พญ. อัญชลี เสนะวงษ์
ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา
สถาบันภูมิแพ้ BNH Asthma and Allergy center
ภาวะแพ้เนื้อแดงหรือเรียกกันในชื่อ โรค Alpha-gal syndrome ย่อมาจาก คาร์โบไฮเดรตที่เป็นต้นเหตุของการก่อโรค ชื่อ กาแลคโตส อัลฟา 1-3 กาแลคโตส (galactose-alpha-1, 3-galactose) หรือย่อสั้น ๆ ว่า อัลฟากัล alpha-gal) นั่นเอง เชื่อว่าแอนติบอดีเฉพาะต่อคาร์โบไฮเดรตนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเมื่อกินเนื้อแดง สาร Alpha -gal นี้พบในส่วนต่าง ๆ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ เนื้อแดง, ไต, น้ำนม, เจลาติน และเลือด เป็นต้น
สาเหตุการแพ้เนื้อ
- Alpha-gal syndrome
เชื่อว่าเริ่มจากการการโดนเห็บกวางในกลุ่ม Amblyomma ได้แก่ เห็บ lone star พบในสหรัฐอเมริกา หรือ Ixodes พวในออสเตรเลีย, ยุโรป, แอฟริกาใต้ หรือญี่ปุ่น รูปที่ 1 กัดมาก่อน ซึ่งในน้ำลายของเห็บเหล่านี้ มีสาร alpha-galอยู่ เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันและสร้างแอนติบอดีภูมิแพ้ เมื่อทานเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มี alpha-gal เป็นส่วนประกอบ เช่น เนื้อวัว หมู กวาง หรือกระต่าย จะทำให้เกิดอาการแพ้ ทั้งนี้ยังมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับเห็บกวางในประเทศไทย มีรายงานเห็บชนิด Ixodes ที่ สัมพันธ์กับโรค Lyme disease มาก่อน
รูปที่ 1 เห็บ lone star และ เห็บ Ixodes
รูปที่ 2 สาร alpha-gal ในน้ำลายเห็บ และการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สร้างแอนติบอดี้ anti-alpha gal IgE
- Pork-cat syndrome เกิดจากการสัมผัสแมวและมีอาการแพ้แมวมาก่อน โดยมีการแพ้ต่อสารแพ้ชนิดอัลบูมินแมว Fel d 2 (cat serum albumin) ซึ่งสารตัวนี้จะสามารถแพ้ข้ามกลุ่มไปยังสาร โปรตีนอัลบูมินในเนื้อหมู Sus s 1 (pork serum albumin) ทั้งนี้สามารถ แพ้ข้ามกลุ่มไปยังเนื้อวัว Bos d 6 (bovine serum albumin) ได้ด้วยอีกด้วยดังรูปที่ 3
รูปที่ 3 การแพ้ข้ามกลุ่มของส่วนประกอบสารแพ้จากแมว เนื้อหมู และ เนื้อวัว
- Primary beef allergy มักพบใน ผู้ป่วยเด็ก พบว่าเกิดจากการแพ้โปรตีนเนื้อวัวชนิด bovine serum albumin (Bos d 6) ในกลุ่มนี้พบว่ามากกว่า 90% จะแพ้นมวัวด้วย โดยส่วนมากพบว่าเมื่ออายุมากขึ้นสามารถรับประทานได้
อาการและอาการแสดง
- ลมพิษ คัน
- ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
- ไอหายใจไม่สะดวก หลอดลมตีบ
- ปากบวม ลิ้นบวม หนังตาบวม
- ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
- เป็นลมหมดสติ
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจทดสอบผิวหนังมักต้องเป็นการสะกิดใต้ชั้นหนังกำพร้าหรือ meat extracts intradermal test ดังรูปที่ 4 แสดงผลบวกต่อเนื้อหมู เนื้อแกะ และเนื้อวัว และให้ผลลบต่อเนื้อไก่และไก่ง่วง อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจนี้ยังมีข้อจำกัด ผล จากแต่ละการศึกษาไม่สอดคล้องกัน และอาจไม่ปลอดภัยได้
การตรวจเลือดเพื่อหา specific IgE antibodies ต่อ alpha-gal (galactose-alpha-1,3-galactose)
การตรวจเลือดเพื่อหาส่วนประกอบโมเลกุลของสารแพ้ได้แก่ Fel d 2 (cat serum albumin), Sus s 1 (pork serum albumin) และ Bos d 6 (bovine serum albumin)
การทดสอบด้วยการรับประทานและดูอาการหรือ Oral food challenge ยังคงเป็นการวินิจฉัยยืนยันชัดเจนที่สุด
รูปที่ 4 การทดสอบผิวหนัง intradermal test ต่อ meat extract ต่าง ๆ
อัตราการหายแพ้ โอกาสสเต็กเนื้อแดง ได้อีกหรือไม่
การศึกษาติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีข้อมูลจำกัดในปัจจุบัน บางการศึกษาพบว่าแอนติบอดีต่อสาร alpha-gal นี้ลดลงตามกาลเวลาได้ พบว่าประมาณ1% ถึง 10% ของผู้ป่วยสามารถจับหายแพ้และกลับมากินเนื้อแดงได้อีกครั้ง
- Hoffmann-Sommergruber K. et al. Molecular Allergology User’s Guide 2.0 Allergy. Vol 78, Issue 5, May 2023, Pages 1139-1141
- Wilson JM. and Platts-Mills T. Red meat allergy in children and adults. Curr Opin Allergy Clin Immunol 2019, 19:000–000
- Commin SP. et al. Delayed anaphylaxis, angioedema, or urticaria after consumption of red meat in patients with IgE antibodies specific for galactose-a-1,3-galactose. J Allergy Clin Immunol 2009; 123:426-33.
- Patel C and Iweala O. “Doc, Will I Ever Eat Steak Again?” : Diagnosis and Management of Alpha-gal Syndrome. CurrOpin Pediatr. 2020 December; 32(6): 816–824
- Wilson J et al. Meat allergy and allergens. Molecular Immunology 100 (2018) 107–112