รศ. พญ. นันตรา สุวันทารัตน์
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
เนื่องจากข่าวการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A virus) ในประเทศญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญ ซึ่งเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดในรอบ 26 ปี โดยมีรายงานผู้ป่วยสะสมมากกว่า 9.5 ล้านคน ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2024 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2025 ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ อีกทั้งการระบาดครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย รวมถึงนักแสดงชื่อดังชาวไต้หวัน “ต้าเอส” หรือ สวีซีหยวน ที่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ขณะเดินทางมาท่องเที่ยวในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025 นอกจากนี้การระบาดยังส่งผลให้ยารักษาไข้หวัดใหญ่ขาดแคลนในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตยาบางแห่งต้องระงับการจำหน่ายยาชั่วคราวเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก การป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อจนถึง 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 พบว่ามีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2568 รวมทั้งสิ้น 99,057 ราย และเสียชีวิต 9 ราย โดยช่วง 15 วันที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 91,238 ราย
ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับ Influenza A virus แนวทางการวินิจฉัยโรค การรักษาและการป้องกันที่สำคัญ และสรุปสถานการณ์การระบาดของโรคจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO)
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Influenza virus
Influenza virus เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สำคัญ โดยจัดอยู่ในกลุ่ม Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA virus ที่มีโปรตีนหุ้ม โดยชนิดที่ก่อโรคในคนที่สำคัญคือ Influenza A และ B โดย Influenza A เป็นชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ได้มากที่สุด เช่น influenza A (H1N1) Spanish flu ในปี ค.ศ. 1918 และ influenza A (H1N1, pmd09) Swine flu ในปี ค.ศ. 2009 เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้มาก โดยมีกลไกทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมอย่างรวดเร็ว (antigenic shift) ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) และการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป (antigenic drift, point mutation) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดรุนแรงได้ โดยไวรัสนี้มี antigens ที่ผิวโปรตีนหุ้มที่สำคัญที่ทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ระบบทางเดินหายใจและแพร่กระจายคือ Hemagglutinin (HA) และ Neuraminidase (NA) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการแพร่กระจายและใช้ในการจำแนกชนิดย่อย subtype ของไวรัสนี้ด้วย เช่น H1N1 (pandemic 09, swine flu), H3N2 (seasonal flu) เป็นต้น (รูปที่ 1) เชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายได้ทั้งรูปแบบละอองฝอย (droplets) และละอองขนาดเล็ก (aerosol) โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีการพ่นยาขยายหลอดลม หรือใส่เครื่องช่วยหายใจ และสามารถแพร่กระจายได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง เช่น การไอ จาม การใกล้ชิดผู้ป่วยในระยะ 1 – 2 เมตร และการสัมผัสโดยอ้อม เช่น การสัมผัสพื้นผิวสิ่งของต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้การติดเชื้อและความรุนแรงของโรคนั้นเกี่ยวข้องกับ ปัจจัยทางภูมิคุ้มกันและการได้รับวัคซีนหรือการมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อก่อนหน้า อายุของผู้ป่วย และโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยพบว่า เด็กเล็ก (<5 ปี) และผู้สูงอายุ (>65 ปี) มีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อมากกว่ากลุ่มอื่นและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยพบการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่พบมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ทำให้ไวรัสคงอยู่ได้นานขึ้น รวมถึงการระบายอากาศ เช่น พื้นที่ปิดที่มีการระบายอากาศไม่ดีเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่กระจายของเชื้อผ่านละอองลอย
รูปที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานของ Influenza A virus และการจำแนกกลุ่มย่อย
ที่มา https://www.cdc.gov/flu/about/viruses-types.html
อาการทางคลินิก การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีอาการทางคลินิกที่หลากหลาย มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 1 – 4 วัน โดยทั่วไปคนไข้จะมีอาการไข้สูง ไอแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง อาจมีอาการที่รุนแรงหรือผิดปกติไปจากผู้ป่วยทั่วไป นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบจากไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (โดยมักพบหลังจากการติดเชื้อมาระยะหนึ่งแล้ว) และภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ทั้งในระบบทางเดินหายใจและระบบอื่น ๆ
การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาศัยการประเมินอาการทางคลินิกร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ได้แก่
- Rapid Influenza Diagnostic Test (RIDT) เป็นเทคนิค immunoassay (lateral flow assay) หรือที่คุ้นเคยในชื่อของ antigen test kit (ATK) เป็นการตรวจหาโปรตีนของไวรัสจากตัวอย่างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ เช่น nasopharyngeal swab หรือ throat swab ข้อดีของ RIDT คือสามารถให้ผลภายใน 10-15 นาที อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของวิธีนี้คือ ความไวต่ำวิธี PCR ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลบลวง (false negative) โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีปริมาณไวรัสต่ำ แต่วิธีนี้มีประโยชน์ในการตรวจด้วยตนเอง หรือเพื่อคัดกรองผู้ป่วยในการที่จะสามารถคัดแยกผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น และเหมาะสมในการตรวจในกรณีเกิดการระบาดใหญ่ ทั้งนี้ในการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ควรดำเนินการภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังเริ่มมีอาการ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีปริมาณไวรัสสูงสุด อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยมีปริมาณเชื้อไวรัสน้อย อาจทำให้เกิดผลลบลวงได้ โดยอาจทำการตรวจซ้ำหรือตรวจด้วยวิธี RT-PCR ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองทั้ง influenza virus และ SARS-CoV2 ซึ่งก่อโรค COVID-19 เนื่องจากอาการทางคลินิกอาจใกล้เคียงกัน (WHO Guideline November 2020)
- Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) เป็นวิธีมาตรฐานสำหรับการวินิจฉัยโรคโดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสนี้ เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะที่สูง ทำให้สามารถยืนยันการติดเชื้อได้แม้ในกรณีที่มีปริมาณไวรัสต่ำ ข้อเสียของการตรวจด้วยวิธีนี้คือ ค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการวิเคราะห์
นอกจากนี้มีการตรวจโดยการเพาะเลี้ยงไวรัสและการถอดรหัสพันธุกรรม รวมถึงการตรวจระดับภูมิคุ้มกัน โดยเป็นวิธีที่ใช้ในการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาและการศึกษาสายพันธุ์ของไวรัส แต่ไม่ใช้ในเวชปฏิบัติทั่วไป
แนวทางการรักษาและการป้องกันโรค
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มุ่งเน้นทั้งการรักษาประคับประคองและการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยแนวทางการรักษาที่สำคัญคือ 1) การรักษาประคับประคอง เช่น การให้สารน้ำ การลดไข้ การติดตามและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ 2) การรักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วภายใน 48 – 72 ชั่วโมงนั้น มีผลต่อประสิทธิภาพในการให้ยาต้านไวรัส และในการจำแนกโรคได้นั้นมีผลต่อการให้ยาต้านไวรัสที่แตกต่างกัน (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ยาต้านไวรัสในโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อโควิด 19
การป้องกันโรคที่สำคัญนั้นควรต้องทำควบคู่กันทั้งในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน คือการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ซี่งควรฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ และในปัจจุบันในผู้ป่วยบางกลุ่มอาจแนะนำให้ฉีดกระตุ้นปีละสองครั้งเนื่องจากอาจมีระดับภูมิคุ้มกันที่ลดต่ำลงไว หรือควรได้รับวัคซีนชนิดใหม่ที่มีปริมาณมากขึ้น (high dose influenza vaccine) นอกจากนี้การใส่หน้ากากอนามัย การหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่เหมาะสม การทำความสะอาดพื้นผิว และการล้างมืออย่างถูกต้องด้วยสบู่และน้ำ หรือการใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีความเข้มข้น ≥60% เป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ (อ่านบทความเรื่อง Update vaccination 2024 โดย รศ. พญ. นันตรา สุวันทารัตน์ https://cimjournal.com/interest-article/update-adult-vaccination-2024-v1/)
สถานการณ์การระบาดของไวรัสจากองค์การอนามัยโลก
องค์การอนามัยโลก มีการเฝ้าระวังเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสต่าง ๆ โดยเฉพาะ Influneza virus เพื่อเฝ้าระวังการระบาดใหญ่ โดยข้อมูลล่าสุด (26 มกราคม พ.ศ. 2568) (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 WHO, Global viral activities (until 26 January 2025)
ที่มา Global Respiratory Virus Activity Weekly Update N° 512
พบว่าในซีกโลกเหนือ (the Northern hemisphere) ยังคงตรวจพบเชื้อ influenza virus เพิ่มขึ้นในทุกบริเวณ ทั้งสายพันธุ์ A และ B โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ (North America) นั้นพบ influenza A เป็นหลัก และในอเมริกากลาง (Central America and the Caribbean) พบ influenza A(H3N2) เป็นส่วนมาก และในส่วนทวีปเอเชียพบ influenza A(H1N1)pdm09 เป็นส่วนมาก ในส่วนของซีกโลกใต้ (the Southern hemisphere) การตรวจพบเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยบริเวณเอเชียตะวันออกฉียงใต้ (South-East Asia) นั้นพบ influenza A(H1N1)pdm09 เป็นส่วนมาก และมีการตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ทั่วโลกโดยแนวโน้มการตรวจพบค่อนข้างคงที่
- https://www.who.int/teams/global-influenza-programme/surveillance-and-monitoring/influenza-updates/current-influenza-update access 10 February 2025
- https://www.who.int/publications/m/item/influenza-update-n–512 access 10 February 2025
- Update vaccination 2024 โดย รศ. พญ. นันตรา สุวันทารัตน์ https://cimjournal.com/interest-article/update-adult-vaccination-2024-v1/