รศ. นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม
เครือข่ายลดบริโภคเค็ม มีความเป็นมาอย่างไร
โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัจจุบันโรคเหล่านี้มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน ผลกระทบทำให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต มีภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมาอย่างมหาศาล สาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรม “กินเค็มเกินไป”
ปี พ.ศ. 2554 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้เห็นความสำคัญของการลดเค็ม โดยนอกจากมีส่วนทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแล้ว ยังมีผลโรคกระดูกพรุนและมะเร็งกระเพาะอาหารอีก จึงมีการรณรงค์เนื่องในโอกาสวันไตโลก ซึ่งจัดทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 เดือนมีนาคมของทุกปี โดยคำขวัญในตอนนั้นคือ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยไตไม่วาย” โดยต่อมาสมาคมฯก็ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อหลายช่องทาง
ปี พ.ศ. 2555 องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า ลดเค็ม 30 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 10 ปีจะช่วยให้ประชาชนในประเทศสมาชิกมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและโรคไม่ติดต่อได้ ในปีนั้นเราได้รับงบประมาณจากทางสสส. จัดการประชุมภาคีทั้งหมดรวมกว่า 40 ท่าน มีสมาคมโรคไตฯ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ภาครัฐฯ ภาคเอกชน กระทรวงสาธารณสุข สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ โดยได้มีการพูดถึงการลดเค็ม ทางภาคีก็เลยให้ผมเป็นประธานคนแรก เนื่องจากผมทำตรงนี้มาก่อน ผมก็ได้หาทุนร่วมกับสสส. เพื่อมารณรงค์ให้ความรู้เรื่องการ “ลดเค็ม” กับสังคมในหลาย ๆ ช่องทาง
ปัจจุบันเครือข่ายลดบริโภคเค็มมีการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน และมีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ครอบคลุมระดับหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศไทย สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย องค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่ง เครือข่ายรักหทัย และแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพของมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เป็นต้น
แนวทางการทำงานและเป้าหมายและผลสำเร็จของเครือข่ายฯ
โดยแนวทางการทำงานที่สำคัญ อย่างแรก ต้องสื่อสารให้ประชาชนรู้ก่อนว่าการ “ลดเค็ม” สำคัญอย่างไร ทำไมประชาชนถึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างที่สอง ก็ต้องสื่อสารให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรู้ว่าการ “ลดเค็ม” สำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องมีการปรับสิ่งแวดล้อมให้สนับสนุนการ “ลดเค็ม” ซึ่งหมายถึงว่า อาหารที่ทำมาจากร้านค้า ตลาด สตรีทฟู๊ด ภัตตาคาร อาหารพร้อมบริโภคต้องไม่เค็มเกินไป หรือต้อง “ลดเค็ม” ลงอีก เป็นต้น โดยมีการทำการศึกษาวิจัยเพื่อนำเสนอข้อมูลให้เห็นถึงความสำคัญของการ “ลดเค็ม” ไปยังประชาชน ภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ โดยการสื่อสารผ่านหลายหลายช่องทาง
“10 ปีที่ผ่านมา
คนไทยบริโภคเกลือโซเดียม
ลดลงปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเราก็ยังไม่พอใจ
เราอยากจะให้ลดลงมา
ปีละ 3 เปอร์เซ็นต์”
สำหรับเป้าหมายเริ่มมา 10 กว่าปีแล้วนะครับ คืออยากให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือโซเดียม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเคยกิน 100 ลดลงให้เหลือ 70 ภายในระยะเวลา 10 ปี ก็คือลดปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ผลการสำรวจเมื่อ 12 – 13 ปีที่แล้ว คนไทยบริโภคเกลือโซเดียม 4,300 มิลลิกรัม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินแค่วันละ 2,000 มิลลิกรัม ปี 2020 เราก็สำรวจอีกทีโดยการตรวจปัสสาวะ 24 ชั่วโมง อันนี้ก็เป็นการตรวจมาตรฐาน ดูว่าปริมาณเกลือในปัสสาวะ 24 ชั่วโมงมันจะเท่ากับหรือใกล้เคียงกับการบริโภคโซเดียมที่ออกมาเพราะว่าไตมีหน้าที่ขับโซเดียม เราพบว่า คนไทยกินเค็มประมาณ 3,600 มิลลิกรัม ลดลงมาประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาก็ลงมาปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็ยังไม่พอใจนะครับ เราอยากจะลดลงมาปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอีก 3 ปีเราจะสำรวจอีกครั้ง ซึ่งผมจะวางแผนสำรวจทุก 5 ปีครับ ก็อยากจะให้ลง 5-10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าได้ 10 เปอร์เซ็นต์ก็ดีมากครับ
อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงานของเครือข่าย ฯ ที่ผ่านมา
ในส่วนของประชาชนทั่วไปหรือคนที่สุขภาพดีนั้น ส่วนใหญ่จะยังไม่เห็นความสำคัญของสุขภาพมากนัก ตัวอย่างเช่น ถ้าเขาป่วยไม่มากหรือไม่มีอาการอะไร ให้เขาไม่ไปกินชาบู เขาบอกเลยเขาทำไม่ได้ อาจารย์มายุ่งอะไรกับเขา แต่กลับกันคนที่ป่วยพอพูดกันได้ ตรงนี้เราต้องพยายามปรับสิ่งแวดล้อมช่วยเหลือเขา ก็จะเป็นในภาคอุตสาหกรรม กับเรื่องการสื่อสารของเครือข่ายฯ อาจจะยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล ประชาชนอาจยังไม่รู้เรื่องของการ “ลดเค็ม” ซึ่งปัจจุบัน เราก็ใช้สื่อออนไลน์เข้ามาเสริม มีการนำบุคคลต้นแบบและเชฟมาช่วยแนะนำให้เขาทำตามกัน ประกอบกับสื่ออีกหลากหลายช่องทาง
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราได้คุยมา 5 ปีแล้ว บอกให้ช่วยลดความเค็มลง เขาก็รับปากนะว่าจะทำให้ แต่หลังจากนั้นเขาก็ลืม มีอุตสาหกรรมเป็นร้อยบริษัท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมบริโภคแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ไม่สามารถบังคับสมาชิกได้ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำอาหารประเภทนี้ หรือเค็มน้อยเท่านี้ เข้าใจว่าเขาต้องดูจากความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ถ้าผู้บริโภคชอบแบบนี้เขาก็ทำแบบนี้ภาคอุตสาหกรรมเขาไม่ได้เน้นสุขภาพ เพราะเขาทำธุรกิจ เขาต้องดูรายได้ ดูกำไร ดูผู้ถือหุ้นก่อน ส่วนเรื่องของสุขภาพจะทำเป็น CSR ก็ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง
ถ้าเราออกกฎหมาย จะมีอยู่ 2 ประเด็นคือ หนึ่ง กำหนดปริมาณโซเดียมหรือปริมาณเกลือมาตรฐาน ซึ่งเราได้คุยกับทางกรมควบคุมโรคกับ อย. ว่าเราจะออกกฎหมายแบบนี้ หรือจะออกข้อบังคับว่าโซเดียมในอาหารแต่ละประเภทไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ เป็นเพดานโซเดียม หรือสอง ออกเป็นภาษีเลย ถ้าเกลือน้อยดีต่อสุขภาพ ภาษีก็ศูนย์เปอร์เซ็นต์ไม่เก็บเลย ถ้าเค็มปานกลางถึงมากก็เก็บภาษี 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเค็มมากที่สุดก็เก็บภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือผมยกตัวอย่างตัวเลขไว้ยังไม่ได้ข้อสรุป หรือคิดภาษีแบบขั้นบันได ยิ่งเค็มมากก็ยิ่งเสียภาษีมาก ผมไปคุยกับกรมสรรพสามิตเขาก็บอกว่าน่าสนใจอยู่นะ แต่อุตสาหกรรมฯ เขาก็ต่อต้าน เขาไม่อยากโดนภาษี มันก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ แต่คุณลดเกลือลงมาต่ำกว่าเพดานได้ไหม คุณก็จะไม่เสียภาษี
“แนะนำว่าให้ลดความเค็ม
ลงเดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ลิ้นมันจะค่อย ๆ
ปรับไปเอง 3 เดือน
จะลดลงไป 30 เปอร์เซ็นต์”
ทำไมภาคอุตสาหกรรมบางราย ถึงยังใส่เกลือสูง
ส่วนใหญ่ที่เค็มมาก ๆ เป็นเรื่องของรสชาติ สังเกตดูบะหมี่กึ่งสำเร็จที่บอกว่าถนอมอาหาร จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเกลือจะอยู่ในผงปรุง เป็นซองที่แยกอยู่ในซองบะหมี่ ส่วนเกลือที่ใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่วนใหญ่ไม่ได้ถนอมอาหารนะครับ จะเพื่อรสชาติมากกว่า เกลือในซองเครื่องปรุงจะอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เกลือที่อยู่ในบะหมี่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเกลือ 80 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ที่รสชาติล้วน ๆ เกลือที่ถนอมอาหารแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แบบนี้ลดเกลือลงมาได้ เพียงแต่เขาทำตามความชื่นชอบของผู้บริโภค ข้าวกะเพราที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อมีหลายยี่ห้อ ความเค็มของโซเดียมอยู่ที่ระดับ 800 – 1,300 ซึ่งข้าวกะเพราจริง ๆ ระดับความเค็มของโซเดียม 800 ก็อยู่ได้แล้ว อาหารไม่เสีย แต่ที่บางยี่ห้อไปถึง 1,300 ก็เพื่อปรับรสชาติให้มันดีขึ้น ให้เค็มมากขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค แต่ถ้าถามว่า เกลือมีความจำเป็นต่อสุขภาพไหม ต้องกินไหม ก็คือต้องกินครับ แต่เรากินเกลือมากกว่าความต้องการถึง 2 เท่า ถ้าลดเกลือมาครึ่งหนึ่งร่างกายก็อยู่ได้สบาย ๆ ขอลดแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นระดับที่ปลอดภัยอยู่มาก ๆ
ประชาชนทั่วโลกส่วนใหญ่กินเกลือเกินทั้งสิ้น 1.5 – 2.5 เท่า ประเทศไทย 1.8 – 2 เท่า ถ้าเราค่อย ๆ ลดความเค็มลงมา แนะนำว่าให้ลดความเค็มลงมา 10 เปอร์เซ็นต์ ลิ้นมันจะค่อย ๆ ปรับไปเอง เดือนต่อไปลดอีก 10 เปอร์เซ็นต์ 3 เดือน ลดลงไป 30 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เราก็มีหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ออกนโยบายยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือโซเดียมแห่งชาติแล้วโดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกนโยบายเมื่อปี 2559
กิจกรรมเครือข่ายและงานวิจัย
กิจกรรมที่ทำกันมาคือ เราสอนตามยุทธศาสตร์ครับ ยุทธศาสตร์หนึ่งคือให้ความรู้แก่ประชาชน ให้ความรู้ว่ากินเค็มมีอันตรายอย่างไรและจะลดเค็มอย่างไร ซึ่งเราได้ร่วมกับ สสส. นะครับ ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่าง ๆ คือ 1) ลดซด เวลากินอาหารให้กินน้ำซุปน้อย ๆ เพราะเกลือละลายอยู่ 60 เปอร์เซ็นต์ อย่างก๋วยเตี๋ยว 1 ชามมีเกลือโซเดียมละลายอยู่ในน้ำซุป 60 เปอร์เซ็นต์ 2) ลดปรุง หมายความว่า อาหารบนโต๊ะเขาปรุงมาจากในครัวแล้วก็ยังปรุงเพิ่ม ก็เหมือนการเพิ่มเกลือโซเดียมอีกรอบ และ 3) เราจะทำกันในปีหน้าครับคือ ลดน้ำจิ้ม เพราะว่าเกลือส่วนใหญ่จะอยู่น้ำจิ้ม กินน้ำจิ้มบนโต๊ะอาหารน้อย ๆ จะลดโซเดียมลงไปได้เยอะ ซีอิ้ว น้ำปลา ผงชูรส ซุปก้อน ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ อันนี้เป็นแหล่งของเกลือที่ต้องใส่น้อย ๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำคือ การหาข้อมูล โดยการทำงานวิจัยเพื่อจะออกกฎหมาย ออกระเบียบต่าง ๆ เช่น เราทำวิจัยว่าแหล่งโซเดียมมาจากที่ไหน เราทำวิจัยว่าการปรับสูตรอาหารทำอย่างไรให้รสชาติใกล้เคียงของเดิม โดยที่ยังมีความอร่อยกับการกินและโซเดียมลดลง เราก็ร่วมกับสถาบันโภชนาการ สถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราทำเครื่องวัดความเค็มหรือ Salt Meter เราพัฒนามาจากการวัดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าและปรับเปลี่ยนมาเป็นปริมาณเกลือ เป็นความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครื่องวัดความเค็มนี้สามารถวัดความเค็มในอาหารภายในเวลา 3 วินาที เค็มน้อย เค็มปานกลางหรือเค็มมาก เครื่องวัดนี้เราได้แจกไปทั่วประเทศ ให้ครูที่โรงเรียนช่วยวัดความเค็มในอาหารที่เลี้ยงเด็ก หรือว่าในโรงพยาบาลหรือสถานประกอบการต่าง ๆ สามารถใช้เครื่องวัดความเค็มเข้าจุ่มตรวจ หรือว่าให้อสม.เข้าไปสำรวจอาหารในตลาด ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านเครื่องแกง ขอให้ช่วยลดความเค็มลง 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 1 เดือนก็มาสำรวจใหม่ เป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประโยชน์มาก เพราะว่าการวัดความเค็ม ถ้าวัดด้วยลิ้นมันเชื่อไม่ได้ เราเลยต้องมีเครื่องวัดความเค็มที่เราร่วมทำกับมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนการทำวิจัยอื่น ๆ เราก็ทำนะครับ เช่น การสำรวจการบริโภคเกลือโซเดียมทั่วประเทศ การสำรวจปริมาณเกลือในอาหารสำเร็จรูปเป็นอย่างไร การทำวิจัยการใช้เครื่องวัดความเค็มกับการให้ความรู้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
ใน 5 ปีที่ผ่านมาเราพบว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลดโซเดียมลงเฉลี่ยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คือจาก 2,500 มิลลิกรัมต่อ 1 ซองใหญ่ (100 กรัม) ลงมาเหลือ 2,000 มิลลิกรัม และเราพบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางเลือกสุขภาพ ไม่เค็มเกิน มีประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมดที่ขายอยู่ในตลาด มี 16 เปอร์เซ็นต์ที่เค็มน้อย ส่วนที่เหลือยังเค็มเต็มที่อยู่ ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะว่าการปรับสูตรของอุตสาหกรรมยังน้อยเกินไป เพราะ 100 คนกินบะหมี่สำเร็จรูปมีถึง 84 คนที่มีความเสี่ยง ส่วนอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เกต พบว่าความเค็มไม่ลดลง ก็เป็นเป้าหมายที่เราต้องพยายามเข้าไปคุยเจ้าใหญ่ ๆ หรือสุดท้ายก็ต้องออกเป็นกฎหมายออกมา
“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด
ที่ขายอยู่ในตลาด
มี 16 เปอร์เซ็นต์เค็มน้อย
ส่วนที่เหลือยังเค็มเต็มที่อยู่
…..ส่วนอาหารแช่เย็นแช่แข็ง
พบว่าความเค็มไม่ลดลง”
ถามว่าให้ความรู้กับประชาชนหรือภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ขอตอบว่า จากการสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทยโดยสถาบันวิจัยต่าง ๆ พบว่า คนไทยทำกับข้าวกินเองที่บ้านถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างจังหวัด อีก 50% ที่เหลือ เป็นอาหารสตรีท ฟู้ด 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขึ้นกับพ่อค้าแม่ค้า คนกินเป็นคนสั่ง ทางเครือข่ายจึงให้ความรู้กับผู้บริโภคสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ อีก 40 เปอร์เซ็นต์เป็นการเน้นไปที่อุตสาหกรรมอาหาร ที่ทำซีอิ้วขาว ทำซอสปรุงรส โดยต้องบอกเขาว่า คุณต้องทำซอสปรุงรสโซเดียมต่ำ น้ำปลาโซเดียมต่ำ เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ก็มีบางรายทำ ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ราคายังสูงอยู่ ถ้ามีการออกมาในรูปกฎหมาย อันนี้จะเป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะว่าอุตสาหกรรมพวกนี้เขาสามารถหยุดทำก็ได้ถ้าผู้บริโภคไม่สนใจ หรือมีกฎหมายบังคับ
ส่วนการสำรวจผู้บริโภคพบว่า คนที่กินเค็มส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน เราสำรวจมาทั่วประเทศเมื่อ 2 ปีที่แล้วจำนวน 2,500 คน ผมเข้าใจว่าคนวัยทำงานกินอาหารนอกบ้าน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็ไปกินบุฟเฟ่ต์ ชาบู หมูกระทะกัน อาหารต่าง ๆ เหล่านี้โซเดียมสูงมาก ๆ เค็มมาก และสังเกตว่ากินอาหารพวกนี้หิวน้ำจัดเลยเพราะว่ามันเค็มมาก บางทีเป็นเค็มแฝงคือ รสชาติกลมกล่อมและนัว เพราะเขาใส่ผงชูรสเยอะ ใส่ซอสปรุงรสเยอะ จะเป็นรสชาติหวาน ๆ เค็ม ๆ ทำให้ทานได้เยอะมาก เสร็จแล้วก็จะหิวน้ำมาก อันนี้เป็นแหล่งโซเดียมที่สำคัญ ส่วนคนสูงอายุจะกินอาหารในบ้าน โดยเฉลี่ยอาหารในบ้านเค็มน้อยกว่าอาหารนอกบ้าน 20 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นการศึกษาที่ชัดเจน เป็นอีกสิ่งที่เราต้องรณรงค์ ถามว่าคนวัยทำงานรณรงค์ได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ยากนิดหน่อย เพราะเขาจะป่วยไม่มาก ให้เขาไม่ไปกินชาบูเขาบอกเลยเขาทำไม่ได้ อาจารย์มายุ่งอะไรกับเขา แต่คนที่ป่วยพอพูดกันได้ แต่เราต้องพยายามปรับสิ่งแวดล้อมช่วยเหลือเขา เช่น เราอาจจะไปติดป้ายในร้านอาหาร ร้านค้า เขียนว่า เค็มน้อยสั่งได้ หรือว่ามีเมนูทางเลือกให้เขาเลย เช่น มีก๋วยเตี๋ยวสูตรปกติกับก๋วยเตี๋ยวสูตรสุขภาพลดเค็ม อย่างในโรงพยาบาลรามาธิบดีในส่วนของแคนทีนสำหรับเจ้าหน้าที่ จะไม่มีน้ำปลาวางไว้ เติมน้ำปลายากมาก ตอนแรก ๆ เขาจะบ่น หลังจากนั้นเขาจะเลิกบ่น ถ้าเรามีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดการบริโภคมันจะช่วยได้ หรือร้านก๋วยเตี๋ยวในแคนทีนทั้งหมดเป็นโซเดียมต่ำ เขาก็ไม่มีทางเลือกถูกไหมครับ ซื้อร้านไหนก็จืดหมด แล้วถ้าคุณอยากเติมก็ค่อยมาเติมทีหลัง โรงเรียนก็เหมือนกัน อาหารสำหรับเด็ก เราได้คุยกับกระทรวงศึกษาธิการให้มีมาตรฐานอาหารที่จัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียนสำหรับเด็ก ต้องมีปริมาณน้ำตาลไม่สูง เกลือไม่สูงและไขมันไม่สูง เพราะถ้าเราทำอาหารให้เด็กกินเค็มโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่กินเค็มแน่นอน
ส่วนออฟฟิศ ตอนนี้ก็เริ่มห่วงใยสุขภาพเจ้าหน้าที่บุคลากร เขาก็ให้มีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น มียิมในบริษัทหรือมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพในบริษัท ขณะเดียวกันเราก็พยายามออกสื่อต่างๆ รณรงค์กับผู้บริโภค หรือเราใช้สื่อทางเซเลบ ดารา เวลาดาราพูดเขาจะฟังมากกว่าหมอพูด เราใช้สื่อต่าง ๆ ให้ความรู้ตรงจุดนี้
ในโอกาสครบรอบ 10 ปี มีเป้าหมายในอนาคต และกิจกรรมที่จะทำในอนาคตอย่างไร
ปีนี้เราจัดงานที่เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 4 – 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา คำขวัญของงานคือ เค็มน้อยอร่อยได้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กรมอนามัย กรมควบคุมโรค สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หัวหน้าภาคส่วนต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ มาร่วมเปิดงานในครั้งนี้ มีเชฟชื่อดังอย่าง เชฟอาจารย์ยิ่งศักดิ์ และเชฟอื่น ๆ เข้ามาทำอาหาร ที่ปรับสูตรอาหารแล้วอร่อยต่อสุขภาพ และก็จะมีโชว์ผลิตภัณฑ์อาหารที่ลดความเค็มลงแล้ว และมีขายในท้องตลาดจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีบริษัทที่เข้าร่วมอย่างน้อย 12 บริษัท อย่าง ซีพี มาจัดโชว์ผลิตภัณฑ์และให้ชิมอาหารฟรี มีการแสดงงานวิจัยของภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีกิจกรรมบนเวที มีดนตรีมาสร้างความสนุกให้กับผู้มาร่วมงาน การเล่นเกมส์สำหรับเด็ก ลิ้นคุณแค่ไหน หรือเกมส์ใช้โซเดียมหรือ Salt Meter ภาษาไทยเรียกว่า เค็มมิเตอร์ สามารถวัดอาหารที่ทำได้ว่ามีความเค็มมากน้อยแค่ไหน มีศิลปินชื่อดังหลายท่านที่มาร่วมรณรงค์การลดบริโภคเกลือโซเดียม รวมทั้งมีการออกกำลังกาย เพราะว่าการออกกำลังกายก็เสียเหงื่อเสียเกลือออกไปด้วย ช่วยให้ลดเกลือในร่างกายด้วย
“อยากให้หมอกับ
พยาบาล เภสัช โภชนากร
ในโรงพยาบาลช่วยกันให้ความรู้กับคนไข้
เรื่องลดเค็มมากขึ้น
โดยเฉพาะต่างจังหวัด”
สิ่งที่ต้องการสื่อสารถึงแพทย์ในแต่ละสาขา เช่น หมอหัวใจ หมอไต หมอเบาหวาน/ไขมัน อื่น ๆ
ผมว่าแพทย์ต้องเป็นตัวอย่างนะครับ เราเป็นโมเดลให้กับคนไข้ ถ้าเรากินเค็ม เราไปสอนพยาบาล พยาบาลไปบอกคนไข้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองยังกินส้มตำปลาร้าอยู่ ผมว่ามันยาก เราต้องเป็นตัวอย่างกินเค็มน้อยลง เราถึงจะไปสอนเขาได้ เพราะปกติคนที่สอนคนไข้ หลาย ๆ โรงพยาบาลเป็นโภชนากร ก็อยากให้พยาบาลกับโภชนากรลดเค็มลงรวมถึงหมอด้วยคือ เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดี กินเค็มให้น้อยลง เติมเครื่องปรุงให้น้อยลง ขณะเดียวกันถ้ามีโอกาส ก็อยากให้พูดกับคนไข้ให้มากขึ้น เพราะปกติหมอจะไม่มีเวลาคุยกับคนไข้มากนัก แค่การดูแลรักษาโรค ก็อาจจะเหนื่อยแล้ว ถ้าคนไข้ไม่ปฏิบัติตัวไม่กินอาหารถูกต้อง ยาไม่ได้ผลหรอกครับ ก็อยากให้หมอกับพยาบาล เภสัช โภชนากรในโรงพยาบาล ช่วยกันอบรมให้ความรู้คนไข้มากขึ้น ถ้าเราพูดน้อยคนไข้ไม่รู้หรอกครับโดยเฉพาะต่างจังหวัด ถ้าไม่บอกเขาก็กินยาอย่างเดียว เขาคิดว่ากินยาแล้วจบ จริง ๆ ไม่ใช่ การดูแลตนเองมีความสำคัญ