นพ. พรเทพ สวนดอก
กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ
กรรมการและประธานอนุกรรมการฝ่ายเว็บไซต์และจุลสาร
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
.
สรุปเนื้อหางานประชุมใหญ่ประจำปี 2562 ครั้งที่ 23 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 1 – 3 พฤษภาคม 2562
ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) คือ การสร้างความฉลาดให้กับเครื่องจักรที่ไม่มีชีวิต เพื่อให้สามารถคิด ทำงาน และเรียนรู้ได้เองโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้สามารถทำงานแทนมนุษย์ ตลอดจนเรียนรู้ และแก้ปัญหาได้ ในปัจจุบัน AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา ยกตัวอย่างเช่น Search engine ของ Google หรือ โปรแกรม SIRI ในระบบไอโฟนที่สามารถสนทนา ตอบคำถาม ส่งจดหมาย และค้นหาข้อมูลได้
การนำ AI มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์มีหลักการ 2 อย่าง คือ ด้าน Virtual (ภาวะเสมือน) ประกอบด้วย machine learning (การเรียนรู้ของเครื่อง) และ algorithms การประยุกต์ของเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนหุ่นยนต์เพื่อนำมาวินิจฉัยโรค ตลอดจนช่วยในการดูแลรักษา
ตัวอย่างของการประยุกต์และใช้งาน AI ทางการแพทย์ในปัจจุบัน ได้แก่
- ด้านการวินิจฉัย ได้ให้ข้อมูลสำหรับ machine learning มาช่วยในการวินิจฉัยโรค ได้แก่ การวิเคราะห์ผลตรวจ CT scan ในการคัดกรองมะเร็งปอด การตรวจหาภาวะ diabetic retinopathy จากภาพถ่ายจอประสาทตา การตรวจและวินิจฉัยทางพยาธิสภาพของโรคผิวหนังจากรูปถ่าย การวินิจฉัยโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ โรคส่าไข้ โรคมือเท้าปาก เป็นต้น ยิ่งเราสามารถเพิ่มเติมข้อมูลให้แก่ AI ได้มากขึ้น ความแม่นยำและรวดเร็วในการวินิจฉัยโรคเพิ่มขึ้นตามลำดับ
- การพัฒนาวิจัยยาและวัคซีน มีการใช้ AI ในการวิจัยยา และวัคซีนใหม่ตั้งแต่การศึกษาขั้นตอนกลไกการออกฤทธิ์ พัฒนาตัวยาและวัคซีน การทำ clinical trial จากการประมวลข้อมูล ซึ่งเพิ่มความรวดเร็วในการวิจัยและพัฒนาตัวยาได้มากขึ้น
- การรักษาเฉพาะตัว (personalize treatment) โดยให้ข้อมูลสำหรับ machine learning คำนวณงานด้านสถิติที่ซับซ้อน และหาการตอบสนองเฉพาะตัวของผู้ป่วย
- การควบคุมโรคติดต่อ ได้มีการนำ AI มาใช้ในการควบคุมการแพร่กระจายของวัณโรคในประเทศอินเดีย และโรคหนองในของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการประมวลข้อมูลทางระบาดวิทยาเข้าสู่ระบบ algorithm รวบรวมทั้งข้อมูลพื้นฐาน พฤติกรรม ความเสี่ยง และแนวโน้มของการระบาด ซึ่งพบว่า AI ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคทั้ง 2 ได้อย่างชัดเจน โดย AI สามารถตรวจหาปัจจัยเสี่ยงที่มนุษย์มองข้ามไปได้ และมีความคืบหน้าในการใช้ AI สำหรับการควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อ HIV
การนำ AI มาประยุกต์ใช้งานทางการแพทย์ ช่วยลดภาระงานที่ต้องใช้แรงงานและเวลาเปรียบเสมือนผู้ช่วยแพทย์ โดยไม่ได้ทดแทนการทำงานของแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลผู้ป่วยและเป็นประโยชน์ ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และระบบสาธารณสุข