น.ท.หญิง พญ. ศิริพร ผ่องจิตสิริ
หน่วยโรคติดเชื้อ กองกุมารเวชกรรม
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พอ.
โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Disease) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกกลุ่มอายุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae หรือ Pneumococcus ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยตามปกติในลำคอของคน เชื้อชนิดนี้มีประมาณ 90 serotypes โดยแต่ละ serotype จะมีอัตราการก่อโรคแตกต่างกัน การติดเชื้อส่วนใหญ่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ และโรคโพรงไซนัสอักเสบ การติดเชื้อดังกล่าวอาจก่อให้เกิดโรครุนแรงและแพร่กระจายที่เรียกว่าโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกรานหรือไอพีดี (invasive pneumococcal disease, IPD) กลุ่มโรคนี้ ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีโอกาสเกิดโรคแบบรุนแรง ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และและผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์, ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย, ไม่มีม้าม, โรค nephrotic syndrome, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคปอดเรื้อรัง และผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation)
โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ คาดว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลกเสียชีวิตจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสประมาณ 500,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้ อัตราการเสียชีวิตจาก IPD ในเด็กประเทศกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง พบว่าจากสาเหตุติดเชื้อในกระแสเลือด ร้อยละ 20 และจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบร้อยละ 501 สำหรับประเทศไทยพบว่า ในพ.ศ. 2562 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อนิวโมคอคคัส จำนาน 1,228 รายต่อประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวนหนึ่งแสนคน และในจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ติดเชื้อ เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 112
โครงการ The Pneumonia Etiology Research for Child Health (PERCH) ศึกษาความชุกและความหนาแน่นของเชื้อก่อโรคปอดอักเสบในเด็กอายุ 1-59 เดือน ในจังหวัดสระแก้วและนครพนม ช่วงปี พ.ศ. 2555-2557 โดยเก็บตัวอย่างจาก Nasopharyngeal (NP) swab และ Rayon oropharyngeal (OP) swab ผลการศึกษา ความชุกของ S. pneumoniae colonization ที่จำแนกโดยใช้วิธี NP culture และ PCR ในกลุ่มผู้ป่วย เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยมี S. pneumoniae colonization ร้อยละ 54.5 ขณะที่กลุ่มควบคุมมี S. pneumoniae colonization ร้อยละ 62.5 Serotype ที่พบมากที่สุดในผู้ป่วย คือ 6B (ร้อยละ 23.1), 23F (ร้อยละ 17.8), 19F (ร้อยละ 14.4), 15B/C (ร้อยละ 10.0) และ 14 (ร้อยละ 8.9) ขณะที่ Serotype ที่ พบมากที่สุดในกลุ่มควบคุม คือ Serotype 6B, 23F และ 19F เช่นกัน โดยพบร้อยละ 15.4, 13.9 และ 12.4 ตามลำดับ3 ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าอัตราการเป็นพาหะและความหนาแน่นของเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบต่ำกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับยาปฏิชีวนะก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ปี พ.ศ. 2560 โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ศึกษาข้อมูลผู้ป่วยที่เป็นโรค IPD ที่เกิดจากการติดเชื้อ S. pneumoniae พบผู้ป่วยร้อยละ 13 มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ร้อยละ 37.5 เสียชีวิต และร้อยละ 62.5 มีภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท4
จากการศึกษา Serotype ของเชื้อ S. pneumoniae ของผู้ป่วยอายุ 1 วัน – 89 ปี ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2555 จำนวน 238 isolates พบว่า Serotype ที่ตรวจพบมากที่สุดได้แก่ 6B (ร้อยละ 13.9), 19A (ร้อยละ 12.6), 14 (ร้อยละ 8.0), 18C (ร้อยละ 5.9), และ 6A (ร้อยละ 3.8) เมื่อพิจารณาในกลุ่มผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่า Serotype 19A เพิ่มสูงขึ้นจากการศึกษาครั้งก่อน (2543-2552) อย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 5.6 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.35
จากการศึกษาสาเหตุของการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็กไทยอายุ 3-59 เดือน พบว่า เกิดจากเชื้อ S. pneumoniae ร้อยละ 23, H. influenzae ร้อยละ 18, Moraxella catarrhalis ร้อยละ 6 และ Streptococcus pyogenes ร้อยละ 3 โดย Serotype ที่พบมากคือ 19F (ร้อยละ 26) และ14 (ร้อยละ 22) 6
นอกจากนี้ พบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อต่อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดปัญหาในการรักษา ดังนั้น การให้วัคซีน pneumococcal conjugate vaccine เพื่อป้องกันโรคจึงมีความสำคัญทั้งในด้านการป้องกันโรค และลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งช่วยลดปัญหาการดื้อยาลงในอนาคตรูปที่ 1 serotypes ที่พบเป็นสาเหตุของ IPD ในช่วงอายุต่าง ๆ ของประเทศไทย, 2009 – 20125
รูปที่ 2 ความชุกของ serotype 19A ในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ติดเชื้อ IPD5
- Pneumococcal conjugate vaccines in infants and children under 5 years of age: WHO position paper – February 2019. Weekly epidemiological record 2019; Volume 94: 85-104.
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ตาราวัคซีน. พิมพ์ครั้งที่ 1: บริษัท เวิร์ค พริ้นติ้ง จากัด; 2562. หน้า 216-226.
- Piralam B, Prosperi C, Thamthitiwat S, Bunthi C, Sawatwong P, Sangwichian O, et al. Pneumococcal colonization prevalence and density among Thai children with severe pneumonia and community controls. PLoS ONE 2020; 15 (4): e0232151.
- Suphanklang J, Santimaleeworagun W, Thunyaharn, S, Traipattanakul, J. Pneumococcal meningitis at a Thai hospital over a 10-year period: clinical outcomes, serotypes, and antimicrobial susceptibility patterns. Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health; Bangkok 2017; 48; 1281-89.
- Phongsamart W, Srifeungfung S, Chatsuwan T, et al. Changing trends in serotype distribution and antimicrobial susceptibility of Streptococcus pneumoniae causing invasive diseases in Central Thailand, 2009-2012. Hum Vaccin Immunother 2014. 10;1866-73.
- Intakorn P, Sonsuwan N, Noknu S, et al. Haemophilus influenzae type b as an important cause of culture-positive acute otitis media in young children in Thailand: a tympanocentesis-based, multi-center, cross-sectional study. BMC Pediatr 2014. 20;1471-2431.