CIMjournal
CIM Nephro

อาจารย์ นพ. เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ สาขาอายุรศาสตร์โรคไต


“สมาคมแพทย์ของเราก็มีความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมแพทย์ญี่ปุ่น เขาก็มาชักชวนเราตั้งเป็น Thailand Society for Apheresis, TSFA”

ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ. เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์
นายกสมาคมอะเฟอรีซิส (ประเทศไทย)
นายกสมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย
(รวมเนื้อหาจากการสัมภาษณ์ พฤษภาคม 2555 และกุมภาพันธ์ 2567)

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาอายุรศาสตร์โรคไต

สมัยมัธยมฯ เรียนที่เตรียมอุดมฯ ผมไม่ค่อยชอบวิศวะ เลยเลือกเรียนแพทย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่า ชอบจริงหรือเปล่า แต่พอได้เรียนจริง ๆ รู้ว่า ตนเองเลือกไม่ผิด และสมัยเป็นนักศึกษามีปัญหาทางตา ก็ไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลรามาฯ อ.วิสุทธิ์ นัดให้ผมไป test กล้ามเนื้อตา ได้รับการผ่าตัด และฝึกกล้ามเนื้อตา เบ็ดเสร็จ 5 – 6 เดือน แล้วเราหาย ก็รู้สึกดีในฐานะที่เราเป็นผู้ป่วยที่มีคุณหมอคนหนึ่งมาทำให้เราดีขึ้น ก็ประทับใจว่า “การเป็นแพทย์ ดีตรงนี้เอง คือ ทำให้คนที่เรารักษามีความสุข เหมือนกับหยิบยื่นความสุขให้กับเขา และทำให้เขาหายจากสิ่งที่เขาไม่สบาย” พอเรียนจบก็โชคดีได้อินเทิร์นที่ศิริราชต่อ แล้วได้ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลศูนย์อนามัยแม่และเด็ก จังหวัดนครสวรรค์ ในขณะนั้น คุณหมอวัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้านายโดยตรง อยากให้เรียนต่อทางสูติ-นรีเวช เพื่อที่จะมาทำงานต่อที่ ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ผมจึงไปสมัครเรียนแพทย์ประจำบ้านทางสูติ-นรีเวช ที่โรงพยาบาลราชวิถี แต่ทางโรงพยาบาลราชวิถีไม่รับ และบังเอิญว่า ผมได้เข้ามาทำธุระที่โรงพยาบาลศิริราช ได้พบท่าน อ.อนงค์ เพียรกิจกรรม ด้วยความที่สนิทกับอาจารย์สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ อาจารย์ได้ชวนให้มาเรียนอายุรศาสตร์ พอดีปีนั้นตำแหน่งแพทย์ประจำบ้าน ต้นสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีน้อย ผมจึงได้มีโอกาสเรียนแพทย์ประจำบ้านทางอายุรศาสตร์ด้วยทุนอิสระ

ตอนที่เทรนอายุรศาสตร์ ก็รู้สึกสนใจเรื่องโรคไต เพราะเป็นโรคที่มีการรักษาต่อเนื่องครบวงจร ผู้ป่วยไตวายก็มีการฟอกเลือด ล้างช่องท้อง ปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยก็ยังอยู่ต่อได้  ศ. พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์ คงเห็นว่า ผมชอบไปดูผู้ป่วยฟอกเลือดหลายครั้ง อาจารย์ได้เอ่ยปากชวนให้มาอยู่หน่วยโรคไต ผมก็ตอบรับเป็น Fellow ซึ่งก็มี อ.สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล และ อ.ชัยรัตน์ ฉายากุล ร่วมด้วย เรา 3 คน ช่วยกันดูแลผู้ป่วยโรคไต 2 – 3 ปี ต่อมา ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับแพทยสภาได้เปิดหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านโรคไตต่อยอดขึ้นมา ผมกับ อ.ชัยรัตน์ ได้ลงทะเบียนเรียนเต็มเวลาเป็นรุ่นที่ 1 ของอายุรศาสตร์โรคไต รุ่นผมมีประมาณ 7 – 8 คน

หลังจากนั้น อ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ ก็สนับสนุนผมให้ไปอยู่กับเพื่อนของท่านชื่อ Professor Robert Wilkinson ที่ Freeman Hospital ณ เมือง Newcastle-upon-Tyne ประเทศสหราชอาณาจักร โดยผมตั้งใจที่จะไปศึกษาเกี่ยวกับ hemodialysis เพราะที่ Newcastle มี hemodialysis center ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ ผมทำงานอยู่ได้เดือนกว่า ๆ Prof. Wilkinson ได้ให้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับงานวิจัยเพิ่มเติมจากงานดูแลผู้ป่วยโรคไต ผมได้มีโอกาสทำงานวิจัยกับ Dr. Trevor Thomas ซึ่งเขาสนใจทางด้าน basic sciences กับ cell membrane transporter เรียกว่า sodium lithium countertransporter ที่ Newcastle ผมได้ทำงานดูแลผู้ป่วยโรคไต ในฐานะเป็น Registrar in Nephrology ซึ่งสามารถดูแลสั่งการรักษาผู้ป่วยได้ด้วยตัวเอง ผมต้องออกตรวจคลินิกโรคไต, round ward ผู้ป่วยโรคไต, ออกตรวจคลินิกผู้ป่วยเปลี่ยนไต และใช้เวลาส่วนที่เหลือจากงานทางด้านดูแลผู้ป่วยช่วงเช้า เข้าห้องปฏิบัติการทำ lab เกี่ยวกับ erythrocyte sodium lithium countertransport ในผู้ป่วยถุงน้ำในไต (autosomal dominant polycystic kidney disease) ผมได้ดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกับทำวิจัยสักประมาณปีครึ่ง เมื่อมีผลงานวิจัยออกมา Prof. Wilkinson ก็ให้ผมไป present ที่สมาคมโรคไตของอังกฤษ เมือง Edinburgh, Scotland ตอนนั้นเครียดมาก ก่อน present   Prof. Wilkinson ขับรถไปส่งผมจาก Newcastle ไปเมือง Edinburgh และระหว่างทาง Prof. Wilkinson บอกกับผมว่า “เกรียง คุณเคยเล่าเรื่องอะไรให้แม่คุณฟังหรือเปล่า ในการนำเสนอครั้งนี้ ก็เหมือนการเล่าเรื่องให้แม่ฟัง” เมื่อผมเข้าไปในห้องประชุมหมออังกฤษเต็มห้องเลย แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ตอนขับรถกลับจาก Edinburgh Prof. Wilkinson ถามผมว่า ต้องการทำ Ph.D. หรือเปล่า ผมก็เลยได้ทำ Ph.D. มีผลงานวิจัยออกมาพอสมควร ต้องขอบคุณทั้ง Prof. Robert Wilkinson และ Dr. Trevor Thomas พวกเขาเป็นคนช่วยผมจริง ๆ อาจเป็นเพราะความโชคดี แต่ส่วนหนึ่งผมคิดว่า เราต้องแสดงให้เขาเห็นก่อนว่า เรามีความสนใจและตั้งใจทำงานจริง ๆ และพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า เราทำได้


ความภูมิใจและความสำเร็จที่ผ่านมา

อาจไม่เหมือนใคร เรื่องแรกผมภูมิใจในความเป็นคนไทย ตอนไปอยู่อังกฤษถึงแม้มีหัวหน้าที่ดี ทำงานได้ดี และราบรื่น แต่สังคมที่นั่นไม่ใช่ ยังไงก็ไม่เหมือนบ้านเรา ผมคิดว่า วัฒนธรรมไทย เช่น การมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ การดูแลกันในครอบครัว การเกื้อกูลซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ

เรื่องที่สอง ผมภูมิใจมากที่ได้มาเรียนและได้มาทำงานที่ศิริราช โรงพยาบาลนี้เป็นโรงพยาบาลของผู้ป่วยโดยแท้จริง ทุกครั้งที่ผมเดินผ่านพระรูปพระราชบิดาก็มีความรู้สึกปลื้มใจทันทีที่พระราชบิดาเป็นปูชนียบุคคลที่ช่วยให้ศิริราชยืนยาวมาถึงทุกวันนี้ ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศิริราช

เรื่องที่สามคือ ผมภูมิใจที่ได้เป็นแพทย์โรคไต ซึ่งปัจจุบันปัญหาโรคไตมีมากมาย แพทย์รุ่นอาจารย์ รุ่นผม และรุ่นน้อง ๆ ได้พยายามผลักดันให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับการรักษาที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ  สมัยก่อนการรักษาโรคไตยังไม่มีหลักประกันว่า ผู้ป่วยจะได้รับการรักษา มาระยะหลังที่สิทธิค่ารักษาพยาบาลดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับสิทธิ์ อย่างน้อยก็มีเจ้าภาพในการช่วยเหลือไตวายในระยะสุดท้าย อันนี้มีที่มาจากบรรดาอาจารย์ตั้งแต่รุ่นอาจารย์ผู้ใหญ่ รุ่นเรา และรุ่นน้อง ช่วยกันทำให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับการรักษาที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับ

ในส่วนงานวิจัยก็ภูมิใจครับ เพราะแต่เดิมไม่เคยชอบทำวิจัย และไม่เคยมีงานวิจัยอยู่ในหัวเลย  Prof. Robert Wilkinson และ Dr. Trevor Thomas ปลูกฝังงานวิจัยให้ผม เขาทั้ง 2 คน รู้ว่า เขาจะสอนผู้ใหญ่ได้อย่างไร เขาให้ผมทำไปก่อน ผิดถูกอย่างไรก็มาเรียนรู้ แก้ไขทำแล้วทำอีก เมื่อผลการวิจัยได้ผลออกมานี้ ถ้าคิดว่าผลที่ได้ถูกต้อง (valid) ผลการทดลองนั้นจะต้องมีคำอธิบายเสมอ พอกลับมาศิริราช หลังจากจบ Ph.D. ก็ไฟแรง ขอเงินคณะซื้อเครื่องมือที่เคยทำที่อังกฤษไว้ที่ศิริราช แล้วก็ทำวิจัยต่อเนื่อง ในเรื่อง cell membrane transport งานวิจัยทำให้เรามี basic ที่จะศึกษาหาความรู้ได้ง่ายขึ้น อ่าน paper ได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญงานวิจัยสอนให้เราคิดแบบมีเหตุมีผล

เรื่องที่สี่ ผมภูมิใจที่ได้ช่วยงานสมาคมแพทย์ฯ โดยเป็นนายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ มา 2 สมัย เป็นนายกสมาคมโรคไตฯ อีก 2 สมัย และล่าสุดเป็นนายกสมาคมอะเฟอรีซิส (ประเทศไทย) และนายกสมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย ก็จะพยายามทำงานในหน้าที่และความรับผิดชอบให้ดีที่สุด

 

“เบื้องต้นจะมีแพทย์โรคไต
แพทย์โลหิตวิทยา
แพทย์ทางระบบสมอง
แพทย์ทางรูมาโต และอื่น ๆ
ซึ่งจะมีกลุ่มโรคที่ใช้เทคนิคนี้
ในการรักษา เข้ามาอยู่ด้วยกัน”


สมาคมอะเฟอรีซิส (ประเทศไทย) หรือ Thailand Society for Apheresis มีความเป็นมาอย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า apheresis นั้น โดยพื้นฐานแล้วเป็นการแยกส่วนประกอบของโลหิต ที่มีหลักการเอาส่วนประกอบชนิดใดชนิดหนึ่งออกจากโลหิต แล้วคืนส่วนอื่นที่เหลือพร้อมชดเชยส่วนที่ขาดกลับคืนสู่ร่างกาย ซึ่งเทคนิคนี้สามารถนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับคนไข้ในหลาย ๆ โรค เช่น โรคเกี่ยวกับระบบประสาท ที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายเซลล์ประสาท เช่น โรค Guillian Barre’ Syndrome (GBS), Myasthenia Gravis โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบางโรค  เช่น โรคข้อ โรคกลุ่ม SLE กลุ่มโคเลสเตอรอลในเลือดสูงจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์ และกลุ่มอื่น ๆ เช่น โรคผิวหนังอักเสบบางโรค อาการเส้นเลือดที่เท้าอุดตัน มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณเท้าไม่พอ ทำให้มีอาการปวดเท้า ปวดน่อง การฟอกพลาสมาจะช่วยกำจัดความหนืดของหลอดเลือดได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งแพทย์ในแต่ละสาขาก็ต่างคนต่างแยกกันดูแลคนไข้ของตัวเอง

พอดีสมาคมแพทย์ฯ ของเราก็มีความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมแพทย์ของญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็มีการทำ apheresis กันมาก และมีสมาคมทางด้านนี้ด้วย คือ Japanese Society for Apheresis เขาก็มาชักชวนเราตั้งเป็น Thailand Society for Apheresis, TSFA ในปี 2565 เพื่อจะได้รวบรวมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยในเบื้องต้นจะมีแพทย์โรคไต แพทย์โลหิตวิทยา แพทย์ทางระบบสมอง แพทย์ทางรูมาโต และอื่น ๆ ซึ่งจะมีกลุ่มโรคที่ใช้เทคนิคนี้ในการรักษา เข้ามาอยู่ด้วยกัน มาช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านนี้ให้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยเรามีการประชุมวิชาการสมาคมครั้งแรกไปในเดือนกรกฎาคม 2565 การประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือนมีนาคม 2566 และทางญี่ปุ่น ก็ชวนเราเป็นเจ้าภาพจัด World congress ในปี 2025 ซึ่งเป็นปีที่ 4 ของสมาคมฯ เบื้องต้นแพทย์ท่านใดสนใจกิจกรรมสมาคมฯ สามารถคลิกอัพเดทได้จากเว็บไซต์ www.thaiapheresis.org

 

“อย่างหมอไต
ตอนเทรนเฟลโลว์
ก็จะมีการสอน

จบมาแล้วก็จะเป็นคนทำ
plasmapheresis
ให้คนไข้เอง”


อยากให้อาจารย์ขยายความถึงการทำ apheresis ในประเทศไทย

วิธีการทำ apheresis หลัก ๆ ในประเทศไทย จะมี 2 วิธี วิธีแรกคือ การทำ centrifugation การปั่นแยกเอา พลาสม่าที่มีแอนติบอดี้ที่ทำให้เกิดโรคออกไป แล้วทดแทนด้วยอัลบูมิน หรือพลาสม่าที่สังเคราะห์ทดแทน เป็นการแลกเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นคนไข้จะขาดสารน้ำในตัว  วิธีที่สองคือ การทำ filtration ที่เรียกว่า Double Filtration Plasmapheresis (DFPP) ใช้เมนเบรน 2 ตัว เพื่อจะแยกแอนติบอดี้ ค่าใช้จ่ายในการทำทั้ง 2 วิธีจะใกล้เคียงกัน โดยวิธีแรกจะเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของอัลบูมินที่ทดแทนเข้ามา วิธีการที่สองจะเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของตัวเมนเบรนตัวที่สอง ผลการรักษาพอ ๆ กัน แล้วแต่ว่าแพทย์ถนัดวิธีการใด ยกตัวอย่างคนไข้ที่เป็นโรค SLE อาการจะรุนแรงเมื่อระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง การทำ plasmapheresis ก็เพื่อจะเอาแอนติบอดี้ออก ระหว่างนั้นคนไข้ก็ได้ยาด้วย อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีสมาคมชื่อ American Society for Apheresis โดยมีไกด์ไลน์ชัดเจนว่า โรคไหนที่จะรักษาโดยวิธีการนี้ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม 1A 1B 1C 1D เลย ที่ผ่านมาในประเทศไทยต่างคนต่างรักษา มาตอนนี้มีสมาคมฯ แล้ว ก็จะมีการกำหนด ดูแล และพัฒนามาตรฐานการทำ apheresis ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

สำหรับแพทย์ที่สนใจทำ apheresis ตอนเทรนนิ่งแพทย์แต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง จะมีการเทรนเรื่องนี้อยู่แล้ว อย่างหมอไตตอนเทรนเฟลโลว์ ก็จะมีการสอน จบมาแล้วก็จะเป็นคนทำเอง  ส่วนหมอฮีมาโต และหมอนิวโร ก็จะมีหน่วยงานที่เขาทำให้ เช่น Blood bank  โดยจะอยู่ในลักษณะของการแบ่งงานกันทำ ด้วยเหตุผลนี้มาอยู่ด้วยกันดีไหมได้พูดภาษาเดียวกัน

“ผ่านมา 2 ปี
สมาคมเข้มแข็งขึ้น
ปี 2025 เรามีแผนจะจัด
World Congress”

อาจารย์คิดอย่างไร ถึงมาช่วยบริหารจัดการสมาคมฯ ใหม่นี้

ผมมีประสบการณ์บริหารสมาคมโรคไตฯ และสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ อีกทั้งมีที่ปรึกษาที่ดี คือ สมาคมอะเฟอรีซิสของญี่ปุ่น อย่าง Prof. Ken Yamaji ก็ได้คุยกันตลอด และทางเขาก็ยินดีที่จะสนับสนุนเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดประชุม การประชาสัมพันธ์สมาคมฯ ให้แพทย์รู้จัก เลยมองว่า การบุกเบิกสมาคมอะเฟอรีซิสของแพทย์ไทย ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เป็นงานที่ท้าทาย ก็เริ่มจากการพูดคุยในกลุ่มแพทย์ที่รักษาทางด้านนี้ ถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสมาคมขึ้นมา หลังจากเห็นด้วย ก็จะเป็นขั้นตอนงานเอกสารในการก่อตั้งสมาคมฯ ทั้งระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ กำหนดวัตถุประสงค์ การหาสมาชิก ติดต่อกรมการปกครอง ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไป 1 ปี กว่าทุกอย่างจะรวบรวมได้ และสมาคมใหม่ ๆ ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะสมาคมฯ ยังไม่มีเงินสนับสนุนใด ๆ สมาชิกก็ยังไม่เก็บค่าสมาชิก ก็ปรึกษาหลากหลายช่องทาง โดยเรามีการจัดงานประชุมวิชาการประจำปีมีแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 คน และงานประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นครั้งแรก สำเร็จไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ต้องขอขอบคุณกรรมการบริหารทุกท่านที่เข้าใจ และพยายามเมนเทรนให้สมาคมเดินหน้า ผ่านมา 2 ปี สมาคมเข้มแข็งขึ้น ปี 2025 จะจัด World Congress


จากการระบาดของ COVID-19 และเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต ส่งผลต่อผู้ป่วยไต และการทำ Apheresis อย่างไร

ช่วงระบาดของโควิด สิ่งที่แพทย์และผู้ป่วยไตเรียนรู้ เป็นเรื่องของการเข้าถึงการรักษาควบคู่ไปกับการแยกกักตัวหรือ isolation โดยช่วงนั้นที่กังวลมากสุดคือ กลุ่มแรกคือ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต เพราะหากติดเชื้อโควิด ยากดภูมิจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงกว่าผู้ติดเชื้อทั่วไป และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งเราทำได้แค่พยายามป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเท่านั้น อีกกลุ่มคือ ผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดล้างไต ซึ่งเขาต้องมาทำอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ไม่มาเขาก็แย่ แต่ถ้าเขาติดโควิด ก็มีโอกาสที่จะไปติดคนอื่น ๆ รวมถึงแพทย์พยาบาลด้วย ช่วงนั้นก็พยายามรณรงค์ให้แต่ละหน่วยปฏิบัติงานมีห้องเนกาทีฟ แรงดันลบ ที่สามารถแยกดูแลผู้ป่วยติดเชื้อได้ แต่ก็ทำไม่ได้ง่าย ไม่ได้เร็ว ก็ต้องใช้การส่งต่อไปที่อื่น ที่เขามีความพร้อมมากกว่า เช่น หอผู้ป่วยติดเชื้อ  แต่ในอนาคตเรารู้ว่าต้องเตรียมสถานที่และต้องเตรียมคนไว้รองรับการระบาดด้วย

สำหรับเรื่องของ apheresis ในช่วงโควิดรุนแรง จะมีการเจาะเลือดผู้ป่วยดู C-reactive Protein, CRP ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างเพื่อตอบสนองการอักเสบ โดยปกติจะวัดได้ค่าน้อย แต่ถ้าวัคค่า CRP สูง ก็จะมีการทำ plasmapheresis เพื่อเอาไซโตไคน์ออก เป็นการป้องกันการเกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 เสียชีวิต ส่วนปัญหาในการทำ apheresis ก็จะคล้ายกับผู้ป่วยไตกรณีที่กล่าวมาก่อนหน้า


ย้อนกลับมาคำถามหลัก ปัจจัยที่เป็นที่มาสู่ความสำเร็จ อันนำมาสู่ความภูมิใจ

ผมว่าน่าจะมาจาก 2 ข้อนะครับ ข้อแรก ผมคิดว่า ผมเป็นคนอดทน เรื่องนี้ผมมาย้อนคิดดูสมัยเด็ก ๆ ผมจะไปไหนมาไหนกับคุณแม่บ่อย ๆ เพราะเป็นลูกชายคนเล็ก คุณแม่ไปเจอคนนั้นคนนี้ก็จะคุยนาน บางทีต้องรอนานเป็นชั่วโมง ๆ การรอนานทำให้เราฝึกความอดทนไปด้วย ทุกวันนี้เวลาเจอปัญหาผมจะหาวิธีแก้และรอคอยความสำเร็จได้ อีกเรื่องไม่แน่ใจว่าเป็นผลด้วยหรือไม่ สมัยที่ผมอยู่ประถมฯ พี่ชายบวชที่วัดปากน้ำ ที่นั่นจะมีห้องให้ฝึกนั่งสมาธิ ผมเป็นเด็กไม่รู้เรื่อง ไปถึงก็ไปนั่งสมาธิ นั่งอยู่ตลอดที่พี่ชายบวช และมาจุดติดอีกตอนทำงานที่หน่วยโรคไต ศ. พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์ ท่านสนใจด้านนี้ อาจารย์ก็ชักชวน staff ทุกคนเข้าคอร์สวิปัสสนากับคุณแม่สิริ กรินชัย ก็มีอาจารย์ไปหลายท่าน พอไปนั่งตรงนั้น ใจสงบ รู้สึกสบาย นึกถึงตอนเด็กที่ไปอยู่วัดขึ้นมาเลย ช่วงนั้นเป็นยุคธรรมะของหน่วยโรคไต โดยมี ศ. นพ. สง่า นิลวรางกูร, ศ. พญ. สุมาลี นิมมานนิตย์, อ. นพ. ปรีดา มาลาสิทธิ์ ตอนกลางวันมีการสนทนาธรรมกัน จิตใจสงบ พอเวลาเจอปัญหาเราก็ทำปกติได้

สุดท้ายเราต้องแสดงให้คนอื่นเห็นด้วยว่าเรามีความสนใจและตั้งใจทำงานจริง ๆ และพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเราสามารถทำสิ่งนั้นได้


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ ผ่านอุปสรรคอะไรบ้างและเอาชนะได้อย่างไร

ผมอาจจะโชคดี อุปสรรคที่เจอไม่ค่อยยุ่งยากเท่าไร และส่วนหนึ่งก็เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต เช่น การไปสัมภาษณ์เป็นหมอสูติฯ ไม่ได้ ก็มาเป็นอายุรแพทย์โรคไต การไม่ได้เน้นทำ MRCP (UK) ก็ได้ทำวิจัย และเรียน Ph.D. ผมว่า ผมมาทุกวันนี้ได้น่าจะมาจาก “การทำวันนี้ให้ดีที่สุด” อุปสรรคที่สำคัญของการทำงานก็คือ ตัวเราเอง จิตใจเราเอง โอกาสมันจะค่อย ๆ เขยิบมาเอง ถ้าเราสามารถเอาชนะตัวเองได้ ผมเอาชนะได้โดยใช้ความอดทนและตั้งใจทำงาน ผมคิดว่า เราสามารถเปลี่ยนตัวเราได้ แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมงานได้


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ อยากกลับไปแก้ไขเรื่องใด

พูดยากครับ ถ้าจะมีการแก้ไขก็ต้องตอนเป็นนักเรียนแพทย์ ตอนนั้นงานสังคมเยอะไปหน่อย ทำให้เกรดเราไม่ดี แต่ก็ทำให้เราได้เพื่อนมาเยอะ รู้จักคนเยอะขึ้นก็สนิทกัน ก็เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส แต่หลังจากนั้นผมคิดว่า ผมได้รับโอกาสที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต หรือการทำงาน

ถ้าเพื่อนร่วมงานก็เป็น นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ท่านเป็นสุภาพบุรุษ ที่สนับสนุนอย่างมากในการปลูกฝังการดูแลผู้ป่วย และแนะวิธีการทำงาน การเข้าสังคม และสอนให้ผมเล่นกอล์ฟ ต่อมาคือ ศ.พญ.อนงค์ เพียรกิจกรรม ที่ชักชวนให้ผมเข้ามาอายุรศาสตร์ อาจารย์เป็นครูที่ดีมาก ทุ่มเทการสอนตลอดเวลา วันเสาร์ก็ไม่หยุดอีกท่านคือ ท่าน อ.สุมาลี นิมมานนิตย์ ท่านเป็นปูชนียบุคคล เป็นคนแนะนำให้ผมเข้ามาอยู่เป็นนอายุรแพทย์โรคไต เป็นต้นแบบที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยโดยใช้หลักธรรมะ และท่าน อ.สมพนธ์ บุณยคุปต์ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ขณะผมเป็นแพทย์ประจำบ้านได้ไปอยู่เวรที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธบ้าง เพื่อเพิ่มรายได้ การอยู่เวรที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธต่างจากโรงพยาบาลอื่น เพราะอาจารย์สมพนธ์ชอบให้หมอเวรมาดูผู้ป่วยกับอาจารย์ เวลาผมอยู่เวร อาจารย์จะแนะนำให้รู้จักคนโน้นคนนี้ อาจารย์สอนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการวางตัวกับผู้ป่วย ผมได้แนวทางการดูแลผู้ป่วยเยอะมาก เพราะการดูแลผู้ป่วยเอกชนก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่ผมคิดว่า มีความสำคัญมากต่อการประกอบวิชาชีพแพทย์ ท่านที่ 5 คือ Professor Robert Wilkinson เป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยดีมาก เขาให้ความสำคัญกับผู้ป่วย ซึ่งอันหนึ่งที่ผมประทับใจมาก คือ กับเพื่อนร่วมงาน เขาสอนผมเสมอว่า เวลาที่เราจะขอความร่วมมือกับใคร อย่าใช้โทรศัพท์ ให้เดินไปหา เราต้องให้เกียรติผู้อื่น แล้วเขาก็ทำอย่างนั้นมาตลอด ท่านสุดท้าย คือ Dr. Trevor Thomas เป็นคนสอนให้ผมรู้จักการทำวิจัยโดยเฉพาะ basic research ผมจากที่ไม่รู้เลยกลายเป็นรักเลย  อาจารย์ทั้ง 6 ท่านที่กล่าวมานี้มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตแพทย์และครูแพทย์ของผมอย่างมากในปัจจุบัน

 

นักเรียนแพทย์ที่อังกฤษ
มีความกระตือรือร้น
(curiosity)

อยากรู้อยากเห็นมาก
เวลาสอน ถ้าเขาตอบไม่ได้
วันรุ่งขึ้นเขามาตอบเองเลย

 ไม่ได้ถาม เห็นแล้วก็งงมาก


คติหรือหลักการที่ยึดถือในการดำเนินชีวิต

หลักการทำงานของผม คือ อิทธิบาท 4 มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ผมฝึกฉันทะมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตอนนี้ให้ผมรออะไรก็รอได้  ฉันทะต้องมาก่อน ทำอะไรต้องอดทน วิริยะ ถ้าเราอยากทำอะไรแล้ว เราต้องมีความขยันขันแข็ง ผมว่าสิ่งที่เราทำอยู่ต้องรู้จริง ถ้าไม่รู้จริง จะไม่มั่นใจ จิตตะ เอาใจใส่กับสิ่งนั้น ผมเห็นตัวอย่างชัดเจนตอนไปสอนนักเรียนแพทย์แทน Prof. Wilkinson ที่อังกฤษ นักเรียนแพทย์ที่อังกฤษมีความกระตือรือร้น (curiosity) อยากรู้อยากเห็นมาก เวลาสอน ถ้าเขาตอบไม่ได้ วันรุ่งขึ้นเขามาตอบเองเลย ไม่ได้ถาม เห็นแล้วก็งงมาก วิมังสา ทำงานนั้นให้สม่ำเสมอในการดูแลผู้ป่วย


มองการแพทย์ในอนาคตและข้อเสนอแนะสำหรับแพทย์รุ่นใหม่

คงเหมือนกับอาจารย์อาวุโสหลาย ๆ ท่าน เทคโนโลยีในการตรวจรักษาใหม่ ๆ มีมากขึ้น ทำให้แพทย์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยน้อยลง การซักประวัติ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยจึงน้อยลง ทำให้แพทย์ขาดทักษะส่วนบุคคลไป ซึ่งในโรงเรียนแพทย์เราจะสอนกันเสมอว่า การซักประวัติผู้ป่วย คือ หัวใจของการเป็นแพทย์ ทั้งนี้ การขาดทักษะส่วนบุคคลไป จะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ นำมาซึ่งปัญหาการฟ้องร้องที่มีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมปัจจุบัน

ผมว่า คนที่จะเป็นแพทย์ต้องมีใจรักเป็นแพทย์ก่อน แพทย์แต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ต้องถามตัวเองว่า ชอบอะไร อย่าฝืนเรียนถ้าไม่อยากเป็นแพทย์ ถ้าชอบจริง รักแล้วก็ทำต่อได้ เมื่อทำต่อนอกเหนือจากการรู้จริงในสิ่งที่ทำแล้ว อยากให้เน้นเรื่องการเพิ่มความสัมพันธ์กับผู้ป่วยให้มาก ๆ เมื่อตรวจเยี่ยมผู้ป่วย เราต้องมีความพร้อม อย่ารีบ การทำอะไรรีบ ๆ ไม่ค่อยได้ดี และที่สำคัญต้องประเมินความสามารถของตัวเองด้วยว่า เราทำได้แค่ไหน ต้องหาแพทย์ผู้อื่นช่วย ถ้าเราไม่สามารถดูแลผู้ป่วยในปัญหาอื่น ๆ ที่เราไม่ถนัด สิ่งที่ผมกังวล คือ ความสามารถของตัวเองและโรงพยาบาล คือ ถ้ารู้ว่าความสามารถของตัวเองและโรงพยาบาลไม่ไหว ต้องส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า การส่งต่อผู้ป่วยช้า บางครั้งญาติก็ไม่เข้าใจ อาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้ อาชีพแพทย์ก็อย่างนี้ เลือกมาแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า อาชีพนี้ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วยเป็นปณิธานสูงสุด

 

บทสัมภาษณ์ Expert interview
  1. อาจารย์ นพ. วุฒิเดช โอภาสเจริญสุข
  2. อาจารย์ นพ. อนุตตร จิตตินันท์
  3. อาจารย์ นพ. สมชาย เอี่ยมอ่อง
แนะนำอ่านเพิ่มเติม
  1. 10 แนวโน้มการรักษาทางการแพทย์ที่สำคัญ มีผลอันใกล้
  2. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก จากปัจจุบันถึงไม่เกิน 10 ปี

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก