พ.อ. ผศ. นพ. เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี
หน่วยโรคติดเชื้อ กองกุมารเวชกรรม
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
สรุปการประชุมใหญ่ประจำปี 2567 ครั้งที่ 28 สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 4 พฤษภาคม 2568
ยาปฏิชีวนะเป็นเครื่องมือสำคัญที่แพทย์ใช้ในการรักษาการติดเชื้อซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่แผนกผู้ป่วยนอก มักใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่การติดเชื้อชนิดรุนแรงน้อยถึงปานกลาง เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร และการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น โดยการพิจารณาต้องคำนึงถึงความจำเป็นของการได้รับยาปฏิชีวนะเป็นอันดับแรก เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัสโดยเฉพาะการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจในเด็ก ในขณะที่การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร เช่น ผู้ป่วยโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็กจะมีข้อบ่งชี้ในการให้ยาปฏิชีวนะแบบครอบคลุม (empirical therapy) เฉพาะในรายที่มีไข้สูงมากกว่า 38ºC ร่วมกับถ่ายมีมูกเลือดหรือพบเม็ดเลือดแดงหรือเม็ด เลือดขาวจากอุจจาระ หรือทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือนที่ถ่ายมีมูกเลือดหรือพบเม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาวจากอุจจาระ หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ที่สงสัยการติดเชื้อ Vibrio cholerae หรือผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือสงสัยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรง โดยยาปฏิชีวนะที่แนะนำ กรณีผู้ป่วยภูมิคุ้มกันปกติและอาการไม่รุนแรง คือ ยาในกลุ่ม fluoroquinolones ได้แก่ ciprofloxacin หรือ norfloxacin และแนะนำเป็นยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ได้แก่ ceftriaxone ในกรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือสงสัยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินได้ โดยหลังจากพิจารณาว่าถึงความจำเป็นที่ต้องได้ยาปฏิชีวนะแล้ว ควรพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งประกอบด้วย ความไวของเชื้อต่อยาปฏิชีวนะ ความเข้มข้นของยาปฏิชีวนะในตำแหน่งการติดเชื้อ รวมถึงภาวะเภสัชจลศาสตร์ (pharmacodynamics) ของยาปฏิชีวนะ เช่น amoxiciilin ประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อขึ้นกับอัตราส่วนของระยะเวลาที่ยาอยู่เหนือ MIC ต่อระยะห่างระหว่างโด๊สยาเกินกว่าร้อยละ 40 ดังนั้นหากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของยา amoxicillin ในการรักษาโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจจากเชื้อ pneumococcus ที่ดื้อยา (MIC เพิ่มสูงขึ้น) จึงแนะนำให้เพิ่มขนาดจาก 30 – 50 mg/kg/day เป็น 80 – 100 mg/kg/day เพื่อให้ระดับยาที่เหนือต่อ MIC ในตำแหน่งที่ติดเชื้อยาวนานขึ้น ทำให้อัตราส่วนของระยะเวลาที่ยาอยู่เหนือ MIC ต่อระยะห่างระหว่างโด๊สยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อดีขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากเลือกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมแล้ว แต่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจต้องกลับมาพิจารณาว่ามีปัจจัยใดที่ทำให้ระดับความเข้มข้น ของยาที่ตำแหน่งติดเชื้อไม่เหมาะสม เช่น มีฝีหรือหนองในที่ยาเข้าถึงไม่ได้ต้องการผ่าระบาย หรือร่างกายมีภาวะกระตุ้นการกำจัดยามากกว่าปกติ เป็นต้น
- สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับ แนวทางเวชปฏิบัติ การดูแลรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก พ.ศ.2562
- Bradley JS, et al. Pediatr Infect Dis J 2010; 29:1043-46.