“วิชาชีพแพทย์เขาทำงานกันอย่างไร ต้องพบกับบางช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อยอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง กินอยู่อย่างรีบเร่ง หรืออยู่เวรนอกเวลาที่ต้องอดหลับอดนอน และยังต้องมี service mind และจริยธรรมทางการแพทย์อีกด้วย”
พล.ต. นพ. ธีรฉัตร ศิลารัตน์
นายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาศัลยศาสตร์ทรวงอก
ผมเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และความที่ตัวเองถนัดทางสายวิทย์ จึงตัดสินใจสอบเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวอย่างมาก และเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่รับราชการทหาร ท่านพาผมไปสมัครเป็นนักเรียนแพทย์รับทุนทหาร ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องใช้ทุนด้วยการรับราชการเป็นทหารต่อเป็นเวลาตามที่ทำสัญญาไว้ โดยมารู้ทีหลังจากคุณแม่ว่า คุณพ่อเป็นมะเร็งที่ถุงน้ำดี จึงให้ไปรับทุนเรียนจะได้ลดภาระทางการเงินให้คุณแม่ที่ต้องดูแลลูก 2 คนในยามที่ตัวเองจะต้องจากไป โดยหลังจากที่ผมเรียนแพทย์ ท่านก็ป่วยหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ และจากไปในขณะที่ผมเรียนจบแพทย์ปีที่ 1 เท่านั้น
ย้อนกลับมาตอนเรียนแพทย์ช่วง 2 ปีสุดท้าย ผมต้องเวียนไปเรียนรู้คนไข้ในทุกแผนก และในช่วง Intern ได้มีโอกาสทำหัตถการต่าง ๆ เช่น เย็บแผล ผ่าฝี ผ่า cysts และอื่น ๆ พอสมควร ทำให้รู้ว่าตัวเองชอบและทำงานทางด้านศัลยกรรมได้ดี หลังจากนั้นผมได้บรรจุเป็นข้าราชการทหาร อยู่ที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จังหวัดชลบุรี จากนั้นผมได้กลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
สำหรับสาเหตุที่เลือกเรียนเฉพาะทางด้านศัลยกรรมทรวงอกก็เพราะว่า ตอนที่เรียนผ่านแผนกศัลยกรรมทรวงอก รู้สึกว่าการผ่าตัดทางหัวใจ ปอด และหลอดเลือดใหญ่ เป็นงานที่ท้าทายและวิกฤต เหมือนได้ช่วยคนไข้ที่อาจจะไม่รอดแล้วได้มีชีวิตต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าศัลยแพทย์ทรวงอกเป็นหนึ่งในสาขาแพทย์ที่จะต้องทำงานหนักในลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับสาขาอื่น เพราะการผ่าตัดคนไข้แต่ละคนใช้เวลานาน 4 – 6 ชม. ต้องใช้หมอผ่าตัดช่วยกันหลายคน และยังต้องคอยดูแลหลังผ่าตัดต่ออีก เพราะคนไข้ยังไม่พ้นภาวะวิกฤตใน 24 ชม. แรก ซึ่งผู้ที่จะเรียนเป็นศัลยแพทย์ทรวงอกทุกคนต้องยอมรับในจุดนี้ หลังจากที่ผมได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและประเมินศักยภาพของตัวเองแล้ว จึงได้ตัดสินใจเรียนในที่สุด และเมื่อเรียนจบเป็นศัลยแพทย์ทรวงอกแล้ว ก็ได้เริ่มต้นทำงานที่โรงพยาบาลค่ายอานันทมหิดล จ.ลพบุรี ผมทำงานอยู่เป็นเวลา 3 ปี จึงได้ย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา
ต่อมาผมได้รับทุนจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าไปศึกษาต่อต่างประเทศในด้านการผ่าตัดหัวใจทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ที่เมือง Sydney ประเทศ Australia เป็นเวลา 2 ปี แล้วก็ได้กลับมาทำงานต่อในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ตอนนี้ผมเกษียณมา 5 ปีแล้ว ทางโรงพยาบาลยังให้ผมไปช่วยงานสอนและผ่าตัดอยู่เป็นบางวัน
“ผมภาคภูมิใจในความคิดของตัวเอง
ที่คิดไม่ผิดที่ได้มาเรียนแพทย์
จนกระทั่งเป็นศัลยแพทย์ทรวงอก
แม้จะต้องทำงานหนัก
แต่ผลที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่าเหลือเกิน”
สิ่งที่รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
จริง ๆ แล้วผมภูมิใจในหลาย ๆ เรื่อง แต่ที่พอจะจัดลำดับได้มี 3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นความภาคภูมิใจในความคิดของตัวเอง ที่คิดไม่ผิดที่ได้มาเรียนแพทย์ จนกระทั่งเป็นศัลยแพทย์ทรวงอก แม้จะต้องทำงานหนัก แต่ผลที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่าเหลือเกิน และหาใช่ทรัพย์สินเงินทองไม่ แต่กลับเป็นความอิ่มเอิบใจที่ไม่อาจวัดได้ เรารู้สึกดีใจทุกครั้งที่คนไข้ที่เข้ามาอยู่ในความดูแลของเราแล้ว สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตต่อได้อย่างมีคุณภาพ ผมคิดว่าชีวิตทุกชีวิตนั้นมีค่าต่อสังคม แม้จะเป็นเด็กแรกเกิดที่มีอายุเพียงไม่กี่วัน เราก็จะพยายามช่วยให้เขาผ่านพ้นไปได้
เรื่องที่สอง เป็นความภูมิใจที่มีครอบครัวที่ดี มีภรรยาที่คอยสนับสนุนผมมาตลอด มีลูก ๆ ที่เข้าใจในงานของเราที่ต้องรับผิดชอบกับชีวิตของคนไข้ เวลาที่เราแบ่งให้กับครอบครัวแม้จะไม่สมบูรณ์เท่ากับครอบครัวอื่น ๆ นัก แต่ที่ผ่านมาผมก็พยายามแบ่งเวลา โดยถ้ามีเวลา ผมก็จะเต็มที่กับทุกคนในครอบครัว
เรื่องที่สาม นอกจากงานดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ผมยังภาคภูมิใจกับงานสอน งานถ่ายทอดทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา ให้แก่นักเรียนแพทย์ และแพทย์ที่มาฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะทยอยเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการแพทย์ของเราในอนาคต
“โดยสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ
ทุก ๆ ระดับ หรือทุกตำแหน่ง
ที่เราได้ผ่านมานั้น
เราได้พัฒนาอะไรให้แก่
องค์กรหรือสังคมได้บ้าง”
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ในมุมมองของผม ความสำเร็จจะไม่มีที่สิ้นสุด โดยในช่วงแรก ๆ ของการเป็นแพทย์ ความสำเร็จหลัก ๆ ก็จะเป็นความสามารถในการดูแลคนไข้ให้ได้ผลการรักษาที่ดี ซึ่งการจะทำอะไรให้ได้ดีนั้น ต้องมีการศึกษา เรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการสะสมประสบการณ์ไปทีละระดับ ไม่จำเป็นต้องข้ามขั้นตอน พอเรื่องแรก ๆ สำเร็จ เรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา ซึ่งถ้าเราทำได้ดี ก็จะกลายเป็นความสำเร็จในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในเรื่องถัดไป สำหรับผมแล้วความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงหรือมีทรัพย์สินเงินทองมากมายเป็นเรื่องหลัก โดยสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ทุก ๆ ระดับหรือตำแหน่งที่เราได้ผ่านมานั้น เราได้พัฒนาอะไรให้แก่องค์กรหรือสังคมได้บ้าง อย่างในกรณีของผม ตำแหน่งที่ผ่านมาซึ่งได้แก่ Cardiothoracic surgeon staff ในหน่วย หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมทรวงอก หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสิรินธร รพ.พระมงกุฎเกล้า ประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบเพื่อวุฒิบัตรฯ สาขาศัลยศาสตร์ทรวงอก จนกระทั่งตำแหน่งปัจจุบันคือ นายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกฯ ทุกตำแหน่งที่ผ่านมานี้ ผมตั้งใจปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ พยายามพัฒนาแต่ละองค์กรที่เรารับผิดชอบ และขณะเดียวกันงานต่าง ๆ ในแต่ละองค์กร ก็ทำให้เรามีประสบการณ์ในการทำงานที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นความสำเร็จจะไม่มีที่สิ้นสุด แต่จะมีก้าวต่อไปเรื่อย ๆ ตราบจนชีวิตเราจะหาไม่
“ผมมักจะใช้การมีส่วนร่วม…
โดยเชิญมารับทราบ
วิเคราะห์หาต้นตอของปัญหาร่วมกัน
และมอบหมายทีมงานให้ร่วมมือกัน
ในการแก้ปัญหา”
กว่าจะประสบความสำเร็จ ผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง แล้วแก้ไขอย่างไร
สำหรับผม มองว่าเราทุกคนล้วนผ่านอุปสรรคในการทำงานมาอย่างมากมาย ซึ่งความสามารถในการแก้ปัญหาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้มีงานทั้งที่ทำได้สำเร็จและที่ไม่สำเร็จ สำหรับผมการเอาชนะอุปสรรคหลัก ๆ ที่ผ่านมาจะเริ่มจาก 1) ความพยายามในการเข้าใจปัญหา และ 2) การใช้สมาธิวิเคราะห์ว่าต้นตอของปัญหาหรืออุปสรรคนั้นอยู่ที่ไหน 3) การวางแผนแก้ปัญหาที่ต้นตอหรือให้ใกล้ต้นตอมากที่สุด และสุดท้าย 4) การลงมือแก้ปัญหา ผมมักจะใช้การมีส่วนร่วมของผู้ร่วมงาน โดยเชิญมารับทราบปัญหาและอุปสรรค จากนั้นก็วิเคราะห์หาต้นตอของปัญหาร่วมกัน และมอบหมายทีมงานให้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหา
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรที่จะต้องกลับไปแก้ไข สิ่งที่เราได้ตัดสินใจทำอะไรไปแล้วในอดีตนั้น แน่นอนมันต้องมีผิดพลาดบ้าง แต่สิ่งเหล่านั้นจะเป็นจุดที่ทำให้เรามีการพัฒนาและปรับปรุงปัจจุบันของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
บุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
- ในด้านการดูแลรักษาคนไข้นั้น อย่าข้ามขั้นตอนการตรวจพื้นฐานเพื่อความรอบคอบ ให้ยึดหลักการรักษาตามข้อบ่งชี้ และให้ดูแลคนไข้แบบองค์รวม คือดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ตลอดจนโรคร่วมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่รักษาอาการทางศัลยกรรมทรวงอก
- ในด้านการสร้างนิสัยอันพึงประสงค์และความน่าเชื่อถือนั้น ในขณะที่เราปฏิบัติงานในฐานะแพทย์ เราต้องตรงต่อเวลา แต่งกายให้สมเกียรติ สะอาด สื่อสารกับคนไข้ด้วยท่าทีที่เห็นอกเห็นใจ และอธิบายให้คนไข้และญาติเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา แล้วเรามีแผนการที่จะรักษาเขาอย่างไร
- ในด้านการเป็นครูแพทย์ ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่แพทย์รุ่นน้องนั้น นอกจากเราจะเป็น Teacher คือผู้ให้ความรู้เฉพาะเรื่องแล้ว เรายังต้องเป็น Mentor หรือผู้เป็น adviser ในเรื่องอื่น ๆในการดำเนินชีวิตด้วย
- ในด้านทางสังคมนั้น เมื่อเรามีวัยวุฒิและคุณวุฒิสูงขึ้น จะมีเวลามากขึ้นจากการที่มีแพทย์รุ่นน้องมาแบ่งเบาภาระงานของเรา ควรใช้เวลามาวางแผนพัฒนาหน่วยงาน และมีจิตอาสาใช้ประสบการณ์มาช่วยงานทางสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิชาชีพของเราเท่าที่โอกาสจะอำนวย
ผมก็ได้ยึดหลักในการทำงานตามคำแนะนำของท่าน จนกระทั่งทำงานให้สมาคมฯ อยู่ในขณะนี้
คติที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
ในวงการแพทย์ พวกเราจะรู้จักคำสอนของพระราชบิดา หรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย คำสอนท่านที่มีต่อวงการแพทย์มีหลายข้อ ผมขอเอาข้อที่ผมยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมา 2 ข้อ ข้อแรกคือ “ ฉันไม่ได้สอนให้เธอเป็นแพทย์เท่านั้น ฉันสอนให้เธอเป็นมนุษย์ด้วย” ข้อต่อมาคือ “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
คำสอนทั้ง 2 ข้อนี้ สำหรับผมถือว่ามีความหมายต่อวิชาชีพแพทย์มาก และอยากให้แพทย์รุ่นน้อง ๆยึดถือปฏิบัติไว้เช่นกัน แล้วชีวิตของเราจะมีความสุขอย่างยั่งยืน
“แม้ว่าระบบสาธารณสุขของเรา
จัดว่าเป็นระบบที่ดี
ไม่แพ้ต่างประเทศ ในด้านการเข้าถึง
แต่ผมคิดว่าเรายังคงต้องปรับปรุง
และพัฒนาต่อในด้านอื่น ๆ
อีก 3 – 4 เรื่อง”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร และทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
เป็นที่น่ายินดีที่แพทย์ไทยมีความสามารถทัดเทียมกับมาตรฐานนานาชาติ แพทย์ของเรามีชื่อเสียงจนกระทั่งชาวต่างชาติให้ความเชื่อมั่นเดินทางมารักษายังประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ ในระดับนานาชาติอยู่เกือบทุกปี (คลิกอ่านเพิ่มเติม) สำหรับการสาธารณสุขในประเทศของเราเองนั้น เมื่อเทียบกับสมัยที่ผมจบใหม่ ๆ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน นับว่าดีขึ้นมาก จนขณะนี้เรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ในที่สุดเราอาจจะมีปัญหาใหม่แทน รัฐคงต้องมีมาตรการดูแลเรื่องนี้ต่อไปเพื่อ
ไม่ให้เป็นภาระของประเทศมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบสาธารณสุขของเราจัดว่าเป็นระบบที่ดีไม่แพ้ต่างประเทศในด้านการเข้าถึง แต่ผมคิดว่าเรายังคงต้องปรับปรุงและพัฒนาต่อในด้านอื่น ๆ อีก 3-4 เรื่องเช่น เรื่องการกระจายของแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในชนบท เรื่องของการให้ ค่าตอบแทนแพทย์ที่ยังไม่เหมาะกับภาระงานในสาขาที่ต่างกัน และยังไม่อยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ และเรื่องของการบริหารจัดการในด้านการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่จะทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะสังกัดกระทรวงไหน สามารถดูแลคนไข้ในระบบประกันสุขภาพได้อย่างสบายใจ และลดความซับซ้อนของงานธุรการและเอกสารที่ต้องลงในรายละเอียดที่มากจนเกินไป สุดท้ายเรื่องของการดูแลเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายของยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังไม่ครอบคลุมทั้งชนิดและข้อบ่งชี้ ในแต่ละกองทุนต่าง ๆ
ข้อแนะนำสำหรับแพทย์รุ่นใหม่เกี่ยวกับการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ
ดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับผม ความสำเร็จแรก ๆ ในการทำงานของวิชาชีพแพทย์ ก็คือการได้ดูแลคนไข้ให้ดีขึ้นจนกระทั่งกลับบ้านได้ ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของเราก่อน งานนอกเหนือจากนี้ถือเป็นงานลำดับรองลงไปตามโอกาสจะอำนวย ดังนั้นผมอยากให้ข้อแนะนำแก่แพทย์รุ่นน้อง ๆ ดังนี้
สำหรับแพทย์ทั่วไปที่จบใหม่ ๆ ที่ต้องออกไปทำงานเพื่อฝึกฝนและหาประสบการณ์ ข้อแรก เราต้องไม่ลืมว่า ช่วงเรียนคลินิกใน 2-3 ปีสุดท้าย เราได้เรียนรู้อย่างถ่องแท้แล้วว่า วิชาชีพแพทย์เขาทำงานกันอย่างไร ต้องพบกับบางช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อยอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง กินอยู่อย่างรีบเร่ง หรืออยู่เวรนอกเวลาที่ต้องอดหลับอดนอน และยังต้องมี service mind และจริยธรรมทางการแพทย์อีกด้วย นี่คืองานที่แท้จริงของเรา ถ้าเราคิดว่าเรียนจบแล้วคงจะสบาย ผมคิดว่าเราเข้าใจผิดและการเลือกเรียนแพทย์ของเรามาไม่ถูกทางแล้ว ดังนั้นเราควรตั้งใจทำงานหาประสบการณ์เข้าไว้ ข้อสอง พยายามหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองให้ up-to-date อยู่เสมอ และค้นหาตัวเองว่าถ้าอยากเรียนรู้เพิ่มเติม จะเรียนต่อทางด้านไหน
สำหรับน้องที่จบมาเป็นศัลยแพทย์ทรวงอกแล้ว ข้อแรกศัลยแพทย์ทรวงอกไม่สามารถทำงานให้สำเร็จด้วยลำพังคนเดียวได้ งานทางศัลยกรรมทรวงอกเปรียบเสมือนการเล่นกีฬาฟุตบอลที่ต้องใช้ผู้เล่นหลายคน โดยมีศัลยแพทย์ทรวงอก 2-3 คนเป็นกองหน้า ยังมีวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาล ทีมนักปฏิบัติการหัวใจและปอดเทียม ทีมพยาบาลส่งเครื่องมือผ่าตัด และทีมพยาบาลใน ICU ที่จะดูแลให้คนไข้คนหนึ่งรอดจนกลับบ้านได้ ดังนั้นการทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าไม่ครบทีมงานจะเริ่มไม่ได้และไม่สำเร็จ การมี relationship ที่ดีในระหว่างคนในทีมจะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ข้อสอง วิทยาการทางการแพทย์นั้นมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และลงลึกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแพทย์แต่ละคนรักษาคนไข้เป็นส่วน ๆ แม้จะอยู่ในสาขาเดียวกัน ทำให้การรักษาแบบองค์รวมอาจจางหายไป อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้พวกเรายังคงคำนึงถึงการรักษาคนไข้แบบองค์รวมไว้
ข้อสาม ในสภาพแวดล้อมสมัยใหม่ปัจจุบัน ในยุคที่คนเท่าเทียมกัน คนไข้คาดหวังสูงจากแพทย์ ดังนั้นแพทย์จะต้องมี communication skill ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงจะต้องมี soft skill หรือ nontechnical skill อื่น ๆ ร่วมด้วย จึงจะทำให้การทำงานราบรื่นไปได้ด้วยดี
สุดท้าย ด้วยงานทางศัลยกรรมทรวงอกเป็นงานที่หนักตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ขอให้น้อง ๆ Work-life balance (คลิกอ่านเพิ่มเติม) จัดชีวิตส่วนตัว และครอบครัวมีความสำคัญ ตลอดจนการดูแลสุขภาพตัวเองก็เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้
- Let’s get updated โดย นพ. คมสิงห์ เมธาวีกุล
- Expert interview อาจารย์ นพ. พันธุ์พิษณ์ สาครพันธ์
- Expert interview อาจารย์ นพ. ปุณณฤกษ์ ทองเจริญ
- Expert interview อาจารย์ นพ. นภดล เพ็ญกิตติ