งานวิจัยพบวิธีการตรวจใหม่ที่ไม่รุกล้ำ สามารถช่วยทำนายการเป็นโรคสมองเสื่อมได้ 80% ก่อนมีอาการถึง 9 ปี
การทำงานของสมองที่เริ่มผิดปกติ นำไปสู่ลักษณะทางกายภาพของสมองที่เปลี่ยนแปลงไป และนำไปสู่อาการของโรคสมองเสื่อม แต่การวินิจฉัยจากอาการในปัจจุบันทำให้การวินิจฉัยนั้นล่าช้าจนกว่าจะมีอาการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้ชีวิต รวมถึงคุณภาพชีวิตทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้างตามมา การศึกษาพบว่า สมองของผู้เป็นโรคสมองเสื่อม มีการเปลี่ยนแปลงมายาวนานก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ อีกทั้งโรคอัลไซเมอร์นั้นรบกวนการเชื่อมโยงของสมอง ที่เรียกว่า brain’s default-mode network (DMN) จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบว่าการใช้ neurobiological model ของ DMN จะสามารถทำนายการเกิดโรคสมองเสื่อมได้หรือไม่
Sam Ereira และคณะ ได้ทำการศึกษาผลของการถ่ายภาพรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ resting-state functional MRI (rs-fMRI) ที่จะสามารถแสดงให้เห็นสัญญาณเครือข่ายการเชื่อมโยงของสัญญาณประสาท ซึ่งทำนายความเสี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมในระยะต้น จากผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 81 ราย ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมในเวลา 9 ปี หลังจากการถ่ายภายรังสีดังกล่าว และกลุ่มควบคุมที่เท่าเทียมกันจำนวน 1,030 ราย เป็นการศึกษาแบบ nested case-control จาก UK biobank ผลพบความสัมพันธ์ระหว่าง DMN ที่ไม่เชื่อมโยงกันกับความเสี่ยงหลักต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม อีกทั้งยังสัมพันธ์ชัดเจนกับ polygene ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมเช่นกัน นับว่าการใช้ neurological model นี้จะช่วยในการตรวจพบโรคสมองเสื่อมได้ในระยะเริ่มต้นมากขึ้น และอาจเป็นเป้าหมายของการทำอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมในกลุ่มผู้เสี่ยงสูงต่อไป
ในภาวะที่การแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น และผู้คนอายุยืนยาวขึ้น สังคมกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีโรคสมองเสื่อมตามวัยเพิ่มมากขึ้น การถ่ายภาพรังสีนี้อาจเป็นหนึ่งในการคัดกรองความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม รวมถึงอาจมีบทบาทในการป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน
เรียบเรียง พญ. นิษฐา ปรุงวิทยา
ข้อมูลจาก https://www.nature.com/articles/s44220-024-00259-5