เป็นที่รู้กันว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ของโลก โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านดิจิตอล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้านสุขภาพทั้งทางด้านการแพทย์และการให้บริการ มีการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 ดังนี้
- การวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ (Healthcare analytics) มีแนวโน้มในการนำ AI และ ML (Machine learning) มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ที่เก็บรวบรวมจากหลาย ๆ แหล่ง เช่น จากระบบระเบียนสุขภาพ EHR จากภาพถ่ายทางการแพทย์ หรือจากอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ แล้วนำผลที่ได้ไปช่วยในการวินิจฉัยโรค คาดการณ์ความเสี่ยง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาล เป็นต้น
- ระบบคลาวด์ทางการแพทย์ (Cloud healthcare) ระบบนี้จะช่วยให้มีการจัดการข้อมูลผู้ป่วยปริมาณมาก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้รับบริการได้ทุกที่ทุกเวลา และมีการสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างทีมบุคลากร อีกทั้งยังมีระบบสำรองข้อมูลที่ปลอดภัยและรองรับการให้บริการทางไกล มีการสำรวจจากบางบริษัท พบว่า 71% ของคน Gen Y มีความต้องการใช้แอพมือถือในการจัดการเกี่ยวกับสุขภาพ2
- เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EHR)3 ระบบนี้จะช่วยในการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย ข้อมูลในการตรวจวินิจฉัยและผลลัพธ์อื่นผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์ในห้องตรวจวินิจฉัยโรค หรือ อุปกรณ์อื่น ๆ ขึ้นสู่ระบบดิจิทัลเพื่อที่แพทย์และพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้เข้ารับการรักษาแค่เพียงปลายนิ้ว นอกจากนี้ระบบ EHR รุ่นใหม่ ยังรวมถึงการส่งมอบประสบการณ์การสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างพยาบาลและผู้ป่วย ควบคู่กับการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลขั้นสูง อีกทั้งยังมีการพัฒนาขีดความสามารถของระบบ Workflow ในการใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดความยุ่งยาก และเพิ่มการตัดสินใจที่แม่นยำในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด เป็นต้น
- อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะทางการแพทย์ (Medical wearable) อุปกรณ์ช่วยในการติดตามตัวชี้วัดทางสุขภาพแบบไม่รุกล้ำ อาทิ การเผาผลาญแคลอรี่ ชีพจร รูปแบบการนอน และกิจกรรมทางกาย รวมถึงมีการแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติ การพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะมุ่งเป้าให้เหมาะสมกับการดูแลสุขภาพโดยทั่วไป และการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ
- การติดตามผู้ป่วยทางไกล (Remote patient monitoring) ระบบนี้จะช่วยลดความจำเป็นในการเข้าพบแพทย์ และช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยอาจจะใช้อุปกรณ์สวมใส่ทางการแพทย์หรือ อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บแลต ที่มีการติดตั้ง application หลักการสำคัญคือใช้สำหรับการติดตามเพื่อเก็บข้อมูลในตัวผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น ค่าน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน หรืออัตราการหายใจในผู้ป่วยหอบหืด เป็นต้น
- การแพทย์แผนใหม่ หรือการบำบัดแบบดิจิทัล (Digital therapeutics) ระบบนี้จะเน้นการป้องกันและจัดการโรคโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วย มีข้อมูลว่าปัจจุบันชาวเยอรมันกว่า 73 ล้านคน ได้รับบริการด้วยนวัตกรรมการแพทย์แผนใหม่ เพื่อรักษาอาการโรคเครียด โรคอ้วน โรคซึมเศร้า ไมเกรน โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมามีโครงการการแพทย์แบบจีโนมิกส์ (Genomics medicine) มีการใช้ “AI Chest 4 All” โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่ออ่านและวิเคราะห์ผลเอกซเรย์ โดยพบว่ามีความแม่นยำมากถึง 90% และยังลดเวลาการอ่านผลลงได้อีกด้วย
- การมีส่วนร่วมของผู้ป่วย (Patient engagement) ระบบนี้จะมีการสร้างแอพพลิเคชันและแชทบอทช่วยให้ผู้ป่วยบริหารจัดการสุขภาพ รวมถึงสื่อสารกับแพทย์และสถานบริการในเรื่องต่าง ๆ เช่นการนัดหมาย การปรึกษาพูดคุยก่อนการเข้ารับบริการ เป็นต้น
- การดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home health care) ระบบนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันโดยอาศัยเทคโนโลยีทางไกลและอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ เพื่อติดตามกิจกรรมทางกายของผู้สวมใส่ สภาวะสุขภาพ หรือใช้ติดตามการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะการเดินทางอีกด้วย
- ตัวบ่งชี้ชีวภาพดิจิทัล (Digital biomarkers) ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถตรวจพบสัญญาณเตือนของโรคตั้งแต่ระยะแรก โดยอาศัยการติดตามสัญญาณทางสรีรวิทยาและประเมินประสิทธิผลของการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับอย่างต่อเนื่อง
- ระบบติดตามดูแลสุขภาพผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile health) สนับสนุนการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพิ่มการมีส่วนร่วมในการดูแลในหลาย ๆ ด้านทางการแพทย์ เช่น แอพพลิเคชั่นดูแลผู้ป่วยโรคต่าง ๆ รวมถึงผู้บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เป็นต้น
แนวโน้มเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการแพทย์ดิจิทัลกำลังปฏิวัติวงการแพทย์ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการเข้าถึง คุณภาพ และประสิทธิภาพของบริการสุขภาพ การแพร่หลายของสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะช่วยในการติดตามสุขภาพและรับคำแนะนำทางการแพทย์ มุ่งเน้นการเพิ่มความสะดวกสบายและการให้บริการสุขภาพเชิงรุก
แนะนำอ่าน
10 แนวโน้มการรักษาทางการแพทย์ที่สำคัญ มีผลในเวลาอันใกล้
เทคโนโลยีที่ต้องรู้ ก่อนส่งผลกระทบทุกอาชีพ
- https://www.startus-insights.com/innovators-guide/digital-health-trends/
- https://www.hfocus.org/content/2021/06/22061
- https://www.engineeringtoday.net/yip-in-tsoi-electronic-health-record-technology/
- https://www.morru.com/services/telemedicine
- https://www.thecoverage.info/news/content/2945