พญ. จุไร วงศ์สวัสดิ์
นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ
สถาบันบำราศนราดูร
องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าประสงค์ให้มีการบูรณาการระบบการให้บริการเพื่อยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี จากแม่สู่ลูก โดยประเทศไทยได้รับการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส จากแม่สู่ลูก จาก WHO (ประเทศแรกในเอเชีย) แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน และ ปี พ.ศ. 2567 นี้ ประเทศไทยได้ขอรับการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบี (Triple elimination, ข้อมูลถึงปี พ.ศ. 2565) จากแม่สู่ลูก ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยสถานการณ์การถ่ายทอดเชื้อ ทั้ง 3 โรคดังกล่าวในปัจจุบันเป็นดังนี้
การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก
ประเทศไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างดี โดยการลดอัตราการถ่ายทอดเชื้ออย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2558 พบว่ามีอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกน้อยกว่า ร้อยละ 2 ซึ่งสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2565 อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกยังคงอยู่ที่ร้อยละ 1.96
การถ่ายทอดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก
อัตราป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นนับแต่ปี พ.ศ. 2561 และมีอัตราป่วยสูงกว่า 50 ต่อเด็กเกิดมีชีพแสนคนในปี พ.ศ. 2563 โดยมีอัตราป่วยด้วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดอยู่ที่ 55, 50 และ 98.2 ต่อเด็กเกิดมีชีพแสนคน ในปี พ.ศ. 2563, 2564 และ 2565 ตามลำดับ การติดเชื้อซิฟิลิสเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์วัยที่อายุน้อยกว่า 25 ปี กลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษา และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
การถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก
อัตราการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก อยู่ที่ร้อยละ 1.58, 0.91, 0.92, 0.93 ในปี พ.ศ. 2562, 2563, 2564, 2565 ตามลำดับ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.07 ระหว่าง ปี พ.ศ.2562-2565
ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมาย การยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิสและไวรัสตับอักเสบบี จากแม่สู่ลูกดังกล่าว จึงต้องมีการบูรณาการงานด้านการส่งเสริมอนามัยวัยเจริญพันธ์ุและการควบคุมป้องกันโรค ทั้ง 3 โรคตั้งแต่คลินิกฝากครรภ์ ระหว่างการตั้งครรภ์ และการติดตามดูแลต่อเนื่องทั้งมารดาและทารกหลังคลอด ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงการบูรณาการการดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์และทารก เพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก (Tripple Elimination)
และมีเป้าหมายบูรณาการการดูแลรักษา ดังนี้
- ความครอบคลุมของ ART ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ≥ 95%
- ความครอบคลุมของการรักษาในหญิงที่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิส ≥ 95%
- ความครอบคลุมของการได้รับยาต้านไวรัสในหญิงตั้งครรภ์ที่มีปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในกระแสเลือดสูง ≥ 90 %
- ความครอบคลุมของทารกได้รับวัคซีนตับอักเสบ บี ครบ 3 เข็ม ≥ 90 %
- ความครอบคลุมของทารกได้รับวัคซีนตับอักเสบ บี แรกคลอด ภายใน 24 ชั่วโมง ≥ 90 %
โดยประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมาย ลดการถ่ายทอดเชื้อ ภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนี้
- การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก < ร้อยละ 2
- การติดเชื้อซิฟิลิสในทารกแรกเกิด ≤ 50 ต่อเด็กเกิดมีชีพแสนคน
- การถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ≤ ร้อยละ 2
- ความชุกของผลบวก HBsAg ในเด็กอายุเท่ากับหรือต่ำกว่า 5 ปี ≤ ร้อยละ 0.1
จะเห็นได้ว่าการจะประสบความสำเร็จดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงกุมารแพทย์ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยป้องกัน วินิจฉัยและรักษาทารกในกลุ่มเสี่ยง
- WHO [Internet]. Global guidance on criteria and processes for validation: elimination of mother-to-child transmission of HIV, syphilis and hepatitis B virus. Geneva: WHO; 2021 [cited 2024 Apr 5]. Available from: https://iris.who.int/bitstream/handle/10665/349550/9789240039360-eng.pdf?sequence=1
- กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. เอกสารเผยแพร่ Fact sheet [อินเทอร์เน็ต]; 2566 [เข้าถึงเมื่อ 5 เม.ย. 2567] เข้าถึงได้จาก: https://hivhub.ddc.moph.go.th/report.php.
- กองระบาดวิทยา. ข้อมูลรายงานโรคเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาจากบัตรรายงาน 506; 2565.
- กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. โครงการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูกปีงบประมาณ พ.ศ. 2566