ระดับฮอร์โมนเพศชาย dehydroepiandrosterone (DHEA) และ testosterone ในชายสูงอายุแปลผกผันกับ coronary artery calcification (CAC) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
ฮอร์โมนเพศมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ การเผาผลาญ และกระบวนการทางสรีรวิทยาของร่างกาย ฮอร์โมนเพศที่มาจากต่อมหมวกไตอย่าง DHEA และ androstenedione ได้หมุนเวียนอยู่ในกระแสเลือดและเปลี่ยนแปลงไปเป็น active hormone ที่ออกฤทธิ์ คือ testosterone ต่อไปในอวัยวะเป้าหมายต่าง ๆ ในขณะที่ testosterone ที่อยู่ในกระแสเลือดถูกสร้างมาจากอัณฑะเป็นหลัก และจะเปลี่ยนไปเป็น dihydrotestosterone (DHT) หรือถูก aromatized ไปเป็น estradiol ต่อไป จากข้อมูลระบาดวิทยา พบว่า ความแตกต่างของเพศมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การมีระดับ DHEA และ testosterone สูง เป็นปัจจัยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ชายสูงอายุ ในทำนองเดียวกันผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับ androgen deprivation therapy จะพบความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น แต่ข้อมูลกลับไม่สอดคล้องกันกับชายสูงอายุที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน testosterone ทดแทน จนปัจจุบันนี้กลไกของฮอร์โมนเพศชายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน
Claes Ohlsson และคณะ จากประเทศสวีเดน ได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับฮอร์โมนเพศชายกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็งในชายสูงอายุจาก the population-based AGES-Reykjavik study โดยมีผู้เข้าร่วมงานวิจัยอายุเฉลี่ย 76 ปี จำนวน 1,287 ราย โดยมีการตรวจระดับฮอร์โมนเพศ (sex steroid profile) 6 ชนิด ได้แก่ DHEA, androstenedione, estrone, testosterone, estradiol และ DHT รวมถึงระดับโปรตีน sex hormone–binding globulin (SHBG) ด้วย เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนดังกล่าวกับคะแนน CAC ที่ได้จากภาพถ่ายรังสีคอมพิวเตอร์ทรวงอก ผลพบว่า ระดับ DHEA, androstenedione, testosterone, dihydrotestosterone และ bioavailable testosterone แปลผกผันกับคะแนน CAC ในขณะที่ estrone, estradiol, bioavailable estradiol และ SHBG ไม่มีความสัมพันธ์ดังกล่าว สำหรับ bioavailable testosterone ยังคงมีความสัมพันธ์แบบแปลผกผันกับคะแนน CAC แม้จะปรับด้วยปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ แล้ว
ผลการศึกษาสรุปว่า ระดับของ DHEA และ testosterone แปลผกผันกับคะแนน CAC ในชายผู้สูงอายุ ซึ่งผลนี้ทำให้เกิดคำถามที่รอการศึกษาต่อไปว่า androgen ที่มาจากทั้งต่อมหมวกไตและอัณฑะ จะมีผลทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดของผู้ชายในทางคลินิกต่อไปหรือไม่
- https://www.mims.com/specialty/topic/serum-dhea–testosterone-levels-inversely
- https://academic.oup.com/jcem/article/108/12/3272/7194268?login=false