CIMjournal
banner blood pressure

Hypertension in Low socioeconomic populations of Thailand


พญ. วัชริยา วิเศษนครพญ. วัชริยา วิเศษนคร
อายุรแพทย์ โรงพยาบาลสีคิ้ว
(โรงพยาบาลชุมชน)

 

สรุปการประชุมวิชาการประจำปี 2568 ครั้งที่ 23 สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย 14 กุมภาพันธ์ 2568

 

โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาที่สำคัญทางสุขภาพที่ร้ายแรงของโลก ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา ในประเทศไทยความชุกของโรคความดันโลหิตสูงในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 25.4 โดยพบในผู้ชาย ร้อยละ 26.7 และผู้หญิง ร้อยละ 24.2 แม้ประเทศไทยจะพัฒนาระบบการดูแลผุู้ป่วย และนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เพิ่มมากขึ้นแต่ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถ ควบคุมความดันโลหิตได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตได้


ความสัมพันธ์ระหว่างโรคความดันโลหิตสูงกับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic Status, SES) เป็นปัจจัยที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ (Non-Medical factor) ที่สำคัญที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง สุขภาวะทางจิตใจ และอายุขัยที่สั้นลง มีข้อมูลที่แสดงถึงบุคคลที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับล่างนั้น มีผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง มากกว่าผู้ที่มีสถานะทางเศษฐกิจและสังคมระดังสูงถึง 1.4 เท่า และปัจจัยที่มีผลมากที่สุดของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม คือระดับการศึกษา รายได้ อาชีพ และการเข้าถึงทรัพยากรเป็นหลัก จากการศึกษาประชากรในประเทศไทย นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังพบปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และการควบคุมความดันที่ไม่ดีอีกด้วย ซึ่งก็คือ อายุที่มากขึ้น การมีโรคร่วมต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน และโรคอ้วน การมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การรับประทารอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มสุรา ไปจนถึงการจำกัดการเข้าถึงทรัพยากร ทั้งทางการแพทย์และการศึกษา ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และผลการควบคุมความดันที่ไม่ดี สามารถส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง และอัตราการเสียชีวิตทุกสาเหตุ สูงขึ้นด้วยเช่นกัน  และกลไกที่สำคัญของปัญหาสภาวะสุขภาพ ที่เป็นผลมาจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม คือ Psychosocial Stress หรือความเครียดทางจิตสังคม ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ผิดปกติ การอักเสบในร่างกายอย่างเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงของอีพิจีโนมและการหดสั้นของโครโมโซม เป็นผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ภาวะดื้ออินซูลิน ไขมันในเลือดสูง ไปจนถึงโรคอ้วน อันนำไปสู่การเกิดโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบหลอดเลือดสมอง  และโรคไต ที่ส่งผลไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในที่สุด ดังนั้นสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ไม่ดี อาจกล่าวได้ว่าเป็นสารตั้งต้นของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตเลยก็ว่าได้

Hypertension in Low socioeconomic populations of Thailand


สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ไม่ได้มีนิยามของสถานะทางเศรษฐกิจทางสังคมที่ระบุไว้ชัดเจน แต่มีการสำรวจและรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งทำการสำรวจทุกปี โดยในปีที่เป็นเลขคู่ จะสำรวจรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ส่วนปีที่เป็นเลขคี่ เน้นการสำรวจค่าใช้จ่าย พบว่า ในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่อเดือน เท่ากับ 29,030 บาท และมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน อยู่ที่ 197,255 บาท หรือประมาณ 6.8 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน แม้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนนั้นจะเพิ่มขึ้นเพียง 4,836 บาท ในตลอดระยะเวลา 10 ปี แต่หนี้สินเฉลี่ยนั้นกลับเพิ่มขึ้นถึง 34,168 บาทต่อครัวเรือนในช่วงระยะเวลา 10 ปีเช่นกัน ซึ่งสะท้อนถึงดัชนีความไม่มั่งคั่งของครัวเรือนที่ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อความชุกของความไม่มั่นคงทางอาหารอันเป็นสาเหตุอันดับแรกของพฤติกรรมเสี่ยง ต่อการเกิดโรค NCDs ของประชากรในประเทศไทย ความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือ Food Insecurity Experience Scale คือเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบมิติการเข้าถึงอาหาร  และระดับความรุนแรง ของความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่สะท้อนความสามารถของการเข้าถึงอาหารของคนในครอบครัว และความสมดุลการกินอาหารของประชากรในระดับที่แตกต่างกัน ข้อมูลของประเทศไทยล่าสุด ได้มีการสำรวจเมื่อปี 2567 โดยผนวกชุดคำถาม FIES เข้าไว้ในโครงการสำรวจ ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน  โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีความชุกของความไม่มั่นคงทางอาหาร ระดับปานกลางหรือรุนแรง เท่ากับ 6.85% และระดับรุนแรงเท่ากับ 1.27% ซึ่งความชุกของความไม่มั่นคง ทางอาหารในระดับรุนแรงนั้นสะท้อนถึงความน่าจะเป็นของการกินอาหารที่ลดลง ภาวะโภชณาการต่ำ และความอดอยากของประชากร ซึ่งจะสัมพันธ์พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง สามอันดับแรกของคนไทยคือ การบริโภคอาหารไขมันสูง อาหารแปรรูปประเภทเนื้อสัตว์ และดื่มเครื่องดื่มชง เช่น ชา กาแฟ ชานมไข่มุก เป็นประจำ


คำแนะนำการบริหารจัดการสำหรับสถานพยาบาลระดับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดกลางในประเทศไทย

การดูแลโรคความดันโลหิตสูงสำหรับสถานพยาบาล มีมาตรฐานรองรับการบริหารจัดการ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน ภายในการขับเคลื่อนของกรมควบคุมโรค กองโรคไม่ติดต่อ ผ่านรูปแบบการประเมินคุณภาพ NCD clinic plus โดยประเมินปีละ 2 รอบ ตามเกณฑ์ที่กำหนดแต่ละปีของคู่มือแนวทางการดำเนินงาน โดยมีการออกแบบระบบงานในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดกลางให้มีความสอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริงในทุก ๆ ปี ถึงแม้จะมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ผลดำเนินงานสถานพยาบาล ที่ผ่านการประเมินยังคงไม่ครอบคลุม อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านทรัพยากร บุคลากร ไปจนถึงงบประมาณที่จำกัดจากรัฐบาล ผู้เขียนจึงได้นำเสนอหลักการ NCD Clinic Awareness ซึ่งเป็นพื้นฐานการรับรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่รับผิดชอบระบบงาน NCD ระดับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดกลางในประเทศไทย เพื่อใช้พิจารณาประกอบการดำเนินงานในสถานพยาบาลของตน ประกอบไปด้วย

Hypertension in Low socioeconomic populations of Thailand

  1. Resoures Awareness การรับรู้ถึงทรัพยากร
    คือ การรับรู้ถึงทรัพยากรหรือต้นทุนของตนเอง ความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้คุ้มค่าคุ้มทุน วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ขีดจำความเพียงพอและสมรรถนะของบุคลากร ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนระบบบริการ ระบบสนับสนุนที่สำคัญ
  2. Patients / Costumer Awareness การรับรู้ถึงผู้ป่วย หรือ ลูกค้า
    คือ การรับรู้ถึงความคาดหวังและความต้องการของผู้ป่วย (Patient / Customer Need and Expectations) ความผูกพันของผู้ป่วย (Patient / Customer Engagement) และสิทธิผู้ป่วย (Patient Rights) รวมไปถึงสำรวจภาวะเศษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของผู้ป่วยที่รับผิดชอบ
  3. Political Awareness การรับรู้ถึงนโยบายและแนวทางปฏิบัติ
    คือ การรับรู้ถึงนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ที่เชื่อมโยงกับแนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป แนวทางมาตรฐานวิชาชีพทั้งในและต่างประเทศ และเชื่อมโยงระเบียบปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาล เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานการดูแล
  4. Stretegy Awareness การรับรู้ถึงแผนและกลยุทธ์
    คือ การรับรู้ถึงแผนพัฒนาทุกระดับและกลยุทธ์ที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันขององค์กร การรับรู้ที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายที่สำคัญ
  5. Outcome Awareness การรับรู้ถึงผลลัพธ์ที่สำคัญจำเป็น
    คือ การรับรู้ถึงการวัดประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่ครอบคลุม และมีมูลครบถ้วนทุกระบบงาน

เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่รับผิดชอบระบบงาน NCD ระดับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดกลางในประเทศไทย มี Awareness ครบทั้ง 5 องค์ประกอบ จะส่งผลให้เกิดระบบงานที่มีคุณภาพ สำคัญจำเป็น และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทยที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง
  1. องค์การอนามัยโลก (WHO). (2566). รายงานสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงทั่วโลก
  2. กรมควบคุมโรค. (2560). แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564). กระทรวงสาธารณสุข. เข้าถึงได้จาก https://ddc.moph.go.th/
  3. กรมควบคุมโรค (2568 ). คู่มือแนวทางการดำเนินงาน NCD CLINUC PLUS.กระทรวงสาธารณสุข. เข้าถึงได้จาก http://ncdclinicplus.ddc.moph.go.th/
  4. มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 สถานบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
  5. National Statistical Office of Thailand. (2023). Household Socio-Economic Survey (SES): 2023. Bangkok,
  6. National Statistical Office of Thailand. (2024). Prevalence of food insecurity in the population, based on the Food Insecurity Experience Scale (FIES).
  7. Howard, G., & Cushman, M. (2016). The REGARDS study: A national study of racial and geographic disparities in stroke risk. Annals of Epidemiology, 26(2), 114-125. https://doi.org/10.1016/j.annepidem.2015.12.004
  8. Smith, J. D., Doe, A. B., & Johnson, C. E. (Year). Refractory hypertension: Determination of prevalence, risk factors, and comorbidities in a large, population-based cohort. Journal of Hypertension Research, 34(2), 123-135.
  9. Chaturvedi, A., Zhu, A., Gadela, N. V., Prabhakaran, D., & Jafar, T. H. (2024). Social determinants of health and disparities in hypertension and cardiovascular diseases. Hypertension, 81(3), 383–395.
  10. Shavers, V. L. (2007). Measurement of socioeconomic status in health disparities research. Journal of the National Medical Association, 99(9), 1013–1023.
  11. Socioeconomic disparities in income, education, and geographic location for hypertension among Thai adults: Results from the National Socioeconomic Survey. BMC Public Health, 20(5), 345–360.
  12. Akinyelure, O. P., Jaeger, B. C., Moore, T. L., & Muntner, P. (2023). Social determinants of health and uncontrolled blood pressure in a national cohort of Black and White US adults: The REGARDS study. Journal of the American Heart Association, 12(10), e029119.

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก