เรียบเรียงโดย รศ. นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Sonuch P, Aekplakorn W, Pomsanthia N, Boonyagarn N, Makkawan S, Thongchai S, Tosamran W, Kunjang A, Kantachuvesiri S. PLoS One. 2024 Nov 22;19(11):e0311908. doi: 10.1371/journal.pone.0311908. eCollection 2024.PMID: 39576798
การบริโภคเกลือโซเดียมสูงจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเกิดโรคแทรกซ้อนทางไต หัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว การลดเกลือในอาหารเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากคนที่เป็นความดันโลหิตสูงและผู้บริโภคที่กินเค็มอยู่นาน ๆ มักขาดความตระหนักและเคยชินกับอาหารเค็ม สาเหตุเนื่องมาจากการรับรสเค็มของลิ้นน้อยกว่าคนปกติ ดังนั้นเครื่องวัดเกลือจึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการปรับการรับรสและพฤติกรรมของผู้บริโภค และสามารถใช้ในการตรวจวัดปริมาณเกลือในอาหารประจําวัน การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร J Clin Hypertens (Greenwich). 2021 Oct; 23(10): 1852-1861.โดย รศ. นพ. ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ และคณะ จากสาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ได้ทําการทดลองโดยให้เครื่องวัดเกลือแก่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไปใช้ที่บ้านเพื่อการตรวจสอบการบริโภคเกลือด้วยตนเองร่วมกับการให้ความรู้การกินอาหารที่ถูกต้องเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ความไวของการรับรสเค็ม (เกลือ) ดีขึ้น ผู้ป่วยกินเค็มน้อยลง และการควบคุมความดันโลหิตดีขึ้นกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับความรู้เพียงอย่างเดียว ส่วนการประยุกต์การใช้เครื่องวัดเกลือในชุมชนนั้น งานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ใน PLoS One. 2024 Nov 22;19(11):e0311908 เครือข่ายลดการบริโภคเค็มได้ทำการวิจัยร่วมกับทีมสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ และภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 ทำการศึกษาใน 6 ตำบลที่จังหวัดอุทัยธานี โดยศึกษาวิจัยทดลองแบบสุ่มในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอายุ 18-70 ปี จำนวน 219 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ เครื่องวัดเกลือแก่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไปใช้ที่บ้านเพื่อติดตามการบริโภคเกลือในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงร่วมกับการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนและปรับสิ่งแวดล้อมให้มีการเพิ่มอาหารเค็มน้อยไว้บริการในร้านอาหารในชุมชน โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่า หลัง 12 สัปดาห์พบการเปลี่ยนแปลงความดันซิสโตลิกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (-13.5 และ -9.5 มิลลิเมตรปรอท, P=0.030) แต่ไม่พบความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงความดันไดแอสโตลิก (-6.4 และ -4.8 มิลลิเมตรปรอท, P=0.164) คนไข้กลุ่มทดลองกินเค็มน้อยลงโดยดูจากปริมาณเกลือโซเดียมในปัสสาวะลดลงจากก่อนเข้าการศึกษา 575 มิลลิกรัมต่อวันในกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญ (P=0.004) เมื่อเทียบกับการลดลงของปริมาณเกลือโซเดียมในปัสสาวะ 299 มิลลิกรัมต่อวันในกลุ่มควบคุม (P=0.267) แต่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม (P=0.194) นอกจากนี้พบความแตกต่างของพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (P=0.035) ซึ่งแสดงว่าการใช้เครื่องวัดเกลือร่วมกับการปรับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารโซเดียมต่ำมีประโยชน์ในการลดความดันโลหิตและการบริโภคเกลือของประชาชนในชุมชน โดยการใช้เครื่องวัดเกลือสามารถช่วยผู้บริโภคลดปริมาณเกลือในอาหารทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปช่วยให้แต่ละคนสามารถปรับลิ้นให้คุ้นเคยรสชาติที่เปลี่ยนไปได้เมื่อเวลาผ่านไป ประกอบกับเพิ่มความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ จะนําไปสู่ความชอบอาหารเค็มน้อย หรือเป็นนิสัยที่เค็มน้อยอร่อยได้ ซึ่งนําไปสู่การควบคุมการบริโภคเกลือและความดันโลหิตที่ดีขึ้นภายในชุมชนอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดีการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดที่ระยะเวลาติดตามค่อนข้างสั้นเพียง 12 สัปดาห์ ซึ่งการติดตามผลระยะยาวและการศึกษาในกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันน่าจะให้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิผลของการใช้เครื่องมือนี้
เรียบเรียงโดย รศ. นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ดาว์นโหลดเอกสารฉบับภาษาอังกฤษ PDF https://doi.org/10.1371/journal.pone.0311908