รศ. นพ. ณรงค์กร ซ้ายโพธิ์กลาง
อาจารย์หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สรุปเนื้อหางานประชุม 7th Annual meeting of Pulmonary and Critical Care Medicine จัดโดยหน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 25 กันยายน 2563
วัณโรค (tuberculosis, TB) เป็นโรคติดต่อเกิดจาก เชื้อ Mycobacterium tuberculosis เป็นโรคหนึ่งที่มีการแพร่ระบาด และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณโดยมีหลักฐานว่าพบ deoxyribonucleic acid (DNA) ของเชื้อในศพมัมมี่อียิปต์จากการตรวจด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR) ในชิ้นเนื้อส่วนกระดูกสันหลังของมัมมี่ และต่อมาในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1882 โรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch) แพทย์ชาวเยอรมันได้รายงานการพบตัวเชื้อรูปแท่ง (bacillus) ย้อมติดสีแดงเป็นครั้งแรก และระบุว่าเป็นโรคติดเชื้อที่ชื่อว่าวัณโรค จากการค้นพบดังกล่าวเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ทำให้มีการควบคุมการแพร่กระจายของวัณโรค ส่งผลให้ลดการเสียชีวิตของคนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก และต่อมาภายหลังเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์และสรีรวิทยาในปี ค.ศ. 1905 อีกทั้งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันวัณโรคโลก (World TB Day)”
ปัจจุบันวัณโรคยังเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ ถึงแม้ว่าแนวโน้มอุบัติการณ์ของวัณโรคของไทยลดลงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งใน 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2562 โดยในปี พ.ศ. 2561 ประมาณการว่าอุบัติการณ์ของผู้ป่วยใหม่เท่ากับ 153 ต่อประชากรแสนคน และมีการติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ร่วมร้อยละ 10
พยาธิกำเนิดและการแพร่กระจายเชื้อ
เชื้อวัณโรคเป็นเชื้อกลุ่มมัยโคแบคทีเรีย สามารถติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจทำให้เกิดพยาธิสภาพในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด สมอง เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ ตับ ไต ลำไส้ กระดูก ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะหลายแห่งพร้อมกัน เป็นต้น ส่วนใหญ่เกิดเป็นวัณโรคปอด เชื้อสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยการไอ หรือจาม นำละอองฝอยลอยในอากาศเป็นละอองฝอยขนาดเล็กประมาณ 1 – 5 ไมครอน เมื่อคนสูดหายใจนำละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจ จะทำให้เกิดการติดเชื้อ (infection) ซึ่งพบเพียงร้อยละ 30 ของผู้ได้รับเชื้อ
ผู้ที่มีการติดเชื้อในร่างกายไม่ได้เป็นโรคทุกคนแต่มีเพียง ร้อยละ 10 จะเกิดเป็นโรคตั้งแต่ช่วงแรกของการติดเชื้อ (primary TB disease) บางครั้งอาจเกิดเป็นวัณโรคชนิดแพร่กระจาย (miliary TB) ผ่านทางกระแสเลือด หรือหลอดน้ำเหลืองทำให้เกิดวัณโรคที่อวัยวะต่าง ๆ ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเป็นวัณโรคแฝง (latent TB infection) คือ เป็นผู้ไม่มีอาการและไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ เมื่อติดตามไปส่วนใหญ่ ผู้เป็นวัณโรคแฝงนี้ยังคงไม่มีอาการแสดงแต่มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10 ที่จะแสดงอาการออกมาเกิดเป็นวัณโรคระยะติดต่อ (active TB infection) โดยครึ่งหนึ่งจะแสดงอาการออกมาใน 2 ปีแรกของการติดเชื้อโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ จะมีโอกาสเกิดอาการแสดงร้อยละ 10 ต่อปี และมีโอกาสแสดงอาการของวัณโรคในช่วงชีวิตที่เหลือร้อยละ 5 ซึ่งเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า post-primary TB หรือ reactivated TB นอกจากนี้ ผู้ป่วยวัณโรคบางคนมีโอกาสสูงมากในการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น ได้แก่ เสมหะเพาะขึ้น เชื้อ M. tuberculosis ภาพถ่ายรังสีทรวงอกพบโพรง (cavitation) ที่ปอด วัณโรคกล่องเสียงและเสมหะเหลวปริมาณมาก
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ มีโอกาสเกิดเป็นวัณโรค ระยะติดต่อ 21 – 34 เท่าของผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี
- โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคปอดฝุ่นทราย (silicosis) และโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- โรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งระบบโลหิตวิทยา และมะเร็งของศีรษะและลำคอ
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากยากดภูมิคุ้มกันกลุ่ม corticosteroids, immunosuppressants, cytotoxic agents และ immunomodulators เช่น infliximab, etanercept
- ภาวะหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้
- ภาวะหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ
- การตั้งครรภ์และภาวะหลังคลอด
- การขาดสารอาหารโดยเฉพาะวิตามินดี
- น้ำหนักตัวน้อย โดยมีความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค 2.6 เท่า หากค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 กก.ต่อ ตร.ม.
- การติดเชื้อบางชนิดในวัยเด็ก เช่น หัด ไอกรน ทอนซิล อักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น
- การดื่มสุราหรือพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism)
- การสูบบุหรี่ พบร้อยละ 20 ของผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด โดยเพิ่มความเสี่ยงเป็น 1.5 – 2 เท่า ของคนที่ไม่สูบบุหรี่
- ผลจากการรักษาของแพทย์ เช่น การใส่สายสวนท่อปัสสาวะ การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกจากภายนอก หรือเลเซอร์ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การฉีด Bacillus Calmette Guerin (BCG) เข้าภายในกระเพาะปัสสาวะเพื่อรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
- การวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคล่าช้า ทำให้แพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย
- ผู้ป่วยวัณโรคที่มีความผิดปกติที่สำคัญ ได้แก่ ภาพถ่ายรังสีทรวงอกพบโพรงที่ปอด เสมหะย้อมพบ acid-fast bacilli 3+ หรือมากกว่า 100 ตัวต่อ oil field
- การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคโดยเฉพาะช่วงกลางคืน สมาชิกในบ้านมีหลายคน เป็นคนในครอบครัวเดียวกันที่เป็นผู้หญิง พ่อหรือแม่ ผู้ป่วยวัณโรคหนึ่งคนสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทำให้เกิดการติดเชื้อได้ประมาณ 10 – 15 คน ในช่วง 1 ปี
- ผู้ที่เกิดในประเทศที่มีความชุกของวัณโรคสูงมากกว่า 25 ต่อประชากรแสนคน
การวินิจฉัยโรค
อาการและอาการแสดง
- Primary TB ส่วนใหญ่ผู้ป่วยร้อยละ 70 มีไข้เป็นอาการหลัก โดยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและมักเป็นไข้ต่ำ ๆ เฉลี่ยนาน 14 – 21 วันก่อนมาพบแพทย์ อาจมีอาการอื่น ๆ ได้แก่ เจ็บหน้าอกสัมพันธ์กับการหายใจ เจ็บที่ด้านหลังกระดูกกลางหน้าอก หรือระหว่างกระดูกสะบักทั้งสองข้าง อาการเจ็บเหล่านี้สัมพันธ์กับการโตขึ้นของต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลอดลม นอกจากนี้ ยังพบอาการอ่อนเพลีย ไอ ปวดข้อ และคออักเสบ
- Reactivated TB อาการไอเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 50 – 66 อาจไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะก็ได้ อาจมีเลือดปน อาการอื่น ๆ ได้แก่ มีไข้ร้อยละ 38 – 80 เหงื่อออกกลางคืน เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลียไม่มีแรง รับประทานได้น้อย น้ำหนักลด อาการต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นอาการนำมาพบแพทย์และเป็นช่วงสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
- Endobronchial TB เป็นการติดเชื้อวัณโรคภายในหลอดลมอาจเกิดจากเชื้อลุกลามมาจากเนื้อปอดที่มีการติดเชื้อซึ่งมักมาจากโพรงในปอด หรือเกิดจากการกระจายของเชื้อเข้าสู่หลอดลมผ่านทางเสมหะที่มีเชื้อซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบใน reactivated TB พยาธิสภาพภายในหลอดลมมักพบที่หลอดลมใหญ่ หรือหลอดลมของปอดกลีบบน พบได้ร้อยละ 10 – 40 ในผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะติดต่อ นอกจากนี้ อาจพบใน primary TB ที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ กดทับบริเวณหลอดลม วัณโรคภายในหลอดลมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น แผลเป็น รูทะลุ การตีบแคบ ปอดแฟบ หลอดลมพองตัวและหลอดลมใหญ่ตีบตัน เป็นต้น อาการของผู้ป่วยวัณโรคชนิดนี้ อาจเกิดแบบเฉียบพลันซึ่งทำให้เกิดความสับสนกับโรคปอดอักเสบ โรคหืด หรือภาวะสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่หลอดลม รวมถึงยังสามารถทำให้เกิดอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือแบบเรื้อรังคล้ายกับมะเร็งปอดได้ อาการไอเสียงก้องลักษณะคล้ายสุนัขเห่าเรียกว่า barking cough และอาจพบเสียงหวีด ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อยที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองโต หรือการตีบตันของหลอดลม หรือภาวะปอดแฟบได้
อาการไอเป็นเลือด อาจไม่ได้บ่งถึงวัณโรคระยะติดต่อเสมอไปแต่มักเป็นผลจากโรคปอดเดิม ได้แก่ ภาวะหลอดลมพองตัว (bronchiectasis) จากเคยติดเชื้อวัณโรค การแตกของหลอดเลือดโป่งพอง (Rasmussen’s aneurysm) ในผนังโพรงที่ปอด การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราโดยเฉพาะ Aspergillus spp. เกิดเป็น mycetoma ภายในโพรงที่ปอด หรือการกัดเซาะของหินปูนที่สะสมภายในหลอดลม (broncholithiasis)
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการ พบได้ร้อยละ 5 ของผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด
การตรวจร่างกายระบบการหายใจของผู้ป่วยวัณโรคปอดมักไม่พบความผิดปกติ หรือพบความผิดปกติที่ไม่จำเพาะเจาะจง แต่บางครั้งอาจฟังพบเสียง crepitations (rales หรือ crackles) หรือเสียง bronchial breath sounds หรือลักษณะ whispered pectoriloquy บริเวณปอดที่มีพยาธิสภาพผิดปกติแบบ consolidation หากตรวจพบเสียง amphoric เป็นเสียงหายใจที่เหมือนกับเสียงที่เป่าลมเข้าไปในเหยือกน้ำ พบในภาวะที่มีโพรงในเนื้อปอด หากตรวจพบการเคาะทึบและการสั่นสะเทือนลดลงที่ผนังทรวงอก อาจบ่งถึงภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือภาวะเยื่อหุ้มปอดหนาตัว หากตรวจพบเสียงหายใจลดลงข้างใดข้างหนึ่ง ร่วมกับเสียงหวีดแบบระดับเสียงต่ำคงที่ หรือเสียง rhonchi ข้างเดียวกันพบในภาวะ endobronchial TB
การวินิจฉัยวัณโรคในผู้สูงอายุมักเกิดความล่าช้า เนื่องจากอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ไม่เด่นชัดเมื่อเปรียบเทียบกับคนอายุน้อย บางครั้งอาจมีเพียงอาการไข้ไม่ทราบสาเหตุ ร่วมกับผลเลือดพบเม็ดเลือดต่ำ (pancytopenia) หรือเม็ดเลือดสูง คล้ายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemoid reaction) นอกจากนี้ อาการแสดงวัณโรคของผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ อาจแตกต่างจากผู้ป่วยวัณโรคที่มีภูมิคุ้มกันปกติขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยในแต่ละคน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันระดับปกติมักมีอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีและมักเกิดวัณโรคปอดเป็นหลัก ส่วนผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำมาก (CD4 T-lymphocyte < 200 cells/μL) นอกจากจะพบวัณโรคปอดเป็นส่วนใหญ่แล้วยังพบวัณโรค นอกปอดร่วมด้วยซึ่งชนิดของวัณโรคนอกปอดที่พบบ่อยที่สุด คือ วัณโรคต่อมน้ำเหลือง และวัณโรคชนิดแพร่กระจาย อาการทางคลินิกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อวัณโรค - Extrapulmonary TB อาการทางคลินิกของวัณโรคนอกปอดที่สำคัญ ได้แก่
- วัณโรคต่อมน้ำเหลือง (tuberculous lymphadenitis) มักมีอาการบวมแต่ไม่เจ็บที่ต่อมน้ำเหลือง บริเวณที่พบบ่อย คือ คอและบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า อาจมีการแตกของต่อมน้ำเหลืองทำให้เกิดการแตกทะลุสู่ผิวหนัง (sinus tract formation) ซึ่งหายช้า
- วัณโรคเยื่อหุ้มปอด (tuberculous pleural effusion) มักมีไข้และเจ็บหน้าอกสัมพันธ์กับการหายใจอาการเหนื่อยมักเกิดขึ้นเมื่อมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดปริมาณมาก โดยทั่วไป pleural effusion มักมีปริมาณน้อยและเกิดในทรวงอกข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าการพบทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน ภาพถ่ายรังสีทรวงอกมักพบความผิดปกติของเนื้อปอดร่วมด้วยร้อยละ 70 บางครั้งพบการติดเชื้อวัณโรคเกิดเป็นหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด (tuberculous empyema) ซึ่งพบเชื้อปริมาณมาก เกิดจากการแตกของโพรงหนองหรือรอยโรคที่เนื้อปอดผ่าน bronchopleural fistula โดยภาวะนี้ภาพถ่ายรังสีทรวงอกมักพบความผิดปกติของเนื้อปอด หรืออาจพบลมในช่องเยื่อหุ้มปอด การวินิจฉัยจำเป็นต้องเจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (thoracentesis) และมักต้องตัดเนื้อเยื่อหุ้มปอด (pleural biopsy) ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย
- วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง (tuberculous meningitis) เป็นการติดเชื้อวัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองโดยตรงตั้งแต่เริ่มแรกที่ติดเชื้อ หรือเกิดจากวัณโรคปอด หรือวัณโรคจากบริเวณข้างเคียงของเยื่อหุ้มสมองที่มีการแตกเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มสมองชั้น subarachnoid อาการมักสัมพันธ์กับความผิดปกติของการทำงานประสาทเส้นสมอง ปวดศีรษะ ภาวะรู้สติผิดปกติและคอแข็ง (neck stiffness) ภาพถ่ายรังสีทรวงอกมักพบความผิดปกติของเนื้อปอดร่วมด้วยร้อยละ 50 ซึ่งอาจเป็นรอยโรคเดิม หรือวัณโรคระยะติดต่อโดยเฉพาะ miliary TB เมื่อตรวจร่างกายพบภาวะเยื่อหุ้มสมองผิดปกติ (meningeal signs) ควรเจาะตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค โดยพิจารณาตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (brain CT scan) ก่อนเจาะหากมีการตรวจพบอาการแสดงผิดปกติของระบบประสาท
- วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ (tuberculous pericarditis) เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง หรือปฏิกิริยาของการอักเสบทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกคล้ายโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด บางครั้งอาจเกิดภาวะน้ำเยื่อหุ้มหัวใจกดทับหัวใจ (cardiac tamponade หรือ constriction) และมีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ การวินิจฉัยอาศัยการเจาะน้ำเยื่อหุ้มหัวใจและตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจจะช่วยเพิ่มความแม่นยำของการวินิจฉัยมากขึ้น
.
การตรวจเสมหะ (sputum examination)
การตรวจเสมหะเพื่อดู acid-fast bacilli (AFB) ด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์เป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อวินิจฉัยวัณโรค เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ได้ผลรวดเร็ว และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย การตรวจ AFB โดยใช้การย้อมสี carbolfuchsin ด้วยวิธี Ziehl–Neelsen และส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยมีการบันทึกและรายงานผลเป็น negative (ไม่พบ AFB ใน 100 oil fields) จนถึง positive 3+ (พบมากกว่า 10 AFB ต่อ 100 oil fields) การตรวจ AFB ด้วยวิธีดั้งเดิมนี้มีค่าความไวร้อยละ 45 – 80 และค่าพยากรณ์บวกร้อยละ 50 – 80 ทั้งนี้ การย้อมพบเชื้อ AFB (smear positive) จะต้องมีปริมาณเชื้อมากพอควร (5,000 – 10,000 ตัวต่อ มล.) นอกจากนี้ ยังมีการตรวจหาเชื้อด้วยเทคนิคสารเรืองแสง (fluorochrome) โดยการย้อมเสมหะด้วยสีชนิดพิเศษ คือ auramine-O หรือ auraminerhodamine แล้วตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด fluorescence ซึ่งวิธีนี้สามารถเพิ่มความไวในการตรวจพบเชื้อมากกว่าวิธีย้อมสี carbolfuchsin แม้ว่าต้นทุนค่าตรวจและเทคนิคการตรวจมีความซับซ้อนมากกว่าวิธีดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันมีการนำมาใช้ทางเวชปฏิบัติมากขึ้น ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นวัณโรคปอดร้อยละ 85 และเสมหะตรวจพบเชื้อร้อยละ 59
การเพาะเชื้อ (culture) เป็นวิธีตรวจมาตรฐานเพื่อวินิจฉัยวัณโรค ซึ่งสามารถช่วยวินิจฉัยวัณโรคได้แม้ว่ามีเชื้อปริมาณน้อย (10 – 100 ตัวต่อ มล.) และย้อมไม่พบเชื้อ AFB (smear negative) อีกทั้งยังสามารถทดสอบความไวของเชื้อวัณโรคต่อยารักษาและวินิจฉัยแยกโรคมัยโคแบคทีเรียชนิดอื่นที่ไม่ใช่วัณโรค (non-tuberculous Mycobacterium, NTM) ออกจากวัณโรคได้ การเพาะเชื้อวัณโรคตามวิธีมาตรฐานแบ่งตามชนิดของอาหารเลี้ยงเชื้อ (media) เป็น 3 วิธีหลัก ได้แก่ egg-based (Löwenstein-Jensen) media, agar-based (Middlebrook 7H10 หรือ 7H11) media และ liquid (เช่น Middlebrook 7H12) media โดย egg และ agar-based media เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดแข็ง (solid media) ที่เชื้อวัณโรคโตขึ้นช้ากว่าชนิดเหลว (liquid media) ระยะเวลาที่พบเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดแข็งประมาณ 3 – 8 สัปดาห์ อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดเหลวภายใน 1 – 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดแข็งยังเป็นวิธีที่มีความคุ้มค่า และประหยัดเหมาะสำหรับประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดอย่างเช่นประเทศไทย
การตรวจทางอณูชีววิทยาเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคในเสมหะ คือ real-time PCR ช่วยวินิจฉัยวัณโรคอย่างแม่นยำสูง และมีการพัฒนาการตรวจทำให้ตรวจได้อย่างรวดเร็วและทราบผลตรวจภายใน 2 ชั่วโมง รวมถึงยังสามารถวิเคราะห์วัณโรคดื้อยา rifampicin ได้อีกด้วย เรียกวิธีการตรวจนี้ว่า Xpert MTB/RIF assay ปัจจุบันมีการนำวิธีนี้มาใช้ในเวชปฏิบัติมากขึ้นแต่มีข้อจำกัด คือ ค่าใช้จ่ายยังค่อนข้างสูงและมีเครื่องมือตรวจในโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น
เสมหะที่ได้รับการตรวจควรเป็นเสมหะที่มีคุณภาพ ควรเก็บเสมหะอย่างถูกวิธีโดยให้ผู้ป่วยพยายามไอแรง ๆ เพื่อได้เสมหะจากส่วนลึกของหลอดลมและควรส่งห้องปฏิบัติการทันทีในกรณีที่ไม่สามารถส่งตรวจได้ทันทีให้เก็บไว้ในตู้เย็นโดยไม่ใส่ในช่องแช่แข็งและไม่ควรเก็บนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ ควรเก็บเสมหะที่มีคุณภาพอย่างน้อย 2 ครั้ง วันแรกที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์และวันต่อมาต้องเป็นเสมหะตอนตื่นนอนเช้า ในกรณีที่เสมหะไม่มีคุณภาพ เช่น น้ำลายปนเสมหะหรือปนเลือดควรส่งตรวจซ้ำปริมาณเสมหะหากเก็บมากกว่า 5 มล. จะสามารถเพิ่มค่าความไวในการตรวจ AFB ได้มากขึ้น
กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถไอเอาเสมหะออกมาได้ หรือไม่มีเสมหะ อาจพิจารณาเก็บเสมหะโดยวิธีต่าง ๆ เช่น การสูดดมละอองน้ำเกลือเข้มข้น (3% saline) ด้วยวิธีพ่นละอองฝอย (nebulization) เพื่อให้ไอเอาเสมหะส่งย้อมและเพาะเชื้อ การส่องกล้องตรวจหลอดลมปอดเพื่อดูดน้ำล้างหลอดลมและปอด (brochoalveolar lavage fluid) ส่งย้อมและเพาะเชื้อ และหรือตัดชิ้นเนื้อ เป็นต้น
การส่งเสมหะเพาะเชื้อวัณโรคและการทดสอบความไวของเชื้อต่อยา ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคดื้อยา เช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ประวัติเคยรักษาวัณโรคมาก่อน ยังมีผลย้อมเสมหะพบเชื้อเมื่อสิ้นสุด การรักษาในระยะเข้มข้น ติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ ผู้ป่วยในเรือนจำ ผู้อาศัยในค่ายอพยพ และผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อ NTM
.
การตรวจภาพรังสีทรวงอก (chest radiography)
ภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) สามารถใช้ตรวจคัดกรองวัณโรคปอดเบื้องต้นในกรณีผู้ที่มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค หรือผู้ป่วยเป็นวัณโรคแฝง เช่น tuberculin skin test เป็นบวกเพื่อช่วยในการวินิจฉัยวัณโรคระยะติดต่อ ร่วมกับการใช้ข้อมูลอาการทางคลินิกและการตรวจทางจุลชีววิทยา หากผลภาพรังสีทรวงอกปกติโอกาสไม่เป็นวัณโรคระยะติดต่อค่อนข้างสูง
- Primary TB มักพบภาวะต่อมน้ำเหลืองโต (lymphadenopathy) พบมากถึงร้อยละ 96 โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และพบลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ตำแหน่งที่พบบ่อยมากที่สุด คือ ด้านข้างของหลอดลมใหญ่ (paratrachea) และขั้วปอด (hilum) บางครั้งอาจพบที่ mediastinum และมักพบได้ชัดเจนเมื่อตรวจด้วย CT scan แบบฉีดสารทึบแสง นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติของเนื้อปอดร่วมด้วยร้อยละ 38 – 81 ส่วนใหญ่เป็น consolidation ที่เป็นเนื้อเดียวกันกระจายตามเนื้อปอดบริเวณ segmental หรือ lobar และมักพบด้านขวา หากมีความผิดปกติเฉพาะเนื้อปอดที่ติดเชื้อวัณโรคตั้งแต่แรกเรียกว่า Ghon focus ถ้ามีหินปูนเกาะที่ต่อมน้ำเหลือง หรือต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตมากขึ้น ร่วมกับมี Ghon focus เรียกว่า Ranke complex ถ้ามีหินปูนเกาะที่ก้อนเนื้อปอดขนาดเล็ก (calcified nodules) เรียกว่า Simon foci นอกจากนี้ อาจพบวัณโรคในหลอดลมส่งผลให้เกิดปอดแฟบ ส่วน pleural effusionพบร้อยละ 29 – 38 มักพบข้างใดข้างหนึ่งและเป็นข้างเดียวกับที่มีการติดเชื้อวัณโรคปอดในช่วงแรก
- Reactivated TB มักพบความผิดปกติของเนื้อปอดที่บริเวณ apex และ posterior segments ของกลีบปอดบน และ superior segment ของกลีบปอดล่าง พบโพรง (cavitation) ในเนื้อปอดร้อยละ 40 – 45 ซึ่งเป็นโพรงเดี่ยว หรือหลายตำแหน่ง ขอบโพรงอาจบางเรียบ หรือหนาขรุขระก็ได้ (รูปที่ 1) ลักษณะของภาพ CT scan ที่บ่งว่าเป็น active TB ได้แก่ centrilobular nodules, tree-in-bud appearance, pulmonary nodules ขนาด 5 – 8 มม. และ consolidation
.
รูปที่ 1 ภาพรังสีทรวงอกของผู้ป่วยวัณโรคปอดพบโพรงในปอด (cavitation) และปื้นขาวแบบ reticulonodular
infiltration ที่บริเวณกลีบปอดบนทั้งสองข้าง
.
- Miliary TB เป็นจุดขาวขนาดเล็กเท่า ๆ กันแต่ละจุดเล็กกว่า 2 มม. ปริมาณมากกระจายอยู่ทั่วไปในเนื้อปอดทั้งสองข้าง เรียกว่า miliary infiltration พบร้อยละ 50 (รูปที่ 2)
.
.
รูปที่ 2 ภาพรังสีทรวงอก (รูป A) และภาพ computed tomography scan (รูป B) ของผู้ป่วยวัณโรคปอดชนิด miliary tuberculosis พบลักษณะ miliary infiltration และ hilar lymphadenopathy ทั้งสองข้าง (ลูกศร)
ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ ลักษณะภาพรังสีทรวงอกของวัณโรคปอดขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกัน ถ้าระดับภูมิคุ้มกันดี (CD4 T-lymphocyte > 350 cells/μL) ภาพรังสีทรวงอกจะมีลักษณะเหมือนกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวคือ มักพบ fibronodular infiltration และหรือ cavitary infiltration ที่กลีบปอดบนดังรูปที่ 1 หากระดับภูมิคุ้มกันต่ำลงมาก (CD4 T-lymphocyte <200 cells/μL) มักพบความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองในทรวงอกที่โตขึ้น ร่วมกับลักษณะผิดปกติของเนื้อปอด ได้แก่ focal lower หรือ middle lobe infiltration, diffuse miliary หรือ nodular infiltration
.
การตรวจวินิจฉัยวัณโรคแฝง
การตรวจวินิจฉัยวัณโรคแฝงควรทำเมื่อผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิด reactivated TB เช่น ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ โรคเบาหวาน ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค การตรวจวินิจฉัยมี 2 วิธีหลัก คือ การทดสอบภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังด้วยทูเบอร์คูลิน (tuberculin skin test, TST) และการตรวจเลือดวัดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อวัณโรค (interferon-gamma release assays, IGRAs)
การตรวจ TST เป็นวิธีที่ประหยัดและค่าความไวของการตรวจใกล้เคียงกับ IGRAs แต่มีความจำเพาะต่ำกว่า การตรวจนี้อาจให้ผลบวกลวง (false positive) เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ เคยฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคมาก่อน ติดเชื้อ NTM การทดสอบไม่ถูกวิธี และการแปลผลผิดพลาด อีกทั้งอาจให้ผลลบลวง (false negative) อันเป็นผลจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านผู้ป่วย สารทดสอบทูเบอร์คูลิน วิธีการฉีดสารทดสอบ รวมถึงวิธีการอ่านและบันทึกผลการทดสอบ
การตรวจ IGRAs เป็นวิธีอาศัยการอบตัวอย่างเลือดด้วย purified protein derivative และ control antigen แล้วทำการวัดปริมาณ interferon gamma ที่ปลดปล่อยมาจากเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ถูกกระตุ้นโดยใช้หลักการของ enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) มี 2 วิธี คือ T-Spot TB และ QuantiFERON-TB Gold In-Tube Assay (QFT-IT) พบค่ามีความแม่นยำในการวินิจฉัย การติดเชื้อวัณโรคค่อนข้างสูง อีกทั้งการตรวจ IGRAs สามารถตรวจหาเชื้อวัณโรคแฝงในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccination) มาก่อนได้
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจคัดกรองวิธีต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อวัณโรคเท่านั้นแต่ไม่สามารถแยกระหว่างวัณโรคแฝง และวัณโรคระยะติดต่อได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจของ IGRAs ค่อนข้างแพง และยังใช้ไม่แพร่หลายทั่วไปในประเทศไทย
การดูแลรักษา
วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ยารักษาวัณโรคแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ยาแนวที่หนึ่ง (first line drugs) ได้แก่ isoniazid (H), rifampicin (R), pyrazinamide (Z), ethambutol (E) และ streptomycin (S) ซึ่งยา 4 ตัวแรกเป็นชนิดรับประทาน สำหรับ streptomycin เป็นยาชนิดฉีด
- ยาแนวที่สอง (second line drugs) เช่น kanamycin, levofloxacin, ethionamide, p-aminosalicylic acid (PAS), cycloserine เป็นต้น
.
สูตรยารักษาวัณโรค
ตามแนวทางการรักษาวัณโรคขององค์การอนามัยโลกฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2017 และสูตรยารักษาวัณโรคปอดดื้อยาฉบับปรับปรุงปี ค.ศ. 2016 ซึ่งใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำแนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ. 2561 แนะนำสูตรยามาตรฐานสำหรับการรักษาวัณโรคปอดในผู้ใหญ่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- สูตรยาสำหรับผู้ป่วยใหม่ (new patient regimen) รักษาด้วยสูตร 2HRZE/4HR
- สูตรยาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB regimen) สำหรับผู้ป่วย treatment failure หรือผลเพาะเชื้อพบ MDR-TB รักษาด้วยยาแนวที่สองอย่างน้อย 5 ชนิด (และต้องมียาฉีดอย่างน้อย 1 ชนิด) ระยะเวลารวมอย่างน้อย 20 เดือน ในผู้ป่วยที่ไม่เคยรักษา MDR-TB มาก่อน
.
สูตรยาสำหรับผู้ป่วยใหม่ (new patient regimen)
เป็นการรักษาผู้ป่วยใหม่ด้วยยาสูตรมาตรฐาน 6 เดือน (2HRZE/4HR) แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะเข้มข้น (intensive phase) เป็นช่วงเวลา 2 เดือนแรกที่เริ่มการรักษาถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดโดยเน้นการรับประทานยา 4 ชนิดทุกวัน คือ HRZE ปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัว แนะนำเป็นยาชนิดเม็ดรวม (fixed-dose combinations) มากกว่ายาชนิดแยกเม็ด (separate drugs) เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่า ผลจากยาชนิดเม็ดรวมมีจำนวนเม็ดน้อยกว่าอทำให้ผู้ป่วยสะดวกและมีแนวโน้มรับประทานยาสม่ำเสมอ
- ระยะต่อเนื่อง (continuation phase) ลดยาเหลือ 2 ชนิด คือ HR ต่ออีก 4 เดือนจนระยะเวลารวมครบ 6 เดือน กรณีที่มีความชุกวัณโรคดื้อยา Isoniazid สูงอาจปรับยาเป็น 3 ชนิด คือ HRE ในระยะต่อเนื่อง
ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มการรักษาในระยะเข้มข้นแล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ และจะหายใกล้เคียงปกติภายในเวลา 2 เดือน แต่ผู้ป่วยยังคงต้องรับประทานยาต่อเนื่องจนครบ เนื่องจากต้องกำจัดเชื้อวัณโรคที่หลงเหลืออยู่ในร่างกายให้เหลือน้อยที่สุดและหมดไป
ผู้ป่วยวัณโรคปอดบางคนอาจต้องขยายระยะต่อเนื่องออกไปและรวมเวลารักษานานเป็น 9 เดือนกรณีมีปัจจัยเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำของวัณโรค ได้แก่ ปอดมีโพรง วัณโรคเป็นกว้างขวาง (extensive disease) ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และเสมหะยังเพาะพบเชื้อที่ 2 เดือนหลังรักษา นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเป็นวัณโรคนอกปอด ได้แก่ วัณโรคกระดูกและข้อแนะนำให้รักษานานขึ้นเป็น 9 เดือน วัณโรคเยื่อหุ้มสมองแนะนำให้รักษา 9 – 12 เดือน รวมถึงแนะนำให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในผู้ป่วยวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง หรือวัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ อีกทั้งหากเป็นวัณโรคเยื่อหุ้มสมองพิจารณาเปลี่ยนยาจาก ethambutol เป็น streptomycin
.
สูตรยาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB regimen)
เป็นการรักษาผู้ป่วย treatment failure หรือผลเพาะเชื้อพบ MDR-TB แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะเข้มข้น เป็นช่วงเวลา 8 เดือนแรกรักษาด้วยยา แนวที่สองอย่างน้อย 5 ชนิด ประกอบด้วย pyrazinamide และยาหลักในกลุ่มยาแนวที่ 2 จำนวน 4 ชนิด โดย 1 ชนิดจากกลุ่ม Fluoroquinolones (levofloxacin, moxifloxacin), 1 ชนิด จากกลุ่มยาแนวที่สองชนิดฉีด (amikacin, capreomycin หรือ kanamycin) และ 2 ชนิดจากกลุ่มยาหลักอื่น ๆ เช่น ethionamide, cycloserine, linezolid, clofazimine) หากชนิดยายังไม่ครบตามจำนวนขั้นต่ำ อาจเลือกยาเพิ่มเติม เช่น bedaquiline, PAS, amoxicillin-clavulanate เพื่อให้ครบ 5 ชนิด
- ระยะต่อเนื่อง รักษาด้วยยาแนวที่สองชนิดเม็ดอย่างน้อย 4 ชนิดโดยหยุดยาฉีด จนระยะเวลารวมอย่างน้อยนาน 20 เดือน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยรักษา MDR-TB และนาน 30 เดือน สำหรับผู้ป่วยที่เคยรักษา MDR-TB มาก่อน
อย่างไรก็ตาม ควรมีการปรับเปลี่ยนยาตามผลการทดสอบความไวของเชื้อต่อยาให้เหมาะสมเป็นราย ๆ ไป นอกจากนี้ แนะนำให้ยาฉีด 8 เดือนและต้องฉีดจนกว่าผลการเพาะเชื้อ ไม่พบเชื้อติดต่อกันอย่างน้อย 4 เดือน และต้องรักษาจนกว่าผลการเพาะเชื้อไม่พบเชื้อติดต่อกันอย่างน้อย 18 เดือน ระยะเวลารักษาทั้งหมดอย่างน้อย 20 เดือน สำหรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา rifampicin และวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่มีพยาธิสภาพที่ปอดเฉพาะที่ อาจพิจารณานัดผ่าตัดปอดบางส่วนแบบ lobectomy หรือ wedge resection ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา
การป้องกันและการลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค
เชื้อวัณโรคสามารถติดต่อจากผู้ป่วยไปสู่บุคคลอื่นได้ การป้องกันและการลดการแพร่กระจายของเชื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็นมีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่
- แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ห้ามหยุดยา หรือลดยาเองโดยเด็ดขาดแม้อาการจะดีขึ้น ถ้าเป็นไปได้ให้รับประทานยาต่อหน้าผู้ดูแลทุกครั้งจนครบระยะเวลาตามกำหนด ภายใต้การกำกับ (directly observed treatment, DOT) ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน หรือสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยเองที่ได้เชื่อถือได้ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยครบถ้วนและป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยา
- แนะนำให้ผู้ป่วยใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก ตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างน้อย 2 สัปดาห์แรกของการรักษา จนกว่าไม่ไอ หรือไอน้อยลงมาก หรือตรวจเสมหะ ไม่พบเชื้อวัณโรคแล้ว และใช้กระดาษเช็ดหน้าปิดปากและจมูกขณะไอหรือจามในช่วงที่ยังตรวจเสมหะพบเชื้อ ทิ้งกระดาษในภาชนะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือทุกครั้ง
- กรณีผู้ป่วยเป็นวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อ แนะนำให้แยกผู้ป่วยจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 สัปดาห์แรกของการรักษาเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโดยจัดห้องพักและสภาพแวดล้อม ภายในบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวกและแสงแดดส่องทั่วถึง
- แนะนำให้บุคคลในครอบครัว หรือผู้อาศัยบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยทุกคนมารับการตรวจคัดกรองหาวัณโรคที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะเด็กและคนชรา
- แนะนำพาเด็กแรกเกิดที่ไม่เคยรับวัคซีนไปฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccine)
- การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ควรจัดคลินิกผู้ป่วยวัณโรค (TB clinic) อย่างเป็นระบบและครบวงจรซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการต่าง ๆ ได้แก่
- จัดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบแน่นอน มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับการรักษาทุกราย
- จัดให้มียารักษาวัณโรคที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อจ่ายยาได้อย่างสม่ำเสมอและสะดวก
- จัดการรักษาภายใต้ระบบการมีพี่เลี้ยงกำกับการรับประทานยา (DOT) ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ
- จัดหาหน้ากากอนามัย (surgical mask) ให้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยตั้งแต่ก่อนการตรวจวินิจฉัยและผู้ป่วยที่รู้แน่ชัดว่าเป็นวัณโรค
- จัดสถานที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกเป็นห้องแยกออกจากผู้ป่วยปกติ อาจเป็นห้องแยกโรคทางเดินหายใจที่ความดันห้องเป็นลบ (negative pressure room) และมีอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันเชื้อ เช่น เครื่องกรอง high efficiency particulate air (HEPA filter) หน้ากาก N95 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยวัณโรค
- ห้องตรวจปฏิบัติการตรวจย้อมเสมหะ รายงานผลรวดเร็ว มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ มีระบบป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
- การรักษาแบบผู้ป่วยใน หากจำเป็นต้องรับผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล ควรจัดให้มีห้องแยกผู้ป่วยวัณโรคเสมหะบวกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วย MDR-TB ห้องแยกที่ดีที่สุด คือ negative pressure room แต่ถ้าไม่สามารถจัดห้องแยกต่างหากได้ ควรแยกบริเวณให้อยู่ห่างจากผู้ป่วยอื่น ๆ และเมื่อผู้ป่วยจะต้องออกจากห้องแยกเพื่อไปรับการตรวจวินิจฉัยภายนอกห้องควรให้สวม surgical mask และแยกห้อง จนกระทั่งให้การรักษาด้วยระบบยาที่เหมาะสมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือเมื่อมีอาการดีขึ้น
สรุป
วัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อผ่านทางเดินหายใจ ยังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ผู้ที่มีการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเกิดเป็นวัณโรคแฝง ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคปอดมักมีอาการไอเรื้อรัง มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด การวินิจฉัยอาศัยประวัติอาการและการตรวจเสมหะ ซึ่งอาจพบเชื้อหรือไม่พบก็ได้ ร่วมกับการตรวจภาพรังสีทรวงอกพบความผิดปกติช่วยสนับสนุนในการวินิจฉัยวัณโรค การรักษาวัณโรคในผู้ป่วยรายใหม่อาศัยยาสูตรมาตรฐานแนวที่หนึ่งนานอย่างน้อย 6 เดือน หากเป็นวัณโรคชนิดดื้อยา จำเป็นต้องรักษาเป็นระยะเวลานานมากขึ้น การป้องกันด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นมาตรการสำคัญเพื่อการลดการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคสู่ผู้อื่น
เอกสารอ้างอิง
- World Health Organization. Global tuberculosis report 2019. 20th ed. Geneva: WHO Press; 2019.
- Sharma SK, Mohan A, Sharma A, Mitra DK. Miliary tuberculosis: new insights into an old disease. Lancet Infect Dis 2005; 5: 415 – 30.
- Zumla A, Raviglione M, Hafner R, von Reyn CF. Tuberculosis. N Engl J Med 2013; 368: 745 – 55.
- World Health Organization. WHO treatment guidelines for drug-resistant tuberculosis 2016 update. Geneva: WHO Press; 2016.
- World Health Organization. Guidelines for treatment of drug-susceptible tuberculosis and patient care 2017 update. Geneva: WHO Press; 2017.
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการควบคุมวัณโรค ประเทศไทย พ.ศ. 2561 National Tuberculosis Control Programme Guideline, Thailand 2018. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2561.
- ณรงค์กร ซ้ายโพธิ์กลาง. วัณโรคปอด. ใน: พิชญาภา รุจิวิชชญ์ และคณะ (บรรณาธิการ). โรคระบบการหายใจพื้นฐาน Fundamental Respiratory Diseases. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร; 2559. หน้า 224 – 257.