พ.อ.หญิง พญ. สิรกานต์ เตชะวณิช
หน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
บทนำ
ผู้เป็นเบาหวานจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตเพื่อควบคุมโรคเบาหวาน และเพื่อสุขภาพโดยรวมที่ดี นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตในคนสุขภาพดีทั่วไปยังสามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้อีกด้วย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต หมายถึง การปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการปรับพฤติกรรมการกินอาหารไปให้เป็นตามหลักโภชนาการ การเพิ่มกิจกรรมทางกาย ร่วมกับการส่งเสริมพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นต้น แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความรู้และคำแนะนำเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตแก่ผู้เป็นเบาหวานทุกคนทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย และควรทบทวนเป็นระยะเมื่อการควบคุมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นด้านโภชนาการ
เป้าหมายของการให้โภชนบำบัด (Medical Nutrition Therapy) สำหรับผู้เป็นเบาหวาน
การให้โภชนบำบัด (Medical Nutrition Therapy: MNT) แก่ผู้เป็นเบาหวานนั้นถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะเมื่อได้รับการดูแลจากนักกำหนดอาหารวิชาชีพที่มีประสบการณ์จะสามารถลดระดับ HbA1c ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงได้ประมาณ 1.0 – 1.9% ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และ 0.3 – 2.0% ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 การให้โภชนบำบัดแก่ผู้เป็นเบาหวานมีเป้าหมาย ดังนี้
- ส่งเสริมและสนับสนุนรูปแบบการบริโภคโดยรวม (dietary pattern) ที่ดีต่อสุขภาพ
โดยเน้นการบริโภคอาหารที่หลากหลาย มีคุณค่าทางโภชนาการ ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม ร่วมกับ- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- บรรลุเป้าหมายของระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดเป็นรายบุคคล
- ชะลอหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับทั้งหลอดเลือดขนาดใหญ่ (macrovascular complications) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น และหลอดเลือดขนาดเล็ก (microvascular complications) เช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต เป็นต้น
- ตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการเฉพาะบุคคลโดยคำนึงถึงความชอบส่วนตัวและวัฒนธรรม ความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพ การเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ความตั้งใจและความสามารถในการเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงอุปสรรคในการปรับพฤติกรรมการบริโภค
- คงไว้ซึ่งความสุขในการรับประทานอาหารโดยให้ข้อมูลที่ไม่ตัดสินหรือกดดันเกี่ยวกับการเลือกอาหาร พร้อมทั้งจำกัดหรือหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทเฉพาะเมื่อมีหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น
- ให้แนวปฎิบัติหรือเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมสำหรับผู้เป็นเบาหวาน เพื่อให้สามารถสร้างรูปแบบการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้จริงในภาพรวม โดยไม่เน้นเฉพาะสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว (single nutrient)
รูปแบบอาหารที่แนะนำสำหรับผู้เป็นเบาหวาน
รูปแบบการบริโภคเพื่อสุขภาพที่สามารถช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้ในระยะยาวนั้นมีหลายรูปแบบ ได้แก่ อาหารแนวเมดิเตอร์เรเนียน อาหารรูปแบบแดช (Dietary Approaches to Stop Hypertension, DASH) อาหารที่เน้นพืชผัก (plant-based diet) อาหารมังสวิรัติ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบอาหารทั้งหมดนี้มีลักษณะสำคัญร่วมกัน 3 ประการ ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่
- เน้นผักใบ (non-starchy vegetable) และธัญพืชไม่ขัดสี
- ลดการบริโภคน้ำตาล และธัญพืชขัดสี
- เน้นอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป
นอกจากนี้ผู้เป็นเบาหวานมักมีโรคร่วมหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อการลดโซเดียมและควบคุมไขมันอิ่มตัวร่วมด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น ในเบื้องต้นผู้เป็นเบาหวานสามารถใช้หลักการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างง่าย ตามแนวทางของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมน้ำหนักตัว กล่าวคือ ปริมาณสารอาหารหลักที่เหมาะสมในแต่ละมื้อตามสูตรจานอาหาร 2:1:1 โดยแบ่งจานแบนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว (ขนาดเท่ากับฝาบาตรพระ) ออกเป็น 4 ส่วน เท่า ๆ กัน โดย 2 ส่วนเป็นผักใบหลากสีอย่างน้อย 2 ชนิด อีก 1 ส่วนเป็นข้าว แป้ง โดยเน้นข้าว แป้ง ธัญพืชไม่ขัดสี และอีก 1 ส่วนเป็นโปรตีนคุณภาพดี เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ร่วมกับโปรตีนจากพืช และทุกมื้อสามารถกินผลไม้สดได้ในปริมาณ 1 ส่วน (ขนาดเท่าจานรองกาแฟ 1 จาน เทียบเท่ากับผลไม้หั่นชิ้นประมาณ 6 – 8 ชิ้นคำ หรือผลไม้ผลขนาดกลาง 1 ผล หรือ ผลไม้ผลขนาดเล็ก 4 – 6 ผล) ร่วมกับการคุมหวาน มัน เค็มตามสูตร 6:6:1 กล่าวคือ บริโภคน้ำตาลวันละไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันวันละไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือวันละไม่เกิน 1 ช้อนชา (เทียบเท่าน้ำปลาและซีอิ๊ววันละไม่เกิน 3 ช้อนชา) ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงจานอาหาร 2:1:1 และคำแนะนำการปรุงอาหาร 6:6:1
สรุป
ผู้เป็นเบาหวานมีความจำเป็นต้องควบคุมอาหาร ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการปรับพฤติกรรมชีวิต โดยทั่วไปรูปแบบการกินที่ดีต่อสุขภาพ (healthy balanced dietary pattern) ใด ๆ ก็ตามที่เน้นการรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับเน้นการรับประทานผัก ธัญพืชไม่ขัดสี ร่วมกับลดการบริโภคน้ำตาล อาหารแปรรูป และไขมันอิ่มตัว ล้วนส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานทั้งการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดีต้องคำนึงถึงวัฒนธรรม ความต้องการ ความพึงพอใจ และความง่ายต่อการนำไปปฏิบัติของแต่ละบุคคลด้วย
- สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน กรุงเทพฯ: บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด; 2566.
- หลักการและแนวปฏิบัติเพื่อการดูแลโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระยะสงบ. กรุงเทพฯ: บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด; 2568.
- American Diabetes Association Professional Practice Committee. 5. Facilitating Positive Health Behaviors and Well-being to Improve Health Outcomes: Standards of Care in Diabetes-2025. Diabetes Care. 2025;48(Supplement_1):S86-S127.