น.อ.หญิง พญ. จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา
หน่วยโรคติดเชื้อ กองกุมารเวชกรรม
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
สรุปเนื้อหางานประชุมใหญ่ประจำปี 2562 ครั้งที่ 23 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 3 พฤษภาคม 2562
Rapid diagnostic tests (RDTs) หรือชุดตรวจแบบรวดเร็ว มีใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน บางครั้งนำมาช่วยในการวินิจฉัยและตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วย (Point-of-Care Testing, PoCT) โดยเฉพาะในสถานที่ที่ไม่สามารถส่งไปยังห้องปฏิบัติการที่มีความซับซ้อนมาก ๆ ได้ การทำ RDTs ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็จะทราบผล ส่วนใหญ่ของ RDTs เป็นการนำหลักการของอิมมูโนวิทยาเข้ามาใช้ เพื่อตรวจหาแอนติเจนหรือแอนติบอดีในอนาคตมีการพัฒนาการตรวจนิวคลีอิกแอซิดที่ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในบทนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ RDTs ที่ใช้บ่อยในทางคลินิกสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคอุจจาระร่วง
RDTs สำหรับเชื้อไวรัสก่อโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่
- RDTs ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีชุดตรวจแบบรวดเร็วเรียกว่า Rapid Influenza Diagnostic Tests (RIDTs) เป็นการตรวจทางอิมมูโนวิทยาเพื่อหานิวคลีโอโปรตีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่เอและบี ความไวและความจำเพาะ ประมาณร้อยละ 40 – 70 (พิสัย 10 – 80) และ 90 – 95 (พิสัย 85 – 100) ตามลำดับ ขึ้นกับชนิดของ RIDTs การตัดสินใจให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วยว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
- RDTs ของไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus, RSV) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กเล็ก ได้แก่ โรคปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หลักการ RDTs ของ RSV เป็นอิมมูโนวิทยาเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ เป็นการตรวจหา F protein ซึ่งมีความไวประมาณร้อยละ 72 – 94 และความจำเพาะร้อยละ 95 – 100 ในผู้ป่ว่ยเด็กมีความไวและความจำเพาะของการทดสอบมากกว่าผู้ใหญ่
สิ่งส่งตรวจทางเดินหายใจ ได้แก่ nasopharyngeal หรือ nasal swab/aspirate/wash, throat swab หรือ tracheat suction (สิ่งส่งตรวจจาก nasopharynx จะพบเชื้อไวรัสดีกว่าที่อื่น ๆ) และควรเก็บสิ่งส่งตรวจในระยะแรก (ไม่ควรเกิน 3 – 4 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ) ของการติดเชื้อเพราะพบจำนวนไวรัสมากกว่า
RDTs สำหรับเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่
- RDTs ของไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นการตรวจหา VP6 ความไวและความจำเพาะประมาณร้อยละ 77 – 98.7 และ 89 – 100 ตามลำดับ
- RDTs ของไวรัสโนโร (Norovirus) สามารถตรวจได้ทั้ง Genogroup I และ II ความไวและความจำเพาะประมาณร้อยละ 92 – 100 และ 92 – 98.3 ตามลำดับ
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ความไวและความจำเพาะของ RDTs ต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคอุจจาระร่วงอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่เมื่อนำมาทดสอบในทางคลินิกจริง ความไวและความจำเพาะของ RDTs ของไวรัสโนโรเท่ากับร้อยละ 27.5 และ 97.7 ตามลำดับความไวและความจำเพาะของ RDTs ของไวรัสโรต้าเท่ากับร้อยละ 44.8 และ91.6 ตามลำดับ ซึ่งความไวของชุดตรวจนี้ต่ำกว่าความไวของการศึกษาในอดีต และยังพบผลบวกลวงหรือ cross reactivity จาก RDTs ของไวรัสได้ประมาณร้อยละ 3 (กล่าวคือ มีการติดเชื้อไวรัสโนดร แต่ให้ผลบวกกับชุดตรวจแบบรวดเร็วของไวรัสโรต้า)
สรุป RDTs เป็นชุดตรวจแบบรวดเร็วที่สามารถนำมาช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ มีความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย แต่ความไวและความจำเพาะของชุดตรวจ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ วิธีการเก็บ แหล่งที่มา คุณภาพของสิ่งส่งตรวจ และชนิดของชุดตรวจแบบรวดเร็ว ดังนั้น การแปลผลและนำไปใช้ ควรคำนึงถึงคุณสมบัติของชุดตรวจ รวมทั้งผลบวกลวงและผลลบลวงด้วย