รศ. พญ. ทิพาพร ธาระวานิช
หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน พ.ศ. 2541 : https://thaide.org/
วารสารแสงเทียน The Diabetes Educator Newsletter
https://thaide.org/wp-content/uploads/2023/09/Diabetes_Vol25-No31.pdf
ในปัจจุบันกระแสการดูแลรักษาโรคเบาหวานให้อยู่ในระยะสงบ (diabetes remission) มาแรง โดยส่วนใหญ่เรามักจะได้รับทราบเกี่ยวกับวิธีการทำให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 10¹ ในผู้ที่อ้วน นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาและการผ่าตัดลดน้ำหนัก ผู้เขียนจึงขอโหนกระแสเน้นให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของกิจกรรมทางกาย (physical activity) ในการดูแลรักษาร่วมกับวิธีมาตรฐานเพื่อให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ
กิจกรรมทางกายแตกต่างจากการออกกำลังกายอย่างไร²
กิจกรรมทางกาย หมายถึง การเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ทำให้มีการใช้พลังงาน เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน การประกอบอาชีพที่ต้องมีการเคลื่อนไหว การทำงานบ้าน และการเล่นกีฬา เป็นต้น
การออกกำลังกาย คือ การมีกิจกรรมทางกายอย่างเป็นแบบแผน และมีการทำซ้ำ ๆ เช่น การวิ่ง ตีเทนนิส ว่ายน้ำ เป็นต้น ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางกาย
ประโยชน์ของกิจกรรมทางกาย
ประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายในผู้เป็นเบาหวาน ได้แก่ เพิ่มสมรรถภาพการทำงานของระบบหัวใจและระบบการหายใจ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 0.5 – 0.7% โดยไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว3 ลดความดื้อต่ออินซูลิน ลดความดันโลหิต ลดไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลเพิ่มการสร้าง HDL ช่วยให้น้ำหนักที่ลดลงคงที่ (weight maintenance)4 ป้องกันและชะลอความเสื่อมของโรคระบบประสาทส่วนปลายในเบาหวาน5 ผู้ที่มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นโรคเบาหวานพบว่า ช่วยป้องกันและรักษาโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ ทำให้สุขภาพจิตดี และส่งเสริมคุณภาพชีวิต6
การแบ่งระดับกิจกรรมทางกาย
กิจกรรมทางกายสามารถแบ่งประเภทได้ตามความหนักได้ตามตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงการแบ่งระดับของกิจกรรมทางกาย7, 8*MET ย่อมาจาก Metabolic equivalent หมายถึง อัตราส่วนของพลังงานที่ร่างกายใช้ในการออกแรงต่อพลังงานที่ใช้ในขณะพัก โดย 1 MET เป็นพลังงานที่ร่างกายใช้ขณะนั่งเฉย ๆ มีค่าเท่ากับ 1 กิโลแคลอรี่/น้ำหนักตัว 1 กก./ชม.
โรคเบาหวานระยะสงบ
โรคเบาหวานระยะสงบ หมายถึง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่ที่ได้รับการดูแลรักษาจนสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่ใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยโรคเบาหวาน และคงอยู่ต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เกณฑ์การวินิจฉัย คือ ระดับ A1C < 6.5% โดยวิธีการตรวจ A1C ที่ได้มาตรฐาน กรณีที่มีตัวกวน การตรวจ A1C สามารถใช้เกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร < 126 มก./ดล. (อย่างน้อย 2 ครั้ง) หรือผลการตรวจน้ำตาลจากเครื่องตรวจน้ำตาลชนิดต่อเนื่อง มีค่า glucose management indicator < 6.5%1
บทบาทของการมีกิจกรรมทางกายในการทำให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ
การลดน้ำหนักในผู้ที่อ้วน ส่งผลให้ปริมาณไขมันและความดื้อต่ออินซูลินที่ตับลดลง การหลั่งอินซูลินที่ตับอ่อนดีขึ้น การควบคุมอาหารและกิจกรรมทางกาย มีบทบาทสำคัญในการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายควรออกแบบแอโรบิค เช่น การเดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น ร่วมกับการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เช่น ยกดัมเบล ซิทอัพ สควอท วิดพื้น ยกขา หรือแพลงก์ เป็นต้น เนื่องจากเมื่อน้ำหนักลดลงมวลกล้ามเนื้อจะลดลง จึงควรออกกำลังแบบมีแรงต้านเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้มวลกล้ามเนื้อลดลงแรงกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้น9
การศึกษาแบบสุ่มทดลองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เบาหวานระยะสงบ ได้แก่ DiRECT (The Diabetes Remission Clinical Trial), DIADEM-1 (Diabetes Intervention Accentuating Diet and Enhancing Metabolism-I)10 และ LooK AHEAD (Action for Health in Diabetes)11 ทุกการศึกษาดำเนินการในผู้เป็นเบาหวานโดยการควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการมีกิจกรรมทางกายเพื่อให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ รายละเอียดดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 แสดงการศึกษาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ
กิจกรรมทางกายเพื่อให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ
เนื่องจากยังไม่มีแนวทางเวชปฏิบัติที่ระบุเฉพาะว่า ควรมีกิจกรรมทางกายมากน้อยเพียงใด ระหว่างการทำให้โรคเบาหวานเข้าระยะสงบ จึงขอนำคำแนะนำของ the American College of Sport Medicine³ สมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 256612 และแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ. 2566¹ ของประเทศไทย แนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 สรุปได้ดังนี้
- หมั่นขยับร่างกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งลดการนั่ง หรืออยู่เฉยเป็นระยะเวลานานกว่า 30 – 60 นาที โดยเคลื่อนไหวร่างกายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ การมีกิจกรรมทางกาย แม้เพียงเล็กน้อยก็มีประโยชน์
- เดินอย่างน้อย 10,000 ก้าวต่อวัน
- การมีกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ ควรมีกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิกความหนักปานกลางหรือหนัก อย่างน้อย 150 – 300 และ 75 – 150 นาทีต่อสัปดาห์ ตามลำดับ หรือมีกิจกรรมทางกายทั้งสองแบบควบคู่กันตลอดสัปดาห์ ยิ่งมีกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิกความหนักปานกลางมากกว่า 300 นาทีต่อสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอจะทำให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
- ควรออกกำลังกายแบบมีแรงต้านความหนักปานกลาง หรือหนักมาก 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ และไม่ควรออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน 2 วันติดต่อกัน
- การออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและแบบมีแรงต้านพบว่า ระดับน้ำตาลลดลงได้ดีกว่า การออกกำลังกายแบบหนึ่งแบบใดเพียงอย่างเดียว³
- การออกกำลังกายเพื่อลดไขมันในช่องท้องควรออกกำลังกายความแรงปานกลางถึงหนักเพื่อให้มีการเผาผลาญพลังงานประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน จำนวน 4 – 5 วันต่อสัปดาห์³
ขั้นตอนในการส่งเสริมให้ผู้เป็นเบาหวานมีกิจกรรมทางกาย
ขอยกตัวอย่างการศึกษา DiRECT มีกระบวนการส่งเสริมให้ผู้เป็นเบาหวานมีกิจกรรมทางกายเป็นขั้นตอนดังนี้¹³
- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย
- ตั้งเป้าหมายและวางแผนการมีกิจกรรมทางกายโดยมีผู้เป็นเบาหวานเป็นศูนย์กลาง
- การวิเคราะห์อุปสรรคกีดขวางการมีกิจกรรมทางกายที่อาจเกิดขึ้น และการแก้ไขปัญหาเพื่อก้าวผ่านอุปสรรคดังกล่าว
- การทบทวนเป้าหมายทางพฤติกรรมว่าสามารถทำได้หรือไม่ และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
- ผู้เป็นเบาหวานมีการประเมินและติดตามการมีกิจกรรมทางกายด้วยตนเองว่า ได้ทำมากน้อยเพียงใด เช่น อุปกรณ์นับก้าวเดิน การบันทึกระยะเวลาและความแรงในการมีกิจกรรมทางกาย
- บุคลากรทางการแพทย์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะกิจกรรม และเวลาที่เหมาะสมในการมีกิจกรรมทางกาย
- การสอนให้มีการเตือนตัวเองให้มีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ
บทสรุป
การดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบ ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่ไปกับการมีกิจกรรมทางกายลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ร่วมกับการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และป้องกันไม่ให้มวลกล้ามเนื้อลดลงในช่วงลดน้ำหนัก นอกจากนี้การมีกิจกรรมทางกายยังมีผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด การแนะนำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง มีกิจกรรมทางกาย ต้องทำอย่างมีกระบวนการ เน้นให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญตั้งเป้าหมาย วิเคราะห์อุปสรรค ติดตาม ประเมินผล และการปรับปรุงกระบวนการอย่างสม่ำเสมอบุคลากรการแพทย์ควรมีการประเมินความพร้อมของผู้เป็นเบาหวานก่อนออกกำลังกาย มีการป้องกันภาวะแทรกซ้อน น้ำตาลสูง น้ำตาลต่ำ ปรับยาให้เหมาะสม ให้ความรู้และให้กำลังใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายโรคเบาหวานสงบในระยะยาว
-
- สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ส.แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566. กรุงเทพฯ : บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด ; 2566.
- Dasso NA. How is exercise different from physical activity? A concept analysis. Nurs Forum. 2019;54(1): 45-52.
- Kanaley JA, Colberg SR, Corcoran MH, et al. Exercise/Physical Activity in Individuals with Type 2 Diabetes: A Consensus Statement from the American College of Sports Medicine. Med Sci Sports Exerc. 2022;54(2): 353-368.
- Jin S, Bajaj HS, Brazeau AS, et al. Remission of Type 2 Diabetes: User’s Guide: Diabetes Canada Clinical Practice Guidelines Expert Working Group. Canadian journal of diabetes. 2022;46(8): 762-774.
- Balducci S, Iacobellis G, Parisi L, et al. Exercise training can modify the natural history of diabetic peripheral neuropathy. J Diabetes Complications. 2006;20(4): 216-223.
- Bull FC, Al-Ansari SS, Biddle S, et al. World Health Organization 2020 guidelines on physical activity and sedentary behaviour. Br J Sports Med. 2020;54(24): 1451-1462.
- Kidney Disease: Improving Global Outcomes Diabetes Work G. KDIGO 2022 Clinical Practice Guideline for Diabetes Management in Chronic Kidney Disease. Kidney international. 2022;102(5S): S1-S127.
- MacIntosh BR, Murias JM, Keir DA, Weir JM. What Is Moderate to Vigorous Exercise Intensity? Front Physiol. 2021;12: 682233.
- Shibib L, Al-Qaisi M, Ahmed A, et al. Reversal and Remission of T2DM – An Update for Practitioners. Vasc Health Risk Manag. 2022;18:417-443.
- Taheri S, Zaghloul H, Chagoury O, et al. Effect of intensive lifestyle intervention on bodyweight and glycaemia in early type 2 diabetes (DIADEM-I): an open-label, parallel-group, randomised controlled trial. Lancet Diabetes Endocrinol. 2020;8(6): 477-489.
- Look ARG, Gregg EW, Jakicic JM, et al. Association of the magnitude of weight loss and changes in physical fitness with long-term cardiovascular disease outcomes in overweight or obese people with type 2 diabetes: a post-hoc analysis of the Look AHEAD randomised clinical trial. Lancet Diabetes Endocrinol. 2016;4(11): 913-921.
- ElSayed NA, Aleppo G, Aroda VR, et al. 5. Facilitating Positive Health Behaviors and Well-being to Improve Health Outcomes: Standards of Care in Diabetes-2023. Diabetes care. 2023;46(Supple 1): S68-S96.
- Cassidy S, Trenell M, Stefanetti RJ, et al. Physical activity, inactivity and sleep during the Diabetes Remission Clinical Trial (DiRECT). Diabet Med. 2023;40(3): e15010.