นพ. โสฬส จาตุรพิศานุกูล
สาขาวิชาโรคไตและการบำบัดทดแทนไต
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
สรุปเนื้อหาการประชุมวิชาการ Nephrology Meeting ภายใต้หัวข้อ Case-Based Approach in Electrolyte and Acid-base Disorders วันที่ 21 กันยายน 2567
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเขตร้อนที่มีความชุกของโรคเขตร้อน (tropical diseases) สูง ซึ่งหลายโรคถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Neglected Tropical Diseases (NTDs) โดยโรคเหล่านี้มักนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญรวมไปถึงความผิดปกติของสมดุลกรด-ด่างและสารอิเล็กโทรไลต์ แม้จะพบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ แต่ภาวะเหล่านี้กลับมีการศึกษาที่จำกัดและมักถูกมองข้าม บทความนี้จึงมุ่งนำเสนอความผิดปกติของสมดุลกรด-ด่างและอิเล็กโทรไลต์ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อเขตร้อนรวมถึงจากพืชสมุนไพรที่พบได้บ่อย ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์และสมดุลกรด-ด่างของโรคติดเชื้อเขตร้อน
โรคเลปโตสไปโรซิส (leptospirosis)
โรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อ Leptospira spp. ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติของไต ทั้งภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury, AKI) และความผิดปกติของสมดุลอิเล็กโทรไลต์และกรด-ด่าง กลไกหลักเกิดจากการที่เชื้อ Leptospira spp. สะสมในบริเวณ tubulointerstitial ส่งผลให้เกิดพยาธิสภาพแบบ acute tubulointerstitial nephritis โดยภาวะไตวายเฉียบพลันที่พบส่วนใหญ่มักเป็นชนิด non-oliguric AKI นอกจากนี้ AKI จากโรคเลปโตสไปโรซิสยังอาจเกิดจากสาเหตุทางอ้อม เช่น ภาวะ rhabdomyolysis หรือ sepsis
สำหรับความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์ที่พบได้บ่อย คือภาวะ hypokalemia ซึ่งมีอุบัติการณ์ประมาณ ร้อยละ 26-45 กลไกหลักเกิดจากสาร antigenic components ของเชื้อเลปโตสไปโรซิส เช่น LipL32 ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ sodium-hydrogen exchanger 3 (NHE3), aquaporin 1, และ sodium-potassium ATPase (Na-K-ATPase) ที่บริเวณ proximal tubule นอกจากนี้ยังยับยั้งการทำงานของ sodium-potassium-2-chloride cotransporter (NKCC2) ในบริเวณ ascending limb of the loop of Henle ส่งผลให้โซเดียมถูกส่งผ่านไปยังท่อไตส่วนปลายเพิ่มขึ้น (distal sodium delivery) ทำให้เกิดภาวะ salt wasting, renal potassium loss, และ polyuria ตามมา นอกจากนี้ มีรายงานพบภาวะ hyponatremia, hypophosphatemia, และ hypomagnesemia ร่วมด้วยได้
จากการศึกษาของ Thai-Lepto AKI study group พบว่าภาวะ hypokalemia ร่วมกับ hyponatremia ในผู้ป่วยที่มาด้วยไข้ไม่ทราบสาเหตุ มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเลปโตสไปโรซิสเพิ่มขึ้นถึง 3.56 เท่า ดังนั้นการตรวจพบภาวะ hypokalemia ร่วมกับ hyponatremia จึงถือเป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่สนับสนุนการวินิจฉัยโรคเลปโตสไปโรซิส และถูกนำมาใช้เป็นพารามิเตอร์สำคัญใน Thai-Lepto score เพื่อแยกโรคที่มาด้วยไข้ไม่ทราบสาเหตุอื่น ๆ และได้ตัดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและการติดเชื้อบริเวณตับและทางเดินน้ำดีออกไปแล้ว
โรคมาเลเรีย (malaria)
ภาวะความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์ในผู้ป่วยโรคมาเลเรียมักสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของโรค โดยผู้ป่วยมาเลเรียที่มีอาการรุนแรง สามารถพบความผิดปกติทางอิเล็กโทรไลต์ได้หลายภาวะ เช่น
- Syndrome of Inappropriate Antidiuretic Hormone (SIADH)
- ภาวะขาดสารน้ำ (hypovolemia)
- ภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง (adrenal insufficiency)
ทั้งนี้ พบว่าภาวะ hyponatremia มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยติดเชื้อมาเลเรียขึ้นสมอง (cerebral malaria) ในทางตรงกันข้าม ภาวะมาเลเรียขึ้นสมองก็สามารถทำให้เกิด hypernatremia ได้เช่นกันจากการหลั่ง antidiuretic hormone (ADH) ลดลง เกิดภาวะ central diabetic insipidus ได้
- Hypokalemia พบได้ประมาณร้อยละ 40 โดยส่วนใหญ่เกิดจาก การสูญเสียโพแทสเซียมทางไต จากการขับสารคีโตน (ketone) และแลคเตท (lactate) หรือจากยา artesunate
- Hyperkalemia พบได้ร้อยละ 16 โดยมักมีสาเหตุจากภาวะ intravascular hemolysis ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อมาเลเรียที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัว
- Hypocalcemia พบได้ประมาณ ร้อยละ 40 เชื่อว่าเกิดจากเชื้อมาเลเรียในระยะ trophozoite ดึงแคลเซียมไปใช้ในกระบวนการเมตาบอลิซึมของเชื้อและมีการลดลงของอนุพันธ์วิตามินดี เนื่องจากการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 1α-hydroxylase
- Hypercalcemia พบได้ในเด็กที่มีภาวะ intravascular hemolysis เชื่อว่าเกิดจากการปลดปล่อยแคลเซียมออกมาจากเม็ดเลือดแดงที่แตกตัวในกระแสเลือด
สำหรับความผิดปกติทางอิเล็กโทรไลต์อื่น ๆ เช่น hypophosphatemia และ hypomagnesemia สามารถพบได้ในผู้ป่วยมาเลเรีย โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจาก transcellular shift ของอิเล็กโทรไลต์เข้าสู่เซลล์ อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวไม่พบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการพยากรณ์โรค
โรคไข้เลือดออก (Dengue fever)
พบความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์ได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะ Dengue Shock Syndrome (DSS) เช่น ภาวะ hyponatremia สาเหตุหลักเกิดจากการรั่วของสารน้ำพลาสมา (plasma leakage) เข้าสู่ช่องว่างระหว่างเซลล์และการให้สารน้ำชนิด hypotonic saline ในระหว่างการรักษา ส่งผลให้ระดับโซเดียมในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังพบภาวะ hypokalemia และ hypocalcemia ประมาณ ร้อยละ 40 โดยสาเหตุที่ชัดเจนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการขนส่งอิเล็กโทรไลต์ผ่านเซลล์และการตอบสนองต่อการอักเสบ
ติดเชื้อทางเดินอาหาร
เช่น อหิวาตกโรค (Cholera) หรือภาวะอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของสมดุลอิเล็กโทรไลต์และภาวะกรด-ด่าง จากการสูญเสียสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ผ่านทางเดินอาหาร โดยมักพบภาวะ hyponatremia, hypokalemia, hypochloremia, และภาวะ normal gap metabolic acidosis ซึ่งเกิดจากการสูญเสียไบคาร์บอเนตผ่านอุจจาระ ในทางตรงกันข้าม การสูญเสียอิเล็กโทรไลต์จากการอาเจียนอย่างรุนแรงจะเกี่ยวข้องกับการสูญเสียสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ผ่านไต อันเป็นผลจากการกระตุ้นฮอร์โมน aldosterone ที่กระตุ้นให้เกิดการดูดซึมโซเดียมกลับและขับโพแทสเซียมออกทางไต นอกจากนี้การสูญเสียกรดจากการอาเจียน ทำให้มีการคั่งของไบคาร์บอเนตในเลือด จะทำให้เกิดการขับของไบคาร์บอเนตที่ท่อไตส่วนปลาย เพิ่มการสูญเสียโซเดียมและโพแทสเซียมทางไต ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีอาเจียน สามารถตรวจพบภาวะ hyponatremia , hypokalemia และ metabolic alkalosis ร่วมกับระดับของ urine sodium และ urine potassium สูงขึ้น
ความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์และสมดุลกรด-ด่างของภาวะพิษจากพืชและยาสมุนไพร
พืชและสมุนไพรหลายชนิดสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์และสมดุลกรด-ด่างได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังนั้นจะมีความเสี่ยงมากกว่าประชากรทั่วไปจากประสิทธิภาพในการรักษาสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ และการกำจัดของเสียลดลง ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคู่ไปกับการรักษาหลัก โดยไม่แจ้งประวัติดังกล่าวแก่แพทย์ผู้รักษา ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์ต่าง ๆ ได้ ดังนั้นแพทย์ควรให้ความสำคัญกับการซักประวัติการใช้ยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างละเอียดทุกครั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะไตผิดปกติหรือความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์ที่ไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุอื่น เพื่อให้สามารถระบุและจัดการกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจตามมา สมุนไพรหรือพืชที่สามารถทำให้เกิดความผิดปกติทางอิเล็กโทรไลต์ที่พบได้บ่อย เช่น
ภาวะ hypokalemia จากชะเอมเทศ
ชะเอมเทศ (Licorice) เป็นส่วนประกอบสำคัญในสมุนไพรและสารให้ความหวานหลายชนิด อย่างไรก็ตาม การบริโภคชะเอมเทศในปริมาณมากอาจทำให้ร่างกายได้รับสาร glycyrrhizic acid ในระดับที่เป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าปริมาณ glycyrrhizic acid ที่ปลอดภัยไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดพิษ ได้แก่ เพศหญิง การรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โรคไตเรื้อรังหรือการบริโภคชะเอมเทศร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาในกลุ่ม sympathomimetics และ ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) กลไกการเกิดพิษหลักเกิดจาก glycyrrhizic acid ที่ยับยั้งเอนไซม์ 11-beta hydroxysteroid dehydrogenase (11β-HSD2) ทำให้คอร์ติซอลไม่ถูกเปลี่ยนเป็นคอร์ติโซน ส่งผลให้เกิดการกระตุ้น mineralocorticoid receptor (MR) โดยตรง อีกทั้งยังยับยั้งการทำงานของ liver 5β-reductase ทำให้ร่างกายเกิดภาวะคล้ายภาวะฮอร์โมน aldosterone สูงเกินปกติ ซึ่งนำไปสู่ภาวะ hypokalemia,hypernatremia, ความดันโลหิตสูง และmetabolic alkalosis ในกรณีที่รุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและภาวะหัวใจล้มเหลว
แนวทางการรักษา เริ่มต้นด้วยการหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศทันที ร่วมกับการแก้ไขภาวะ hypokalemia ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจพิจารณาการใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่ม K-sparing diuretics เช่น Spironolactone ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียโพแทสเซียมทางไต ภาวะ hypokalemia มักดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังหยุดการใช้ชะเอมเทศ ในขณะที่ภาวะความดันโลหิตสูงมักต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ
ภาวะโพแทสเซียมสูงจากพืชสมุนไพร
พืชและสมุนไพรบางชนิดมีปริมาณโพแทสเซียมสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก น้ำลูกยอ (Noni juice), น้ำคลอโรฟิลล์จากต้นอัลฟัลฟา (Alfalfa) หรือ หญ้าหางม้า (Horsetail) นอกจากนี้ สมุนไพรบางชนิดยังมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับ Digitalis เช่น โสมไซบีเรีย (Siberian ginseng) และ Lily of the Valley ซึ่งสามารถยับยั้ง Na-K-ATPase ทำให้โพแทสเซียมเข้าเซลล์ลดลงเกิดภาวะ hyperkalemia
ผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease, CKD) ซึ่งไตมีประสิทธิภาพในการขับโพแทสเซียมลดลง หรือผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม Renin-Angiotensin System Inhibitors (RASi) เช่น ACE inhibitors หรือ Angiotensin Receptor Blockers (ARBs) ร่วมด้วย จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะ hyperkalemia จากการบริโภคพืชสมุนไพรเหล่านี้ ภาวะ hyperkalemia ในระดับรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจถึงขั้นเสียชีวิต
โรคไตเรื้อรังจากพืชตระกูลไคร้เครือ (Aristolochia nephropathy)
พืชตระกูลไคร้เครือ (Aristolochia) เคยถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรในจีนและไทยมาอย่างยาวนาน แต่เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันถึงความเป็นพิษอย่างชัดเจน พืชชนิดนี้จึงถูกถอนออกจากบัญชียาสมุนไพรอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 สารออกฤทธิ์หลักที่เป็นอันตราย คือ aristolochic acid ซึ่งมีฤทธิ์เป็นพิษต่อไตและเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค Chronic tubulointerstitial nephropathy (CTIN) โดยพยาธิสภาพหลักพบการอักเสบเรื้อรังและพังผืดในเนื้อเยื่อไต รวมถึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด มะเร็งทางเดินปัสสาวะ (Urothelial cancer)
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายยังพบความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์และสมดุลกรด-ด่างในลักษณะของ Fanconi’s syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่ท่อไตส่วนต้น (proximal tubule) สูญเสียความสามารถในการดูดซึมสารต่าง ๆ กลับเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะ hypokalemia, hypophosphatemia, metabolic acidosis และ glucosuria
ความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์อื่น ๆ จากการรับประทานยาสมุนไพร
การใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษาทางเลือกบางวิธีอาจก่อให้เกิดความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์และสมดุลกรด-ด่างได้ ตัวอย่างเช่น การทำดีท็อกซ์ลำไส้ (colon detoxification) ด้วยการสวนล้างลำไส้ อาจนำไปสู่การสูญเสียอิเล็กโทรไลต์ผ่านของเหลวที่ถูกขับออกมาในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดภาวะ hyponatremia และอาจเกิด metabolic acidosis
นอกจากนี้ การใช้ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีการปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว (Lead), สารหนู (Arsenic) หรือแคดเมียม (Cadmium) สามารถทำลายท่อไตและนำไปสู่ภาวะ Renal Tubular Acidosis (RTA) ได้
สรุป
ภาวะความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์และสมดุลกรด-ด่างเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในโรคเขตร้อน เช่น เลปโตสไปโรซิส มาเลเรีย ไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร รวมถึงจากการใช้พืชสมุนไพรและการรักษาทางเลือกที่ไม่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจแสดงอาการที่หลากหลาย ตั้งแต่ตรวจพบความผิดปกติของอิเล็กโทรไลต์หรือสมดุลกรด-ด่างชนิดไม่มีอาการไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ ไตวายเฉียบพลัน ดังนั้น การประเมินและซักประวัติการใช้สมุนไพรและแนวทางการรักษาทางเลือกอย่างละเอียด ควบคู่กับความเข้าใจกลไกพยาธิสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนจากภาวะดังกล่าว
- Sukmark T, Lumlertgul N, Peerapornratana S, Khositrangsikun K, Tungsanga K, Sitprija V, Srisawat N; Thai-Lepto AKI study group. Thai-Lepto-on-admission probability (THAI-LEPTO) score as an early tool for initial diagnosis of leptospirosis: Result from Thai-Lepto AKI study group. PLoS Negl Trop Dis. 2018 Mar 19;12(3):e0006319.
- Kusirisin P, da Silva Junior GB, Sitprija V, Srisawat N. Acute kidney injury in the tropics. Nephrology (Carlton). 2023 Jan;28(1):5-20.
- Edelman ER, Butala NM, Avery LL, Lundquist AL, Dighe AS. Case 30-2020: A 54-Year-Old Man with Sudden Cardiac Arrest. N Engl J Med. 2020 Sep 24;383(13):1263-1275.
- Yang B, Xie Y, Guo M, Rosner MH, Yang H, Ronco C. Nephrotoxicity and Chinese Herbal Medicine. Clin J Am Soc Nephrol. 2018 Oct 8;13(10):1605-1611.
- Gabardi S, Munz K, Ulbricht C. A review of dietary supplement-induced renal dysfunction. Clin J Am Soc Nephrol. 2007 Jul;2(4):757-65.