ในแง่ของการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ และมุมมองในการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ควรทำสิ่งดีที่สุดและถูกต้องเสมอ เพื่อจะนำไปสู่สิ่งที่ดี ๆ ในอนาคตไม่ว่าจะเจอวิกฤตการณ์ไหน เพราะเราจะมีชีวิตอยู่กับสิ่งนั้นไปตลอดชีวิต ถ้าเราทำอะไรผิดก็กลับมาแก้ใหม่ให้มันถูกต้อง หรือถ้าเผื่อมันผิดอยู่ก็เลิกทำมันไป แล้วมันจะได้ไม่ผิดต่อไป แล้วเราจะได้ไม่ต้องอยู่กับสิ่งที่ผิดไปตลอด
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
ผมว่าประเทศไทยเราโชคดี แพทย์เราได้รับความเคารพจากผู้ป่วยทั่วไปในระดับที่เรียกว่า ดีกว่าในอเมริกาเยอะ ผมว่าการเป็นหมอในเมืองไทย ผมมีความสุขกว่าในอเมริกาอีก ตอนที่ผมจบจากทั้ง Washington University และ University of Hawaii มา เขาให้ตำแหน่งผมที่จะเป็นอาจารย์ทั้ง 2 ที่เลย แต่ผมไม่รับ และผมคิดว่าผมอยู่เมืองไทยจะมีความสุขกว่า เท่าที่ผ่านมาก็ได้เห็นว่าการแพทย์ในประเทศไทยเริ่มจะไปตามแนวที่เป็นในอเมริกาในหลาย ๆ ด้าน แต่เราก็มีลักษณะแบบไทย ๆ ของเราอยู่ ซึ่งผมถือว่าเป็นเสน่ห์ของประเทศไทยเราจริง ๆ ผมเชื่อว่าถ้าแพทย์ปฏิบัติตามแนวคำสอนของสมเด็จพระราชบิดาอย่างจริงจัง เราก็จะประสบแต่สิ่งดี ๆ ตามดำรัสของพระองค์ท่านอย่างแท้จริง
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ ข้อแรกคือปฏิบัติตามที่สมเด็จพระราชบิดาท่านสอนไว้ ให้เราทำวิชาชีพของเราให้บริสุทธิ์ไว้ แล้วสิ่งต่าง ๆ ก็จะตามมาเอง ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ นี้เป็นจริงโดยแท้จริง
สอง เรามีเป้าหมายอยากทำอะไร รู้ให้จริง รู้ให้ลึก รู้อย่างละเอียด และทำให้ด้วยบริสุทธิ์ใจให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้ อย่านำประโยชน์ของเรามาเป็นที่ตั้ง และควรจะรักในสิ่งที่ทำ