“เป็นคนกล้าคิด กล้าลงมือทำ และสนุกไปกับสิ่งที่ทำ ด้วยนิสัยส่วนตัวเป็นคนพูดน้อยมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ชอบทำมากกว่าพูด ซึ่งเป็นข้อดีและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จได้”
ผศ. พญ. พิชญาภา รุจิวิชญญ์
หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการสุขภาพและวิชาการ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคปอด
บ้านเกิดอยู่จังหวัดชลบุรี ตอนเด็ก ๆ ไม่สบายบ่อย นอนโรงพยาบาลเกือบทุกเดือน บางเดือนหลายรอบ จนคุณพ่อคุณแม่ต้องพาไปเปลี่ยนชื่อกับพระอาจารย์ ประกอบกับคุณพ่อคุณแม่ทำงานด้านสายสุขภาพทำให้คุ้นเคยกับโรงพยาบาลมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจเลือกเรียนแพทย์ เพราะรู้สึกไม่ชอบบรรยากาศหดหู่ในโรงพยาบาลและกลัวเลือดมาก ถึงขั้นเป็นลมเวลาเห็นเลือด ต่อมาย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนหอวัง ช่วงนั้นคุณพ่อคุณแม่ได้ทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาพร้อมกัน จึงอยู่กับพี่ชาย นพ. พีรพัศฆ์ รุจิวิชชญ์ ปัจจุบันเป็นศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และคุณป้าที่เป็นพี่สาวคุณแม่ ตอนนั้นไปแอบเรียนคอร์สติวเข้าสถาปัตย์ด้วย เพราะสนใจการออกแบบ สร้างสรรค์ แต่มีอยู่ช่วงอาม่าที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็ก เกิดป่วยหนัก ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต พร้อม ๆ กับอากงก็ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีก เราไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย จึงรู้สึกว่าการเรียนหมอจะทำให้เราช่วยเหลือครอบครัวและผู้อื่นได้ ประกอบกับโชคดีได้กลุ่มเพื่อนที่ขยันตั้งใจเรียน และจะสอบเข้าแพทย์กัน สุดท้ายก็เลือกสอบเพื่อเรียนแพทย์ โดยเพื่อนในกลุ่มสอบติดแพทย์หลายคน ส่วนเราสอบตรงได้ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระหว่างที่เป็นนักศึกษาแพทย์เป็นเด็กสายกีฬา ไม่ชอบนั่งอ่านหนังสือคนเดียวเป็นเวลานาน ๆ เป็นคนชอบนั่งอ่านหนังสือสลับกันติวสรุปกับเพื่อน ๆ มากกว่า ทำให้ปลูกฝังนิสัยชอบสรุปและชอบสอนมาตั้งแต่ตอนนั้น เรียนจนถึงระดับชั้นคลินิกได้มีโอกาสฝึกตามวอร์ดต่าง ๆ รู้สึกชอบในการทำหัตถการมาก เพราะรู้สึกว่าทำได้ดี มีทักษะทางด้านนี้เป็นพิเศษ โดยในตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์สนใจทางด้านสูตินรีเวชมากที่สุด
“ไม่รู้เป็นที่ดวงตัวเองหรือเปล่า
ตอนอยู่สาขาสูติฯ
เจอแต่เคสที่หนัก ๆคนไข้มีภาวะน้ำคร่ำอุดตัน
ในกระแสเลือดจนหัวใจหยุดเต้นคนไข้ Criminal abort
ต้องขูดมดลูกกันตอนตี 2 – 3เวลาทำหัตถการจะรู้สึกหดหู่
และคิดว่าอาจไม่ใช่ทางเรา”
พอจบแพทย์แล้วไปใช้ทุน 1 ปีที่รพ.ชลประทาน เสร็จแล้วไปสมัครเป็นแพทย์ 4 ตำแหน่งอาจารย์ในสาขาขาดแคลนที่คณะแพทยธรรมศาสตร์ เริ่มแรกก็อยู่สาขาสูตินรีเวชก่อน แต่ตอนนั้นไม่รู้เป็นที่ดวงตัวเองหรือเปล่า เจอแต่เคสที่หนัก ๆ เช่น เคสมาคลอดแล้วมีภาวะน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือดจนหัวใจหยุดเต้น ซึ่งไม่ได้พบบ่อย เคสคนไข้ Criminal abort ต้องขูดมดลูกกันตอนตี 2 – 3 เจอทุกครั้งที่อยู่เวร เวลาทำหัตถการจะรู้สึกหดหู่ใจมาก ตอนหลังก็ได้ปรึกษาอาจารย์ผู้ใหญ่ว่าไม่น่าจะใช่ทางของเรา ก็เลยขอเปลี่ยนมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านอายุรกรรมที่มีหัตถการเยอะและยังขาดแคลนอยู่ สุดท้ายก็ได้มาอยู่กับ ผศ. นพ. อภิชาติ คณิตทรัพย์ โดยอาจารย์เป็นหมอโรคปอดคนเดียวที่ธรรมศาสตร์ตอนนั้น ต่อมาจึงมีความสนใจและเลือกเรียนเฉพาะทางในสาขาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตระบบการหายใจ อนุสาขาการทำหัตถการทางทรวงอกและหลอดลม (Interventional Pulmonology) และเป็นอาจารย์แพทย์ถ่ายทอดความรู้ให้แพทย์รุ่นหลัง
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
ขอเน้นเป้าหมายในการเป็นแพทย์เป็นหลัก เริ่มจากเป้าหมายด้านการรักษา หลังจากที่เรียนจบเฉพาะทาง ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยในเคสที่ยากและหลากหลาย ทำให้ต้องฝึกฝน หาความรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะงานทางด้านหัตถการทางทรวงอกและหลอดลม ซึ่งในปัจจุบันมีอุปกรณ์และเทคนิคใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย จึงได้จัดตั้งกองทุนโรคระบบการหายใจขึ้น เพื่อให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์และมีจิตศรัทธาบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์โรคระบบการหายใจ ด้านหัตถการทางทรวงอกและหลอดลมและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อผู้ป่วยที่ยากไร้ เพราะบางอุปกรณ์ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์การรักษา โดยล่าสุดด้วยความช่วยเหลือจากกองทุนฯ สามารถจัดหาอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำหัตถการทางทรวงอกและหลอดลมต่าง ๆ ได้แก่ EBUS-TBNA, pleuroscopy, ultrasound guided TTNB, rigid bronchoscopy, laser, cryoprobe และคาดว่าจะเปิดการทำหัตถการทางทรวงอกและหลอดลมทุกอย่างได้ครบทั้งหมดภายในปีนี้
เป้าหมายด้านการสอน รู้สึกดีทุกครั้งเวลาที่สอนแล้วผู้เรียน feedback ว่าสอนเข้าใจง่าย โดยจะให้ความสำคัญกับการสอนมากเพราะถือว่าเป็น priority หลักของการเป็นอาจารย์ จากความตั้งใจว่าอยากเผยแพร่ความรู้และพัฒนาองค์กรให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยคาดหวังให้แพทย์เลือกมาเรียนต่อเฉพาะทางที่ธรรมศาสตร์ในอันดับต้น ๆ และตำแหน่งเต็มทุกปี จึงได้จัดกิจกรรมวิชาการของหน่วยฯ และเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์สู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมีช่องทาง online ใน YouTube ชื่อ Chest TU channel ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้แพทย์ประจำบ้านต่อยอดมาสมัครเต็มทุกปีตามเป้าหมาย และได้ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพไปยังจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาทางด้านการเรียนการสอนระดับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านด้วย โดยจะรู้สึกอิ่มใจทุกครั้งที่ความรู้ของเราสามารถต่อยอดให้แพทย์ท่านอื่น ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อได้
เป้าหมายด้านงานวิจัยและตำแหน่งทางวิชาการ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัยให้กับแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (Central Research Ethics Committee: CREC) และเป็นคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ส่วนตำแหน่งทางวิชาการ ตอนนี้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป้าหมายถัดไปคือ รองศาสตราจารย์ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอตำแหน่ง
เป้าหมายด้านการบริหาร ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการสุขภาพและวิชาการ และผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์คูคต เริ่มงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา จัดเป็นงานใหม่ที่ท้าทายเพราะไม่เคยทำมาก่อน ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กร จัดโครงการใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงให้ชุมชนได้เข้าถึงการตรวจรักษาเฉพาะทางมากขึ้น ส่วนงานด้านการบริหารภายนอกคณะ ได้มีโอกาสช่วยงานสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ วาระปี 2565 – 2569 ที่ผ่านมาได้มีส่วนช่วยงานในส่วนต่าง ๆ ของทางสมาคมฯ เช่น จัดตั้ง line official account เพื่อให้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายในปัจจุบัน ร่วมเป็นหนึ่งในทีมทำเว็บไซต์ของสมาคมฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำ COPD guideline และ asthma guideline ของประเทศไทยฉบับล่าสุด รวมถึงงานประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ได้รับโอกาสเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วาระปี 2567 – 2569 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำทุก ๆ หน้าที่ให้ดีที่สุด ตามที่ได้รับมอบหมายเต็มความสามารถ
“การคิดบวก มี passion
กับสิ่งที่ทำ อยากจะ
พัฒนาอยู่เสมอเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้
ผลของงานออกมาดี”
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร
จริง ๆ แล้ว เป้าหมายที่จะสำเร็จได้ ประกอบด้วยหลายปัจจัยทั้งภายในจากตัวเราเองและภายนอกจากสภาวะแวดล้อม ปัจจัยแรก จากตัวเราเองที่มีความมุ่งมั่น อดทนต่อความยากลำบากและรับผิดชอบสูงต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมาย หากคิดจะทำสิ่งใดก็จะมุ่งมั่นทำให้ถึงที่สุด แม้จะเหนื่อยมากหรือต้องอดหลับอดนอนและทำซ้ำ ๆ ต้องยอมรับว่าการเรียนและการทำงานในขณะที่มีลูกเล็ก ๆ 2 คน เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความอดทน และยังต้องแบ่งเวลาให้ดี โดยจะเข้านอนกับลูกทุกวัน ประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง ช่วงที่เรียน intervention ที่ศิริราชเป็นช่วงที่เหนื่อยมาก เพราะเดินทางไปกลับบ้านแถวแจ้งวัฒนะ บางวันจะต้องตื่นขึ้นมาตอนตี 1 – 2 เพื่อเตรียมอ่านวิจัย ตอนตีห้าครึ่ง ต้องออกจากบ้านแล้ว ไม่งั้นรถติดจะไปไม่ทัน บางวันต้องกลับมาทำอาหารแช่ฟรีสเก็บตุนไว้อุ่นให้ลูกกิน ตอนนี้ลูกโตขึ้นเข้านอนเองได้ ทำให้มีเวลามากขึ้น แต่งานที่รับผิดชอบก็มากขึ้นตามลำดับเช่นกัน ดังนั้น การแบ่งเวลาและจัดลำดับความสำคัญของงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกจากนี้ความเป็นคนกล้าคิด และกล้าลงมือทำ และสนุกไปกับสิ่งที่ทำโดยเฉพาะสิ่งใหม่ ๆ ด้วยนิสัยส่วนตัวเป็นคนพูดน้อยมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้ชอบทำมากกว่าพูด ซึ่งเป็นข้อดีและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ โดยจะไม่ปิดกั้นตัวเองในการหาความรู้ใหม่ ๆ ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ทางด้านการแพทย์ งานไหนไม่เคยทำก็จะไปศึกษาด้วยตนเอง สอบถามผู้รู้ และลองลงมือทำทันที ผิดถูกก็ค่อย ๆ ปรับแก้ไขไปจนกระทั่งเข้าที่เข้าทาง ร่วมกับการเป็นคนคิดบวก และมี passion กับสิ่งที่ทำ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผลของงานออกมาดี เมื่อเราสนุกกับสิ่งที่ทำ ก็จะมีความคิดที่อยากจะทำ อยากจะพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
ปัจจัยที่สอง จากปัจจัยภายนอก การที่มีทีมงานที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะช่วยให้การทำงานส่วนต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงด้วยดีและทันเวลา ในส่วนนี้ต้องขอขอบคุณเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน เพื่อนร่วมวิชาชีพต่างๆ รวมถึงทีมงานสายสนับสนุนรอบข้างทุกส่วนงานที่ช่วยกันทำงาน ทำให้งานต่าง ๆ บรรลุได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ขอขอบคุณครอบครัวที่เข้าใจและสนับสนุนเรื่องการทำงานมาโดยตลอด
“ในส่วนนี้ต้องขอขอบคุณ
เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานเพื่อนร่วมวิชาชีพต่าง ๆ
รวมถึงทีมงานสายสนับสนุนรอบข้างที่ช่วยกันทำให้
งานบรรลุได้ตามเป้าหมาย”
บางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
การทำงานหรือการดำเนินชีวิตมีช่วงขาขึ้นและช่วงขาลง เป็นสัจธรรมของชีวิต การมีอุปสรรคจึงเป็นเรื่องปกติ การเป็นคนมองโลกในแง่บวก ทำให้มองอุปสรรคเป็นหนึ่งความท้าทาย และค่อย ๆ คิดว่าอุปสรรคเกิดจากอะไร ตรงไหนเราแก้ได้ก็ค่อย ๆ ปรับแก้ไขให้ตรงสาเหตุและความเร่งด่วน และต้องรู้จักปล่อยวางกับเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ วันหนึ่งถ้าเราก้าวผ่านอุปสรรคมาได้ แล้วมองย้อนกลับไปจะภาคภูมิใจมาก
อย่างช่วงสถานการณ์โควิดระบาดก่อนมีวัคซีน ช่วงนั้นเป็นประธานคณะทำงานดูแลเครื่องช่วยหายใจและเป็นประธานคณะทำงานหอผู้ป่วยวิกฤติระบบการหายใจของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ควบตำแหน่งกันพอดี โดยมีวาระ 2 ปี จึงเหมือนเป็นความรับผิดชอบที่ต้องพาทีมงานผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันให้ได้ เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ การรักษาในช่วงแรก ๆ ก็ยังไม่มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน เตียงก็ไม่เพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วย ทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตไปต่อหน้า เนื่องจากทรัพยากรที่จำกัด ทั้ง ๆ ที่เราน่าจะช่วยได้ดีกว่านี้ ช่วงนั้นต้องยึดหลักปรับตามความเร่งด่วน รู้จักการ call for help งานบางอย่างเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องรู้จักปรึกษาผู้ใหญ่และทีมงาน ปล่อยวางกับสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ทำให้เต็มที่และดีที่สุดในจุดที่เราอยู่ เพื่อที่จะไม่กลับมาเสียใจทีหลัง ว่าวันนั้นทำไมเราไม่ทำ จนในที่สุดก็สามารถผ่านวิกฤตินั้นมาได้ ต้องขอขอบคุณทีมงานและแรงสนับสนุนจากทุกฝ่ายจริง ๆ
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คำตอบแรกที่นึกถึงเลยคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเสียสละและทรงงานหนักเพื่อประชาชน ทำให้เวลาที่งานล้นมือ เหนื่อยมาก ๆ นึกถึงท่านเราก็มีแรงและอดทนทำงานต่อไปได้ ท่านที่สองคือคุณพ่อคุณแม่ ท่านเป็นแบบอย่างในการทำงานหนักเพื่อครอบครัว ท่านคอยปลูกฝังให้อดทน มุ่งมั่น เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และท่านที่สามคือ คุณครูทุก ๆ ท่าน แต่ละท่านเป็นต้นแบบในด้านต่าง ๆ ที่สามารถเลือกยึดมาเป็นคุณครูต้นแบบในแต่ละด้านจนผสมผสานเป็นตัวเราในทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น รศ. นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล และรศ. พญ. สุรีย์ สมประดีกุล ท่านเป็นคุณครูต้นแบบในความเป็นครู ท่านคอยชี้แนะและติดตามการทำงานของลูกศิษย์อยู่เสมอ รศ. นพ. แจ่มศักดิ์ ไชยคุนา และ รศ. นพ. ศุภฤกษ์ ดิษยบุตร เป็นคุณครูต้นแบบในด้านการทำหัตถการทางทรวงอกและหลอดลม ท่านเก่งมาก สามารถช่วยผู้ป่วยในเคสที่ยาก ๆ ให้กลับมาดีได้ จนอยากเก่งให้ได้สักครึ่งของท่านทั้งสอง
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
เป็นคนที่เชื่อมั่นว่า “ความดีจะคุ้มครองเราเอง” ทำดีแม้จะไม่มีใครเห็น สิ่งที่ได้อันดับแรกคือความสุขที่ใจของเราเอง แล้วเราก็จะอยากทำสิ่งดี ๆ อยู่เสมอ
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
เนื่องจากปัจจุบันที่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์มากขึ้น แพทย์รุ่นใหม่ เป็นยุคดิจิตอลตจะต้องใช้เทคโนโลยี ระบบอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ร่วมในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งการใช้ AI ให้ถูกวิธีเป็นประโยชน์ที่ดีและจะช่วยพัฒนาวงการแพทย์ได้อย่างมาก โดยทิศทางการแพทย์อนาคตของเมืองไทยจะพบผู้ป่วยสูงอายุมากขึ้น ผู้ดูแลที่เป็นบุตรมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากผู้สูงอายุรุ่นหลังจะยิ่งมีบุตรน้อยลงมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและภาระการใช้จ่ายงบประมาณโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เกิดปัญหาความไม่เพียงพอของสถานที่ดูแล พักฟื้น และ ช่วยเหลือในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ การแพทย์ในในอนาคตต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับปัญหานี้
ถ้าให้เลือกปรับปรุง 2 ข้อ เพื่อที่จะทำให้การแพทย์ไทยในอนาคตดีมากขึ้นไปกว่าเดิม อยากปรับปรุงเรื่องใด เพราะอะไร
- เน้นให้ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ อย่างมีคุณภาพ ลดปัญหาของสาธารณสุขในระยะยาว
- พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในอนาคต
“สำหรับแพทย์เฉพาะทาง
โรคระบบการหายใจ
และภาวะวิกฤติรุ่นใหม่ ๆ
ขอให้ภูมิใจที่เป็น
แพทย์เฉพาะทางด้านนี้
เพราะเราสามารถช่วยชีวิต
คนไข้ในภาวะวิกฤติได้
แม้งานจะหนักแต่น่าภาคภูมิใจ
และอย่าลืมที่จะใส่ passion
ในการทำงาน ไม่ปิดกั้นตัวเอง…”
ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
เนื่องจากสังคมในปัจจุบันเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและโลกออนไลน์ ผู้คนเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้มากขึ้น จริยธรรมทางการแพทย์ โดยยึดมั่นคำสอนของพระบิดา “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์” เป็นหลักคำสอนที่ใช้ได้จริง ส่วนความสำเร็จและเป้าหมายของแต่ละคนคงไม่เท่ากัน ต้องหาความต้องการและวางเป้าหมายก่อนว่าคืออะไร เช่น อาจารย์แพทย์ แพทย์พัฒนาชุมชน แพทย์วิจัย ฯลฯ หากมีเป้าหมายเราจะเห็นทางเดินและกระบวนการวางแผนถึงจะเกิดขึ้น โดยส่วนตัวเวลาตั้งเป้าหมาย จะชอบตั้งเป้าหมายย่อยระหว่างทางไปเป้าหมายหลักด้วย จะรู้สึกมีกำลังใจมากกว่า หากสำเร็จก็จะให้รางวัลตัวเอง แต่หากไม่สำเร็จก็จะคิดทบทวนว่าเกิดจากอะไร และนำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงในครั้งหน้า
ในส่วนของแพทย์เฉพาะทางโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติ จงภูมิใจที่เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ เพราะเราสามารถช่วยชีวิตคนไข้ในภาวะวิกฤติได้ แม้งานจะหนักแต่น่าภาคภูมิใจ และอย่าลืมที่จะใส่ passion ในการทำงาน ไม่ปิดกั้นตัวเองในการที่จะอัพเดตความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องแม้จะสำเร็จการศึกษาแล้ว เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
- Let’s get updated โดย รศ. พญ. สุรีย์ สมประดีกุล
- แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ควรรู้